WooCommerce VS Megento อันไหนดีกว่าสำหรับ ECommerce?

WooCommerce และ Magento นับเป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ E-Commerce ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้! แต่เครื่องมือทั้งสองประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของฟีเจอร์ ราคา การใช้งาน หรือแม้แต่ด้านความปลอดภัย  

สำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะสร้างร้านออนไลน์ แต่ไม่รู้ว่าควรใช้เครื่องมือประเภทไหนดีถึงจะเหมาะกับธุรกิจ วันนี้เราจะมาเปรียบเทียบ WooCommerce VS Magento ให้เห็นกันแบบชัด ๆ รับรองว่าอ่านจบแล้วรู้ทันทีว่าเครื่องมือตัวไหนจะตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณที่สุด!

Table of Contents

ทำความรู้จัก WooCommerce คืออะไร?

WooCommerce คือแพลตฟอร์มจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ Content Management System (CMS) ที่สามารถช่วยสร้างและปรับแต่งร้านค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ เหมาะสำหรับทั้งมืออาชีพและมือใหม่ เพราะง่ายต่อการใช้งาน แม้จะไม่มีความรู้เรื่องเว็บไซต์หรือการเขียนโค้ดก็ตาม!

>> อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ WooCommerce

WooCommerce คือ

ทำความรู้จัก Magento คืออะไร?

Magento หรือที่ตอนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Adobe Commerce คือแพลตฟอร์มจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ (Content Management System: CMS) โดยถูกออกแบบมาเพื่อการทำ E-Commerce โดยเฉพาะ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เปรียบเสมือนระบบหลังบ้านที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การขายของออนไลน์ โดยใช้ภาษาพีเอชพี (PHP) ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองได้ตั้งแต่การจัดหมวดหมู่สินค้า อัปเดตจำนวนสินค้าในคลัง ระบบชำระเงิน การจัดส่ง รวมไปถึงการจัดทำโปรโมชันต่าง ๆ

>> อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Magento

Magento คือ

Adobe Commerce 

นอกจาก WooCommerce แล้ว ตัวช่วยในการสร้างร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ยังมี “Adobe Commerceหรือชื่อเดิมคือ “Magentoนั่นเอง โดย Adobe Commerce คือ เครื่องมือการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป (Content Management System หรือ CMS) สำหรับการทำร้านค้าออนไลน์หรือ  E-Commerce โดยเฉพาะ ซึ่งมีฟีเจอร์ในการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ การเพิ่ม การจัดการ การจัดหมวดหมู่ การแก้ไขสินค้า การอัปเดตจำนวนสินค้าในคลัง การสร้างโปรโมชั่น การจัดการและแก้ไขออร์เดอร์ รวมถึงระบบการรองรับการชำระเงินที่ปลอดภัย และอื่น ๆ อีกมากมาย

 

WooCommerce VS Magento อันไหนดีกว่าสำหรับสร้างร้านค้า E-Commerce?

ผลสำรวจจาก Alexa ระบุว่า WooCommerce และ Magento เป็นแพลตฟอร์มสร้างร้านค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรงที่สุด โดยตอนนี้มีจำนวนผู้ใช้งานคิดเป็น 20% ของผู้ใช้งาน E-Commerce ทั้งหมด!

ถ้าหากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง WooCommerce VS Magento แล้ว สามารถแจกแจงเป็นตารางได้ดังนี้

 

WooCommerce

Magento

การใช้งาน

โปรแกรมสำเร็จรูป ใช้งานง่าย ไม่ต้องอาศัยความรู้ด้านการเขียนโค้ด

การใช้งานซับซ้อน ต้องมีความรู้ด้านการพัฒนาเว็บฯ เล็กน้อย

ระบบการรองรับสินค้า

รองรับสินค้าจำนวนน้อยกว่า

รองรับสินค้าจำนวนมาก โมเดลธุรกิจซับซ้อนกว่า

ความเชี่ยวชาญของผู้ใช้

เหมาะสำหรับมือใหม่

เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้เขียนโค้ดพื้นฐาน

ขนาดธุรกิจ

เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก (SME) – กลาง 

เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่

ความเร็วในการใช้งาน

ประมวลผลเร็ว

ประมวลผลช้ากว่า เนื่องจากมี Resource ค่อนข้างเยอะ

Hosting

ต้อง Hosting เอง

มีค่าใช้จ่ายในการ Host

ราคา

ฟรี

แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับปลั๊กอินเสริม

ฟรี

แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับแพ็กเกจระดับสูง

ระบบรักษาความปลอดภัย

ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง

 

การใช้งาน : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : เป็นโปรแกรมสำเร็จรูป มีระบบแบบเดียวกันกับ WordPress ดังนั้น จึงใช้งานง่าย สะดวก ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านการเขียนโค้ดก็สามารถใช้งานได้

Magento : ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป ระบบการใช้งานค่อนข้างซับซ้อนและอาศัยการปรับแต่งที่ยุ่งยากพอสมควร ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการพัฒนาเว็บฯ เล็กน้อย หรือเป็นบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Program ก็จะช่วยให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ความเชี่ยวชาญของผู้ใช้ : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : เหมาะกับมือใหม่หรือผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ด เนื่องจากเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป ที่มีระบบการใช้งานไม่ซับซ้อน

Magento : เหมาะสำหรับผู้มีความรู้เขียนโค้ดพื้นฐาน เนื่องจากระบบมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการปรับแต่งที่ยุ่งยากพอสมควร

ขนาดธุรกิจ : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางประเภท SME เนื่องจากระบบการใช้งานไม่ซับซ้อน รองรับสินค้าจำนวนไม่มาก และที่สำคัญใช้งานได้ฟรี ทำให้เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่มีทุนมากนัก (ยกเว้นแต่การซื้อปลั๊กอินเสริมอื่น ๆ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

Magento : เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากมีระบบหลังบ้านและระบบการจัดการสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงมีฟีเจอร์ครบครันที่สามารถสร้างร้านค้าได้อย่างครอบคลุม ที่สำคัญ มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงอาจเหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณในส่วนนี้มากกว่า

ความเร็วการใช้งาน : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : เนื่องจากเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่ไม่ได้มี Resource เยอะ ทำให้การเข้าใช้งานค่อนข้างลื่นไหลและรวดเร็ว

Magento : ด้วยความที่มี Resource จากฟีเจอร์ต่าง ๆ มากกว่า อีกทั้งระบบยังต้องรองรับโมเดลธุรกิจที่ซับซ้อน ทำให้การเข้าใช้งานหน่วงกว่า WooCommerce เล็กน้อย อย่างไรก็ดี สามารถแก้ไขได้ด้วยการลบ Cache ก็จะช่วยให้การใช้งานรวดเร็วขึ้นได้

ระบบ Hosting : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : จะต้องทำการ Host เว็บไซต์ด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่ต้องการให้ระบบ Host  สามารถทำได้ด้วยการซื้อแพ็กเกจระดับพรีเมียม

Magento : อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการ Host แพลตฟอร์มหรือใช้เครื่องมือทางการตลาด

ระบบการรองรับสินค้า : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : ระบบหลังบ้านอาจรองรับจำนวนสินค้าได้ไม่มากนัก ดังนั้นจึงเหมาะกับธุรกิจท้องถิ่น (Local Business) ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจที่โครงสร้างไม่ซับซ้อน  

Magento : มีระบบหลังบ้านสำหรับจัดการสินค้าแบบครบวงจร อีกทั้งระบบยังสามารถรองรับสินค้าจำนวนมาก ๆ ได้ ทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งกับผู้ค้าปลีก รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่

ราคา/ค่าใช้จ่าย : WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : ดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี ทั้งตัวโปรแกรมและปลั๊กอิน (เว้นแต่ปลั๊กอินเสริมที่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

Magento : มี 2 ประเภทคือ

  1. Magento Community : ดาวน์โหลดฟรีหรือที่เรียกว่า Open Source เวอร์ชันนี้จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ด้านโปรแกรมและการเขียนโค้ด เนื่องจากอาจจะยังมี Bug ที่ต้องทำการแก้ไข
  2. Magento Enterprise : มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ 22,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในเวอร์ชันนี้จะมีทีม Support ที่คอยสแตนบายให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดด้วย

ระบบรักษาความปลอดภัย WooCommerce Vs Magento

WooCommerce : มีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน

Magento : มีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อปิดช่องโหว่ทางเทคนิคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการสร้างร้านค้า

อย่างไรก็ดี เพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราได้รวบรวมข้อดี – ข้อเสียของ WooCommerce กับ Magento มาเทียบให้เห็นกันแบบชัด ๆ ดังนี้

 

ข้อดีของ WooCommerce

1.       ใช้งานง่าย

ด้วยความที่ WooCommerce เป็นปลั๊กอินเสริมใน Content Management System (CMS) ชื่อดังอย่าง “WordPress” ทำให้มีรูปแบบการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แม้ไม่มีความรู้ในการทำเว็บไซต์ หรือการเขียนโค้ดมาก่อนก็สามารถใช้งานได้

2.       มีฟีเจอร์ครบครัน

WooCommerce เป็นเครื่องมือในการสร้างเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่ครบครัน มีฟีเจอร์การใช้งานที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับการทำร้านค้าออนไลน์สำหรับธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นทั้งการสร้างร้านค้า การบริหารจัดการสินค้า การบริหารจัดการออร์เดอร์ การจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย ฯลฯ

3.       ปรับแต่งได้อย่างอิสระ

แม้ว่า WooCommerce จะเป็นปลั๊กอินสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป แต่ก็ยังมีฟีเจอร์ที่สามารถปรับแต่ง และออกแบบการจัดวางหน้าเว็บไซต์สำหรับร้านค้าออนไลน์ได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถสร้างเว็บไซต์ที่ดูมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากเว็บไซต์อื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถปรับแต่งเว็บไซต์ได้เหมาะสมกับประเภทสินค้าที่จำหน่ายอีกด้วย

4.       ทำ SEO และโฆษณาได้

ร้านค้าออนไลน์ที่สร้างด้วย WooCommerce ไม่เพียงจะนำเสนอสินค้าให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการยังสามารถเพิ่มหัวข้อบทความหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ สำหรับการทำ SEO (Search Engine Optimisation) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ระบบของ WooCommerce ยังรองรับการทำโฆษณาที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Google Ads, Google Shopping, Facebook Ads, Instagram Ads และอื่น ๆ 

5.       สามารถติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้ไม่จำกัด

แม้ว่า WooCommerce จะมีฟีเจอร์ครบครัน อย่างไรก็ดี หากรู้สึกว่าฟีเจอร์ที่ให้มาไม่เพียงพอ หรือยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการ ก็สามารถติดตั้งปลั๊กอินเสริมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มตามแต่ละประเภทของปลั๊กอินเสริมนั้น ๆ

6.       มีระบบประมวลผลให้

WooCommerce มาพร้อมกับระบบประมวลและวิเคราะห์ผลทางการตลาด ซึ่งมีความละเอียดแม่นยำสูง ทั้งนี้ระบบดังกล่าวยังสามารถทำงานร่วมกับ Google Analytics ได้ด้วย

7.       ใช้งานได้ฟรี

WooCommerce ใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อย่างที่ได้กล่าวไปว่า หากการใช้งานฟีเจอร์พื้นฐานจะไม่ตอบโจทย์ ก็สามารถซื้อปลั๊กอินหรือฟีเจอร์อื่น ๆ เพิ่มเติม โดยแต่ละประเภทก็จะมีงบประมาณให้เลือกตามความเหมาะสมและความต้องการ โดยทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท (ราว ๆ $15 – $300 ตามแต่ค่าเงินในขณะนั้น)

ข้อเสียของ WooCommerce

1.       ฟีเจอร์เสริมต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริมได้

อย่างที่กล่าวไปว่า หากฟีเจอร์ของ WooCommerce ยังไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการ การติดตั้งปลั๊กอินเสริมก็อาจเป็นทางออกที่ตอบโจทย์มากกว่า อย่างไรก็ดี ตรงนี้ก็อาจเป็นข้อเสีย เพราะนอกจากจะเพิ่มความยุ่งยากในการจัดการ ปลั๊กอินเสริมเหล่านี้ยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย 

2.       ไม่รองรับการทำ Multi Stores และ Languages

WooCommerce ยังไม่มีฟีเจอร์รองรับการสร้างร้านค้าออนไลน์หลาย ๆ ร้านในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังไม่มีฟีเจอร์รองรับการใช้งานหลากหลายภาษา ดังนั้น หากต้องการเครื่องมือที่มีฟีเจอร์ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ก็จำเป็นต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริม ซึ่งอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ 

3.       ไม่มีระบบ Advanced Search

WooCommerce ไม่มีฟีเจอร์การตั้งค่าให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาสินค้าแบบละเอียดหรือ Advanced Search ได้ ซึ่งในส่วนนี้อาจจะทำให้ผู้ใช้งานพบเจอความยุ่งยากในการค้นหาสินค้ามากกว่าปกติ

ข้อดีของ Magento

1.       การปรับเปลี่ยน Multi Stores และ Languages อัตโนมัติ

Magento มีหลายฟีเจอร์ที่สามารถตั้งค่าให้ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของผู้ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่าง ๆ หรือแม้แต่การตั้งค่าหน้าแสดงผลร้านค้าที่แตกต่างกันไป ตามหมวดหมู่แยกย่อยของสินค้า เช่น หน้าเว็บไซต์สินค้าผู้ชายและหน้าเว็บไซต์สินค้าผู้หญิงที่แยกออกจากกัน เป็นต้น

2.       การปรับแต่งที่ไม่มีข้อจำกัด

Magento รองรับการปรับแต่งอย่างอิสระ ไม่ว่าจะอยากเนรมิตเว็บไซต์ให้ออกมาเป็นแบบไหน หรือแม้แต่อยากจะเพิ่มหน้าคอนเทนต์ SEO เข้าไปก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ ความพิเศษของ Magento ยังอยู่ที่การไร้ข้อจำกัดทางกาลเวลา เพราะในอนาคตหากต้องการเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ภายในร้านค้า ระบบก็ยังจะสามารถปรับเปลี่ยนการออกแบบเดิมให้สอดคล้องกับรูปแบบใหม่ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมด   

3.       ขับเคลื่อนด้วย AI

Magento มีการนำ Artificial Intelligence (AI) มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมทั้งประสบการณ์การซื้อของผู้บริโภคและยอดขายให้ดีขึ้น ซึ่งระบบ AI นี้จะทำการประมวลผลจากอัลกอริทึมการใช้งานของผู้บริโภค และเลือกแนะนำสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคคนนั้น ๆ มากที่สุด 

4.       รองรับการทำ SEO

Magento สามารถรองรับการทำ SEO ได้ดี! ทั้งในแง่ของการเพิ่มหน้าคอนเทนต์สำหรับทำ SEO หรือการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้ติดอันดับในหน้าแรกของระบบ Search Engine Google

5.       ระบบการวัดผลที่แม่นยำ

Magento มีระบบการวัด วิเคราะห์ และประมวลผลการตลาด ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมหรือข้อมูลเชิงลึก นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ในการรายงานผลประกอบการ ทำให้ไม่ต้องนำมาวิเคราะห์หรือคำนวณเองใหม่อีกด้วย 

6.  รองรับการชำระเงินและตัวเลือกการจัดส่งที่หลากหลาย

Magento มีฟีเจอร์รองรับการปรับแต่งระบบการชำระเงินและตัวเลือกการจัดส่งที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินในรูปแบบการเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery) การชำระผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต การโอนผ่านบัญชีธนาคาร การผ่อนชำระ การชำระเงินผ่าน Paypal ฯลฯ นอกจากนี้ ระบบของ Magento ยังรองรับการจัดส่งที่หลากหลาย โดยจะวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ตั้งค่าเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดส่งรวมถึงค่าใช้จ่าย

7. ระบบค้นหาสินค้ามีให้เลือกใช้ทั้งแบบปกติและแบบ Advance Search 

Magento มีฟีเจอร์ตั้งค่าระบบค้นหาสินค้าในร้านทั้งแบบปกติและแบบละเอียด (Advance Search) ทำให้ตอบโจทย์การค้นหาของผู้ใช้งานได้มากขึ้น

ข้อเสียของ Magento

1.       ค่าใช้จ่ายสูง

ฟีเจอร์ที่ครบครันของ Magento ย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน โดยราคาแพ็กเกจต่อปีเริ่มต้นที่ราว ๆ 800,000 บาท ( $22,000 ตามแต่ค่าเงินในช่วงเวลานั้น ๆ)

2.       ติดตั้งปลั๊กอินเสริมยาก

แม้ Magento จะรองรับการปรับแต่งขั้นสูงรวมถึงการติดตั้งปลั๊กอินเสริม อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการติดตั้งค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร โดยคุณจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและการเขียนโค้ด ถึงจะทำการแก้ไขในส่วนนี้ได้

3.       หน้าเว็บไซต์ประมวลผลช้า

ด้วยความที่ Magento  มีฟีเจอร์ครบครัน รวมถึงมีความสามารถในการช่วยปรับแต่งหน้าร้านค้าได้อย่างอิสระ การใช้งานแต่ละครั้งอาจทำให้เกิดการดาวน์โหลดและประมวลผลช้ากว่าเว็บไซต์อื่น ๆ อย่างไรก็ดี ความเร็วในการดาวน์โหลดก็ยังอยู่ในระดับที่พอรับได้และไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาต่อการใช้งาน

4.       คนไทยนิยมใช้น้อย

เนื่องจาก Magento ไม่ใช่เว็บไซต์สำเร็จรูป แต่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเอง ทำให้ผู้ใช้หลายคนอาจมองว่ายุ่งยาก ด้วยเหตุนี้ จึงยังไม่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหมู่คนไทยมากนัก

 

สรุป

สำหรับการสร้างเว็บไซต์ E-Commerce อาจไม่มีคำตอบตายตัวว่าควรจะเลือก WooCommerce หรือ Magento ดี แต่ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้งานควบคู่ไปกับงบประมาณที่มี ก็จะสามารถเลือกใช้ให้ตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณได้มากยิ่งขึ้น!

แต่หากการสร้างร้านค้าออนไลน์ด้วยตนเองยุ่งยากเกินไป ก็อย่าลังเลที่จะปรึกษากับ Primal Digital Agency เราคือเอเจนซีรับทำ SEO ชั้นนำ ที่มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ร้านค้า E-Commerce ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณโดยเฉพาะ ถ้าพร้อมแล้วก็กรอกรายละเอียดเพื่อปรึกษาเราทันทีได้เลยตอนนี้!