รู้จักเทรนด์การตลาดยุคใหม่ Google Voice Search คืออะไร?
ปัจจุบันนี้ การชอปปิงออนไลน์เข้ามามีบทบาทในวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของธุรกิจ E-commerce ในไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการต้องปรับตัวตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนากลยุทธ์การตลาดของตนเองให้เหนือกว่าคู่แข่ง โดยหนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองว่าจะมาเปลี่ยนแปลงตลาด E-commerce ก็คือ “Voice Search” หรือการค้นหาด้วยเสียงนั่นเอง
Table of Contents
Voice Search คืออะไร?
Voice Search เป็นการใช้คำสั่งเสียงในการค้นหาข้อมูลบน Search Engine เช่น Google Voice Search คือหนึ่งในการค้นหาด้วยเสียงที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้ โดยส่วนมากมักเป็นการค้นหาแบบใช้คำยาวมากขึ้นหรือเป็นรูปประโยคคำถาม อีกทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การค้นหาด้วยเสียงจะมีความเป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียนแบบ Text Search ทั่วไปที่มักใช้คำที่เป็นทางการกว่า
ผลสำรวจของ Google พบว่า กลุ่มคนที่นิยมใช้วิธีการค้นหาแบบ Voice Search ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ต้องการค้นหาร้านค้าที่อยู่ใกล้ ๆ หรือรายละเอียดของสินค้าที่ตนเองสนใจก่อนตัดสินใจซื้อ ต่างจาก Text Search ที่สามารถค้นหาอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลก็ตาม และการใช้ Voice Search มักจะเกิดขึ้นระหว่างที่บุคคลนั้น ๆ ทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วย เช่น ขับรถ อาบน้ำ ทำอาหาร หรือออกกำลังกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ หลังจากที่เราใช้ Voice Search จะมีบริการที่เรียกว่า “Voice Commerce” เกิดขึ้น กล่าวคือ เป็นการต่อยอดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีการจดจำเสียง (Recognized Voice) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลคำสั่งเสียงเพื่อให้ค้นหาสินค้าหรือบริการได้อย่างถูกต้อง
วิธีการใช้เทคโนโลยี Voice Search
การใช้ Voice Search ในการค้นหาสิ่งที่ต้องการนั้นไม่ยากเลย เพราะเทคโนโลยีการออกคำสั่งด้วยเสียงนั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อลดความซับซ้อนและความยุ่งยากในการใช้งาน ส่งผลให้การใช้ Voice Search มีเพียง 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ฟังก์ชันคำสั่งเสียงได้ เช่น สมาร์ตโฟน เป็นต้น
- พูดคำสั่งเพื่อเปิดการใช้งานฟังก์ชันดังกล่าว เช่น Hey Siri, Hey Google หรือ Talk to Walmart บนอุปกรณ์ Google Home เป็นต้น
- จำเป็นต้องทิ้งท้ายประโยคด้วยคำสั่ง (Action) เช่น “สั่งซื้อ” กระบวนการซื้อหรือการใช้บริการจึงจะเสร็จสมบูรณ์
- ต้องใช้โทนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง เนื่องจาก Voice Commerce จะจดจำน้ำเสียงของเราเพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์อนุญาตผู้อื่นเข้าสู่ระบบได้
Voice Search มีผลต่อเว็บไซต์อย่างไร?
หากพูดในแง่มุมของการทำการตลาดแล้ว แบรนด์ที่ทำคอนเทนต์รองรับการค้นหาด้วยเสียงหรือ Voice Search นั้นถือเป็นการยกระดับการทำ Digital Marketing อย่างมีประสิทธิภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเว็บไซต์ ดังนี้
- SEO – ช่วยเพิ่มจำนวนคนเข้ามาดูเว็บไซต์ (Traffic) และเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ SEO บนหน้าการค้นหา ซึ่งจะเห็นผลในระยะยาว
- Content Marketing – ช่วยให้คอนเทนต์ของเว็บไซต์ติดอันดับการค้นหา และสามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) กับผู้ใช้งานได้
- Paid Media – ช่วยให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
Voice Search เกี่ยวข้องกับการทำ SEO อย่างไร?
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การใช้งาน Voice Search นั้นมักจะใช้คำที่ไม่เป็นทางการ เพราะการค้นหาด้วยเสียงจะแตกต่างจากการค้นหาด้วยการพิมพ์คีย์เวิร์ด เช่น หากเราต้องการหาร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้ ๆ เรามักพิมพ์ว่า “ร้านสะดวกซื้อ ใกล้ฉัน” แต่หากค้นหาด้วยเสียงก็จะเป็นประโยคที่ยาวกว่า เช่น “บอกชื่อร้านสะดวกซื้อที่กำลังเปิดอยู่ตอนนี้ใกล้ ๆ บ้านให้หน่อย” เป็นต้น
ฉะนั้น การใช้คำสั่งเสียงเพื่อค้นหาจึงเป็นการใช้ Long-Tail Keyword และระบบการค้นหา (Search Engine) จะต้องสามารถวิเคราะห์และเข้าใจคีย์เวิร์ดที่มีความซับซ้อนได้ ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience: UX) เป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น โดยถ้าหากเราสามารถทำ SEO ที่ตอบโจทย์ Voice Search ได้ด้วยนอกเหนือจากการทำ SEO ทั่วไป ก็จะส่งผลให้การจัดอันดับเว็บไซต์บนหน้าค้นหาดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
เทคนิคการทำ SEO Voice Search
- อัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ทำธุรกิจ (Local Search)
ด้วยเพราะคนส่วนมากนิยมใช้ Voice Search ในการค้นหาสถานที่หรือวิธีการเดินทาง ดังนั้น เราจึงควรอัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ของเราเอาไว้เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาเจอได้โดยง่าย โดยคำค้นหาที่คนมักใช้กัน เช่น ช่วงเวลาเปิด-ปิดร้าน แผนที่การเดินทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ การใส่ข้อมูลพวกนี้ลงไปจะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข่าวสารที่ต้องการค้นหา และสามารถสร้างการมีส่วมร่วมเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
- ทำคอนเทนต์ให้เป็นภาษาพูด (Conversational Content)
การเขียนคอนเทนต์ด้วยภาษาที่ไม่เป็นทางการมากนักและคล้ายกับบทสนทนาทั่วไป จะทำให้ Google Bot จัดให้คอนเทนต์ของเราติดอันดับ SEO Voice Search แต่ถึงจะเป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ ก็ต้องอย่าลืมคำนึงถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบได้ด้วย
- ใช้ข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจน (Structured Data)
Structured Data คือ ข้อมูลที่มีเนื้อหาชัดเจนและเฉพาะตัว โดยส่วนมากจะประกอบไปด้วยตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ประเทศ เบอร์โทรศัพท์ หรือรหัสไปรษณีย์ก็ตาม ซึ่งหากผู้ใช้งานต้องการค้นหาข้อมูลที่มีโครงสร้างชัดเจนในลักษณะนี้ด้วยคำสั่งเสียง ก็มักจะถามอุปกรณ์ด้วยคำถามเหล่านี้ เช่น “นายกฯ คนปัจจุบันของไทยคือคนที่เท่าไร” “รหัสไปรษณีย์จังหวัดปราจีนบุรีมีเลขอะไรบ้าง” “จำนวนประชากรของประเทศไทยมีกี่คน” เป็นต้น
- อัปเดตข้อมูลบน Google My Business
Google My Business คือฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เราจึงควรอัปเดตข้อมูลให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แล้วยังช่วยเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์อีกด้วย
- พัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Friendly)
ในปัจจุบันนี้ ผู้คนเริ่มหันมานิยมใช้ Voice Search บนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน จึงมีความสำคัญอย่างมากที่เราจะต้องคำนึงถึงลูกค้าที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ด้วยการออกแบบหน้าเว็บฯ ให้เหมาะสมกับการดูบนมือถือ ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานพัฒนาไปในเชิงบวก
- สร้างคำตอบที่ผู้บริโภคมักตั้งคำถาม (Create Frequently Asked Questions)
Frequently Asked Questions คือฟีเจอร์ที่ Google สร้างขึ้นบนหน้าการค้นหา เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้หาคำตอบได้รวดเร็วทันใจและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์เพื่อไล่อ่านเนื้อหา และถ้าหากคอนเทนต์ของเรามีคำตอบที่ชัดเจน ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้งานนิยมค้นหา Google Bot ก็จะช่วยให้เราติดอันดับในฟีเจอร์เหล่านี้ นำมาซึ่ง Traffic บนเว็บไซต์ที่เยอะขึ้น เพราะผู้ที่สนใจเนื้อหาจะกดลิงก์มายังเว็บไซต์ของเราเพื่ออ่านเนื้อหาเพิ่มเติมนั่นเอง
ข้อจำกัดของ Voice Search คืออะไรบ้าง?
- ข้อจำกัดทางด้านภาษา เนื่องจากในขณะนี้ บริษัทที่ให้บริการ Voice Search ยังมีไม่มาก โดยที่มีอยู่ได้แก่ Google, Amazon, Paypal ที่พัฒนาระบบการชำระเงินด้วยเสียง และ Whirlpool เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่สั่งการด้วยเสียง ส่งผลให้ภาษาที่ใช้ในฟังก์ชัน Voice Search ส่วนมากยังเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้น Amazon Alex ที่มีทั้งหมด 7 ภาษา และถูกจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
- ข้อจำกัดด้านสำเนียง ในส่วนนี้ ระบบ AI ยังคงต้องพัฒนาอีกมาก เพราะสำเนียงการพูดของมนุษย์นั้นมีความหลากหลายเกินกว่าที่ปัญญาประดิษฐ์จะทำความเข้าใจได้ แม้แต่ภาษาเดียวกันแต่ไม่ใช่สำเนียงเดียวกันก็มี จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้การค้นหาด้วยเสียงให้มีประสิทธิภาพ
- ข้อจำกัดด้านความสามารถในการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน ด้วยเพราะความเป็น AI การใช้คำสั่งเสียงจึงยังไม่มีประสิทธิภาพด้านการโต้ตอบกับมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติมากนัก
- ข้อจำกัดเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) เนื่องจากกระแส Voice Search อาจจะยังไม่บูมมากในปัจจุบัน จึงทำให้ระบบการรักษาความเป็นส่วนตัวยังไม่ค่อยแน่นหนา
สรุป
ถึงแม้ว่าขณะนี้ฟังก์ชัน Voice Search อาจจะยังมีปริมาณการใช้งานไม่มากนัก แต่บอกได้เลยว่า ด้วยกระแสความมาแรงของตลาด E-commerce ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และด้วยซอฟต์แวร์กับอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้บริโภคจะทำให้การค้นหาด้วยเสียงได้รับความนิยมอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์จึงต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่คนมักใช้ค้นหาด้วยเสียงให้มากขึ้น รวมไปถึงการทำบทความ SEO ซึ่งจะต้องวางแผนคอนเทนต์และจัดระเบียบออกมาให้ดี เลือกใช้คำที่มีการค้นหาจริง แต่ก็อย่าทุ่มเทให้กับ SEO Voice Search เกินไปจนลืมว่า SEO ของ Text Search ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้น เราจึงควรแบ่งความสำคัญให้เหมาะสม ด้วยการจัดสรรคอนเทนต์และคีย์เวิร์ดให้สมดุลกัน เพื่อการทำ SEO ให้มีคุณภาพมากที่สุด
Join the discussion - 0 Comment