Topical Authority คืออะไร? และมีวิธีการทำอย่างไรบ้าง?
ในการทำ Content Marketing โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Search Engine Optimization (SEO) คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า “Authority” อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถสร้างความโดดเด่นและความน่าเชื่อถือให้กับคอนเทนต์ของคุณบนโลกอินเทอร์เน็ต ยิ่งคอนเทนต์ของคุณมี Authority ที่สูงมากเท่าไร โอกาสที่จะติดอันดับสูง ๆ ในหน้าผลการค้นหาก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการทำคอนเทนต์ให้มี Authority ให้สูงเอาไว้จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้
ในบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ Topical Authority ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการทำ SEO ให้ได้รู้จักกัน!
Table of Contents
Topical Authority คืออะไร?
การทำงานของเครื่องมือค้นหา (Search Engine) มีการใช้ระบบประมวลผลหรือ “บอต” ในการจัดอันดับการแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานอย่างสูงสุด โดยมีการเก็บค่าคะแนนจากในหลายส่วน ซึ่งส่วนของ Authority จะเป็นคะแนนของความน่าเชื่อถือในคอนเทนต์ต่าง ๆ
ดังนั้น Topical Authority ก็คือ มาตรวัดความน่าเชื่อถือจากการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ โดยจะต้องให้รายละเอียดและความรู้ที่ครบถ้วน ถูกต้อง ถึงจะทำให้เว็บไซต์ของคุณได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้ใช้งานว่าเนื้อหาต่าง ๆ ที่คุณนำเสนอนั้น มีคุณภาพและถูกสร้างโดยผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง
ตัวอย่างเช่น บล็อกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงามที่ถูกเขียนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัย มักจะได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้งานมากกว่าบล็อกที่ถูกเขียนโดยบุคคลทั่วไป
ซึ่งด้วยสาเหตุนี้ ทำให้หลายบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวอาจพบกับความยากลำบากในการสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งต่อผู้ใช้งานและระบบประมวลผลของเครื่องมือค้นหา แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ เพราะ Topical Authority นั้นเป็นสิ่งที่สร้างได้!
Topical Authority ทำงานอย่างไร?
Topical Authority ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ Google ได้มีการอัปเดต “Hummingbird Algorithm” ในปี 2013 ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการวิเคราะห์และจัดอันดับที่ส่งผลอย่างมาก เพราะเหล่าธุรกิจต่าง ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ตามไปด้วย
“Hummingbird Algorithm” คือการอัปเดตที่ทำให้ระบบประมวลผลของ Google มีความเข้าใจความหมายของสิ่งที่ผู้ใช้งานค้นหา ซึ่งจะเลือกแสดงผลคอนเทนต์ที่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้มากที่สุด
ดังนั้นการจัดเก็บ Topical Authority จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยระบบประมวลผลของเครื่องมือค้นหาก็จะประเมินจากคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานค้นหา ซึ่งส่วนมากจะเป็นในรูปแบบคำถามหรือการหาคำตอบ เช่น “วิธีทำข้าวไข่เจียว” แล้วเลือกแสดงผลเฉพาะคอนเทนต์ที่ตอบคำถามเหล่านี้ รวมถึงมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
ตัวอย่าง: หากผู้ใช้งานค้นหาคำว่า “วิธีทำข้าวไข่เจียว” ระบบจะทำการประมวลผลและแสดงผลเฉพาะคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือวิดีโอ ที่มีการบอกถึงวิธีการทำข้าวไข่เจียว ในอันดับบน ๆ ไม่ใช่ประวัติความเป็นมาของข้าวไข่เจียวหรือร้านที่ขายข้าวไข่เจียว
นอกจากคำคีย์เวิร์ดที่เป็นการตอบคำถามให้แก่ผู้ใช้งานแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างมากที่ระบบประมวลผลจะพิจารณาในส่วนของ Topical Authority ก็คือการเชื่อมลิงก์ต่าง ๆ ทั้ง backlinks, internal links และ external links ในคอนเทนต์นั้น ๆ ยิ่งคอนเทนต์หรือบทความของคุณมีการถูกกล่าวถึงในเว็บไซต์ที่มี Authority สูง ระบบประมวลผลก็จะเข้าใจว่าเว็บไซต์ของคุณมีความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หากในคอนเทนต์หรือบทความของคุณ มีการเชื่อมลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่นที่มี Authority สูงเพื่อเป็นการอ้างอิง ระบบประมวลผลก็จะเข้าใจว่าเนื้อหาของคุณมีความน่าเชื่อถือเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: “ทำ SEO ทำไมต้องมี INTERNAL LINK และ EXTERNAL LINK?“
นอกจากนี้ ระบบประมวลผลยังมีการนำปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาพิจารณาเพื่อประเมิน Topical Authority ของเว็บไซต์แต่ละเว็บฯ ด้วย ทั้งอายุของเว็บไซต์, ยอด Traffic, ยอด Bounce Rates และระยะเวลาที่ผู้ใช้งานใช้บนเว็บไซต์ของคุณด้วย รวมถึงบทความหรือคอนเทนต์ที่ถูกสร้างด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริง ๆ เป็นต้น
สร้าง Topical Authority ในการทำ SEO ได้อย่างไรบ้าง?
1.ใช้ Topic Cluster
ก่อนที่จะเริ่มทำ SEO แน่นอนว่าคุณจะต้องหาหัวข้อต่าง ๆ มาก่อน ซึ่งความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าหัวข้อต่าง ๆ นี้ควรมีหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย หรือ Topic Cluster ด้วย ซึ่งเมื่อระบบประมวลผลเข้ามาตรวจสอบในเว็บไซต์ของคุณ แล้วเห็นเนื้อหาที่มีความหลากหลายที่มีความเกี่ยวข้องกัน เว็บไซต์ของคุณก็จะมี Topical Authority ที่ดี
อ่านเพิ่มเติม: “TOPIC CLUSTER คืออะไร? รู้จักอีกหนึ่งเทคนิคที่สำคัญต่อ SEO“
2.ใช้ Internal Link และ External Link
อย่างที่เราได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า ระบบประมวลผลของเครื่องมือค้นหาจะดูความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์จากบรรดา Backlinks, Internal Links และ External Links โดยในส่วนของลิงก์ที่คุณเชื่อมไปยังหน้าอื่นในเว็บไซต์ของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่ Backlinks ที่เว็บไซต์อื่นเชื่อมมาสู่เว็บไซต์ของคุณ และ External Links ที่คุณใช้เชื่อมไปสู่เว็บไซต์อื่น เป็นเรื่องที่คุณควรมีความรอบครอบอย่างมาก เพราะถ้าหากมีเว็บไซต์ที่ไม่ได้มี Authority เชื่อมมาสู่เว็บไซต์คุณ หรือแม้แต่เว็บไซต์คุณเชื่อมลิงก์ไป ระบบประมวลผลก็จะประเมินว่าเว็บไซต์ของคุณมีความน่าเชื่อถือที่น้อยลงเช่นกัน
3.สร้างคอนเทนต์ตามหลัก Search Intent
ในการทำ SEO คุณควรที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ด้วยการมองถึง Search Intent เพราะเมื่อมีผู้ใช้งานค้นหาเนื้อหาด้วยคีย์เวิร์ดบางอย่าง เครื่องมือค้นหาก็จะพยายามมองหาเจตนาของผู้ใช้งาน แล้วเลือกแสดงผลเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้นหามากที่สุด ดังนั้นยามที่คุณสร้างสรรค์ SEO คุณควรคิดถึงบริบทของผู้ค้นหาและเลือกสรรเนื้อหาที่จะตอบคำถาม ให้ข้อมูล หรือมอบทางออกให้กับผู้ใช้งานได้สูงสุด
4.สร้างคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือ
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการสร้าง Topical Authority ก็คือการที่เว็บไซต์ตลอดจนเนื้อหาทุกอย่างมีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากธุรกิจของคุณเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เว็บไซต์ของคุณก็ควรจะมีรายละเอียดเหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรตามด้วยตำแหน่ง หรือรางวัลและประกาศนียบัตรต่าง ๆ ที่บริษัทคุณเคยได้รับมา นอกจากนี้คุณยังสามารถเพิ่มชื่อและตำแหน่งของผู้เชี่ยวชาญที่เขียนเนื้อหาต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้เว็บไซต์ของคุณดูมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
สรุป
Topical Authority คือหนึ่งในสิ่งที่จะส่งผลต่ออันดับของเว็บไซต์คุณ และต้องอาศัยกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่เชื่อเถอะว่า การลงมือทำและใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างดีนั้น จะนำผลลัพธ์ที่ดีมาให้คุณเสมอ
Join the discussion - 0 Comment