Subdomain คืออะไร มีผลอย่างไรต่อประสิทธิภาพในการทำ SEO?
หลายคนอาจจะเคยเห็นเว็บไซต์บางเว็บฯ มีลิงก์ย่อยแยกออกมาโดยไม่ผูกขาดกับเว็บฯ เดิมกันมาบ้าง ซึ่งส่วนมากมักเป็นการแยกตามประเภทของคอนเทนต์ สิ่งนั้นเรียกว่า “Subdomain” หรือ “โดเมนย่อย“ อันเป็นส่วนเพิ่มเติมจากโดเมนหลัก และเชื่อกันว่ามีผลต่อประสิทธิภาพในการทำ SEO ด้วย! แต่จะมีผลในด้านบวกหรือลบนั้น วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน เริ่มจากทำความเข้าใจก่อนเลยว่า Subdomain คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร
Table of Contents
Subdomain คืออะไร?
Subdomain คือ โดเมนย่อยสำหรับการแบ่งหมวดหมู่เว็บไซต์ เพื่อจัดระเบียบและนำทางผู้ใช้งานไปยังส่วนต่าง ๆ บนเว็บไซต์ มักพบในเว็บไซต์ที่มีประเภทเนื้อหาหลากหลาย ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าใจและหาสิ่งที่ตนเองต้องการได้ง่ายขึ้น โดยชื่อโดเมนจะมีลักษณะเป็น subdomain.domain.com เช่น เว็บไซต์ kapook ที่มีการแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาบนเว็บไซต์ใหม่ที่แยกขาดออกจากเว็บไซต์หลัก คือ news.kapook.com หรือ travel.kapook.com เป็นต้น หรือถ้าหาก Primal อยากจะต่อเติมเว็บไซต์ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับสมัครงานแยกออกมาจากเว็บฯ หลัก ก็จะเป็น careers.primal.co.th นั่นเอง
ประโยชน์ของ Subdomain คืออะไร?
- ช่วยแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาบนเว็บไซต์ให้ดูเป็นระเบียบ ใช้งานง่ายขึ้น
- ทำให้ผู้ใช้งานจดจำชื่อเว็บไซต์ หรือหมวดย่อย ๆ ที่แยกออกมาอีกทีได้
- ช่วยให้ทีมพัฒนาดูแลเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่เป็นเว็บไซต์สองภาษาและมีทีมงานสำหรับทั้งสองฝั่ง
- สำหรับเว็บไซต์ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่ถึงขั้นต้องแบ่งหมวดหมู่เนื้อหาแยกออกมาเป็นอีกเว็บไซต์หนึ่ง ก็สามารถสร้างโดเมนย่อยได้เช่นเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเว็บไซต์สำหรับการฝึกฝน กล่าวคือ เป็นการใช้โดเมนย่อยสร้างเว็บไซต์บนโฮสต์จริงเพื่อเอาไว้ฝึกทำเว็บฯ แทนการจำลองเซิร์ฟเวอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์
Subdomain มีผลต่อการทำ SEO จริงหรือ?
การจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับเว็บไซต์ของตนเอง เชื่อว่าในฐานะคนทำ SEO ก็ต้องมีกังวลหรือคิดหนักกันบ้างว่า สิ่งที่จะทำนั้นส่งผลกระทบต่อ SEO มากน้อยแค่ไหน ในส่วนของการสร้างโดเมนย่อยเองก็เช่นกัน บางคนอาจเคยได้ยินมาว่า Subdomain คือเทคนิคที่มีผลต่อ SEO แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาชี้ชัดเลยว่าจริงหรือไม่
วันนี้ เราจะไขความกระจ่างให้ว่า จริง แต่ไม่ใช่ทางตรง และไม่อาจพูดได้ว่าก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะที่จริงแล้ว การสร้างโดเมนย่อยแยกออกมาจากโดเมนหลักนั้นก็เปรียบเสมือนการสร้างเว็บไซต์สองเว็บฯ ซึ่ง Google Algorithm ก็จะให้คะแนนค่า Domain Authority (DA) แยกกัน ดังนั้น แทนที่เราจะได้ค่า DA แบบเต็ม ๆ บนเว็บไซต์เดียว ก็ต้องแบ่งไปให้อีกเว็บไซต์หนึ่งด้วย อันจะส่งผลให้อันดับ SEO ของเราไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น หากอยากใช้โดเมนย่อยจริง ๆ ก็ควรระมัดระวังในการสร้างและปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Google อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาอันดับเว็บไซต์ โดยในส่วนนี้ ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเว็บไซต์มาช่วยดูด้วย
ทั้งนี้ หากอยากจะสร้างหน้าเว็บฯ แยกสำหรับแต่ละหมวดหมู่ และยังคงประสิทธิภาพในการทำ SEO ไว้ ทางเราขอแนะนำเป็นการทำ “Subdirectory” จะเหมาะสมกว่า แม้ว่าสองอย่างนี้มักจะถูกคนสับสนและตั้งคำถามตลอดเวลาว่าต่างกันอย่างไร แต่ความจริงแล้วทั้งคู่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในเชิงการใช้งาน โดยชื่อโดเมนของ Subdirectory จะมีลักษณะเป็น domain.com/subdirectory เช่น primal.co.th/blog เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าตำแหน่งของ subdomain กับ subdirectory นั้นต่างกันแค่นิดเดียวคือ ข้างหน้ากับข้างหลังโดเมนหลักเท่านั้น แต่ในเชิงเทคนิคและการใช้งานจริงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก หากยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกอะไรดี ให้ลองอ่านหัวข้อถัดไปก่อน เพื่อการตัดสินใจที่ง่ายยิ่งขึ้น!
Subdomain กับ Subdirectory ต่างกันอย่างไร?
ความง่ายในการเซตอัปและความยืดหยุ่น
ดังที่ได้กล่าวไปว่า การใช้โดเมนย่อยนั้นเปรียบเสมือนการสร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งเว็บฯ โดยที่โดเมนย่อยกับเว็บไซต์เดิมไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเชิงระบบเลย แต่หากเป็น Subdirectory การใช้ระบบหรือเทคโนโลยีที่ต่างกันจะทำได้ยากกว่าการใช้โดเมนย่อย โดยเฉพาะเว็บไซต์ใหญ่ ๆ เช่น เว็บไซต์ของบริษัทมหาชน หรือเว็บไซต์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง เช่น เว็บไซต์ธนาคาร การสร้างหรือเขียนระบบขึ้นมาเชื่อมกับเว็บไซต์หลักแบบ Subdirectory ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนขึ้นไปอีก
ดังนั้น หากมองแค่ในแง่มุมของความง่ายในการเซตอัปและความยืดหยุ่น Subdomain ก็จะตอบโจทย์มากกว่า
การวิเคราะห์และติดตามผล
การจะพัฒนาอะไรสักอย่างหนึ่งก็ต้องเริ่มจากการวัดผล ยิ่งผลลัพธ์มีความแม่นยำมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เราได้รู้ถึงข้อจำกัด ปัญหา และแนวทางในการปรับปรุง อันจะทำให้สิ่งนั้น ๆ ได้รับโอกาสที่จะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
เมื่อเทียบกันแล้ว การวิเคราะห์และติดตามผลบนโดเมนย่อยจะทำได้ยากกว่า Subdirectory เนื่องจากการสร้างโดเมนใหม่ก็เปรียบเสมือนการสร้างเว็บไซต์ใหม่ ซึ่งจะไม่เหมือนกับ Subdirectory ที่ทุกอย่างรวมอยู่ในเว็บไซต์เดียวกัน
หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองคิดถึงเวลาที่เราต้องการติดตั้ง Google Analytics, Google Tag Manager, Facebook Pixels หรือสคริปต์อะไรก็แล้วแต่ ทั้งบนโดเมนหลักและโดเมนย่อย เราจะต้องติดสคริปต์เหล่านี้ตามจำนวน Subdomain ที่มี โดยหากมีโดเมนย่อย 5 อัน ก็ต้องติด 5 รอบ ส่งผลให้ในทางปฏิบัติจริง การจะรวมข้อมูลของทุกเว็บไซต์เพื่อนำมาวิเคราะห์จึงทำได้ยากกว่า Subdirectory
ประสิทธิภาพและความเร็วของเว็บไซต์
ประสิทธิภาพและความเร็วของเว็บไซต์ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คนทำเว็บไซต์ทุกคนต้องคำนึงถึง โดยจากการศึกษาของ Neil Patel ระบุว่า ผู้ใช้งานกว่า 47% คาดหวังว่าเว็บไซต์จะโหลดเร็วกว่า 2 วินาที และมากกว่า 40% จะออกจากเว็บไซต์นั้น ๆ ทันทีหากใช้เวลาโหลดนานกว่า 3 วินาที ในขณะที่สถิติของ Amazon ชี้ว่า ทุก ๆ 1 วินาทีที่เว็บไซต์ของพวกเขาโหลดช้าลง พวกเขาจะเสียรายได้ไป 1.6 ล้านเหรียญ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยนี้สำคัญต่อการทำเว็บไซต์มากแค่ไหน
ด้วยความที่ Subdomain คือการสร้างเว็บไซต์แยกออกมาจากโดเมนหลัก ทำให้ตัวเว็บไซต์บนโดเมนย่อยนั้นไม่จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์หรือสคริปต์ให้เหมือนกับเว็บไซต์หลัก แต่หากเป็น Subdirectory ก็มีโอกาสสูงที่ซอฟต์แวร์และสคริปต์ต่าง ๆ จะถูกผูกติดกับเว็บไซต์หลัก
ดังนั้นแล้ว สำหรับเว็บไซต์ที่เป็น Subdomain เราจึงสามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ที่แยกออกมาจากเว็บไซต์หลักได้ ทำให้เวลาที่เว็บไซต์หลักล่ม เว็บไซต์ที่เป็นโดเมนย่อยจะยังคงใช้งานได้อยู่ ในขณะที่ Subdirectory จะล่มตามเว็บไซต์หลัก และอาจโหลดช้ากว่า เนื่องจากแบกรับข้อมูลเอาไว้เยอะกว่า
ประสิทธิภาพในการทำ SEO
มาถึงสิ่งที่คนทำเว็บไซต์น่าจะอยากรู้มากที่สุด นั่นก็คือเรื่องของการทำ SEO ว่าอะไรมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน โดย Rand Fishkin อดีตผู้ก่อตั้ง Moz เว็บไซต์ด้าน SEO ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ได้กล่าวไว้ว่า “หากมองจากมุมของ SEO การมีเว็บไซต์เพียงเว็บฯ เดียวจะดีที่สุด” ซึ่งนั่นหมายความว่าการทำ Subdirectory ย่อมดีกว่าการใช้โดเมนย่อยหลาย ๆ โดเมนแน่นอน
สรุป
ดังนั้น การใช้ Subdomain จะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเรา หากต้องการความสะดวกในการทำงานหลังบ้านและประสิทธิภาพของเว็บไซต์ การสร้าง Subdomain ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ทาง SEO อาจไม่ได้ดีเท่าที่ควร ทว่าก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดที่ว่าไม่ควรทำ อย่างไรก็ตาม หากอยากโฟกัสที่การทำ SEO ล้วน ๆ ทางเราก็ขอแนะนำว่า Subdirectory จะให้ผลที่ดีกว่า เพราะอย่างน้อยค่า Domain Authority ก็จะได้รวมอยู่ที่เดียว และหากได้คะแนนเยอะ ก็จะช่วยดันให้เว็บไซต์ของเราไต่ขึ้นไปสู่การเป็นอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google ได้
ทั้งนี้ การจะทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับงบประมาณและประเภทของธุรกิจ หากเลือกใช้ผิดวิธี ก็เป็นไปได้ว่าผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ เพราะฉะนั้น หากไม่อยากลงทุนไปแบบเสียเปล่า แนะนำให้ใช้บริการเอเจนซีที่รับทำ SEO โดยตรง ซึ่ง Primal พร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการด้วยความเอาใจใส่ในประเภทธุรกิจที่ทุกท่านทำ และคัดสรรกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ลูกค้าแต่ละรายเสมอ
Join the discussion - 0 Comment