Google Family Link คืออะไร แอปฯ ใหม่ช่วยแก้ปัญหาลูกติดมือถือ
หากจะกล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยีดิจิทัลก็ไม่ผิดนัก เพราะไม่ว่าจะส่วนไหนของชีวิตประจำวันเราก็ล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปเสียหมด ส่งผลให้เด็กยุคใหม่เกิดมาพร้อมความสะดวกสบาย มีมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตใช้ตั้งแต่เล็ก ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยในการพัฒนาสมองและสร้างความเพลิดเพลินแก่เด็ก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นดาบสองคม เพราะการที่เด็กใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาก ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมา หนึ่งในนั้นคือการติดมือถือ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่มีการเรียนออนไลน์ เรียกได้ว่าเด็ก ๆ แทบไม่ยอมอยู่ห่างหน้าจอเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ผู้ปกครองหลายคนจึงเกิดความกังวล เพราะเมื่อบุตรหลานของตนเองต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษา ความเสี่ยงที่เด็กจะนำอุปกรณ์ไปใช้งานอย่างอื่นนอกเหนือจากการเรียนก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีแก้ลูกติดมือถือ ด้วยแอปพลิเคชันควบคุมดูแลการใช้งาน ที่มีชื่อว่า “Google Family Link” ซึ่งสามารถดูได้ว่าเด็กใช้งานมือถือไปนานเท่าไรแล้ว ทั้งยังมีฟีเจอร์จำกัดเวลาหน้าจอ และสามารถดูได้ว่าลูกอยู่ที่ไหน ด้วยระบบ GPS ในแอปฯ รับรองว่าคุณพ่อคุณแม่สบายใจหายห่วง !
ไปทำความรู้จักกันเลยว่าแอปฯ Google Family Link คืออะไร
Table of Contents
Google Family Link คืออะไร
Google Family Link คือ แอปพลิเคชันที่ออกแบบการใช้งานมาเพื่อให้ผู้ปกครองคอยดูแลพฤติกรรมการใช้งานมือถือของบุตรหลานได้ เพียงแค่ติดตั้งแอปฯ ไว้ในมือถือของทั้งสองฝ่าย โดยฟีเจอร์การใช้งานหลักจะประกอบไปด้วยการกดอนุญาตให้ดาวน์โหลดแอปฯ ต่าง ๆ การดูกิจกรรมการใช้งานบนมือถือว่าลูกเล่นแอปฯ อะไร นานเแค่ไหน พร้อมจำกัดเวลาการเล่นแต่ละแอปฯ หรือการล็อกหน้าจอมือถือเพื่อไม่ให้เล่นได้เลย นอกจากนี้ ยังมีระบบ GPS ให้ดูอีกด้วยว่าเด็กอยู่ที่ไหน เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลาน เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ลูกติดมือถือที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ วิธีหนึ่ง
วิธีติดตั้งแอปฯ Google Family Link
ในการติดตั้งระบบ Family Link นั้น ฝั่งคุณพ่อคุณแม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google Family Link ส่วนทางฝั่งเด็กต้องดาวน์โหลดแอปฯ Family Link child and teen พร้อมสร้างบัญชี Google ของทั้งสองฝ่ายให้เรียบร้อย หรือถ้าหากยังไม่มีบัญชีก็สามารถไปกดสร้างในแอปฯ ได้เลย โดยทั้งสองแอปฯ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในมือถือและแท็บเล็ต iOS และ Android ดังนี้
ดาวน์โหลด Google Family Link สำหรับผู้ปกครอง
ดาวน์โหลด Family Link child and teen สำหรับเด็ก
หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเสร็จแล้วทั้งสองฝ่าย ก็สามารถเริ่มตั้งค่าได้เลย โดยหลัก ๆ จะต้องเริ่มทำที่อุปกรณ์ของเด็กก่อน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
การติดตั้งแอปฯ บนอุปกรณ์ของเด็ก
- กดเข้าแอปพลิเคชัน จะพบกับหน้าที่ถามว่า ใครจะเป็นคนใช้อุปกรณ์นี้ ให้เลือกตอบ Child or Teen
- ต่อมาจะเป็นหน้า Next steps ให้กด Next
- กดเลือก หรือเพิ่มบัญชี Google ของบุตรหลาน แล้วกด Next เรื่อย ๆ จนถึงหน้าล็อกอินบัญชีผู้ปกครอง ให้ใส่อีเมลและรหัสผ่านของผู้ปกครองลงไป
- ทีนี้ จะมาถึงหน้า About Supervision ที่มีข้อมูลให้เลื่อนอ่านว่าแอปฯ สามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้น ให้ใส่รหัสผ่านของเด็กด้านล่าง เพื่อเป็นการยอมรับว่าตกลงยอมใช้แอปฯ นี้ แล้วกด Agree โดยอาจมีหน้าต่างเล็ก ๆ ขึ้นเตือนอีกทีว่าจะเปิดระบบนี้ ให้กด Allow
- เมื่อยอมรับเรียบร้อย ระบบจะทำการเชื่อมบัญชีของผู้ปกครองและเด็กทันที จากนั้นให้กด Next แล้วแอปฯ จะพามาหน้ากดอนุญาตให้ใช้แอปฯ ที่มีในเครื่อง ให้กดติ๊กเลือกได้เลยว่าจะอนุญาตให้ลูกใช้แอปฯ ใดบ้าง พอเลือกเสร็จแล้วก็กด Next อีกครั้ง
- ถัดมา จะเป็นหน้าควบคุมเรื่องฟิลเตอร์จัดการความเหมาะสมของเนื้อหาต่าง ๆ โดยผู้ปกครองสามารถกดปรับได้ในแต่ละหัวข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย
- การอนุญาตให้ดาวน์โหลด/ซื้อแอปพลิเคชัน
- การกำหนดเรตอายุแอปพลิเคชันและเกม
- การกำหนดเรตหนังและทีวี
- การกำหนดเรตอายุหนังสือ
- การป้องกันการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมบน Chrome
- การป้องกันผลการค้นหาที่ไม่เหมาะสมบน Google
- การป้องกันการล็อกอินเข้าในเครื่อง/แพลตฟอร์มอื่น
- เมื่อกดปรับแต่ละข้อเสร็จแล้ว ให้กด Next จะพบกับหน้าที่ถามว่า ต้องการติดตั้งแอปฯ Family Link ในมือถือของผู้ปกครองด้วยหรือไม่ หากยังไม่ได้ลง ให้กด Install Family Link แต่ถ้าลงแล้วก็สามารถกด Skip ไปได้เลย
- จากนั้น กด Review controls จะพบกับหน้าหลักที่ให้ผู้ปกครองสามารถกำหนดการใช้งานในมือถือเครื่องนี้ได้ แต่ถ้าจะให้ง่าย แนะนำให้ไปกำหนดในแอปฯ Family Link บนอุปกรณ์ของผู้ปกครองเองจะดีกว่า โดยจะอธิบายต่อในหัวข้อถัดไป
วิธีแก้ลูกติดมือถือด้วยการตั้งค่าบนแอปฯ
ตั้งค่าจำกัดเวลาเล่นมือถือ
ในการใช้งาน Google Family Link นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกได้ว่า ในแต่ละวันของสัปดาห์จะกำหนดให้ลูกหยิบมือถือขึ้นมาเล่นได้กี่ชั่วโมงต่อวัน โดยหากเด็กเล่นครบเวลาแล้ว จะใช้มือถือทำอะไรไม่ได้ยกเว้นโทร.เข้า หรือโทร.ออกเท่านั้น โดยการตั้งค่าจำกัดเวลาเล่นมือถือมีขั้นตอนดังนี้
- เข้าไปในแอปฯ Google Family Link บนอุปกรณ์ของผู้ปกครอง แล้วกดเลือกบัญชีของเด็ก
- เลื่อนลงไปยังช่อง Screen time แล้วกดปุ่ม Set up
- จากนั้น ในแถบ Daily limit เราจะกำหนดแต่ละวันว่าให้เล่นได้กี่ชั่วโมง โดยสามารถกดเพิ่ม-ลดเลขได้เลย หรือหากไม่ต้องการกำหนดอะไรก็ติ๊กวันที่ไม่ต้องการออก
- ถัดมา ให้กดแถบ Bedtime เพื่อกำหนดว่าจะล็อกอุปกรณ์ตอนกลางคืนตั้งแต่กี่โมงเป็นต้นไป โดยสามารถกำหนดได้เป็นรายวัน เมื่อเสร็จแล้วกด Save ก็เป็นอันเรียบร้อย
ตั้งค่าความเหมาะสมของเนื้อหา
นอกจากจะมีวิธีแก้ลูกติดมือถือด้วยการตั้งค่าจำกัดเวลาเล่นมือถือแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับลูกได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาของแอปพลิเคชัน เกม วิดีโอ เว็บไซต์ หรือผลการค้นหาต่าง ๆ บน Google ซึ่งการคัดกรองนั้นก็จะเป็นการกำหนดโดย Google เอง ที่จะมีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาในทุกช่องทางอยู่แล้ว โดยสามารถเริ่มต้นตั้งค่าได้ด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
- เข้าไปในแอปฯ Google Family Link แล้วกด Manage ในแถบ Settings
- เมื่อกดเข้ามาแล้ว จะสามารถเลือกกำหนดได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ Google Play/App Store, YouTube, Google Chrome และ Google Search
ตั้งค่าแอปฯ และเกมที่ค้นหาและดาวน์โหลดได้
- หากต้องการกำหนดแอปฯ และเกม ให้เลือก Google Play/App Store แล้วกด Apps & Games
- จากนั้น เลือกเรตที่ต้องการให้ลูกสามารถเข้าถึงได้เลย โดยหากยิ่งเลือกอายุน้อยก็แปลว่ายิ่งมีการจำกัดเนื้อหามากขึ้นเท่านั้น
- การเลือกเรตในส่วนนี้จะไปปรับเรตเนื้อหาของหนังและซีรีส์ในแถบ Movies และปรับเนื้อหาหนังสือที่อ่านได้ในแถบ Books ด้วย
ตั้งค่าการกดซื้อแอปฯ เวลาใช้ Family Payment
หากต้องการกำหนดการซื้อแอปฯ ใน Google Play/App store ให้ไปที่แถบ Purchase & Download Approval แล้วเลือกข้อจำกัดการซื้อของได้เลย ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- รออนุมัติทุกการซื้อ
- อนุมัติเฉพาะการใช้ Family Payment
- ต้องรออนุมัติเฉพาะการซื้อในแอปฯ
- กดซื้อได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรออนุมัติ
ตั้งค่าการป้องกันเข้าเว็บไซต์อันตรายใน Google Chrome
เว็บไซต์หลายเว็บฯ อาจเป็นแหล่งรวมเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ไม่เหมาะกับวัยของบุตรหลานเราเท่าไร ซึ่งผู้ปกครองก็สามารถเข้าไปเลือกได้เลยว่าจะให้ลูกเข้าถึงเว็บไซต์แบบใดบ้าง โดยไปที่แถบ Google Chrome แล้วกดเลือกระดับการป้องกันได้เลย ซึ่งประกอบไปด้วย
- เข้าได้ทุกเว็บไซต์
- บล็อกเว็บไซต์สุ่มเสี่ยง
- กำหนดทุกเว็บไซต์เอง
ตั้งค่าการควบคุมผลการค้นหาบน Google
บางครั้ง เด็กก็อาจซุกซนค้นหาอะไรที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผู้ปกครองก็สามารถกรองผลการค้นหาได้ง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่แถบ Google Search แล้วกดเปิด Safe Search เพียงเท่านี้ Google ก็จะกรองเนื้อหาที่ติดเรตหรือไม่เหมาะสมออกให้โดยอัตโนมัติ
วิธียกเลิก Google Family Link
เมื่อใช้ Google Family Link จนถึงวัยที่ลูกดูแลตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ก็สามารถหยุดควบคุมได้โดยการยกเลิกแอปฯ ดังนี้
- เข้าไปในแอปฯ Family Link บนอุปกรณ์ของผู้ปกครอง แล้วเลือกบัญชีของลูกที่ต้องการยกเลิกการควบคุม
- กดสามจุดด้านขวาบน แล้วเลือก Account Supervision
- เลื่อนลงมาติ๊กกล่องข้างล่าง แล้วกด Stop supervision เพียงเท่านี้ก็สามารถยกเลิก Google Family Link ได้แล้ว
ข้อควรระวังในการใช้งาน Google Family Link
หากต้องการหยุดควบคุมบัญชีของเด็กที่อายุไม่ถึง 13 ปี ต้องลบบัญชีทิ้งเท่านั้น
หากเราสร้างบัญชีขึ้นมาแล้วตั้งอายุของเด็กไว้ต่ำกว่า 13 ปี จะไม่สามารถหยุดควบคุมบัญชีก่อนที่เด็กจะโตถึงอายุ 13 ได้ โดยจะต้องลบบัญชีทิ้งและสร้างใหม่เท่านั้น ดังนั้น แนะนำว่าอย่าใช้บัญชีนี้เป็นบัญชีที่ใช้ทำอะไรสำคัญ ๆ ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกผูกอยู่กับ Family Link จนกว่าเด็กจะโต
ระวังอย่าให้มือถือของพ่อแม่มีปัญหา เสี่ยงมือถือลูกโดนล็อกถาวร
กรณีนี้ มีผู้ใช้งานหลายรายเคยรีวิวแอปฯ เอาไว้ว่า เคยเชื่อม Family Link แล้วเผลอลบบัญชี หรือมือถือมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถควบคุมมือถือของลูกได้อีก หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นเราอาจต้องรีเซตเครื่องใหม่ทั้งหมดเท่านั้น
แอปฯ นี้เป็นวิธีแก้ลูกติดมือถือได้ก็จริง แต่ก็ต้องดูแลลูกในชีวิตจริงด้วย
ถึงแม้จุดประสงค์ของ Google Family Link คือ การเป็นเครื่องมือช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ปกครองจะทำแค่เซตเวลา แล้วละเลยการอบรมสั่งสอนของตนเองไปเลย โดยหวังจะให้แอปฯ เป็นวิธีแก้ลูกติดมือถืออย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้ว การสร้างพฤติกรรมที่ดีก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่เป็นสำคัญ
สรุป
เรียกได้ว่า Google Family Link คือหนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ปกครอง ในการที่จะได้รู้ความเคลื่อนไหวและสามารถควบคุมการใช้มือถือของบุตรหลานให้อยู่ในความเหมาะสมได้ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ คอนเทนต์บนโลกออนไลน์มีหลากหลาย ทั้งที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป ดังนั้น ความเสี่ยงที่เด็กจะไปเจอคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมก็มีมากตามไปด้วย ขณะเดียวกัน เรื่องของเวลาในการใช้งานมือถือต่อวัน ก็ควรอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไปจนทำให้เด็กกลายเป็นคนติดมือถือ ซึ่งอาจนำผลที่ไม่ดีหลายอย่างตามมา แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของเด็กส่วนใหญ่ก็ล้วนมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้
Join the discussion - 0 Comment