Heading Tag คืออะไร? ทำให้ถูกวิธี แล้วเว็บไซต์จะปัง!

ในการทำ SEO หรือการทำให้เว็บไซต์ติดอันดับแรก ๆ ของหน้าการค้นหาบน Google นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ทำการตลาดออนไลน์ก็น่าจะเคยได้ลองทำกันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใส่คีย์เวิร์ดลงไปในบทความ การสร้าง Link Building หรือการใส่ ALT Tag ก็ตาม แต่เหตุใดบางบทความจึงยังไม่ติดอันดับ SEO? นั่นก็เพราะว่าวิธีการเหล่านี้ใคร ๆ ต่างก็ทำกัน ดังนั้น Google จึงต้องเฟ้นหาบทความที่ดีที่สุดในการนำมาขึ้น Rank โดยอีกสิ่งหนึ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การจัดโครงสร้างของเว็บไซต์ ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “Heading Tag” หรือหัวข้อของคอนเทนต์ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการดันเว็บไซต์ให้ติดอันดับได้ง่ายยิ่งขึ้น บางคนอาจจะแค่มองว่า ก็แค่หัวข้อเรื่องธรรมดา ๆ จะมีผลต่อการทำ SEO ได้อย่างไร? ดังนั้น บทความนี้จะมาเจาะลึกให้เข้าใจกันว่า Heading Tag ที่ว่านี้มีความสำคัญและหลักการอย่างไร และช่วยเรื่อง SEO ได้อย่างไรบ้าง

HTML Paragraphs คืออะไร

Heading Tag คืออะไร?

Heading Tag คือ HTML Tag ที่ใช้เป็นตัวกำหนดหัวข้อต่าง ๆ ของเว็บไซต์ว่าอะไรคือหัวข้อหลัก และอะไรคือหัวข้อรองในหน้านั้น ๆ โดยจะประกอบไปด้วย H1 ถึง H6 ตามลำดับ ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีหน้าที่และความสำคัญต่างกันออกไป ดังที่จะอธิบายในหัวข้อต่อไปนี้

 

ประเภทของ Heading Tag

Heading 1 (H1 Tag)

Heading 1 หรือ H1 คือ สิ่งสำคัญที่ทุกหน้าเพจต้องมี เพราะ H1 Tag เปรียบเสมือนกับหัวข้อหลักของคอนเทนต์นั้น ๆ ที่จะช่วยบอกทั้งผู้อ่านและอัลกอริทึมของ Google ว่าบทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ซึ่งในส่วนนี้เองที่ Google จะเข้ามาอ่านเพื่อทำความเข้าใจและจัดอันดับ SEO ให้เว็บไซต์ของเรา ดังนั้น การใส่ H1 จึงจำเป็นต้องใส่คีย์เวิร์ดสำคัญของสิ่งที่เราเขียนลงไปด้วย และที่สำคัญคือ ควรใส่ H1 แค่ตำแหน่งเดียวเท่านั้น

Heading 2 (H2 Tag)

H2 เป็นส่วนสำคัญรองลงมาจาก H1 คือเป็นการใส่หัวข้อที่มีความสำคัญรองลงมา หรืออาจกล่าวให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือเปรียบเสมือนหัวข้อในหน้าสารบัญ ว่าหัวข้อหลัก ๆ ของเรื่องที่กำลังจะอธิบายมีอะไรบ้าง

Heading 3-6 (H3 – H6 Tag)

หลังจาก H1 และ H2 แล้ว Heading Tag ที่ย่อยลงมาก็จะเป็น H3 H4 H5 และ H6 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหัวข้อย่อยลงมาจาก H2 อีกที ใช้เพื่อการขยายความว่า H2 จะมีหัวข้อย่อย H3-H6 อะไรบ้าง 

การใส่ Heading Tag ให้ถูกต้องนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก โดยอาจใส่ครบทั้งหมดหรือไม่ครบก็ได้ตามความเหมาะสมของเนื้อหา แต่ไม่ควรใส่ผิดลำดับหรือข้ามลำดับไป เช่น ใส่หัวข้อใหญ่ที่สุดไว้ที่ H1 แล้วใส่หัวข้อย่อยใน H2 แต่เอาหัวข้อที่ใหญ่รองลงมาจาก H1 ไปใส่ไว้ที่ H3-H6 แทน เช่นนี้ถือว่าผิด เพราะหัวข้อที่ใหญ่รองจาก H1 ต้องอยู่ที่ H2 ส่วน H3-H6 คือหัวข้อที่ย่อยลงมาเท่านั้น ถ้าหากเราใส่ Heading Tag ผิด ผู้อ่านก็จะเกิดความสับสนได้ว่าตกลงหัวข้อในบทความของเราเป็นแบบไหนกันแน่

 

Heading Tag มีความสำคัญต่อการทำ SEO อย่างไร?

ดังที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า Heading Tag นั้นมีความสำคัญต่อการทำ SEO เป็นอย่างมาก เนื่องจาก H1-H6 เป็นตัวกำหนดหัวข้อหลักและหัวข้อย่อยในบทความ โดย H1 คือหัวข้อที่ใหญ่ที่สุด หรือหัวข้อเรื่อง ซึ่งเราจำเป็นต้องใส่คีย์เวิร์ดลงไปเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายค้นหาบทความของเราเจอ ส่วน H2-H6 จะเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญรองลงมาตามลำดับ โดยถ้าหากมีคีย์เวิร์ดอยู่ในแต่ละหัวข้อก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ถ้ามีไม่ครบ ก็ไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม Google มักจะดูที่ H1 เป็นสิ่งแรกเสมอ ดังนั้น หาก H1 ของเรามีความน่าสนใจ มีการใช้คีย์เวิร์ดสำคัญ จะส่งผลให้ Google คัดเลือกเว็บไซต์ของเราไปที่หน้าการค้นหา เพื่อให้เวลาผู้ใช้งานเซิร์ชคีย์เวิร์ดเหล่านั้นลงไปก็จะเจอเว็บไซต์ของเรา ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ Heading Tag คือส่วนสำคัญของการทำ SEO

 

เทคนิคการใช้ Heading Tag อย่างมีประสิทธิภาพ

วางโครงสร้างให้ดี

ในการสร้างคอนเทนต์บนเว็บไซต์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การวางแผนโครงเรื่องที่เราจะเขียนลงไป จากนั้นก็จัดการวางโครงสร้าง Heading โดยอย่างที่กล่าวไปว่า H1 คือหัวข้อที่ใหญ่ที่สุดหรือหัวข้อเรื่อง ดังนั้น เราจึงต้องจัดวาง H1 ไว้ที่ด้านบนสุด หัวข้อรองลงมาก็เป็น H2 และหัวข้อย่อยต่าง ๆ ก็อยู่ในส่วนของ H3-H6 นั่นเอง

ใส่คีย์เวิร์ดใน Heading Tag

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำ SEO จะขาดคีย์เวิร์ดไปไม่ได้ โดยเราจะต้องใส่คีย์เวิร์ดลงไปใน H1 และ H2 ด้วย เพื่อที่ Google จะได้ค้นหาเว็บไซต์ของเราเจอและคัดเลือกไปไว้ที่อันดับต้น ๆ ของหน้าการค้นหา แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการใส่คีย์เวิร์ดที่เยอะจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ Google มองว่าเป็นสแปมได้

ปรับแต่งให้รองรับ Featured Snippets

Featured Snippets คือ การที่ทำให้เว็บไซต์ติดอันดับบนสุดของหน้าการค้นหา หรือที่เรียกว่า Zero Position ซึ่งการปรับโครงสร้างของ Heading Tag นั้นมีส่วนทำให้เว็บไซต์ขึ้นไปอยู่บนอันดับแรก ๆ ได้ นำมาซึ่งจำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์ (Traffic) ที่มากขึ้น

 

สรุป

ดังนั้น การใส่ Heading Tag คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการที่จะผลิตคอนเทนต์หนึ่ง ๆ ขึ้นมา เพราะชื่อเรื่อง (H1 Tag) และหัวข้อย่อยต่าง ๆ นั้นมีผลต่ออันดับ SEO เป็นอย่างมาก ซึ่งหากทำได้ เว็บไซต์ของเราก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมใส่คีย์เวิร์ดสำคัญลงไปด้วย เพื่อที่เวลาผู้ใช้งานเซิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดนั้น ๆ จะได้ค้นหาเราเจอได้ง่าย เรียกได้ว่าเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทำเว็บไซต์เลยทีเดียว