Heat Map คืออะไร? ฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยประเมินเว็บไซต์ของเรา
Table of Contents
Heat Map คืออะไร?
Heat Map คือ เทคโนโลยีการนำแผนที่มาใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ (Demographic Data) เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น มีการคลิกที่ปุ่มใดบ้าง เลื่อนไปถึงส่วนไหนของหน้าเว็บไซต์ หรือไม่สนใจส่วนไหน เป็นต้น โดยข้อมูลจะแสดงออกมาในรูปแบบของสีเพื่อบ่งบอกปริมาณของการกระทำ (Action) นั้น ๆ เช่น สีแดง หมายถึงมีการใช้งานเยอะ และสีน้ำเงิน หมายถึงไม่ค่อยมีการใช้งาน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลในส่วนนี้มาปรับปรุงเว็บไซต์ของเราให้มีคุณภาพมากขึ้นได้ ตลอดจนนำมาประกอบการตัดสินใจในการทำธุรกิจ การวางกลยุทธ์ขององค์กรในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การใช้เครื่องมือทางการตลาด รวมถึงการประเมินความสามารถขององค์กรในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะ Heat Map ทำให้เราเห็นถึงภาพรวมของการมีปฏฺิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ใช้งานและเว็บไซต์ของเรา
Heat Map ใช้ข้อมูลส่วนใดบ้าง?
Heat Map ใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้
1. ข้อมูลประชากรศาสตร์ (Demographic Data)
ได้แก่ เพศ อายุ รายได้ สถานภาพการสมรส และอาชีพ
2. ข้อมูลสถานที่สำคัญ (Landmark Data)
ได้แก่ หน่วยงานราชการ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ ร้านอาหาร ฯลฯ
3. ข้อมูลลูกค้า (Customer Data)
ได้แก่ ข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ใช้งานที่นำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประชากรศาสตร์และข้อมูลสถานที่สำคัญ เพื่อให้เกิดความแม่นยำสูงสุด
Heat Map มีประโยชน์อย่างไร?
ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น
Heat Map ช่วยทำให้เราทราบว่าผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรต่อเว็บไซต์ของเราแบบลงลึกมากกว่าข้อมูลที่เป็นตัวเลขจาก Google Analytics เช่น ผู้ใช้งานมองเห็นส่วนสำคัญบนเว็บไซต์หรือไม่ เลื่อนลงไปถึงส่วนไหนของหน้าเว็บฯ คลิกปุ่ม Call to action และปุ่มอื่น ๆ บนเว็บฯ กี่ครั้ง ทั้งยังบอกได้อีกด้วยว่า ผู้ใช้งานเกิดความสับสนระหว่างสิ่งที่คลิกได้กับสิ่งที่คลิกไม่ได้หรือไม่ และผู้ใช้งานมีการโฟกัสกับเนื้อหาของเรามากน้อยแค่ไหน
สามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
จากข้อมูลข้างต้น จะทำให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่าเว็บไซต์ของเราตรงตามมาตรฐานและความต้องการของผู้ใช้งานแล้วหรือยัง และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีจากเว็บไซต์มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น เว็บไซต์ของเราก็จะมีโอกาสติดอันดับ SEO (Search Engine Optimization) อีกด้วย
ใช้นำเสนอภาพรวมของเว็บไซต์ได้ง่าย
ข้อมูลจาก Heat Map นั้นเป็นข้อมูลที่สรุปมาให้อย่างละเอียดและเข้าใจง่าย การนำข้อมูลในส่วนนี้ไปนำเสนอในที่ทำงานจะทำให้เราดูเป็นมืออาชีพมากขึ้นด้วย
Heat Map มีกี่ประเภท?
Heat Map แบ่งตามประเภทการใช้งานได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. Scroll Maps
Scroll Maps เป็นฟังก์ชันที่ช่วยเก็บข้อมูลการเลื่อน (Scroll) หน้าเว็บไซต์ของผู้ใช้งาน ว่าผู้ใช้เหล่านั้นเลื่อนดูหน้าเว็บไซต์ถึงตรงไหน เลื่อนลงไปจนจบเนื้อหาเลยหรือไม่ โดยจะแสดงผลลัพธ์เป็นสี หากไม่มีเฉดสี หรือเป็นเฉดสีโทนเย็น ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเขียว สีเทา ก็แสดงว่าข้อมูลส่วนสำคัญอยู่ลึกเกินไป หรือเนื้อหาส่วนบน ๆ ไม่น่าสนใจพอให้ผู้ใช้งานเลื่อนลงไปถึงข้อมูลสำคัญนั้น ซึ่งถ้าเราพบว่าผู้เข้าชมจำนวนมากไม่เลื่อนลงไปอ่านข้อมูลจนจบ เราก็ต้องมาพิจารณาต่อว่าเนื้อหาที่เราเผยแพร่นั้นมีความน่าสนใจมากพอแล้วหรือยัง หรือควรแก้ไขในส่วนใดเพิ่มเติม
2. Move Maps
Move Maps จะช่วยติดตามว่าผู้ใช้งานลากเมาส์ไปที่ส่วนไหนของเว็บไซต์บ้าง แสดงผลลัพธ์เป็นสีเช่นเดียวกัน หากส่วนไหนเป็นสีแดงหรือสีส้ม ก็หมายความว่าส่วนนั้นคือส่วนที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้ความสนใจมากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็นำมาวิเคราะห์ต่อได้ว่าส่วนที่ผู้ใช้งานยังไม่ให้ความสนใจมากพอนั้นมีปัญหาอะไร เช่น ข้อมูลที่สื่อสารออกไปอาจยังไม่น่าดึงดูดใจมากพอ เป็นต้น แต่การเก็บข้อมูลจาก Move Maps นั้นยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ สามารถเก็บข้อมูลได้เฉพาะบนเดสก์ท็อปเท่านั้น
3. Click Maps
Click Maps เป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้คลิกตรงไหนของเว็บไซต์บ้าง ทำให้เรารู้ว่าองค์ประกอบใดบนหน้าเว็บฯ ที่อาจทำให้ผู้ใช้สับสนและเข้าใจผิดว่าคลิกได้ โดยจะแสดงผลลัพธ์เป็นจุดวงกลมที่มีสีต่าง ๆ เหมือนสองประเภทด้านบน
Heat Map แสดงผลลัพธ์เป็นสีอะไรบ้าง?
ดังที่ได้ทราบกันไปแล้วว่า การแสดงผลลัพธ์ของ Heat Map จะแสดงออกมาในรูปแบบของสีต่าง ๆ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสีโทนร้อนและสีโทนเย็น โดยส่วนไหนของหน้าเว็บไซต์ที่มีคนสนใจมาก ก็จะเป็นสีโทนร้อน แต่ถ้าส่วนไหนมีผู้สนใจน้อย ก็จะเป็นสีโทนเย็น เรียงตามลำดับได้ดังนี้
- สีเทา (Gray) = 0-2.5%
- สีน้ำเงิน (Blue) = 2.5-12.5%
- สีน้ำเงินอมเขียว (Teal) = 12.5-30%
- สีเขียว (Green) = 30-50%
- สีเหลือง (Yellow) = 50-70%
- สีส้ม (Orange) = 70-90%
- สีแดง (Red) = 90-100%
โปรแกรมและเครื่องมือสำหรับทำ Heat Map
ในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับทำ Heat Map หลายราย โดยโปรแกรมของแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีฟังก์ชันพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน ทว่าก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของราคาและเครื่องมือการใช้งานเชิงลึก ดังนี้
1. Hotjar
เว็บไซต์ Hotjar นั้นมีเครื่องมือสำหรับทำ Heat Map ค่อนข้างครบถ้วนและใช้งานง่าย โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะดูผล Scroll Maps, Move Maps หรือ Click Maps จากผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้ามาด้วยอุปกรณ์ใด และยังมีฟังก์ชัน Recording ที่เราสามารถดูพฤติกรรมของผู้ใช้งานรายบุคคลได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ราวกับเป็นการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น การเก็บความพึงพอใจ การทำโพลสอบถามความคิดเห็น เป็นต้น
2. Ptengine
Ptengine เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ที่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีบริการ Heat Map ที่ครบครันไม่แพ้ Hotjar โดยจุดเด่นของ Ptengine คือ สามารถเปรียบเทียบผลของการทำ Heat Map สองเวอร์ชันบนหน้าเว็บไซต์ได้ ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเวอร์ชันไหนบนเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด แต่จะไม่มีฟังก์ชันเสริมแบบ Hotjar
นอกจากนี้ Ptengine ยังสามารถทดลองใช้บริการ Heat Map ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะสามารถเก็บ Session ได้น้อยและใช้ได้แค่ฟังก์ชันพื้นฐานเท่านั้น
3. Google Analytics Heat Map
แม้แต่ Google Analytic ที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยเองก็มีเครื่องมือสำหรับทำ Heat Map บนเว็บไซต์เช่นกัน โดยจะมีชื่อเรียกว่า “Page Analytics (by Google)” ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบ Extension ที่สามารถติดตั้งลงบน Chrome ได้เลย ในส่วนนี้เราสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานเว็บไซต์พื้นฐานได้เหมือนกับ Hotjar และ Ptengine เพียงแต่ Google Analytics จะแสดงผลออกมาเป็นตัวเลข
สรุป Heat Map คือ?
ดังนั้น Heat Map คือ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เรารู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์อย่างละเอียด ตั้งแต่กดเข้ามาในเว็บไซต์จนกดออกจากเว็บไซต์แบบเรียลไทม์ โดยเราสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ร่วมกับ Google Analytics เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถทำ SEO หรือ SEM ควบคู่ไปด้วยได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เว็บไซต์ของเรามีคุณภาพมากขึ้นแล้ว ยังทำให้มีโอกาส Ranking เป็นอันดับแรก ๆ บนหน้าการค้นหาอีกด้วย!
Join the discussion - 0 Comment