รู้จัก “บัญชีม้า” จากประเด็นโกงบัตรคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์
โลกของเรามีเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวหน้าขึ้นทุกวัน แม้จะช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมากในหลายแง่มุม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็รุนแรงมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ มิจฉาชีพมักหากลยุทธ์ที่หลากหลายและแยบยลมาใช้หลอกล่อเหยื่อให้หลงกล มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นผู้เสียหายจากการถูกโจรกรรมทางออนไลน์ ต่อให้เราจะปลูกฝังเรื่องการระมัดระวังตนเองกันมากเท่าไร แต่ก็ยังมีหลายคนที่ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพเหล่านี้อยู่ดี ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ทว่าหากไม่เกิดขึ้นก็คงจะดีกว่า
อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้ คือ การโกงบัตรคอนเสิร์ต The Eras Tour ของศิลปินชื่อดังระดับโลก “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ณ ประเทศสิงคโปร์ ที่มีผู้เสียหายในไทยมากกว่า 120 ราย มูลค่าความเสียหายรวมหลักล้านบาท จนกลายเป็นดรามาติดเทรนด์ X โดยใช้ชื่อแฮชแท็กว่า #buybybei ซึ่งเป็นชื่อร้านที่คาดว่าน่าจะใช้ “บัญชีม้า” ในการหลอกให้ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการซื้อบัตรคอนเสิร์ตโอนเงินค่าบัตรให้
บทความนี้จะพาไปเรียนรู้กรณีศึกษาของประเด็นดังกล่าว และอธิบายความหมายของบัญชีม้าให้ทุกคนได้เข้าใจมากขึ้นว่าคืออะไร เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันภัยอันตรายนี้ในการใช้ชีวิตบนโลกไซเบอร์
Table of Contents
สรุปดรามาโกงบัตรคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์
เรียกได้ว่าเป็นดรามาที่วนมาทุกปีจริง ๆ สำหรับเคสโกงบัตรคอนเสิร์ต โดยต้นปีนี้เป็นคิวของ “The Eras Tour” คอนเสิร์ตระดับโลกของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่แฟน ๆ ต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย ซึ่งสาเหตุที่เรื่องนี้เป็นกระแสขึ้นมาจนออกข่าวโทรทัศน์ แล้วยังมีข่าวหลายสำนักเอาไปลง เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา “โจวปลื้ม” อินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอของตนเองขณะร้องไห้อยู่หน้าคอนเสิร์ตลงอินสตาแกรม โดยระบุว่าตนเดินทางมาถึงสิงคโปร์แล้ว แต่เมื่อจะเข้าไปในคอนเสิร์ตกลับถูกตรวจพบว่าบัตรมีปัญหา ไม่สามารถเข้าได้ หรือง่าย ๆ ว่า เธอโดนร้านขายบัตรคอนเสิร์ตโกงเข้าแล้วนั่นเอง
โดยรายละเอียดของเคสนี้ คือ โจวปลื้มได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตจากร้านรับกดบัตรร้านหนึ่งใน X แต่พอไปถึงฮอลล์ที่จัดแสดงแล้ว พยายามจะสแกนบัตรเข้าไปแต่สแกนไม่ผ่าน เนื่องจากที่นั่งดังกล่าวถูกผู้อื่นสแกนเข้าไปก่อนแล้ว และภายหลังทราบว่าไม่ใช่แค่เธอที่ประสบปัญหานี้ แต่ยังมีผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน จากร้านเดียวกันอีกมากกว่า 120 ราย ทั้งหมดถูกเชิญออกจากฮอลล์จัดแสดงเพราะมีคนพยายามจะสแกนบัตรที่นั่งเดียวกันจำนวนมากเกินไปจนน่าสงสัย โดยเหล่าผู้เสียหายได้พากันออกมาแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้ผ่านแฮชแท็ก #buybybei จนทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนและติดเทรนด์ X ทันที
ราวสองทุ่มครึ่งของวันเดียวกัน ทางร้านได้ออกมาชี้แจงผ่านแอ็กเคานต์ X ของตนเองว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน พร้อมระบุชื่อของบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีที่ใช้รับเงิน ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีสถานะเป็น “บัญชีม้า” แต่อย่างใด ซึ่งวันถัดมา เจ้าของบัญชีตัวจริงก็ออกมาชี้แจงผ่านแอ็กเคานต์ส่วนตัวเพื่อแสดงตนว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริง และเป็นเพื่อนเจ้าของร้านด้วย แต่ไม่มีส่วนรู้เห็นอะไรกับการโกงบัตรคอนเสิร์ต โดยเงินทั้งหมดที่ลูกค้าโอนเข้ามา ได้โอนออกให้ร้านแล้วทุกบาททุกสตางค์
อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตก็ยังไม่คลายข้อสงสัยว่า ทำไมร้านต้องใช้บัญชีของผู้อื่นรับเงิน อย่างนี้นอกจากตั้งใจโกงแล้ว ยังเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษีด้วยหรือไม่ และการที่ร้านบอกว่าไม่ใช่บัญชีม้านั้น จะไม่ใช่ได้อย่างไร หรือคำว่าบัญชีม้าของเราไม่ตรงกัน !
แล้วความจริง บัญชีม้าคืออะไร?
บัญชีม้า หมายถึง บัญชีเงินฝากธนาคารหรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีเปิดไว้ โดยใช้ชื่อของบุคคลอื่นเป็นเจ้าของบัญชีเพื่อใช้รับเงินจากการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าของบัญชีตัวจริงมักไม่รู้ตัวว่าบัญชีของตนเองถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
มิจฉาชีพมักใช้วิธีการหลอกล่อให้ผู้คนเปิดบัญชีม้าให้ โดยการ
- หลอกว่าโทร.จากบริษัทประกัน แล้วให้เปิดบัญชีเพื่อทำประกัน
- หลอกให้ช่วยเปิดบัญชีในแอปพลิเคชันเพื่อรับเงินภาษี
- ขอตรง ๆ ว่าให้เปิดบัญชีให้ โดยใช้ค่าจ้างหรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ มาหลอกล่อ
- รับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและซิมการ์ด ซึ่งมีตลาดที่ซื้อ-ขายกันอย่างเปิดเผยตั้งแต่ราคา 800-20,000 บาท
ดังนั้น จากกรณีโกงบัตรคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ จึงกล่าวได้ว่าร้านดังกล่าวเข้าข่ายการใช้บัญชีม้าในการรับเงินจริง แม้เจ้าของร้านจะปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือการใช้ชื่อของผู้อื่นในการเปิดบัญชีเพื่อรับเงิน แถมยังเป็นเงินที่ได้มาซึ่งวิธีทุจริตอีกด้วย
การเปิดบัญชีม้า มีโทษตามกฎหมายอย่างไร?
พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ได้ระบุโทษสำหรับผู้เปิดบัญชีม้า ดังนี้
- เจ้าของบัญชีม้า จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้จัดหาบัญชีม้า จำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การทำธุรกิจออนไลน์ให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์
ตรวจสอบข้อมูลปลายทางให้ดีก่อนทำธุรกรรมทางการเงินเสมอ
หนึ่งในมุกที่เราเห็นบ่อย ๆ จากมิจฉาชีพ คือ การแอบอ้างว่าโทร.มาจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน แล้วหลอกล่อให้เราตกหลุมพราง ด้วยการบอกว่าเราไปกระทำผิดพลาดอะไรสักอย่างหนึ่งมา ต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่ใช่แค่บุคคลทั่วไปเท่านั้นที่โดน แต่เหล่าองค์กรต่าง ๆ ก็ไม่รอดจากมุกนี้ ยิ่งเราอยู่ในวงการธุรกิจ ยิ่งจะรู้สึกเลิ่กลั่กเป็นพิเศษเวลามีใครมาบอกว่าจะเอาผิดเราทางใดทางหนึ่ง เมื่อทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวสำเร็จแล้ว ปลายสายก็จะข่มขู่ให้เราโอนเงินไปเพื่อตรวจสอบ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น ก่อนจะทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ ต้องมีสติ และตรวจสอบข้อมูลของปลายทางให้ดีก่อนว่าเป็นใคร มาจากไหน และเบอร์ที่ใช้โทร.มาเป็นเบอร์จริงขององค์กรนั้น ๆ หรือไม่
ใช้ระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย
นอกจากเราต้องระวังตนเองแล้ว ยังต้องสร้างความปลอดภัยให้ลูกค้าของเราด้วย ยิ่งในยุคที่การซื้อ-ขายออนไลน์ได้รับความนิยมเช่นนี้ ยิ่งต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจที่จะโอนเงินหรือมอบข้อมูลทางการเงินให้เรา เช่น หมายเลขบัตรเครดิต ฉะนั้น ธุรกิจจึงต้องเลือกใช้ผู้ให้บริการระบบชำระเงินที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ โดยศึกษาประวัติและความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ พร้อมตรวจสอบว่าผู้ให้บริการเจ้านั้น ๆ ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ด้วย
เก็บรักษาข้อมูลลูกค้าให้เป็นความลับ
เมื่อลูกค้าไว้วางใจที่จะให้ข้อมูลมาแล้ว หน้าที่ของเราคือต้องรักษาข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้ให้อยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด ไม่ให้มิจฉาชีพมาล้วงข้อมูลดังกล่าวไปได้ โดยอาจใช้วิธีเก็บข้อมูลลูกค้าในระบบฐานข้อมูลที่มีการเข้ารหัส กำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเฉพาะพนักงานที่จำเป็น บันทึกการเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเพื่อตรวจสอบย้อนหลัง และที่สำคัญ ต้องไม่ลืมขอความยินยอมจากลูกค้าก่อนเก็บข้อมูล และแจ้งลูกค้าเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวให้ชัดเจนด้วย จากนั้น เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาเก็บข้อมูลลูกค้าตามกฎหมายและนโยบายของบริษัท ก็ให้ลบข้อมูลลูกค้าออกทันที ไม่นำไปใช้หรือมอบให้ใครต่อ
มีระบบป้องกันการโจรกรรมข้อมูล
บางที ทั้งที่คิดว่าระมัดระวังอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรอดพ้นเงื้อมมือโจรไซเบอร์ไปได้ ธุรกิจจึงต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและมัลแวร์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมอัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ตลอดจนปิดการใช้งานฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการถูกโจรแฮกเข้ามาขโมยข้อมูลของลูกค้าเราไปใช้ในทางทุจริต
บัญชีม้า ภัยคุกคามไซเบอร์ที่ทุกคนต้องระวัง
จากกรณีของการโกงบัตรคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ที่กลายเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าภัยไซเบอร์อาจมาถึงตัวเราเมื่อไรก็ได้ เพราะเพียงแค่จ่ายเงินซื้อสินค้าทางออนไลน์โดยเห็นว่าทางร้านมีรีวิวดี น่าเชื่อถือ แต่เบื้องหลังกลับใช้บัญชีของใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่เจ้าของร้านมารับเงิน ดังนั้น ก่อนจะทำธุรกรรมใด ๆ ทางออนไลน์ เราจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การซื้อ-ขายบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ ทางฝั่งผู้ประกอบการก็ควรมีระบบป้องกันภัยไซเบอร์ ส่วนฝั่งผู้บริโภคก็ควรศึกษาข้อมูลของร้านค้าให้ละเอียดก่อนตัดสินใจซื้อเสมอ
อยากสร้างแบรนด์ให้เป็นมืออาชีพที่น่าเชื่อถือไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณไว้วางใจให้ Primal Digital Agency ดูแลธุรกิจคุณ เราเป็นบริษัทรับทำการตลาดที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ กระตุ้นยอดขาย และสร้างผลกำไรให้คุณได้มากกว่าที่เคย ติดต่อเราได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment