Keyword Cannibalisation คืออะไร ปัญหาใน SEO ที่ต้องรู้ให้ทัน

ในการทำ SEO (Search Engine Optimisation) สิ่งสำคัญหลัก ๆ ที่เราต้องทำก็คือคอนเทนต์ โดยก่อนจะได้มาสักหัวข้อหนึ่งนั้นเราก็ต้องทำการหาคีย์เวิร์ดบนเครื่องมือต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่าเป็นการทำ Keyword Research ซึ่งส่วนมากในบริษัทใหญ่ ๆ คนที่ทำหน้าที่ Keyword Research หรือฝ่าย SEO Specialist กับคนเขียนคอนเทนต์จะเป็นคนละคนกัน ส่งผลให้บางทีคนที่หาคีย์เวิร์ดก็มีหลงลืมไปบ้างว่าคีย์เวิร์ดไหนเขียนคอนเทนต์ไปแล้ว คีย์เวิร์ดไหนยังไม่ได้เขียน หรือต่อให้คนทำหน้าที่ Keyword Research กับคนเขียนเป็นคนเดียวกัน เมื่อเขียนคอนเทนต์เยอะ ๆ เข้าก็อาจทำให้ลืมได้บ้างเหมือนกันว่าเขียนอะไรไปแล้วบ้าง และสิ่งที่ตามมาคือปัญหาการมีคีย์เวิร์ดซ้ำซ้อนอยู่ในเว็บไซต์เดียว

ฟังดูก็เหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าปัญหาได้เลย เพราะการมีคอนเทนต์เยอะ ๆ ก็น่าจะส่งผลดี เพิ่มโอกาสการค้นเจอได้มากขึ้น สำหรับใครที่คิดแบบนี้อยู่ บอกเลยว่าผิด ! เพราะนอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้ว การมีคีย์เวิร์ดซ้ำ ๆ ในเว็บไซต์เดียวยังก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำ SEO ด้วย ปัญหานี้เราเรียกว่า “Keyword Cannibalisation”

Keyword Cannibalisation อาจไม่ใช่คำคุ้นหูสำหรับนักการตลาดในไทยเท่าไรนัก เพราะเมื่อพูดถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำ SEO ก็แทบไม่มีใครพูดถึงสิ่งนี้ แต่แท้จริงแล้ว Keyword Cannibalisation มีผลอย่างมากต่อการรักษาอันดับเว็บไซต์บนหน้าผลการค้นหา เชื่อว่าหลายคนต้องเคยประสบปัญหาอันดับเว็บไซต์หล่นจากที่เคยเป็น โดยมีเหตุมาจาก Keyword Cannibalisation เพียงแต่ไม่รู้ตัว ก่อนอื่น ลองถามตัวเองดูว่า เราเคยพยายามทำ SEO โดยการเขียนคอนเทนต์ด้วยคีย์เวิร์ดเดิม ๆ หลายครั้งหรือไม่ หรือไม่เคยเข้าไปเช็กเลยว่าคีย์เวิร์ดนี้เคยเขียนไปแล้วหรือยังใช่หรือเปล่า หากใช่ ก็แปลว่ามาอ่านถูกบทความแล้ว เพราะวันนี้เราจะพูดถึง Keyword Cannibalisation ปัญหาคีย์เวิร์ดซ้ำบนเว็บไซต์เดียวกันที่อาจทำให้ Search Engine เกิดความสับสน

วิธีแก้ Keyword Cannibalization

Keyword Cannibalisation คืออะไร

หลายคนอาจจะคิดว่า ยิ่งเราทำคอนเทนต์โดยใช้คีย์เวิร์ดเดิม ๆ ที่เราต้องการจัดอันดับมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่อัลกอริทึมจะค้นหาเว็บไซต์ของเราเจอมากเท่านั้น เพราะจำนวนเว็บเพจที่มากขึ้นหมายถึง จำนวนคีย์เวิร์ดที่อยู่ในเว็บไซต์ก็จะยิ่งมากขึ้นไปด้วย ถึงอย่างไรก็คงต้องมีสักอันที่ถูก Google นำไปพิจารณา และจะส่งผลให้บล็อกที่เขียนด้วยคีย์เวิร์ดนั้น ๆ ของเรามีลำดับที่ดีขึ้นบนหน้าการค้นหา

ใครที่กำลังทำแบบนี้อยู่ ขอให้หยุดไว้ก่อน หรือถ้าไม่ได้ทำ ก็ให้ลองไปเช็กบนเว็บไซต์ของตนเองดี ๆ ว่ามีคอนเทนต์ที่ใช้คีย์เวิร์ดซ้ำกันบ้างหรือไม่ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหา Keyword Cannibalisation ซึ่งส่งผลเสียต่อ SEO มากกว่าผลดี เนื่องจากเว็บเพจบนเว็บไซต์ของเราจะแข่งขันกันเอง ทั้งที่ปกติแล้ว Google จะแสดงผลการค้นหาแค่ 1-2 เว็บเพจต่อคีย์เวิร์ดหนึ่งคำจากโดเมนเดียวกันเท่านั้น ทำให้หน้าเพจที่ถูกนำไปจัดอันดับอาจไม่ใช่เพจที่สำคัญหรือเพจที่เราต้องการให้ติดอันดับบนหน้าแรกของ Google จริง ๆ

 

Keyword Cannibalisation ส่งผลเสียต่อการทำ SEO อย่างไร

เมื่อเรามีคอนเทนต์ที่ใช้คีย์เวิร์ดซ้ำ ๆ กันบนเว็บไซต์ จะทำให้อัลกอริทึมเกิดความสับสนได้ว่าเว็บเพจไหนสำคัญกว่ากันแน่ ลองนึกว่าหากเราเขียนคอนเทนต์เรื่องเดียวกันมากกว่าหนึ่งบล็อก แต่คนละเนื้อหา อัลกอริทึมที่เข้ามา Crawl และ Index ก็จะเข้าใจว่าบล็อกดังกล่าวกำลังพูดถึงเรื่องเดียวกันทั้งหมด และแยกไม่ได้ว่าควรนำเพจไหนขึ้นมาจัดอันดับ ส่งผลให้เว็บเพจเหล่านั้นของเราต้องแข่งขันกันเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกับเว็บไซต์อื่นที่เขียนเนื้อหาในคียืเวิร์ดเดียวกันอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันยิ่งสูงขึ้นไปอีก และสุดท้าย อย่างที่บอกไปว่าเพจที่ถูกนำไปจัดอันดับจริง ๆ อาจไม่ใช่หน้าเพจที่เราต้องการให้ติดอันดับก็ได้ ส่วนเพจที่สำคัญจริง ๆ ก็อาจถูกอัลกอริทึมปัดตกเพราะเลือกอีกหน้าหนึ่งไปจัดแรงก์แล้ว

นอกจากนี้ Keyword Cannibalisation ยังอาจทำให้เกิดการแย่ง Backlink หรือ Internal Link กันเองด้วย กล่าวคือ แทนที่ลิงก์หนึ่ง ๆ จะมอบอำนาจให้กับหน้าเพจที่สำคัญที่สุดไปเลย กลับกลายเป็นว่าต้องมากระจายอำนาจให้เพจอื่นที่ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกันด้วย ซึ่งในส่วนนี้ เราทุกคนต่างทราบดีว่า Backlink มีความสำคัญต่อการทำ SEO มากขนาดไหน การที่ต้องกระจายอำนาจไปยังหลาย ๆ หน้าอาจทำให้เราเสียคะแนนหน้าเว็บฯ ที่ควรจะได้ไป อันจะทำให้โอกาสขึ้นไปอยู่อันดับสูง ๆ บนหน้าผลการค้นหาน้อยลงด้วย

วิธีแก้ keyword cannibalisation

วิธีแก้ Keyword Cannibalisation คืออะไร

รวมคอนเทนต์ที่คีย์เวิร์ดซ้ำกันไว้ในบทความเดียว

หากตรวจสอบแล้วพบว่าในเว็บไซต์มีคอนเทนต์ที่ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกันมากกว่าหนึ่งบล็อก แนะนำให้รวมเนื้อหาเข้าด้วยกันเป็นบล็อกเดียว เพื่อที่อัลกอริทึมจะได้โฟกัสให้ถูกที่ไปเลย หรือถ้าไม่ได้ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกันแบบ 100% เช่น บล็อกหนึ่งเราเขียนเกี่ยวกับ “ข้อดีของ SEO” และอีกบล็อกหนึ่งคือ “ข้อเสียของ SEO” กรณีนี้ก็สามารถนำมารวมกันได้เช่นกัน เพราะถือว่าคีย์เวิร์ดใกล้เคียงกันมาก อีกทั้งอัลกอริทึมจะได้มองว่าบล็อกของเราสามารถตอบคำถามผู้อ่านได้อย่างครบถ้วน จนนำไปจัดอันดับดี ๆ บนหน้าผลการค้นหา

ลบหน้าเพจที่ไม่จำเป็นออก

หลายคนอาจไม่ได้สนใจวิธีนี้ จึงปล่อยให้หน้าเพจที่ไม่ได้มีการอัปเดตมานานแล้วทิ้งไว้อย่างนั้นโดยไม่ทำอะไร แต่รู้หรือไม่ว่านั่นอาจเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมเท่าไรนัก เนื่องจากมันจะเป็นหน้าเพจที่ฉุดคะแนนเว็บไซต์ของเราลงได้ ดังนั้น ถ้าหากรู้สึกว่าเว็บเพจไหนไม่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์อีกต่อไป หรือเป็นหน้าที่มีคีย์เวิร์ดซ้ำ แต่เป็นเวอร์ชันที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข เราก็สามารถลบหน้านั้น ๆ ทิ้งได้เลย แล้วไปพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ ๆ แทน

อีกกรณีหนึ่ง ถ้าหากเรามีหน้าเพจใดที่ต้องการให้ติดอันดับ SEO มาก ๆ แล้วพบว่ามีหน้าเพจอื่นที่ใช้คีย์เวิร์ดซ้ำกับหน้าเพจดังกล่าว แต่เป็นหน้าที่สำคัญน้อยกว่า ก็อาจปรับปรุงแก้ไขคีย์เวิร์ดของหน้าเก่าให้เป็นคนละคีย์เวิร์ดกับหน้าที่ต้องการให้ติดอันดับ เพื่อที่ Google จะได้แยกความสำคัญของแต่ละหน้าออกได้อย่างง่ายดาย

ทำ 301 Redirect

อีกวิธีหนึ่งที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการลบเพจใดเพจหนึ่งทิ้งไปเลย นั่นคือการทำ 301 Redirect หรือการเปลี่ยนเส้นทางจาก URL หนึ่งไปอีก URL หนึ่ง ซึ่งจะช่วยถ่ายโอนอำนาจจากหน้าเพจที่เราไม่ต้องการใช้แล้วมายังหน้าเพจที่เราต้องการโฟกัสให้มีค่าพลังมากขึ้น โดยอัลกอริทึมจะนำหน้าเพจปลายทางที่เรา Redirect ไปจัดอันดับบนหน้าแรกของผลการค้นหา

การทำ 301 Redirect นี้มีผลต่อ SEO เป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดการเกิดหน้า Error 404 Page Not Found แล้ว ยังช่วยทำให้ Google เข้าใจว่า URL ใหม่ของเราเป็นหน้าเพจที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มใหม่จาก 0 ด้วย

ใช้หน้าเพจที่ต้องการโฟกัสในการทำ Backlink

ในการเขียนบทความ SEO องค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือ Backlink ซึ่งรวมทั้ง Internal Link และ External Link แต่ถ้าหากในเว็บไซต์มีบทความที่ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกันมากกว่าหนึ่งบล็อก การใช้บล็อกเหล่านั้นเป็น Backlink สำหรับหน้าอื่นจะทำให้อำนาจเว็บเพจที่ควรเป็นของหน้าเดียวถูกกระจายจนค่าพลังของเพจลดลง ดังนั้น ควรเลือกโฟกัสเฉพาะหน้าใดหน้าหนึ่งที่เราเห็นว่ามีคุณภาพและต้องการให้ Google นำไปจัดอันดับจริง ๆ ๆ ในการนำมาทำ Backlink อัลกอริทึมจะได้ไม่สับสนและเข้าใจว่าควรให้ความสำคัญกับหน้าใดมากที่สุด

ในส่วนของ External Link หากมีเว็บไซต์อื่น ๆ ลิงก์มายังหน้าเพจของเรา โดยที่หน้าเพจนั้นสำคัญน้อยกว่าอีกหน้าหนึ่งที่ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกัน เราก็สามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์นั้น ๆ ให้เขาปรับเปลี่ยนลิงก์ให้ได้ เพื่อการจัดอันดับหน้าเว็บเพจที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นบน Search Engine

 

Keyword Cannibalisation ปัญหาที่นัก SEO ไม่ควรปล่อยให้เกิด

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยง Keyword Cannibalisation ใน SEO เราจึงควรทำให้แต่ละหน้าเพจโฟกัสคีย์เวิร์ดที่หลากหลาย ไม่ซ้ำกับหน้าเพจอื่น ๆ หรือลองหันมาใช้ Long-Tail Keyword ให้มากขึ้นเพื่อลดการซ้ำซ้อน เพราะหากมีเว็บเพจมากกว่าหนึ่งหน้าที่มีคีย์เวิร์ดเหมือนกันบนเว็บไซต์เดียวกัน จะทำให้อัลกอริทึมเกิดความสับสนจนไม่รู้ว่าควรนำหน้าเพจไหนขึ้นมาจัดอันดับดี และแทนที่เว็บเพจหนึ่งจะได้มีค่าคะแนนสูง ๆ ไปเลย ก็ต้องมากระจายอำนาจกับหน้าเพจที่มีคีย์เวิร์ดซ้ำกันอีก และเมื่อเกิดปัญหา Keyword Cannibalisation ขึ้นเช่นนี้แล้ว การทำ SEO ก็จะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร

หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีเวลาพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ SEO ที่ Primal Digital Agency เราเป็นบริษัทรับทำการตลาดที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกว่า 150 คน ที่พร้อมช่วยคุณยกระดับธุรกิจให้โดดเด่นเหนือคู่แข่งและก้าวไปได้ไกลกว่าที่เคย ติดต่อเราได้เลยวันนี้