UX/UI คืออะไร ส่งผลต่อการทำ SEO อย่างไรบ้าง
คนทำเว็บไซต์หลายคนคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินเรื่องของ UX/UI หากแต่บางคนก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าสองอย่างนี้คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร หรือแม้แต่เข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว ทั้ง UX และ UI นั้น แม้จะอยู่คู่กันเสมอในการทำเว็บไซต์ทุกประเภท ทว่าก็มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
วันนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกันว่า UX/UI คืออะไร และมีความสำคัญต่อการทำเว็บไซต์อย่างไร
Table of Contents
UX/UI คืออะไร
UX (User Experience) คืออะไร
UX ย่อมาจาก User Experience คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งานต่อการใช้งาน (Usability) และการเข้าถึง (Accessibility) เว็บไซต์ มักหมายความถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ว่าผู้ใช้งานเกิดความพึงพอใจและมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์มากน้อยแค่ไหน โดย User Experience จะมีผลมาจาก UI หรือ User Interface ซึ่งจะอธิบายในลำดับต่อไป
ตัวชี้วัดของ UX
- Bounce Rate เป็นค่าที่บอกว่ามีคนที่เข้ามายังหน้าเว็บไซต์แล้วออกทันทีทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ค่า Bounce Rate ยิ่งต่ำจึงจะยิ่งดี ทว่าก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหานั้น ๆ ด้วย เช่น หน้า Blog Post อาจมีค่า Bounce Rate ที่สูงกว่าหน้า Services หรือหน้า Products เป็นต้น
- Page per Session คือ จำนวนหน้าที่ผู้ใช้งานเข้าไปชมต่อการเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราหนึ่งครั้ง โดยปกติแล้ว ยิ่งจำนวนมากจะยิ่งดี แต่ก็ต้องระมัดระวังในการทำ CTA ที่ไม่ชัดเจนพอ ซึ่งอาจส่งผลให้ Google Bot เข้าใจว่าเราดึงดูดคนให้เข้ามาที่เว็บไซต์ของเราผิดหน้าได้
- Dwell Time (Session Duration, Time on Page) คือ ค่าที่บอกถึงเวลาที่ผู้ใช้งานใช้ไปในแต่ละหน้า (Time on Page) หรือแต่ละครั้ง (Session Duration) ซึ่งหากยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์เรามีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน
- Page Speed คือ ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ หากโหลดได้เร็วก็มีโอกาสมากที่ผู้ใช้งานจะเข้าถึงเว็บไซต์เราได้เร็ว ดังนั้น ยิ่งเวลาในส่วนนี้น้อยเท่าไรก็จะถือว่าเว็บไซต์ของเรามี UX ที่ดี
UI (User Interface) คืออะไร
UI ย่อมาจาก User Interface คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน อันจะส่งผลโดยตรงต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ ได้แก่ การออกแบบหน้าเว็บไซต์ เช่น การเลือกใช้สี รูปแบบ ขนาดตัวอักษร สไตล์การจัดระเบียบหน้าเว็บ ฯลฯ ซึ่งวิธีการออกแบบที่สำคัญของ User Interface คือ ดีไซน์ต้องมีความเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป และต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (User-friendly) กล่าวคือ ทำให้หน้าเว็บไซต์มีความสวยงามไปพร้อม ๆ กับใช้งานสะดวกสบาย จึงจะทำให้ผู้ใช้งานเหล่านั้นมี UX หรือประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานเว็บไซต์มากที่สุด
ตัวชี้วัดของ UI
- ความเข้าใจง่ายของหน้าเว็บไซต์ ไม่ทำให้ผู้ใช้งานสับสน
- มี Design System ที่ดี
- สไตล์การออกแบบเว็บไซต์สามารถสื่อสารเป้าหมายขององค์กรได้
- สีและฟอนต์ไปในทางเดียวกัน
ความแตกต่างของ UX/UI คืออะไร
ในส่วนของ UX จะเน้นให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งาน ส่วน UI จะเน้นให้ความสำคัญกับความสวยงามในการออกแบบเว็บไซต์ (Web Design) เช่น การออกแบบกราฟิก มู้ดแอนด์โทน ธีมที่ใช้ ตลอดจนการติดต่อกับผู้ใช้งาน และข้อมูลทางด้านเทคนิคอื่น ๆ หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นส่วนที่ผู้ใช้งานมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับเว็บฯ นั่นเอง
ทั้ง UX และ UI จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้หน้าเว็บไซต์ออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุด เพราะต่อให้มี UX ที่ดี ใช้งานง่าย แต่ถ้าหน้าตาไม่สวยงามก็ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ ในทางกลับกัน ถ้าหากมี UI ที่สวยงาม แต่ใช้งานยาก ผู้ใช้งานก็ย่อมไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งานเว็บไซต์เช่นกัน ดังนั้น แต่ละแบรนด์จึงควรมี UX/UI Designer ที่รับผิดชอบด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะจะได้มีผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจผู้ใช้งานในระดับหนึ่ง ว่าผู้ใช้งานมักชอบแบบไหนหรือไม่ชอบแบบไหน เพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถนำมาปรับใช้และออกแบบเว็บไซต์ของเราให้ดีที่สุด
โดยทั่วไปแล้ว UX จะสร้างสิ่งที่ง่ายต่อการใช้งานและมีประโยชน์ต่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ แต่ UI จะเน้นสร้างความสวยงาม ซึ่งอาจมีหรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ แต่จะสร้างความน่าดึงดูดใจจากผู้ที่เข้ามาดูเว็บไซต์ได้แน่นอน ส่งผลให้ทั้ง UX/UI คือสองปัจจัยที่ต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพและสวยงามควบคู่กันไปนั่นเอง เพราะถ้าหากเว็บไซต์ของเรามี UX และ UI ที่ดีแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการติดอันดับ SEO อีกด้วย
UX/UI ช่วยเรื่อง SEO อย่างไร
การทำ SEO ยังคงเป็นวิธียอดฮิตสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจที่ต้องการให้เว็บไซต์ของตนเองติดอันดับบนหน้าแรกของการค้นหา แต่ภายใต้วิธีดังกล่าวก็ยังมีอีกหลายเทคนิคที่จะช่วยให้การทำ SEO ของเรานั้นมีประสิทธิภาพ หากทำผิดวิธีไป เว็บไซต์ของเราก็ไม่ปรากฏบนหน้าแรกอยู่ดี และ UX/UI คือหนึ่งในปัจจัยที่คนทำ SEO จะต้องใส่ใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อคุณภาพที่ดีของเว็บไซต์ โดยหากเว็บไซต์ของเราไม่ได้รับการเข้าชม หรือเข้าชมน้อย ตลอดจนไม่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้งานได้ ทำให้ค่า Bounce Rate ต่ำ ก็จะส่งผลต่อ SEO ทั้งสิ้น เพราะการจัดอันดับของ Google นั้น ประสบการณ์ของผู้ใช้งานและการออกแบบหน้าเว็บไซต์ของเราให้สามารถใช้การได้จริงจะมีผลต่อ Ranking เป็นอย่างมาก
กลยุทธ์ทำ UX เพื่อ SEO ที่มีประสิทธิภาพ
ทำโครงสร้างของเว็บไซต์สำหรับ SEO และ UX
- คำนึงถึง User Journey ที่หลากหลาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักเว็บไซต์ของเรามาก่อน แต่ถ้าหากเราทำ Inbound Marketing หรือ Content Marketing ได้ดี โอกาสที่คนจะเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราก็มีมากขึ้น
- โครงสร้างเว็บไซต์ต้องใช้ง่าย เพราะการออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่ใช้งานง่ายนั้น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงหน้าเพจที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย ดังนั้น เราจึงไม่ควรทำโครงสร้างให้ลึกและซับซ้อนเกินไป
- ใช้ชื่อเมนูที่เป็นสากล เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจเมนูเหล่านั้นได้ง่าย หากใช้คำที่เฉพาะตัวและยากจนเกินไปก็มีโอกาสที่เว็บไซต์ของเราจะไม่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้งานเหล่านั้น
ปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
- ทำให้เวลาในการโหลดหน้าเว็บไซต์ (Page Speed) น้อยที่สุด เนื่องจากระยะเวลาในการโหลดหน้าเว็บฯ คือปราการด่านแรกระหว่างผู้ใช้งานกับเว็บไซต์ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะดีไซน์หน้าเว็บฯ ของเราให้สวยงามแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าหากว่าใช้เวลาในการโหลดนาน เพราะผู้ใช้งานบางคนจะไม่รอจนกว่าหน้าเว็บฯ โหลดเสร็จ และจะออกไปเพื่อเข้าเว็บฯ คู่แข่งของเราแทน
- ให้ความสำคัญกับ Mobile Experience เพราะปัจจุบันนี้ ผู้ใช้งานไม่ได้มีแค่บนเดสก์ท็อปแล้ว แต่โทรศัพท์มือถือก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากจนแทบจะแซงหน้าเครื่องมืออื่น ๆ เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานบนมือถือด้วย
- จัดรูปแบบเนื้อหาให้อ่านง่าย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเลย์เอาต์ ฟอนต์ หรือลำดับความสำคัญของเนื้อหาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์ที่ดีจากการเข้าชมเว็บไซต์ของเรามากที่สุด
ชั่งน้ำหนักระหว่าง SEO และ UX ให้ดี
- อย่าลืมเรื่องของ Branding ทั้งในด้านการตั้งชื่อ Page Title หรือการเขียนคอนเทนต์ เราจำเป็นต้องโฟกัสความเป็น Branding ของตัวเองมากกว่าเรื่อง Focus Keyword เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานจดจำแบรนด์ของเราได้ในระยะยาว
- ผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ กล่าวคือ เขียนในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานจริง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเหล่านั้นรู้สึกพึงพอใจและอยากกลับมาที่เว็บไซต์เราอีกครั้ง
กลยุทธ์ทำ UI เพื่อ SEO ที่มีประสิทธิภาพ
- Visibility of System Status คือ การสื่อสารระหว่างระบบกับผู้ใช้งาน โดยจะต้องสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเชื่อใจจนอยากใช้งานต่อ เพราะถ้าหากผู้ใช้งานเข้ามาในระบบแล้วไม่มีการโต้ตอบสื่อสารระหว่างกัน หรือขาดความต่อเนื่องในการสื่อสาร ก็อาจทำให้เสียผู้ใช้งานรายนั้นไปได้
- Match between System and the Real World คือ ควรออกแบบ UI ให้ยึดสิ่งที่ผู้ใช้งานคุ้นเคยและเห็นเป็นประจำอยู่แล้ว โดยสามารถทำความเข้าใจในการใช้งานได้ง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ เช่น ใช้ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ใช่ภาษาแปลก ๆ หรือภาษาคอมพิวเตอร์ที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ
- User Control and Freedom คือ ควรมีการออกแบบ UI ให้ผู้ใช้งานสามารถย้อนกลับหรือยกเลิกได้ หากผู้ใช้รายดังกล่าวทำอะไรผิดพลาดบนเว็บไซต์
- Consistency and Standards คือ การออกแบบ UI ให้ไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสี ฟอนต์ รูปแบบของปุ่ม เป็นต้น
- Error Prevention คือ การออกแบบ UI เพื่อดักข้อผิดพลาดหรือ Error เช่น แสดงแจ้งเตือนสีแดงเมื่อผู้ใช้งานกรอกข้อมูลในฟอร์มไม่ครบ หรือมีพ็อปอัปแจ้งเตือน เพื่อถามคอนเฟิร์มผู้ใช้งานเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลที่กรอกไปอีกครั้ง เป็นต้น
- Aesthetic and Minimalist Design คือ การออกแบบเว็บไซต์ให้ดูเรียบง่าย สบายตา ไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกขัดใจเมื่อเข้ามา
- Recognition rather than Recall พยายามอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด อย่าให้พวกเขาใช้ความจำเยอะ เช่น การแยกหมวดสินค้าไว้ตามที่ต่าง ๆ การทำปุ่มที่ช่วยจดจำว่าก่อนหน้านี้ลูกค้าได้เลือกชมสินค้าใดไปแล้วบ้าง หรือการทำหน้าเพจสรุปรายการสินค้าทั้งหมดที่ผู้ใช้งานได้เลือกซื้อไว้ เป็นต้น
- Flexibility and Efficiency of Use คือ การออกแบบการใช้งานให้เหมาะสมกับระดับผู้ใช้งานที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ผู้ใช้งานที่เพิ่งเริ่มต้น ไปจนถึงผู้ใช้งานระดับโปรฯ โดยหากเป็นผู้ใช้งานในระดับเริ่มต้น อาจใช้งานแค่ในฟีเจอร์ปกติ แต่หากเป็นผู้ใช้งานระดับโปรฯ ก็อาจจะมีฟีเจอร์ที่พิเศษกว่า เป็นต้น
- Help Users Diagnose and Recover from Errors หากผู้ใช้งานพบเจอความผิดพลาดบนเว็บไซต์ ให้ระบุหรือแจ้งให้ผู้ใช้งานรายดังกล่าวทราบทันทีว่าตนทำอะไรผิด และต้องแก้ไขอย่างไรจึงจะสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้
- Help and Documentation ระลึกไว้เสมอว่าไม่ใช่ผู้ใช้งานทุกคนที่จะสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างคล่องแคล่ว ดังนั้น เว็บไซต์จึงควรมีหน้าที่เป็น FAQ (คำถามที่พบบ่อย) หรือความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น แชตบอตสำหรับการถาม-ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับแอดมินเว็บไซต์ แต่ต้องระวังเรื่องการแสดงความช่วยเหลือพร่ำเพรื่อแม้ในเวลาที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการ เพราะอาจสร้างความรำคาญได้
หน้าที่ของ UX/UI Designer คืออะไร
เมื่อเข้าใจแล้วว่า UX/UI คืออะไรและแตกต่างกันอย่างไร ทีนี้ เรามาทำความรู้จักหน้าที่ของ UX/UI Designer สายอาชีพที่กำลังมาแรงในยุคนี้กันบ้าง ว่าพวกเขาต้องทำอย่างไรในการที่จะทำให้ UX/UI ของเว็บไซต์ช่วยส่งเสริมอันดับ SEO
โดยปกติ หน้าที่ของ UX/UI Designer คือ การพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์ทั้งทางฝั่งผู้ใช้งานและฝั่งธุรกิจเอง ผ่านการใช้ทักษะ เครื่องมือต่าง ๆ และการวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
หน้าที่ของ UX Designer
อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่า จุดประสงค์ของการทำ UX คือ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้งานเว็บไซต์ ดังนั้น UX Designer จึงควรทำความเข้าใจผู้ใช้งาน ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรอยู่ หรือมีความต้องการสิ่งใด เพื่อที่จะได้นำข้อมูลและความต้องการเหล่านั้นมาแปลงเป็นวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์คนกลุ่มดังกล่าวได้
หน้าที่ของ UI Designer
การทำ UI มักจะทำต่อจากส่วนของ UX โดยมีจุดประสงค์ คือ ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อลงไปในการออกแบบเว็บไซต์ ดังนั้น UI Designer จึงต้องสามารถนำข้อมูลหรือความต้องการของผู้ใช้งาน มาแปลงเป็นหน้าตาของเว็บไซต์ผ่านการออกแบบ Interface ได้
ทั้งนี้ การทำงานของ UX Designer และ UI Designer จะต้องส่งเสริมกันและกัน โดยอาจเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนก็ได้ แล้วแต่องค์กรและรูปแบบการทำงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า UX Designer ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ UI ส่วน UI Designer ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ UX เพื่อให้ได้หน้าเว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย สวยงาม มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างประสบการณ์และภาพจำที่ดีต่อผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
สรุป
เพราะฉะนั้น การทำ SEO จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการโฟกัสที่คีย์เวิร์ดเท่านั้น แต่เราจะต้องสร้างเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้ามาชมเว็บไซต์เป็นสำคัญด้วย เนื่องจากเมื่อเว็บไซต์ของเรามี UX/UI ที่ดีแล้ว ก็จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ของการทำ SEO ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
หากคุณเป็นเจ้าของแบรนด์ที่กำลังมองหาความช่วยเหลือด้านการทำธุรกิจ Primal Digital Agency เป็นบริษัทรับทำการตลาดแบบครบวงจรที่จะช่วยให้แบรนด์ของคุณเติบโตมากกว่าที่เคย ติดต่อเราเพื่อรับคำปรึกษาได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment