SEO Audit คืออะไร วิธีตรวจเช็กสุขภาพเว็บไซต์ให้อันดับดีขึ้น

ทุกวันนี้ การแข่งขันทางการตลาดไม่ใช่แค่เพียงว่าใครมีกลยุทธ์ที่ดีกว่ากันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องความรวดเร็วและถูกต้องในการทำ SEO ด้วย เพราะไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ต่างก็ต้องอยากให้เว็บไซต์ของตนเองติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของ Google เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าคลิกเข้ามามากที่สุดกันทั้งนั้น

อย่างที่รู้กันว่า SEO หรือ Search Engine Optimization นั้นมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ต้องทำ บางครั้ง ถ้ามีคนถามว่าการทำ SEO ต้องทำอะไรบ้าง เราอาจตอบไม่หมดด้วยซ้ำ ทำให้เราอาจหลงลืม หรือพลาดจุดสำคัญบางจุดไปโดยไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่แยกไม่ออกว่าจุดไหนทำออกมาแล้วได้ผลลัพธ์ดี และจุดไหนที่ยังต้องปรับปรุง

วันนี้ เราจึงจะมาพูดถึงการทำSEO Auditซึ่งเปรียบเสมือนหลักการที่ช่วยปัดฝุ่นให้เว็บไซต์เรากลับมาเฉิดฉายบนหน้าผลการค้นหาได้อีกครั้ง ไปดูกันเลยว่า SEO Audit คืออะไรและมีอะไรบ้าง

SEO Audit ทำยังไง

SEO Audit คืออะไร

SEO Audit คือ กระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพของเว็บไซต์ ด้วยการค้นหาปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการจัดอันดับ ซึ่งครอบคลุมทั้งโครงสร้างทางเทคนิคของเว็บไซต์และการทำคอนเทนต์ จากนั้นก็คอยปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เว็บไซต์ของเราดูดีทั้งในสายตาของ Google และผู้ใช้งาน ตลอดจนได้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Traffic) จากการค้นหาแบบ Organic Search เพิ่มขึ้น

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า SEO Audit คือ เทคนิคที่เป็นเหมือนการ “ตรวจร่างกาย” ของคนเรานั่นเอง ว่ามีจุดไหนที่ควรซ่อมแซ่มให้ดีขึ้นได้บ้าง ทั้งยังสามารถระบุปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแม่นยำ โดยสามารถทำเมื่อไรก็ได้แล้วแต่สะดวก และที่สำคัญคือ แทบไม่ต้องใช้ต้นทุนใด ๆ เลยก็สามารถทำได้

 

เว็บไซต์แบบไหนที่ควรทำ SEO Audit

  • เว็บไซต์ที่ค้นหายาก ต่อให้ค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกันแล้วก็ยังหาไม่เจอ
  • เว็บไซต์ที่มีหน้าเพจเคยติดอันดับบนหน้าแรกของการค้นหา แต่พอเวลาผ่านไปอันดับก็ค่อย ๆ ร่วงลงจนหายไปจากหน้าการค้นหา
  • เว็บไซต์ที่ทำคอนเทนต์แล้วไม่ติดอันดับ
  • เว็บไซต์ที่มีจำนวนคู่แข่งในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น และคู่แข่งเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า
  • เว็บไซต์ที่ยังไม่มีคีย์เวิร์ดที่มีศักยภาพเพียงพอ เช่น การแข่งขันสูงไป ยอดการค้นหาต่ำไป หรือคีย์เวิร์ดไม่สัมพันธ์กับคอนเทนต์ที่ทำ เป็นต้น
  • เว็บไซต์ที่องค์ประกอบในการทำคอนเทนต์ยังไม่เหมาะสม เช่น UX/UI ไม่ดี Page Speed ต่ำไป หรือมี Broken Link เป็นต้น

 

SEO Audit มีกี่วิธี

การทำ SEO Audit สามารถทำได้หลากหลายแนวทางไม่ต่างจากการทำ SEO แต่ในที่นี้เราจะยก 7 วิธีหลัก ๆ ในการใช้ตรวจสอบสุขภาพเว็บไซต์มาให้ทุกคนดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เว็บไซต์ต้องมี URL ของโดเมนเวอร์ชันเดียว

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Google สามารถ Index เว็บไซต์ของเราในหลาย ๆ เวอร์ชันของ URL ได้ เช่น

http://domainname.com

https://domainname.com

http://www.domainname.com

https://www.domainname.com เป็นต้น

ซึ่งการมีโดเมนหลายเวอร์ชันเช่นนี้ มักไม่ส่งผลดีต่อเว็บไซต์ของเรา เพราะจะทำให้การนับสถิติต่าง ๆ แยกออกจากกัน แม้จะเป็นเว็บไซต์เดียวกันก็ตาม ดังนั้น เว็บไซต์ที่มีคุณภาพในสายตาของ Google จึงต้องมีชื่อโดเมนแค่เวอร์ชันเดียว โดยเราต้องเลือกว่าจะใช้ URL รูปแบบไหนเป็นลิงก์หลัก ระหว่าง https://domainname.com กับ https:///www.domainname.com (ไม่มีความแตกต่างกันในการทำ SEO ระหว่างเว็บไซต์ที่มี www กับไม่มี เพียงแต่เว็บฯ สมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องมี www นำหน้าชื่อโดเมนก็ได้)

จากนั้น ให้นำ URL ที่เหลือมาทำการ Redirect ไปยัง URL หลักทั้งหมด กล่าวคือ ไม่ว่าจะพิมพ์ URL ไหนไป ปลายทางก็จะแสดงผลที่หน้า URL หลักเวอร์ชันเดียว

หน้าเว็บไซต์สามารถแสดงผลได้ในทุกอุปกรณ์ (Mobile-Friendly)

เว็บไซต์ที่ดี ต้องไม่ใช่แสดงผลได้แค่บนเดสก์ท็อปเท่านั้น แต่ในยุคที่ทุกคนใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างมือถือกันเป็นหลักเช่นนี้ เราต้องทำหน้าเว็บฯ ให้รองรับอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย ซึ่งสำหรับใครที่อยากตรวจสอบว่าเว็บไซต์ของตนผ่านเกณฑ์ Mobile-Friendly หรือไม่ สามารถเข้าไปเช็กได้ที่เครื่องมือ Google’s Mobile-Friendly Testing Tool

เช็กคะแนนความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ (Page Speed)

ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ หรือ Page Speed ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการจัดอันดับ SEO เช่นกัน โดยสถิติจาก Think with Google ระบุว่า 53% ของผู้ใช้งานที่เข้าเว็บไซต์ผ่านมือถือ มักจะปิดหน้าเว็บฯ ทิ้งหากโหลดช้าเกิน 3 วินาที

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบความเร็วเว็บไซต์จะมีด้วยกันอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  • ตรวจสอบด้วยการเปิดใช้งานจริงบนมือถือ โดยความเร็วในการโหลดจะต้องไม่ช้ากว่า 3 วินาที
  • ตรวจสอบผ่านเครื่องมือ PageSpeed Insights โดยจะต้องได้คะแนนฝั่งมือถือ (Mobile) 60 คะแนนขึ้นไป

เช็ก Core Web Vitals

Core Web Vitals คือ เมตริกที่ช่วยวัดประสิทธิภาพด้าน User Experience (UX) หรือประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้เว็บไซต์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการจัดอันดับของ SEO ด้วย โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ Google Search Console แล้วเลือกหัวข้อ Core Web Vitals ที่อยู่ด้านซ้ายมือเพื่อเช็กว่าเรามี URL ที่ดี ที่ไม่ดี และที่ต้องปรับปรุงอย่างละกี่รายการ ซึ่งตามหลักแล้ว เว็บไซต์ควรจะต้องมี URL ที่ดีให้ได้มากที่สุด

เช็กหน้า 404 Page Not Found

404 Page Not Found คือ หน้าเพจที่บอตของ Google เคยเข้ามาเก็บข้อมูล หรือเคย Index ไปแล้ว แต่เมื่อกลับเข้ามาเก็บข้อมูลซ้ำกลับไม่พบ URL ดังกล่าว โดยสาเหตุของการเกิด 404 Page Not Found นั้นอาจมาจากการแก้ไข URL แล้วไม่ได้ทำ Redirect หรือเผลอลบหน้านั้น ๆ ทิ้งไปโดยไม่ตั้งใจ

ฉะนั้น เว็บไซต์ที่ดีจึงไม่ควรมีหน้าเพจที่เป็น 404 Page Not Found โดยเฉพาะหากหน้าที่ว่าเคยติดอันดับบนหน้าแรกของ Google มาก่อนแล้ว ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่าเว็บไซต์ของเรามีหน้าเพจแบบนี้หรือไม่ ผ่าน Google Search Console โดยตรง ด้วยการคลิกที่หัวข้อการครอบคลุม และเลือกไปที่หมวดข้อผิดพลาด จากนั้น ให้รีบจัดการแก้ไขด้วยการทำ Redirect ทันที

เช็ก On-Page SEO

On-Page SEO คือ การทำ SEO ด้วยการปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ให้ตรงกับเกณฑ์ที่ Google กำหนด ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีรายละเอียดเยอะมากจนนับไม่ถ้วน โดยมีทั้งจุดสำคัญที่ต้องใส่ และจุดที่จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่สำหรับหน้าเว็บไซต์ที่มีโอกาสติดแรงก์สูง จะต้องมี 6 สิ่งดังต่อไปนี้

  • หัวเรื่อง (Page Title)
  • คำอธิบายเนื้อหาเว็บไซต์ (Meta Description)
  • URL ที่สั้น กระชับ ง่ายต่อการจดจำ (URL Friendly)
  • รูปภาพประกอบพร้อม Alt Text
  • ใส่คีย์เวิร์ดใน H1 
  • กระจายคีย์เวิร์ดในเนื้อหาด้วยจำนวนที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไป อิงตามความยาวของเนื้อหา

โดยการจะตรวจสอบทั้ง 6 จุดนี้ เราต้องเปิดเช็กทีละหน้าด้วยตนเอง เพราะการทำ Site Audit หรือการตรวจเช็ก On-Page SEO บนเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทย ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพรองรับ

เช็กจำนวน Backlink คุณภาพ

Backlink คือ ลิงก์จากเว็บไซต์อื่น ๆ ที่เชื่อมกลับมายังหน้าเว็บไซต์ของเรา เป็นสิ่งที่บอกให้ Google รับรู้ว่าเนื้อหาของเราได้รับการยอมรับจากเว็บไซต์อื่น ซึ่งจะช่วยให้อัลกอริทึมเพิ่มคะแนนในส่วนนี้ให้เรา และมีโอกาสติดอันดับที่สูงขึ้น

อย่างที่คนทำ SEO หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า การทำ Backlink นั้นต้องโฟกัสที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ แม้ว่าการมี Backlink เยอะ ๆ จะยิ่งช่วยทำให้เราดูน่าเชื่อถือมากขึ้นก็จริง แต่ถ้าเว็บไซต์ที่ลิงก์กลับมาไม่ใช่เว็บไซต์คุณภาพ ผลที่ได้ก็จะตรงกันข้ามเลยทีเดียว เช่น หากเว็บไซต์ที่ทำ Backlink ให้เราเป็นเว็บไซต์เถื่อน Google ก็จะมองว่าเว็บไซต์ของเราเทียบเท่าเว็บไซต์ดังกล่าว และมีโอกาสถูกแบนออกจากหน้าผลการค้นหาทันที

ดังนั้น ก่อนที่เราจะหา Backlink มาเพิ่มคะแนนให้เว็บไซต์ตนเอง เราต้องเข้าใจก่อนว่า Backlink ที่มีคุณภาพมีลักษณะอย่างไร

  • ต้องมาจากเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดหลักบนเว็บไซต์เรา
  • เว็บไซต์นั้นต้องมีจำนวนคนที่กดเข้ามา (Traffic) อย่างน้อย 50 คลิกต่อเดือน
  • ลิงก์นั้นต้องเป็น Anchor Text ที่เป็นคำตรง ๆ หรือเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดหลักบนเว็บไซต์ของเรา
  • ต้องเป็นลิงก์ที่มาจากเนื้อหา จะได้คะแนนมากกว่าลิงก์ที่มาจาก Sidebar หรือ Footer
  • ในเว็บเพจดังกล่าว ต้องไม่มีลิงก์ที่เชื่อมไปยังเว็บไซต์ของคนอื่นที่มีคีย์เวิร์ดหลักคำเดียวกับของเรา
  • ลิงก์นั้นต้องเป็นลิงก์ประเภท Do Follow Link
  • ตำแหน่งของลิงก์ควรวางอยู่ช่วงบน ๆ ของเนื้อหา จะทำให้มีโอกาสได้คะแนนสูงกว่าอยู่ล่าง ๆ
  • ต่อให้เป็น No Follow Link แต่ถ้าเว็บไซต์ต้นทางเป็นเว็บฯ ที่มีความน่าเชื่อถือ ก็ทำให้ได้คะแนนจาก Google ได้เช่นกัน หากมีคนกดลิงก์นั้นมายังเว็บไซต์เรา

เมื่อเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้แล้ว ให้นำไปตรวจสอบ Backlink ทั้งหลายที่เราได้รับ ว่ามีคุณลักษณะตรงตามที่กล่าวมาหรือไม่ จากนั้น ให้เช็กว่าเรามี Backlink จำนวนเท่าไรที่ผ่านเกณฑ์ โดยโปรแกรมที่ใช้เช็ก Backlink มีอยู่ 2 เว็บไซต์ด้วยกัน ได้แก่ Ahrefs และ Ubersuggest

SEO Audit มีอะไรบ้าง

Primal Digital Agency บริษัทการตลาดชั้นนำที่ให้บริการ SEO Audit

หากใครกำลังมองหาโอกาสในการเติบโตด้วยการทำ SEO ที่ Primal เรามีบริการ SEO Audit ที่ช่วยตรวจสอบโครงสร้าง SEO บนเว็บไซต์ของคุณโดยเฉพาะ พร้อมให้คำแนะนำและช่วยปรับเปลี่ยนเว็บไซต์เพื่อผลลัพธ์ SEO ที่ดีกว่า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพให้เว็บไซต์ถูกค้นเจอมากขึ้นบน Google

บริการ SEO Audit ของเรา ประกอบไปด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ ดังนี้

  • เพิ่มคะแนนการใช้งานเว็บไซต์และ SEO Friendly
  • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความยาวและชื่อแทก HTML คำอธิบายเว็บไซต์ที่อาจยังไม่ค่อยครบถ้วน และการใช้ H1
  • รายงานคุณภาพของคอนเทนต์ รวมถึงเนื้อหาบนหน้าเพจที่อาจซ้ำกัน
  • ช่วยหาจุดสำคัญที่ต้องโฟกัส และการใช้คีย์เวิร์ด
  • ช่วยสรุปภาพรวมของการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์
  • ให้คำแนะนำเรื่องการจัดอันดับความสำคัญของ Internal Link
  • ช่วยเพิ่มความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์
  • ช่วยเพิ่มคะแนนด้านการทำ Backlink

ในการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพเว็บไซต์ การตรวจสอบเทคนิค SEO ถือเป็นกระบวนการสำคัญลำดับแรก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเราจะได้รู้ว่าหน้าเว็บไซต์ของเรามีอะไรที่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาได้อีกหรือไม่ จึงจะได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นบนหน้าผลการค้นหา หากสนใจบริการ SEO Audit จากผู้เชี่ยวชาญ Primal ติดต่อเราเพื่อรับคำปรึกษาได้เลยวันนี้