วิเคราะห์ฟีดแบ็กโฆษณาด้วย 4 YouTube Ads KPIs ที่ควรรู้จัก

เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดให้เกิดการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) โดยหนึ่งในช่องทางที่นิยมมาก ด้วยมีจำนวนผู้ใช้ที่สูงเป็นอันดับสองรองจาก Facebook ก็คือ “YouTube” ดังนั้น YouTube จึงถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพมาก หากเราเข้าใจหลักการลง YouTube Ads อย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม การทำโฆษณาในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน ก็ไม่ใช่แค่การทำแล้วลง แล้วก็จบเพียงเท่านั้น แต่เรายังต้องย้อนกลับมาดูข้อมูลเชิงลึกที่แสดงฟีดแบ็กของโฆษณานั้น ๆ ด้วย ว่าได้ผลตอบรับที่ดีมากน้อยแค่ไหน คนมีส่วนร่วมเยอะหรือไม่ เพื่อให้รู้ว่าเราควรปรับปรุงหรือพัฒนาในจุดใดได้อีกที่จะทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

วันนี้ เราจะมาพูดถึง YouTube Ads KPIs” 4 ตัวที่นักการตลาดออนไลน์ควรนำมาใช้ในการวัดผลโฆษณาของตัวเองบน YouTube 

KPI ของโฆษณาบน YouTube

YouTube Ads KPIs คืออะไร

ใครที่คิดว่าการทำโฆษณาง่าย บอกเลยว่าคิดผิด ! เพราะการที่ต้องคิดคอนเทนต์ดึงดูดลูกค้า ทำกราฟิกสวย ๆ ให้คนที่ผ่านไปผ่านมาสะดุดตา ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้แบบปอกกล้วยเข้าปาก ไหนจะต้องกลับมาวิเคราะห์ระบบหลังบ้านอีกว่าโฆษณาที่เราลงไปมีผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง หากผลที่ได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ นั่นแสดงว่าเรายังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอีก

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าต้องดูส่วนไหนบ้าง ถึงจะเรียกว่าผลตอบรับดีหรือไม่ดี คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่ YouTube Ads KPIs หรือ YouTube Advertise KPIs

KPI ย่อมาจาก Key Performance Indicator เป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน โดยเทียบผลการดำเนินงานกับเป้าหมายหรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ ดังนั้น YouTube Ads KPIs จึงเป็นตัววัดที่ใช้ประเมินผลตอบรับในการลงโฆษณา ว่าผู้พบเห็นมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างต่อโฆษณาของเรา ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ยังสามารถใช้วัดและประเมินความสำเร็จของธุรกิจ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการโปรโมตแบรนด์ได้ด้วยเช่นกัน

 

4 YouTube Ads KPIs ที่นักการตลาดควรรู้

View Rate

เริ่มจาก KPI ตัวแรกที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว นั่นก็คือ View Rate หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยอดวิว” ที่แสดงให้เห็นว่ามีคนดูวิดีโอโฆษณาของเราไปทั้งหมดกี่ครั้งนั่นเอง และแน่นอนว่าหากจำนวนคนรับชมไม่ถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เราก็ต้องมาปรับกลยุทธ์การทำโฆษณาใหม่อีกครั้งเพื่อให้มียอดวิวมากกว่าเดิม

คำถามคือ แล้วเราจะวัด View Rate ได้อย่างไร ซึ่งก่อนจะตอบได้ เราต้องเข้าใจหลักการนับยอดวิวของ YouTube เสียก่อน

โดยปกติแล้ว หากโฆษณาของเรามีความยาวหลายนาที กลุ่มเป้าหมายต้องหยุดดูโฆษณาของเราให้ได้อย่างน้อย 30 วินาที YouTube จึงจะนับเป็น 1 วิว ในทางกลับกัน หากโฆษณาของเรามีความยาวไม่ถึง 30 วินาที กลุ่มเป้าหมายจะต้องดูโฆษณาของเราจนจบ จึงจะนับเป็น 1 วิว ซึ่งข้อมูลจาก Unskippable Labs ระบุว่า คลิปโฆษณาที่มีความยาว 30 วินาที จะมีจำนวนคนดูมากที่สุด

เมื่อเข้าใจหลักการนับ View Rate แล้ว เรื่องต่อมาที่ควรวิเคราะห์ให้เป็น คือ ยอดวิวของโฆษณาที่เราลงนั้นได้เปอร์เซ็นต์ผลตอบรับดีแค่ไหน โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้

ยอดรับชมโฆษณา / ยอดการแสดงผล x 100

เช่น หากมียอดรับชมโฆษณา 500 คน ต่อยอดการแสดงผล 2,000 คน ค่า View Rate ที่ได้ก็จะเป็น (500/2,000) x 100 = 25%

อย่างไรก็ดี ถ้า View Rate ต่ำกว่า 20% หมายความว่าเราควรรีบหาทางปรับกลยุทธ์บางอย่างที่อาจผิดพลาดไป เช่น การออกแบบช่วงเปิดโฆษณาอาจไม่น่าดึงดูดมากพอ หรืออาจตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ไม่ตรงจุด

นอกจากนี้ ถ้าค่า View Rate ต่ำ เราจะต้องจ่ายค่า Cost Per View (CPV), Cost Per Click (CPC) และ Cost Per Acquisition (CPA) สูงขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณา ก็ต้องหมั่นเช็ก View Rate บ่อย ๆ เพื่อให้สามารถปรับแก้กลยุทธ์ได้อย่างทันท่วงที

Click Through Rate (CTR)

โดยทั่วไปแล้ว หากกลุ่มเป้าหมายสนใจโฆษณาของเรา ก็มักจะคลิกไปดูข้อมูลสินค้าหรือบริการต่อ Click Through Rate หรืออัตราการคลิกของลูกค้าจึงเป็นอีกหนึ่งค่าที่ควรนำมาวิเคราะห์

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ CTR คืออัตราการคลิกโฆษณาเมื่อเทียบกับอัตราการเห็นโฆษณา (Impression) หมายความว่า ถ้าคนเห็นโฆษณาเยอะแต่คลิกดูน้อย ค่า CTR จะต่ำ แต่ถ้าคนเห็นโฆษณาเยอะแล้วคลิกดูเยอะด้วย ค่า CTR ก็จะสูงตาม โดยวิธีการคำนวณค่า CTR สามารถทำได้ดังนี้

จำนวนคลิก / จำนวนการแสดงผล x 100

เช่น ถ้ามีคนเห็นโฆษณาของเรา 1,000 คน แต่มีคนคลิกดู 200 ครั้ง ค่า CTR จะอยู่ที่ (200/1,000) x 100 = 20%

ทั้งนี้ หากค่า CTR ต่ำกว่า 20% เราอาจจะต้องปรับรูปแบบโฆษณาให้ดูน่าคลิกมากขึ้น เช่น เปลี่ยนภาพปกคลิป เปลี่ยนสตอรีไลน์ เปลี่ยนคอนเทนต์ เปลี่ยนนักแสดงที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเดิม เปลี่ยนซาวด์เอฟเฟกต์ หรือเสียงบรรยายโฆษณา เป็นต้น

Conversion Rate

แม้ View Rate หรือ CTR ของเราจะสูง แต่ถ้า Conversion Rate ไม่ดี ก็อาจหมายความว่าโฆษณายังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร

ความสำคัญของ Conversion Rate คือ ทำให้เรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคลิกดูโฆษณาของเราเท่าไรเมื่อเทียบกับยอดขายที่ได้ โดยยิ่งสูงถือว่ายิ่งดี เพราะแสดงว่ากลุ่มเป้าหมายคลิกชมโฆษณาแล้วตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของเราเยอะ ซึ่งในปี 2022 ค่าเฉลี่ย Conversion Rate บน YouTube อยู่ที่ 1.4% หากต่ำกว่านี้ เราควรปรับกลยุทธ์ใหม่ทันที เช่น

  • วิเคราะห์ว่ากำหนดกลุ่มเป้าหมายในการยิงโฆษณาถูกหรือไม่ เพราะบางครั้งเราอาจยิงไปหาผู้ที่สนใจแต่ไม่มีงบประมาณในการซื้อ
  • พัฒนาหน้า Landing Page ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเพื่อให้สามารถปิดการขายได้ไวขึ้น

วิธีการคำนวณค่า Conversion Rate สามารถทำได้ดังนี้

ยอดจำหน่ายสินค้า / จำนวนคลิก x 100

เช่น ถ้ามีคนคลิกโฆษณาบน YouTube ของเรา 1,000 ครั้ง แต่มีคนสั่งซื้อสินค้าจริงทั้งหมด 50 ออร์เดอร์ Conversion Rate ที่ได้จะเป็น (50/1,000) x 100 = 5%

Cost Per Acquisition (CPA)

คำว่า Acquisition ในที่นี้ หมายถึง การกระทำของลูกค้าหลังจากดูโฆษณาของเรา โดยสามารถเป็นได้หลายรูปแบบ เช่น การทักแชตมาสอบถามข้อมูลสินค้าหรือบริการ การสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ การกรอกแบบฟอร์ม การสมัครสมาชิก เป็นต้น

ค่า Cost per Acquisition เกิดจากการนำค่าโฆษณามาเทียบกับการกระทำที่เกิดจากลูกค้าหนึ่งราย เพื่อหาว่าเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไร คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งมีวิธีคำนวณดังนี้

ค่าโฆษณาทั้งหมด / จำนวน Conversion

เช่น ถ้าค่าโฆษณาทั้งหมดคือ 20,000 บาท และมี Conversion 800 ครั้ง ค่า CPA จะเป็น 20,000/800 = 25 บาท

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของโฆษณาเพื่อดันให้ถึงเป้า CPA ที่วางไว้ อาจต้องเพิ่มเงินโฆษณาเข้าไปอีก แต่จะควรเป็นเท่าไรนั้น ยังมีอีกหลายเครื่องมือทางการตลาดที่สามารถแนะนำเราได้ เช่น Google

 

สรุป

แนวคิดที่ว่า “วิดีโอที่ประสบความสำเร็จคือวิดีโอที่มียอดเข้าชมมาก” นั้นก็อาจจริงอยู่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดสำหรับการตลาด เพราะในฐานะผู้ประกอบการ เราควรเน้นที่การตรวจสอบ YouTube KPI ทั้งหมดนี้มากกว่าแค่การเน้นยอดวิวเพียงอย่างเดียว บางทีหากยอดวิวไม่ได้เยอะเท่าคลิปวิดีโอที่เป็นไวรัลอื่น ๆ แต่ค่า CTR และ Conversion Rate สูง ก็อาจหมายถึงความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะดูข้อมูลข้างต้นผ่านหลังบ้าน YouTube ได้แล้ว เรายังสามารถดูผ่านเครื่องมือและแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ใช้ Google Trend เพื่อดูว่ามีคนค้นหาเกี่ยวกับแบรนด์ของเราบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่อยากพัฒนาแผนการตลาดออนไลน์ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น Primal Digital Agency มีทีมงานที่พร้อมจะช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ เพียงแค่ติดต่อเราได้เลยวันนี้