Google Sandbox คืออะไร? ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากรู้วิธีแก้ไข

อย่างที่รู้กันว่าหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เว็บไซต์ติดหน้าแรกของ Google ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการทำ SEO แต่รู้หรือไม่ว่าการที่เว็บไซต์เติบโตเร็วเกินไปก็ไม่เป็นผลดีนัก เพราะจะทำให้อัลกอริทึมของ Google เกิดความสงสัยและดึงเว็บไซต์เราไปลง “หลุมทราย” หรือที่เรียกว่าเป็น Sandbox Effect ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปเซิร์ชหาเว็บฯ เราไม่เจอ ต้องบอกเลยว่ากรณีนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะต่อให้ตกหลุมทรายหรือ Google Sandbox ไปแล้วก็ยังมีวิธีแก้ไขให้เว็บไซต์กลับมาปรากฏบนหน้า Search Engine เหมือนเดิม แต่ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่า Google Sandbox คืออะไรกันแน่

Google Sandbox แก้ไขยังไง

Google Sandbox คืออะไร?

ทำ SEO ก็แล้ว โปรโมตเว็บไซต์ก็แล้ว ทำไมคนยังเซิร์ชหาเว็บไซต์ของเราไม่เจอสักที? หากใครกำลังเจอปัญหานี้ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะบางทีเว็บไซต์เราอาจถูกดูดไปลง “หลุมทราย” หรือ Sandbox ของ Google ก็เป็นได้

Sandbox ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบ่อทรายที่อยู่ในสนามเด็กเล่นแต่อย่างใด แต่เป็น Google Sandbox Effect อันเกิดจากการที่ Google ดึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ไปเก็บเอาไว้ ทำให้ไม่ว่าใครก็จะค้นหาเว็บไซต์ของเราไม่พบ ต่อให้ค้นจากชื่อเว็บฯ ก็ตาม ทั้งที่เว็บไซต์ของเรายังมี Index อยู่เหมือนเดิม หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า แล้ว Google Sandbox มันมีไว้ทำไมกันล่ะ? คำตอบก็คือ เพราะว่าหลุมทรายของ Google นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกรองคุณภาพของเว็บไซต์ ด้วยการพยายามไม่ให้เว็บไซต์ที่เกิดใหม่จำพวกสแปม หรือเว็บไซต์ขยะติดหน้าแรกของ Google เนื่องจากช่วงหลังมานี้ คนทำเว็บไซต์บางคนก็มุ่งเน้นไปที่การทำให้เว็บไซต์ของตนเองให้ติดอันดับมากเกินไปจนลืมคำนึงถึงคุณภาพของเนื้อหาบนเว็บไซต์ ตลอดจนบางเว็บฯ ก็ใส่จำนวน Backlink เยอะจนดูเหมือนสแปม ดังนั้น Google Sandbox นี้เองจะเป็นตัวช่วยดักจับเว็บฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งหลายมาเก็บไว้ในหลุมทราย ให้เว็บฯ เหล่านั้นดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

หากอ่านมาถึงตรงนี้ อาจดูเหมือนว่า Google Sandbox จะใจร้ายไปหน่อยสำหรับคนทำเว็บไซต์ แต่แท้จริงแล้วก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน เพราะการช่วยกรองเว็บไซต์ในขั้นต้นจะช่วยให้ผู้ใช้งานเซิร์ชเจอข้อมูลที่ตนเองตามหาได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้ผลการค้นหาออกมามีประสิทธิภาพ อย่างกรณีของที่ผ่านมา มีเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จำนวนมาก ทำให้บางครั้งเว็บฯ ที่ติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกก็ไม่ใช่เว็บฯ ที่มีประโยชน์สักเท่าไร เมื่อนั้น ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตก็เกิดความรำคาญใจที่ต้องเจอแต่เว็บไซต์สแปม ตัว Sandbox จึงถือกำเนิดขึ้นมาเป็นตัวช่วยไม่ให้ผู้ใช้งานต้องเจอกับปัญหาเหล่านั้นอีก

นอกจากนี้ Google Sandbox ยังเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้ว่าเหตุใดโดเมนที่เพิ่งจดทะเบียนหรือมีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์การครอบครองบ่อย ๆ จึงมีอันดับ SEO ที่ไม่ค่อยดีนัก นั่นก็เพราะว่าถูก Google นำไปกองรวมกันไว้ที่ Sandbox และจะถูกกักอยู่ในนั้นจนกว่าเว็บไซต์นั้น ๆ จะปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาให้ดีกว่าเดิม กระทั่งพิสูจน์ได้ว่าสมควรได้รับการ Index หรือ Ranking บนหน้า Search Engine เมื่อนั้นเหล่าเว็บไซต์ดังกล่าวก็จะถูกปล่อยออกจาก Sandbox และอาจได้ติดอันดับที่สูงขึ้นด้วย

 

เราจะออกจาก Google Sandbox ได้อย่างไร?

หากให้พูดตามตรงคือ “รอ” เท่านั้น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเว็บไซต์เราจะติดอยู่ใน Google Sandbox Effect นานแค่ไหน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพหรือทำให้ดูน่าเชื่อถือมาก ๆ  ก็อาจใช้เวลาน้อยกว่า 6 เดือนได้

เมื่อหลุดจาก Google Sandbox Effect แล้ว เว็บไซต์จะมี Page Rank ที่เริ่มจาก 0 และยิ่งได้ Page Rank สูงมากเท่าไร จะยิ่งบ่งบอกว่าเว็บไซต์เรามีความน่าเชื่อถือมากเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสติดอันดับดี ๆ บน Search Engine ได้ โดยเราสามารถเช็ก Page Rank ได้ที่ Google Toolbar

สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนจะเปิดเว็บไซต์ แนะนำว่าไม่ต้องรอให้ทำเสร็จแล้วค่อยอัปโหลด แต่ให้ทำเว็บเพจชั่วคราวที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเว็บฯ ของจริงสัก 4-5 หน้า แล้วลองอัปโหลดเพื่อให้เว็บเพจนั้นติด Google Sandbox ไปก่อน เพื่อที่เวลาอัปโหลดเว็บไซต์จริงจะได้ไม่ต้องติดอยู่ในหลุมทรายนาน

 

หากติดอยู่ใน Google Sandbox จะแก้ไขอย่างไร?

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า Sandbox นั้นมีไว้เพื่อกรองเว็บไซต์ให้บนหน้า Search Engine มีแต่เว็บไซต์ดี ๆ ดังนั้น การจะหลุดออกจากหลุมทรายนี้ได้ก็คือ ทำให้เว็บไซต์มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นธรรมชาติมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน ไม่สั้นและไม่ยาวจนเกินไป ตลอดจนเนื้อหาในบทความต้องผ่านการตรวจทานมาอย่างดีเพื่อความดูเป็นมืออาชีพ และหากว่ามี Backlink จากเว็บไซต์อื่นลิงก์มายังเว็บไซต์เรามาก ก็จะยิ่งทำให้เราได้คะแนน SEO ที่ดีขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าเว็บไซต์ที่เคยติด Sandbox แล้วจะไม่กลับไปติดซ้ำอีก เพราะถ้าหากเว็บไซต์เรามีความผิดปกติเกิดขึ้น Google ก็อาจจับได้แล้วดึงเรากลับเข้าไปอยู่ในหลุมทรายเหมือนเดิม ทีนี้ การกลับออกมาอีกครั้งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนเก่า เพราะฉะนั้น เราจึงควรทำเว็บไซต์อย่างขาวสะอาด และหมั่นดูแลระบบให้มีเสถียรภาพอยู่เสมอ เวลาที่ใส่ Backlink ลงในบทความก็ควรเป็นลิงก์ที่เนื้อหามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ถูก Google มองว่าเป็นสแปมและถูกจับไปอยู่ใน Sandbox นั่นเอง

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าหลุดจาก Google Sandbox แล้ว?

ให้ลองค้นหาใน Google โดยพิมพ์ site:www.domainname.com หากค้นหาเว็บไซต์ของตนเองเจอแสดงว่าเราหลุดออกจาก Sandbox Effect แล้วเป็นที่เรียบร้อย

แต่หลังจากที่หลุดจากหลุมทรายแล้ว เราก็ควรพัฒนาและอัปเดตเนื้อหาให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ควรสแปมคีย์เวิร์ดหรือใส่ Backlink มากเกินไปจนดูไม่เป็นธรรมชาติ เพราะอาจทำให้ Google มองว่าเป็นเว็บไซต์ขยะ และลบฐานข้อมูลของเราออกจาก Search Engine ทำให้คนอื่น ๆ ไม่สามารถเซิร์ชเจอได้

 

สรุป

ดังนั้น Google Sandbox คือการดึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นเว็บไซต์ใหม่มากองรวมกัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือก่อนที่จะปล่อยออกสู่ Google โดยถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของการกลั่นกรองข้อมูลและป้องกันสแปม เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการเล่นอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโลกออนไลน์ในปัจจุบันนี้ มีผู้แสวงหาประโยชน์ในเชิงลบมากมายผ่านการทำ SEO ทำให้บางครั้งในหน้าแรกของการค้นหาก็มีเว็บไซต์ที่ไม่ได้ประสิทธิภาพปรากฏอยู่ แต่ตัว Sandbox จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้น ซึ่งสิ่งที่เจ้าของเว็บไซต์ทำได้ก็คือการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองอยู่เสมอ เพราะถึงอย่างไร Google ก็ไม่มีทางนำเว็บไซต์คุณภาพไปลงหลุมทรายอย่างแน่นอน