คำศัพท์การทำ SEO ฉบับอัปเดต จำให้ขึ้นใจถ้าอยากติดแรงค์!

ในยุคดิจิทัลแบบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในการทำการตลาดออนไลน์ด้วยแล้ว จำเป็นที่จะต้องอัปเดตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำ SEO เพราะตัวระบบของเครื่องมือค้นหามีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากคุณเป็นนักเขียนบทความ SEO หรือกำลังสนใจจะเริ่มเขียน เรามาทบทวนกันหน่อยว่า มีคำศัพท์การทำ SEO แบบไหนบ้างที่สำคัญ และควรท่องจำให้ขึ้นใจ!

คำศัพท์ SEO

A-C

  • Affiliate Link หรือ Outbound Link

การส่งลิงก์ออกไปยังนอกเว็บไซต์ของตัวเอง โดยส่วนมากจะใช้เพื่อเป็นการอ้างอิงข้อมูลในบทความ ซึ่งข้อดีของการทำ Affiliate Link หรือ Outbound Link ก็คือช่วยส่งเสริมให้เว็บไซต์ของคุณดูน่าเชื่อถือและยังมีส่วนช่วยในการจัดอันดับหน้าเว็บฯ ของคุณบนเครื่องมือค้นหาอีกด้วย

  • ALT Text/Alt Attribute

ข้อความหรือประโยคสำหรับอธิบายรายละเอียดของรูปภาพ โดยส่วนมากจะใส่เป็นคำคีย์เวิร์ดหรือคำอธิบายรูปนั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อและเรื่องราวของบทความ

  • Anchor Text

กลุ่มคำ, วลี หรือประโยคที่มีลิงก์ (URL) แนบอยู่ในตัวอักษร หรือประโยคที่เกี่ยวข้องกับหน้าเว็บไซต์ปลายทาง ทั่วไปแล้วจะปรากฏเป็นตัวอักษรสีน้ำเงินเข้มและมีขีดเส้นใต้หรือสีม่วง โดยการใส่ Anchor Text เอาไว้ จะช่วยให้ผู้อ่านได้คลิกเข้าไปเพื่อศึกษาหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับบทความที่กำลังอ่านอยู่

  • Authority

ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ว่ามีมากน้อยแค่ไหนโดยจะถูกพิจารณาตามอัลกิริทึมของเครื่องมือค้นหา

  • Backlink หรือ Eternal Link

ลิงก์ที่ได้รับการเชื่อมโยงมาจากเว็บไซต์อื่น ๆ อาจจะอยู่ในรูปแบบของการอ้างอิงข้อมูล หรือการใส่ลิงก์เอาไว้ในหน้าใดหน้าหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจหรืออื่น ๆ

  • Back-end

ระบบจัดการเว็บไซต์หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า “ระบบหลังบ้าน” โดยเป็นส่วนที่มีไว้สำหรับการควบคุมการใช้งานต่าง ๆ เช่น  HTML, PHP, ASP, XML, JAVA ไปจนถึงการเพิ่ม ลบ ปรับเปลี่ยน แก้ไขหน้าเว็บไซต์

  • Blog

หน้าเว็บเพจที่มีการรวบรวมเนื้อหาของบล็อกเอาไว้ โดยส่วนมากจะเป็นหัวข้อหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแวดวงใดแวดวงหนึ่ง ที่มีความจำเพาะเจาะจง

  • Bounce Rate

ตัวชี้วัดสัดส่วนการเข้าชมเว็บไซต์เพียงหน้าเดียว หรือสามารถอธิบายได้ว่า การที่ผู้ใช้งานเข้าชมเว็บไซต์หน้าใดหน้าหนึ่งแล้วออกทันที โดยไม่มีการคลิกไปยังหน้าอื่น ๆ เลย นั่นเท่ากับว่าเว็บไซต์ของคุณยิ่งมีค่า Bounce Rate ที่สูง ซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่า เว็บไซต์ของคุณไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะทำให้ Bounce Rate ลดลงจะต้องอาศัยประสบการณ์การใช้งานที่ดี มีความดึงดูด รวมถึงคอนเทนต์และข้อมูลต่าง ๆ จะต้องมีความน่าสนใจ ชวนให้ผู้เข้ามาใช้งานอยากอ่านต่อหรือคลิกไปยังหน้าอื่น ๆ เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม

  • Branded Keyword

คีย์เวิร์ดที่มีความจำเพาะเจาะจง อย่างชื่อของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เช่น “บริการของ Primal” “กระเป๋า Dior” เป็นต้น

  • Broken Link

ลิงก์ที่นำทางไปสู่หน้าเว็บที่แสดงผลว่า “404 error page” โดยเกิดมาจากการที่หน้าเว็บไซต์ของลิงก์นั้นถูกลบหรือถูกเปลี่ยนชื่อไปโดยไม่มีการแก้ไข Redirect

  • Browser

โปรแกรมสำเร็จรูปที่มีไว้สำหรับเข้าถึงหน้าเว็บเพจต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาให้ผู้ใช้งานสามารถใช้สื่อสารผ่านทางหน้าเว็บฯ ต่าง ๆ เช่น Google Chrome, Firefox, Safari, Internet Explorer, Microsoft Edge เป็นต้น

  • Cache

ส่วนของข้อมูลที่ถูกเก็บซ้ำ ๆ ไว้ในบราวเซอร์ สำหรับใช้ในการเข้าเว็บไซต์ครั้งถัดไป ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปเรียกข้อมูลจากแหล่งต้นทางอีกครั้ง แต่จุดด้อยของ Cache คือ หากเว็บไซต์มีการปรับเปลี่ยนหรืออัปเดต ข้อมูลแคชที่ถูกเก็บไว้อาจจะดึงหน้าเว็บฯ แบบเดิมมาแสดงผล จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงควรมีการ Clear Cache อยู่เรื่อย ๆ เพื่อทำการบันทึกข้อมูลชุดใหม่ ๆ เข้าไปนั่นเอง

  • ccTLD (Country-Code Top-Level Domain)

ชื่อโดเมนที่ระบุเจาะจงชัดเจนถึงประเทศหรือภูมิภาคต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น .co.th (ประเทศไทย) .co.uk (สหราชอาณาจักร) เป็นต้น  

  • CMS (Content Management System)

แพลตฟอร์มหรือโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดขึ้นมาเลย โดยจะมาพร้อมกับรูปแบบและเครื่องมือที่ครบครันพร้อมสำหรับการใช้งาน สำหรับ CMS ที่มีชื่อเสียงและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ WordPress, Joomla เป็นต้น

  • Conversion Form

ช่องที่ให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลสั้น ๆ กระชับ และเป็นข้อมูลสำหรับการติดต่อกลับ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการให้กรอกข้อมูลอย่างอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ โดย Conversion Form สามารถสร้าง Conversion Rate ได้ดีและมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า Call To Action เลย  

  • Crawler

โปรแกรมของเครื่องมือค้นหาที่จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของคุณเพื่อนำมาประมวลผล และจัดอันดับในหน้าแสดงผล

D-I

  • Do-follow Link 

URL ที่อนุญาตให้ Robots ของเครื่องมือค้นหาสามารถ Crawl เข้าไปเก็บข้อมูลได้

  • DNS (Domain Name System/Domain Name Server)

ระบบการจัดการชื่อเว็ปไซต์ เช่น www.ชื่อเว็ปไซต์.com โดย DNS จะทำหน้าที่แปลงชื่อโดเมนไปเป็นตัวเลข IP Adress ที่จะใช้สำหรับการติดต่อไปยัง Server อื่น ๆ ที่ต้องการเชื่อมโยงเช่น Web Hosting เป็นต้น

  • Error 404

ลิงก์ URL ที่ถูกลบ ปรับเปลี่ยน หรือไม่เคยมีอยู่ จะมักแสดงผลของหน้า Error 404 แต่ส่วนมากแล้วสาเหตุที่ทำให้แสดงหน้านี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 เหตุผลหลัก คือ ผู้ใช้พิมพ์ลิงก์ URL ผิด หรือ หน้าเว็บไซต์มีปัญหา แต่ถึงแม้ว่า Error 404 อาจจะไม่ส่งผลใด ๆ กับการจัดอันดับเว็บไซต์ในทางตรง แต่ในทางอ้อมแล้ว หากลิงก์เว็บไซต์นั้น ๆ มีปัญหาบ่อย ๆ ผู้ใช้คลิกเข้าไปทีไรก็เห็น Error 404 เป็นไปได้สูงว่า ผู้ใช้งานจะไม่กลับเข้ามาคลิกลิงก์นั้นอีก เพราะจำได้แล้วว่าเมื่อคลิกเข้าไปแล้วจะพบกับหน้า Error 404 เช่นนี้ 

  • Featured Snippet

กล่องแนะนำเว็บไซต์ที่ขึ้นแสดงอยู่ด้านบนสุดของหน้าการค้นหา โดยจะถูกเลือกจากระบบของเครื่องมือค้นหา ว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง ยังถูกเรียกว่า Position 0 อีกด้วย

  • Headings

หัวข้อของบทความนั้น ๆ มักจะถูกเรียกว่า H1, H2-H6 ตามลำดับความสำคัญของหัวข้อ

  • HTTP และ HTTPs Protocol

Hypertext Transfer Protocol (HTTP) คือโพรโตคอลที่ใช้สื่อสาร รับและส่งข้อมูลผ่าน Internet ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง Client (Browser) และ Server (Website) หรือในอีกมุมหนึ่งคือ การที่ลูกค้าขอ Request สอบถามข้อมูลแล้วทางร้านค้าตอบรับกับคำขอเหล่านั้น จากนั้นจะเป็นการส่งข้อมูลให้กับลูกค้าตามที่ได้กำหนดไว้ 

โดย HTTP และ HTTPs จะต่างกันในเรื่องของ SSL Certificate ที่จะมาเพิ่มความปลอดภัยในการส่งข้อมูลระหว่าง Client Side (Browser) และ Server (Website) ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Ranking Factor ของ SEO เช่นกัน

  • Inbound Link

ลิงก์ที่เชื่อมจากอีกหนึ่งเว็บไซต์มาที่เว็บไซต์ของคุณ

  • Internal Link

ลิงก์ที่เชื่อมโยงหน้าเว็บเพจภายในเว็บไซต์เดียวกัน

  • Indexed Pages

หน้าเว็บเพจของเว็บไซต์ของคุณที่ถูกจัดเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูลของเครื่องมือค้นหา

K-P

  • Keyword

คำหรือกลุ่มคำสั้น ๆ ที่ใช้ค้นหาบน Search Engine ต่าง ๆ โดยคีย์เวิร์ดจะมีความสำคัญต่อการเขียนบทความ SEO อย่างมาก เพราะจะทำให้ระบบของเครื่องมือสามารถค้นหาและจับข้อมูลเพื่อประมวลผลออกมาว่าบทความนั้น ๆ มีความสำคัญต่อการค้นหามากน้อยแค่ไหน

  • Long Tail Keyword

คีย์เวิร์ดที่มีความยาวมากกว่าคีย์เวิร์ดทั่วไป โดยส่วนมากจะมีความจำเพาะเจาะจงใส่ลงไปด้วย เช่น “บ้านเดี่ยวสไตล์โมเดิร์น ใกล้รถไฟฟ้า” “ร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ราคาถูก” เป็นต้น

  • Meta Description

ข้อความที่ใช้สำหรับอธิบายลิงก์เว็บไซต์ที่ปรากฏบนระบบ Search Engine โดยเมื่อผู้ใช้งานทำการค้นหาข้อมูลที่ต้องการ หากเว็บไซต์ของเราปรากฏขึ้น ข้อความเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ใช้งานจะได้เห็น ว่าเนื้อหาเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใด สำหรับการเขียน Meta Description นั้นจะมีข้อกำหนดคือ ต้องไม่ใช้อักขระเกิน 156 ตัวอักษร เพราะถ้าเกินกว่านั้นระบบจะแสดงผลให้เห็นเพียง 156 ตัวอักษรเท่านั้น

  • Nofollow Link

ลิงก์เว็บไซต์ที่ไม่อนุญาตให้ Robots ของเครื่องมือค้นหาติดตามและไปเก็บข้อมูลได้ เพื่อป้องกันการเข้ามาโพสต์ลิงก์เว็บฯ ตัวเองซ้ำ ๆ (สแปม) หรือเป็นการบอกเครื่องมือค้นหาว่า ลิงก์นั้น ๆ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเว็บไซต์ต้นทาง โดยเมื่อบอทของเครื่องมือค้นหาเข้ามา ก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับลิงก์ประเภทนี้ จึงไม่ส่งผลต่อกับการจัดอันดับเว็บไซต์

  • Organic

การทำกิจกรรมใดก็ตามที่สร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีการซื้อโฆษณา อย่างในกรณีนี้คือการทำ SEO ซึ่งก็ถือเป็นกระบวนการทำให้เว็บไซต์ต่าง ๆ ไต่อันดับขึ้นหน้าแรกของ Search Engine อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นวิธีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา

  • Page Speed

ความเร็วของการโหลดหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ เพื่อการแสดงผล ยิ่งมีอัตราการโหลดที่รวดเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น

  • Page Title 

ข้อความหรือคำสั้น ๆ ที่ใช้สำหรับแสดงข้อมูลอธิบายเกี่ยวกับหน้าเว็บเพจต่าง ๆ ว่าคอนเทนต์ที่อยู่บนหน้านั้นคืออะไร

  • PageRank

อันดับ 0-10 ที่หน้าเว็บเพจ จะแสดงในหน้าค้นหาของเครื่องมือการค้นหาโดยเรียงอันดับจากการประมวลผลของเครื่องมือค้นหาว่าเว็บเพจนั้น ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นหาของผู้ใช้งานมากน้อยขนาดไหน

  • PPC (Pay-Per-Click)

การคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกิดจากยอดการคลิ๊ก เมื่อมีคนเข้ามาชมเว็บไซต์ของคุณผ่านโฆษณาบนเครื่องมือค้นหา หลายครั้งเรียกว่า CPC (Cost-Per-Click)

R-Z

  • Redirect 

กระบวนการที่นำพาผู้ใช้และ Robots เชื่อมต่อจากหน้าเว็บไซต์หนึ่ง ไปยังอีกหน้าเว็บไซต์หนึ่งตามที่เราได้กำหนดเอาไว้

  • Referral Traffic

การที่มีคนเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้ผ่านการค้นหาที่ระบบ Search Engine เช่น คลิกมาจากลิงก์ที่ถูกแปะไว้ในหน้าเว็บอื่น ๆ หรือคลิกจากลิงก์ที่ถูกแชร์ไปยังบน Social Media ต่าง ๆ เป็นต้น 

  • Responsive

แนวคิดหรือวิธีการในการออกแบบเว็บไซต์เพียงหนึ่งครั้ง แล้วสามารถรองรับการแสดงผลบนหน้าจอทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ แล็บท็อป แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) ซึ่งวิธีการออกแบบนี้ ผลลัพธ์ที่แสดงออกมาบนแต่ละขนาดจอภาพจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงยึดเอาโครงและข้อมูลสำคัญของหน้าเว็บไซต์หลักเอาไว้ และด้วยความที่ในปัจจุบัน มีการใช้งานหน้าจอที่หลากหลาย Responsive Design จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและยังส่งผลต่อการทำ SEO อีกด้วย

  • Robots.txt

ไฟล์ข้อความที่แจ้งให้ระบบของเครื่องมือค้นหารู้ว่า ส่วนไหนในหน้าเว็บไซต์ของคุณที่ระบบควรเข้ามา Crawl และส่วนไหนที่ระบบควรจะไม่สนใจ

  • Search Intent

จุดประสงค์ของการค้นหาของผู้ใช้งาน

  • Search Engine

โปรแกรมหรือเครื่องมือสำหรับสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ผ่านวิธีค้นหาด้วยการพิมพ์คีย์เวิร์ดโดยสามารถค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการได้ ซึ่งระบบจะแสดงผลลัพธ์ได้ทั้งลิงก์เว็บไซต์ รูปภาพ วิดีโอ หรือในปัจจุบันยังรองรับการค้นหาด้วยเสียงและรูปภาพได้อีกด้วย สำหรับ Search Engine ที่เป็นที่รู้จัก ก็จะมีอย่าง Google, Yahoo หรือ Bing เป็นต้น

  • SEO (Search Engine Optimization)

กระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์ให้ตรงตามกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของระบบ Search Engine เพื่อจุดประสงค์ในการทำให้เว็บไซต์ค่อย ๆ ไต่อันดับขึ้นสู่หน้าแรกได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเป็นวิธีที่จะต้องใช้ทั้งระยะเวลาและการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้อันดับเว็บไซต์ที่ขึ้นมาแล้วตกกลับลงไปอีกครั้ง

  • Search Query

คำหรือประโยคที่ผู้คนใช้สำหรับพิมพ์ค้นหาข้อมูลบน Search Engine ซึ่งคำนี้จะมีความหมายเดียวกันกับคำว่า Search Term 

  • Search Volume

จำนวนครั้งที่คีย์เวิร์ดนั้น ๆ ถูกค้นหาภายในระยะเวลาที่เรากำหนด

  • Sitemap

แผนผังเว็บไซต์ ซึ่งมีหน้าที่แสดงภาพรวมของเว็บไซต์ว่ามีอะไรบ้าง โดยจะรวบรวมลิงก์ของหน้าต่าง ๆ ในเว็บไซต์มาไว้ในหน้าเดียว

อ่านเพิ่มเติม: รู้จัก SITEMAP แผนผังเว็บไซต์ที่ช่วย SEO ได้ผลดียิ่งขึ้น

  • SSL Certificate

ใบรับรองที่เป็นตัวยืนยันถึงระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่รับส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของเว็บไซต์นั้น ๆ โดยเว็บไซต์ที่ได้รับ SSL Certificate จะมีการเข้ารหัสป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้อื่นสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ หากเกิดกรณีโดนดักขโมยข้อมูลระหว่างทาง วิธีสังเกตว่าเว็บไซต์นั้นมี SSL Certificate หรือไม่ สามารถสังเกตได้ที่ตัวอักษร “https” แทน “http” หรือในเว็บบราวเซอร์อย่าง Google Chrome ก็จะแสดงสัญลักษณ์ “แม่กุญแจที่ถูกล็อค” เอาไว้ด้านหน้าเพื่อยืนยันว่าเว็บไซต์นี้ได้รับการรองรับและมีใบรับรองด้านความปลอดภัยในการเข้าใช้งานแล้ว

  • Traffic

จำนวนของการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ

  • Tittle Tag

ชื่อหัวข้อที่แสดงอยู่ในหน้าการค้นหาโดยบางครั้งก็จะเรียกว่า Meta Tittle

  • Traffic Rank

อันดับการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ เมื่อเทียบกับเว็บไซต์อื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ต

  • UI (User Interface)

คือหน้าตาของเว็บไซต์ที่เราใช้งานกัน แต่เพียงแค่หน้าตาสวยงามอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะ UI ที่ดีควรตอบสนองการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ การออกแบบ สีสัน ตัวอักษรที่อ่านแล้วสบายตา ใช้งานง่าย ซึ่งต้องทำงานร่วมกับ UX เพื่อให้ประสบการณ์ของผู้ใช้เว็บไซต์นั้น ๆ ดีที่สุด

  • Unnatural Links

ลิงก์ที่ระบบของเครื่องมือค้นหาจับได้ว่าถูกใส่เข้ามาอย่างไม่เหมาะสม หรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความนั้น ๆ

  • UX (User Experience)

ประสบการณ์ของผู้ใช้งานเว็บไซต์ โดย UX ที่ดีควรจะออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสินค้า บริการหรือข้อมูลต่าง ๆ บนเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก ไม่สับสนกับหน้าเว็บไซต์ในหน้าต่าง ๆ รวมถึงลิงก์เข้า-ออกควรใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องดึงให้ผู้ใช้อยู่บนเว็บฯ นั้นได้เป็นเวลานาน

  • URL (Uniform Resource Locator)

ตัวบ่งชี้แหล่งข้อมูลของเว็บไซต์ต่าง ๆ บนระบบอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ‘ที่อยู่’ ของเว็บไซต์

ถึงนักเขียนและนัก(หัด)เขียนบทความ SEO ทุกท่าน

ด้านบนที่เรายกตัวอย่างมานี้ อาจจะไม่ใช่คำศัพท์ SEO ทั้งหมดบนโลกใบนี้ แต่เราคัดสรรคำศัพท์ที่มีความสำคัญและมักจะพบได้บ่อยครั้ง เพื่อหวังว่าผู้ที่สนใจจะสามารถสร้างความเข้าใจต่อการทำ SEO ได้มากขึ้น เพราะเราเชื่ออย่างยิ่งว่า การเขียนบทความ SEO นั้นไม่ใช่เรื่องยากและหากคุณทุ่มเทและใส่ใจมากพอ เว็บไซต์ของคุณก็จะสามารถขึ้นอันดับสูง ๆ บนหน้าแสดงผลการค้นหาได้อย่างแน่นอน!