TikTok Analytics คืออะไร? อยากทำการตลาดบน TikTok ต้องรู้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา TikTok ได้ก้าวมาเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่มาแรงและดึงดูดความสนใจของผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่ง! โดยนอกจากการแชร์คอนเทนต์ประเภทคลิปวิดีโอสั้น ๆ จะตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดีแล้ว การเป็นแพลตฟอร์มที่มีอินเทอร์เฟซใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ยังช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นแอปฯ ที่มีสถิติการดาวน์โหลดพุ่งสูง อีกทั้งยังมียอดผู้ใช้งานในประเทศไทยสูงกว่า 35.8 ล้านคนในปี 2022 อีกด้วย!
แน่นอนว่า เมื่อมีผู้ใช้งานเยอะ โอกาสที่แบรนด์จะใช้ TikTok ทำการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าก็ยิ่งเยอะขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ TikTok จึงได้ออกฟีเจอร์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ชื่อว่า TikTok Analytics เพื่อช่วยให้นักการตลาดสามารถวิเคราะห์และนำข้อมูลไปออกแบบแผนการตลาดที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้แอปพลิเคชันได้มากขึ้น
TikTok Analytics คืออะไร และจะช่วยให้นักการตลาดเพิ่มยอดการมีส่วนร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ได้อย่างไรบ้าง เรารวบรวมข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรรู้มาไว้ให้แล้ว!
Table of Contents
ย้อนความสักนิด แอปพลิเคชัน TikTok คืออะไร?
ก่อนจะไปถึงเครื่องมือวิเคราะห์ TikTok ที่ชื่อว่า TikTok Analytics เรามาย้อนความกันสักนิดว่า TikTok คืออะไร
TikTok คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันหนึ่งในปัจจุบัน โดยความนิยมของแอปพลิเคชันนี้พุ่งสูงอย่างมากในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การันตีจากยอดดาวน์โหลดทั้งใน Google Play Store และ Apple Store กว่า 1.5 พันล้านครั้ง!
TikTok ถูกริเริ่มโดย จางอีหมิง นักพัฒนาสัญชาติจีนผู้เคยทำงานเป็นวิศวกรทางด้านซอฟต์แวร์มาก่อน โดยแรกเริ่มเขาได้เปิดตัวแอปฯ นี้โดยใช้ชื่อว่า DouYin (โต่วอิน – 抖音) ซึ่งเป็นแอปฯ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนในปี 2017 ก่อนจะเปิดตัวแอปฯ TikTok ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างเพื่อทำการตลาดในต่างประเทศช่วงเดือนกันยายนในปีเดียวกัน
TikTok Analytic คืออะไร? อยากทำการตลาดต้องรู้จัก
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า เมื่อ TikTok มีผู้ใช้มากขึ้น หลาย ๆ แบรนด์ก็หันมาใช้แอปพลิเคชันนี้ทำการตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเครื่องมือสำคัญที่นักการตลาดมักใช้วางกลยุทธ์ในแอปฯ TikTok ก็คือ TikTok Analytics นี้เอง
TikTok Analytics คือเครื่องมือวิเคราะห์ TikTok หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ฟีเจอร์ในแอปพลิเคชัน TikTok ที่จะเปิดโอกาสให้เจ้าของแอ็กเคานต์สามารถกดเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้วางแผนสร้างคอนเทนต์บน TikTok ในอนาคต โดยข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวจะเน้นการติดตามพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาชมคลิปหรือกดติดตามแอ็กเคานต์ของเรา เพื่อให้เราสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ว่าทำไมบางคลิปถึงมียอดชมสูง มียอดวิวที่เติบโต หรือแม้แต่การถูกแชร์ต่อเยอะ ๆ เพื่อที่จะนำข้อมูลตรงนี้ไปวางแผนต่อยอดให้ธุรกิจเติบโตต่อไป
TikTok Analytic ดูข้อมูลเชิงลึกอะไรได้บ้าง?
นักการตลาดออนไลน์สามารถใช้เครื่องมือ TikTok Analytics ดูข้อมูลเชิงลึกได้มากมาย ทั้งในส่วนของข้อมูลแอ็กเคานต์ตัวเอง ข้อมูลพฤติกรรมผู้ติดตามแอ็กเคานต์ รวมไปถึงผลตอบรับของวิดีโอในรูปแบบต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดหมู่หลัก ๆ ดังนี้
1. ภาพรวม (Overview)
หน้าภาพรวม (Overview) ของ TikTok Analytics จะคล้ายคลึงกับเครื่องมือวิเคราะห์แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ โดยจะเป็นการนำเสนอภาพรวมว่าตอนนี้ช่องหรือแอ็กเคานต์ของคุณนั้นมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร โดยผู้ใช้สามารถเลือกดูผลลัพธ์โดยรวมตามช่วงเวลาเพื่อเปรียบเทียบดูว่าแอ็กเคานต์ของคุณมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงมากแค่ไหน โดยทั่วไปจะดูได้สองส่วนหลัก ๆ คือ
· ยอดวิววิดีโอ (Video Views)
แสดงผลลัพธ์ภาพรวมการดูวิดีโอทั้งหมด ที่จะแสดงในรูปแบบของกราฟ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะดูข้อมูลดังกล่าวในช่วงเวลาไหน แต่ทั่วไปแล้วจะเสนอข้อมูลใน 7 หรือ 28 วันที่ผ่านมา
· ข้อมูลโปรไฟล์ (Profile Views)
แสดงผลลัพธ์การมีส่วนร่วมของผู้ชมกับโปรไฟล์โดยรวม โดยเมตริกที่แสดงจะมีตั้งแต่ยอดกดไลก์วิดีโอ(Likes) จำนวนการแสดงความคิดเห็นในวิดีโอ (Comments) จำนวนการแชร์วิดีโอ (Shares) จำนวนผู้ที่กดติดตาม (Followers) จำนวนวิดีโอที่ถูกแชร์ (Content) เป็นต้น
2. ข้อมูลผู้ติดตาม (Followers)
นอกจากหน้าภาพรวม (Overview) แล้ว เครื่องมือ TikTok Analytics ยังแสดงข้อมูลเชิงลึกในหน้าข้อมูลผู้ติดตาม (Followers) ด้วย โดยในหน้านี้จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ติดตามแอ็กเคานต์ของคุณทั้งหมด โดยรายละเอียดจะครอบคลุมตั้งแต่ จำนวนผู้ติดตาม เปอร์เซ็นต์การเติบโตของจำนวนผู้ติดตามตามในช่วงเวลาที่ระบุ ข้อมูลพื้นฐานของผู้ติดตาม เวลาที่ผู้ติดตามเคลื่อนไหวมากที่สุด (Active) วันที่ผู้ติดตามเคลื่อนไหวมากที่สุด ฯลฯ
3. เนื้อหา (Content)
ในส่วนของหน้าเนื้อหา (Content) จะแสดงรายละเอียดของข้อมูลเชิงลึกว่าเนื้อหาในช่องได้รับความสนใจมากน้อยแค่ไหน โดยจะแบ่งออกเป็นหมวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- Video Posts แสดงผลวิดีโอคอนเทนต์ 9 รายการล่าสุด
- Trending Videos แสดงผลวิดีโอที่มียอดการเติบโตสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- Video Views by Section แสดงข้อมูลแหล่งที่มาว่าผู้ใช้งานค้นพบวิดีโอคอนเทนต์จากช่องทางใด เช่น โปรไฟล์ของแบรนด์เองหรือของคนอื่น
- Video Views by Region แสดงว่าวิดีโอเป็นที่นิยมในภูมิภาคใด
- Average watch Time แสดงค่าเฉลี่ยเวลาการชมคลิปวิดีโอของผู้ชม
- Total Playtime แสดงผลรวมเวลาที่ผู้ชมดูวิดีโอของคุณ
ใช้ TikTok Analytics เพิ่มผลลัพธ์การตลาดอย่างไรได้บ้าง?
แล้วนักการตลาดจะใช้องค์ประกอบแต่ละหน้าของ TikTok Analytics เพื่อเพิ่มผลลัพธ์การตลาดดิจิทัลให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง?
1. วิเคราะห์ยอดการมีส่วนร่วมจากหน้าภาพรวม (Overview)
ยอดการมีส่วนร่วม ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในการเก็บข้อมูลมากที่สุดตัวหนึ่ง เนื่องจากเป็นตัวที่บอกได้ว่าคอนเทนต์นั้นตอบสนองกลุ่มเป้าหมายของเราได้ดีมากน้อยแค่ไหน โดยในหน้าภาพรวมของ TikTok Analytics จะแสดงยอดการมีส่วนร่วมในรูปแบบค่าเฉลี่ย ซึ่งจะคิดจากยอดไลก์ ยอดแสดงความคิดเห็นและยอดแชร์ทั้งหมดหารด้วยจำนวนการดูวิดีโอในช่วงเวลาที่กำหนด และคูณด้วย 100
การคำนวนดังกล่าว นอกจากจะทำให้รู้ว่าคอนเทนต์ของเราในช่วงเวลาที่กำหนดมีภาพรวมเป็นอย่างไร ยังจะทำให้รู้ด้วยว่าแนวทางคอนเทนต์แบบไหนที่ผู้ใช้ให้ความสนใจมากที่สุด ดังนั้น นักการตลาดจึงสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้เป็นจุดตั้งต้นในการที่จะคัดเลือกคอนเทนต์ที่ควรนำไปต่อยอด หรือคอนเทนต์ไหนที่ไม่ควรทำต่อ ก็จะช่วยให้ประหยัดเวลาและงบประมาณกับการลองผิดลองถูกในคอนเทนต์ชิ้นต่อไปได้อีกด้วย
2. วิเคราะห์ผลลัพธ์จากคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม
นอกจากดูผลลัพธ์วิดีโอโดยรวม การวิเคราะห์เจาะในแต่ละคอนเทนต์ก็สำคัญเช่นกัน! โดย TikTok Analytics สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกได้ว่าคอนเทนต์ของเราอันไหนโดนใจผู้ชมมากที่สุด เพื่อช่วยให้เราเอาแนวทางไปสร้างคอนเทนต์ที่ดีขึ้นได้!
โดยนักการตลาดอาจทำการวิเคราะห์ทั้งลักษณะเนื้อหา สไตล์การนำเสนอ ความยาวของวิดีโอ เพลงที่ใช้ แฮชแท็ก ไปจนถึงแคปชันของวิดีโอ โดยวิเคราะห์ดูว่าองค์ประกอบส่วนใดที่ทำให้วิดีโอถูกใจผู้ชมมากที่สุด และเมื่อวิเคราะห์สาเหตุได้แล้วจึงค่อยนำมาพัฒนาต่อ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสที่วิดีโอชิ้นต่อไปได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
3. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้ติดตาม
นอกจากนี้ เรายังสามารถเพิ่มผลลัพธ์การตลาดจากการวิเคราะห์ผู้ติดตามได้อีกด้วย! โดยนักการตลาดสามารถดูข้อมูลเชิงลึกของผู้ติดตามแอ็กเคานต์ ได้ทั้งเพศ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และเวลาที่พวกเขาใช้งานมากที่สุด โดยเมื่อรู้ข้อมูลเหล่านี้ก็จะสามารถสร้างและปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับความสนใจและพฤติกรรมของผู้ติดตามได้ นำไปสู่การช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมกับวิดีโอของเราได้ดีขึ้น
4. วิเคราะห์ช่วงเวลาที่ผู้ติดตาม Active
TikTok Analytics ยังมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ผู้ติดตามใช้งาน TikTok มากที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งนักการตลาดสามารถนำข้อมูลนี้ไปเพิ่มผลลัพธ์ทางการตลาด โดยการนำไปแพลนว่าจะลงโพสต์ช่วงเวลาไหน วันและเวลาใด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ติดตามสามารถเห็นวิดีโอของเราและมีส่วนร่วมกับวิดีโอนั้น ๆ ได้มากขึ้น
สรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า TikTok กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงเวลานี้ ดังนั้น ในฐานะแบรนด์และนักการตลาดที่ต้องการขยายฐานลูกค้าและทำให้ธุรกิจเติบโต การใช้เครื่องมือ TikTok Analytics จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้เข้าใจหลักการทำงานของแอปพลิเคชัน TikTok ได้ดีขึ้น ยังช่วยให้แบรนด์สามารถต่อยอดแนวทางการทำคอนเทนต์จากผลลัพธ์การทำงานที่ผ่านมาได้อีกด้วย!
อย่างไรก็ดี หากคุณไม่แน่ใจว่าจะใช้ TikTok Analytics อย่างไรจึงจะสามารถวิเคราะห์คอนเทนต์และต่อยอดผลลัพธ์ธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ก็สามารถปรึกษา Primal Digital Agency ของเราได้เลย เราคือเอเจนซีการตลาดชั้นนำของเมืองไทย ทั้งยังเป็นบริษัทรับทำ SEO ที่น่าเชื่อถือ และที่สำคัญเป็นบริษัทการตลาดที่มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมติดตามเทรนด์และออกแบบกลยุทธ์ทางโซเชียลมีเดียเพื่อธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ ถ้าพร้อมแล้วก็กรอกแผนการตลาดเพื่อปรึกษาเราได้เลยตอนนี้!
Join the discussion - 0 Comment