Digital Nomad คืออะไร อาชีพยุคใหม่สำหรับสายการตลาดดิจิทัล

เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การ Work From Home หรือ Work From Anywhere กลายเป็นเทรนด์การทำงานแบบใหม่ของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ สิ่งนี้ไม่เพียงสร้างไลฟ์สไตล์การทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ยังเกิดเป็นอาชีพใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วทุกมุมโลกอย่างอาชีพ “Digital Nomad”

Digital Nomad ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการทำงานพร้อมกับได้หาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากต่างแดน หลายอาชีพจึงหันมาเป็น Digital Nomad กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงาน Digital Marketing ที่เน้นการทำงานบนโลกดิจิทัลผ่านการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลาง และเมื่อเทรนด์ Digital Nomad กำลังกลายเป็นอาชีพสุดฮิตในขณะนี้ วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักว่า Digital Nomad คืออะไรกันให้มากขึ้น และสายงาน Digital Marketing อาชีพไหนที่เหมาะกับเทรนด์นี้บ้าง ไปหาคำตอบกันได้เลย!  

 

ทำความรู้จัก Digital Nomad คืออะไร? เทรนด์อาชีพสุดฮิตในยุคดิจิทัล

สำหรับใครที่สงสัยว่า Digital Nomad คืออะไร และต้องเป็นการทำงานที่ “พเนจร” ตามชื่อหรือเปล่า? ซึ่งหากจะให้นิยามเทรนด์อาชีพนี้ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด คงจะบอกได้ว่า Digital Nomad คือกลุ่มคนที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่สามารถทำงานและใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้บนโลก เพียงมีแล็ปท็อปและอินเทอร์เน็ต

จริง ๆ แล้วเทรนด์นี้ไม่ได้เป็นอาชีพใหม่แกะกล่องแต่อย่างใด หากแต่เป็นรูปแบบเดียวกับกลุ่มคนที่ทำงานทางไกล หรือที่เรียกว่า Remote Work หรือฟรีแลนซ์ เพียงแต่ Digital Nomad ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มพนักงานประจำของบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในออฟฟิศและสามารถเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ได้ เช่น นักข่าวต่างประเทศที่ต้องลงพื้นที่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก 

Digital Nomad อาชีพ

ข้อดี-ข้อเสียของ Digital Nomad

หลังจากรู้ไปแล้วว่า Digital Nomad คืออะไร แต่ก่อนจะไปรู้กันว่า Digital Nomad ในสายงาน Digital Marketing ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง เรามาดูข้อดีข้อเสียของ Digital Nomad กันก่อน

ข้อดีของ Digital Nomad

1.   ได้เวลาส่วนตัวเพิ่มขึ้น

การเข้าออฟฟิศอาจไม่ได้ตอบโจทย์การแบ่งเวลาอย่างสมดุลในชีวิตของทุกคนเสมอไป เพราะนอกจากเวลา 8 ชั่วโมงที่ต้องใช้ไปกับการทำงานแล้ว พนักงานออฟฟิศบางคนยังต้องเผื่อเวลาเดินทางและรถติดอีกราว 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นการทำงานในรูปแบบ Digital Nomad จึงช่วยคืนเวลาส่วนนี้มาได้ ทำให้พวกเขาสามารถสร้าง Work Life Balance ในแบบตนเองผ่านเวลาที่ได้คืนมา

2.   การเดินทางสร้างประสบการณ์ใหม่

Digital Nomad ยังเปิดโอกาสให้พนักงานเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการทำงานในต่างแดน ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างบรรยากาศให้พวกเขามีชีวิตชีวามากขึ้นแล้ว บางครั้งยังเพิ่มโอกาสการเจอคอนเน็กชันในการทำงานให้มากยิ่งขึ้นอีก

3.   ความสุขเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงานก็เพิ่ม

เมื่อได้ท่องเที่ยวพร้อมทำงาน รวมถึงสามารถเลือกเวลาเริ่มงานได้อย่างอิสระ ก็จะทำให้คนที่ทำงานแบบ Digital Nomad มีความสุขมากขึ้น กดดันน้อยลง จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

4.   ลดค่าเดินทาง

การทำงาน Digital Nomad ยังช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปออฟฟิศ นอกจากนี้ พนักงานยังสามารถเลือกเดินทางไปต่างจังหวัดที่ค่าครองชีพน้อยกว่าหรือแม้แต่ทำอาหารทานเอง ทำให้สามารถคุมค่าใช้จ่ายและเหลือเงินไปทำอย่างอื่นได้อีก

ข้อเสียของ Digital Nomad

1.   เส้นแบ่งเวลาทำงานและการพักผ่อนเลือนลาง

การทำงานรูปแบบ Digital Nomad ก็มีข้อเสียในบางประการเช่นกัน โดยข้อดีของการเลือกเวลางานอย่างอิสระจาก Digital Nomad ก็อาจทำให้เส้นแบ่งเวลาทำงานกับการพักผ่อนรวมกันไปหมด จนทำให้บางครั้งผู้คนที่ทำงานแบบนี้คิดเรื่องงานในเวลาส่วนตัวหรือทำให้รู้สึกว่าตัวเองต้องทำงานตลอดเวลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวินัยและจัดการเวลาให้ดี เพื่อให้สามารถสร้าง Work Life Balance ได้อย่างเหมาะสม

2.   หลุดโฟกัสได้ง่าย

แม้การเดินทางจะเพิ่มความสุข แต่หากเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานบ่อย ๆ ก็เสี่ยงที่จะหลุดโฟกัสกับการทำงานได้ง่ายเหมือนกัน ดังนั้นผู้ที่เลือกทำงานแบบ Digital Nomad จึงควรตั้งสติและไม่ไหวติงกับสิ่งเร้าและประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็จะทำให้มีสมาธิทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

Digital Nomad กับงานสาย Digital Marketing

อย่างที่กล่าวไปว่าสายงาน Digital Marketing ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลางในการทำงาน ดังนั้น จึงทำให้เทรนด์อาชีพ Digital Nomad ที่อาศัยเพียงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเหมาะกับสายงานนี้อย่างมาก วันนี้เราเลยรวบรวมตัวอย่างงานสาย Digital Marketing ที่สามารถทำงานแบบ Digital Nomad ได้มาฝากกัน

1.   ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ SEO (SEO Specialist)

สำหรับงานสาย Digital Marketing ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ SEO (Search Engine Optimisation Specialist) กลายเป็นอาชีพสำคัญสำหรับสายงานนี้ เพราะตำแหน่งนี้ไม่เพียงต้องสามารถปรับแต่งเว็บไซต์และพัฒนาเนื้อหา แต่ยังต้องเชี่ยวชาญเครื่องมือค้นหายอดนิยมอย่าง Google หรือแม้แต่เครื่องมือปรับแต่ง SEO ต่าง ๆ เช่น Google Analytics, Google Search Console, Keyword Planner และอื่น ๆ อีกทั้งยังต้องค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการทำงาน จึงทำให้อาชีพนี้สามารถทำงานแบบ Digital Nomad ได้ไม่ยาก

2.   Social Media Manager

Social Media Manager เป็นอาชีพที่สามารถทำงานแบบ Digital Nomad ได้เช่นกัน โดยความรับผิดชอบหลักจะครอบคลุมการดูแลกลยุทธ์โซเชียลมีเดียของบริษัท วางแผนการทำคอนเทนต์เพื่อเพิ่มยอดการมองเห็นและมีส่วนร่วม รวมถึงประสานงานกับตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์เป็นที่จดจำและทำให้ลูกค้าประทับใจ

ด้วยอาชีพนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องติดตามข่าวสารโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ทำให้ Social Media Manager สามารถทำงานแบบ Digital Nomad ที่ใช้เพียงแค่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี และหากต้องการสื่อสารกับทีมหรือลูกค้าก็สามารถใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอลได้เช่นกัน

3.   Content Strategist

แน่นอนว่าการดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ รวมถึงมัดใจลูกค้าเก่า คอนเทนต์ที่แบรนด์ผลิตออกมาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกค้าอัปเดตข่าวสารต่าง ๆ ของแบรนด์แล้ว ยังหล่อเลี้ยงให้แบรนด์อยู่ในสายตาผู้บริโภค รวมถึงป้องกันการที่พวกเขาจะหันไปหาคู่แข่งได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Content Strategist เป็นอาชีพสายงาน Digital Marketing ที่หลายคนไม่ควรมองข้าม!

สำหรับการเป็น Content Strategist ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้กับแบรนด์ ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยิ่งคิดคอนเทนต์ได้น่าดึงดูดใจได้มากเท่าไรก็จะยิ่งทำให้ลูกค้าอยากมีส่วนร่วม (Engage) กับคอนเทนต์และแบรนด์ยิ่งขึ้นเท่านั้น สิ่งนี้เองที่ทำให้อาชีพ Content Strategist เหมาะแก่การทำงานรูปแบบ Digital Nomad เพราะนอกจากพนักงานจะได้เดินทางไปทำงานยังที่ใหม่ ๆ และเปิดประสบการณ์ในสภาพแวดล้อมอันผ่อนคลายแล้ว พวกเขายังจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนคติกับผู้คนหลากหลาย ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการคิดไอเดียคอนเทนต์เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

4.   UI/UX Designer

UI Designer ย่อมาจากคำว่า User Interface คือผู้ออกแบบหน้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ส่วน UX Design หรือ User Experience คือผู้ออกแบบประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า ทั้งสองคืออาชีพที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเว็บฯ หรือแอปพลิเคชันให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้งานที่น่าประทับใจและเจอปัญหาน้อยที่สุด

ในยุคที่ธุรกิจออนไลน์ใคร ๆ ก็ให้ความสำคัญ เว็บไซต์จึงเป็นช่องทางหลักในการจับจ่ายสำหรับซื้อสินค้า UI/UX Designer จึงกลายเป็นอาชีพที่สำคัญมากในสายงาน Digital Marketing และด้วยเหตุผลเดียวกันกับอาชีพ Content Strategist ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้การทำงานรูปแบบ Digital Nomad เหมาะกับการทำอาชีพนี้ไม่ใช่น้อย

5.   ตัวแทนช่วยขายออนไลน์ (Affiliate Marketer)

ตัวแทนช่วยขายออนไลน์ (Affiliate Marketer) คืออาชีพสาย Digital Marketing ที่มักนิยมให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์หรือบุคคลที่มียอดติดตามจำนวนเยอะ ๆ ช่วยโปรโมตสินค้าบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเหล่าอินฟลูฯ จะแนบลิงก์การสั่งซื้อไว้กับคอนเทนต์รีวิวสินค้า และหากมีการสั่งซื้อผ่านลิงก์ที่อินฟลูฯ แนบไว้ พวกเขาก็จะได้ส่วนแบ่งหรือที่เรียกว่า “ค่าคอมมิชชัน”

การเป็นตัวแทนช่วยขายออนไลน์ (Affiliate Marketer) ทำให้สามารถทำงานทางไกลในรูปแบบ Digital Nomad ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากอาชีพนี้จะไม่มีความจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศหรือทำงานหน้าคอมฯ แล้ว เหล่าอินฟลูฯ ยังสามารถสร้างคอนเทนต์วิดีโอรีวิวสินค้าให้มีฉากหลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ เพื่อดึงดูดผู้ติดตามแทนที่จะเป็นบรรยากาศในออฟฟิศอีกด้วย

Digital nomad กับงานสาย Digital marketing

สรุป

จะเห็นได้ว่าในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงเทรนด์การทำงานในรูปแบบ Digital Nomad ที่เรารวบรวมมาในบทความนี้ด้วย อย่างไรก็ดี เทรนด์ฮิตไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น ถ้านักการตลาดคนใดต้องการอัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ หรือสนใจทำการตลาดออนไลน์ ก็สามารถติดต่อ Primal Digital Agency ของเราได้ทันที เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมอัปเดตเทรนด์และออกแบบแผนการตลาดที่ทันสมัยที่สุดให้คุณแบบครบวงจร พร้อมแล้วก็ติดต่อเราได้เลยตอนนี้!