E-E-A-T คืออะไร ? Google ออกกฎใหม่ที่นัก SEO ต้องอัปเดตด่วน
ในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยเว็บไซต์จำนวนมาก การค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จึงกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายขึ้นเรื่อย ๆ เพราะช่วงหลังมานี้ หลายคนต่างก็อยากจะดันให้เว็บไซต์ของตนเองขึ้นไปอยู่อันดับแรก ๆ จนทำให้ลืมคำนึงถึงคุณภาพของเนื้อหาไป คิดเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขียนเนื้อหาได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการติดแรงก์เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น Google ในฐานะ Search Engine ที่ใหญ่ที่สุดของโลก จึงตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว และพัฒนากฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อประเมินคุณภาพของเว็บไซต์และเนื้อหาต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่เดิมกฎดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า E-A-T Factor แต่ปัจจุบัน มี E เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตัวจนกลายเป็นเวอร์ชันอัปเดตล่าสุด ชื่อว่า “E-E-A-T Factor”
มาดูกันว่า E-E-A-T คืออะไร และมีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง !
Table of Contents
ก่อนจะมาเป็น E-E-A-T
โดยปกติแล้ว ในการทำ SEO จะมีปัจจัยหลัก ๆ ที่ Google ใช้ประเมินในการจัดอันดับเว็บไซต์ ได้แก่ จำนวน Backlink และความแม่นยำของคีย์เวิร์ด แต่ภายหลังพบว่าปัจจัยเหล่านี้ใครก็สามารถทำได้ แม้แต่เว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือหรือสแปม ทั้งยังมีคนเอาไปทำ SEO สายดำจนทำให้เกิดการ “โกง” อันดับกันขึ้นมา กลายเป็นว่าบนอันดับแรก ๆ ไม่สามารถคัดเว็บไซต์คุณภาพได้มากขนาดนั้นอีกต่อไป
ดังนั้น Google จึงพัฒนาเกณฑ์ E-A-T ขึ้นมา เพื่อวัดความน่าเชื่อถือของเนื้อหาโดยตรง ป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ที่สแปมลิงก์ มีเนื้อหาหลอกลวง หรือคัดลอกเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นขึ้นไปอยู่บนอันดับต้น ๆ ได้ ซึ่งประกอบไปด้วย Expertise (ความเชี่ยวชาญ) Authority (ความเป็นเจ้าของ) และ Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ)
E-E-A-T คืออะไร มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ?
E-E-A-T คือ หลักเกณฑ์การประเมินเว็บไซต์ของ Google ที่มีการเพิ่มเติมมาจาก E-A-T เพราะถึงแม้ E-A-T Factor จะช่วยกรองเว็บไซต์บนหน้าแรกของ Google ได้บ้าง แต่ช่วงหลังมานี้ ความต้องการของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่อ่านเนื้อหาเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่อยากรู้เท่านั้น แต่เนื้อหาดังกล่าวจะต้องถูกเขียนโดยผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในด้านนั้นจริง ๆ ด้วย Google จึงได้เพิ่ม E (Experience) เข้ามาอีกตัวหนึ่ง โดยแต่ละตัวมีรายละเอียดดังนี้
Expertise (ความเชี่ยวชาญ)
ผู้เขียนคอนเทนต์ต้องมีความเชี่ยวชาญในหัวข้อที่ตนเองเลือกนำเสนอแก่ผู้อ่าน เพื่อที่ข้อมูลเหล่านั้นจะได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าบทความของเรามีความน่าเชื่อถือ โดยหลักการเขียนบทความที่ควรคำนึงถึงเป็นสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าผู้อ่านมีความต้องการอะไร และให้คิดเสมอว่าเรากำลังนำเสนอข้อมูลให้แก่คนที่ไม่รู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ จึงควรเขียนให้เข้าใจง่าย กระชับ ไม่ยืดเยื้อ และอาจใส่กราฟิกเป็นรูปภาพหรือวิดีโอให้ผู้อ่านเห็นภาพมากยิ่งขึ้นด้วย
และที่สำคัญที่สุด อย่าลืมเรื่องคีย์เวิร์ดอันเป็นหัวใจสำคัญของการทำ SEO เด็ดขาด ! ไม่ว่าเรากำลังจะเขียนเรื่องอะไรอยู่ ก็ควรมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดในหัวข้อนั้น ๆ ด้วยว่าส่วนมากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมักใช้คำว่าอะไรในการค้นหาบทความประเภทนี้ แล้วนำคำเหล่านั้นมาใส่ในบทความของเรา ให้ผู้อื่นสามารถค้นเจอได้ง่ายขึ้น และยังมีโอกาสติดอันดับแรก ๆ บน Google อีกด้วย
เทคนิคการทำเว็บไซต์ให้มี Expertise
- แสดงประวัติและคุณสมบัติของผู้เขียนเนื้อหาไว้ที่ต้นหรือท้ายบทความ เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน รางวัลหรือประกาศนียบัตรที่เกี่ยวข้อง
- เขียนให้มีความน่าสนใจและอ่านรู้เรื่อง หากอ่านยากเกินไป Google จะมองว่าเป็นบทความที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานเข้ามาอยู่ที่เว็บไซต์ของเราเพียงแป๊บเดียวแล้วก็ออกไป
Experience (ประสบการณ์)
เป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจนกลายเป็น E-E-A-T โดย E ตัวนี้ คือ ประสบการณ์จริงที่ผู้สร้างเนื้อหาหรือเจ้าของเว็บไซต์นั้น ๆ ได้สั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงในสาขาหรือหัวข้อที่เขียน ประสบการณ์ส่วนตัวจากการใช้ชีวิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา หรือประสบการณ์จากการวิจัย การศึกษาภาคสนาม การเดินทาง รวมถึงการฝึกอบรมและการเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ใช้งานและอัลกอริทึมจะมองว่าประสบการณ์เหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้สร้างเนื้อหามีมุมมองที่ลึกซึ้ง มีรายละเอียด และมีความรอบรู้ในเนื้อหามากยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างเนื้อหาคุณภาพที่น่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อผู้อ่านได้มากกว่าบทความทั่วไปที่ขาดประสบการณ์จริง
เทคนิคการทำเว็บไซต์ให้มี Experience
- เกริ่นถึงประสบการณ์ตรงของผู้เขียนก่อนเข้าเนื้อหาหลัก เช่น เมื่อเขียนบทความแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ให้เล่าประสบการณ์การเดินทางไปสถานที่นั้น ๆ ก่อนเล่าข้อมูล หรือถ้าเขียนบทความรีวิวสินค้า ก็ให้เขียนถึงประสบการณ์จากการใช้จริงของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเข้าถึงเนื้อหามากขึ้น
- สร้างหน้าแนะนำตัวนักเขียน พร้อมบอกผลงานที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่ามีประสบการณ์จริง
Authoritativeness (ความเป็นเจ้าของ)
คือ การที่ผู้เขียนได้รับการยอมรับ โดยสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของหรือตัวตนในบทความนั้น ๆ ตลอดจนสามารถนำเสนอข้อมูลได้ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องและถ่องแท้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมั่นใจได้ว่าสิ่งที่นำเสนอมีข้อมูลรับรองที่เป็นจริง สิ่งสำคัญคือผู้เขียนต้องทำการเรียบเรียงเนื้อหาด้วยตนเอง และเขียนไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หากทำเว็บไซต์เกี่ยวกับการตลาด ก็ควรจะเขียนบทความที่เกี่ยวกับความรู้ด้านการตลาด การทำธุรกิจออนไลน์ ทริกโปรโมตเว็บไซต์ รวมไปถึงทำให้ผู้อ่านทราบว่าใครเป็นผู้เขียนบทความนั้น ๆ โดยวิธีประเมินว่าเรามีความเป็นเจ้าของหรือได้รับการยอมรับในบทความที่เขียนมากแค่ไหน สามารถพิจารณาได้จากการที่บทความถูกแชร์ออกไปบนโซเชียลมีเดีย หรือการที่มีผู้ใช้งานค้นหาโดยใช้ชื่อเว็บไซต์หรือชื่อของผู้เขียน
เทคนิคการทำเว็บไซต์ให้มี Authoritativeness
- ห้ามคัดลอกเนื้อหาจากเว็บไซต์ของผู้อื่น (Plagiarism) โดยเราควรเขียนเนื้อหาด้วยตนเอง
- เว็บไซต์ควรเป็นเว็บฯ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เป็นพิเศษ ห้ามเขียนบทความที่หัวข้อไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เว็บไซต์ของเรากำลังทำ ควรโฟกัสไปที่เรื่องเดียวเพื่อแสดงตนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ)
คือ ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่อยู่บนเว็บไซต์ เช่น ช่องทางการติดต่อเจ้าของบทความหรือเว็บไซต์ การระบุตำแหน่งที่ชัดเจนของบริษัท หรือการสร้างข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้งานว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาจะปลอดภัยเมื่อใช้งานเว็บไซต์ของเรา นอกจากนี้ ยังสามารถใส่ Backlink เชื่อมไปยังบทความบนเว็บไซต์อื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือ และมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเขียนเพื่ออ้างอิงได้
เทคนิคการทำเว็บไซต์ให้มี Trustworthiness
- คอนเทนต์ที่เขียนต้องเกี่ยวข้องกับคำที่เป็นคีย์เวิร์ดหลักของธุรกิจเสมอ
- หมั่นเขียนบทความใหม่ ๆ และปรับแต่งเนื้อหาในบทความเก่า ๆ ให้ดีขึ้นและเท่าทันเทรนด์อยู่เป็นประจำ
- ใส่ Backlink ทั้ง Internal Link และ External Link ไปยังหน้าเพจที่เกี่ยวข้อง
ความสำคัญของ E-E-A-T คืออะไร ?
เมื่อเราใช้หลัก E-E-A-T ในการเขียน คอนเทนต์ของเราก็จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผู้อ่านได้ และยิ่งถ้าหากบทความนั้น ๆ แสดงชื่อผู้เขียนด้วย ก็จะยิ่งทำให้พิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เขียนขึ้นมานั้นเป็นความจริง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อการทำ SEO ดังนี้
- ช่วยให้ Google มา Index เว็บไซต์เราเร็วขึ้น โดยการเข้ามาเก็บข้อมูลแต่ละเว็บไซต์ของ Google นั้นจะมีความช้าหรือเร็วแตกต่างกันไป แต่ถ้าเว็บไซต์ไหนมีความน่าเชื่อถือสูง อัลกอริทึมของ Google ก็จะเข้ามา Index ที่เว็บฯ นั้นก่อน แล้วจึงค่อยจัดแรงก์ตามความเหมาะสมในลำดับถัดมา
- ช่วยเพิ่มคะแนนคุณภาพของเนื้อหา (Content Quality Score) เนื้อหาที่มาจากผู้มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความน่าเชื่อถือสูง จะถูกประเมินโดยอัลกอริทึมว่ามีคุณภาพดี ซึ่งจะส่งผลให้ได้คะแนนคุณภาพเนื้อหาที่สูงขึ้น อันเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดอันดับผลการค้นหา
- สามารถครองหน้าแรกในการค้นหาหัวข้อเฉพาะทางได้ เว็บไซต์ที่มี E-E-A-T สูง จะสามารถครองอันดับแรกในการค้นหาหัวข้อเฉพาะทางในสาขานั้น ๆ ได้ เพราะ Google ให้ความสำคัญกับ “ความเชี่ยวชาญ” เป็นพิเศษสำหรับหัวข้อเฉพาะด้าน
- สร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่เว็บไซต์ เมื่อเว็บไซต์แสดงถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือภาพลักษณ์ที่ดีของเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้กลับมาใช้บริการหรืออ่านเนื้อหาอีกเรื่อย ๆ
คอนเทนต์แบบไหนที่ไม่เข้าเกณฑ์ E-E-A-T ?
- ไม่คำนึงถึงความเชี่ยวชาญ ความถูกต้องแม่นยำ และความน่าเชื่อถือในการเขียนเนื้อหา
- เนื้อหาในส่วนสำคัญมีคุณภาพต่ำ
- เนื้อหาสำคัญไม่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์เกี่ยวกับความงาม แต่เนื้อหาเกี่ยวกับของใช้ในบ้าน
- มีเนื้อหาหรือโฆษณาเกินจริง สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้อ่าน หรือลิงก์ที่หลอกให้กดคลิก (Clickbait)
- เนื้อหาที่ไม่ปรากฏตัวตนจริงของผู้เขียน
- เนื้อหาขัดแย้งกับงานวิจัยอื่น ๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริง
- มีเนื้อหาที่กล่าวหา ดูหมิ่น หรือโจมตีผู้อื่นในเชิงลบ
โดยสรุปแล้ว E-E-A-T คือหลักเกณฑ์ที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างตัวตนบน Google โดยเว็บไซต์ที่ปฏิบัติตามเกณฑ์เหล่านี้ จะมีโอกาสได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้น การดึงดูดผู้เข้าชมที่มีคุณภาพมากขึ้น ตลอดจนโอกาสในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เพราะอัลกอริทึมของ Google มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากไม่มีผู้ช่วย คุณอาจตกขบวนจนล้าหลังคู่แข่งได้ ติดต่อ Primal Digital Agency ได้เลยวันนี้ เราเป็นบริษัทรับทำ SEO ชั้นนำของไทย ที่พร้อมให้บริการเว็บไซต์คุณแบบครบวงจร สอดคล้องกับหลัก E-E-A-T และทุกกฎเกณฑ์ของ Google
Join the discussion - 0 Comment