วิธีการเขียนบล็อกให้ดีที่จะช่วยเพิ่มโอกาสติดแรงก์
หนึ่งในกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันที่ยากจะเลี่ยงได้คือการทำ SEO เพราะถึงแม้ว่าผลลัพธ์ปลายทางจะได้ติดแรงก์อยู่ในอันดับต้น ๆ ของเครื่องมือค้นหา แต่ในความจริงแล้ว เป็นเพียงแค่การเปิดประตูไปสู่โอกาสอื่น ๆ อย่างการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากขึ้น รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ หรือแม้แต่ ผลลัพธ์ทางการตลาดที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
รูปแบบของการทำ SEO ที่นิยมกันมากที่สุด คือรูปแบบของ “การเขียนบล็อก” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านความสะดวก เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือความรู้ทางเทคนิคเฉพาะมากนัก รวมถึงยังสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญยังตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบันอีกด้วย
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ใคร ๆ ก็เขียนบล็อกได้ แต่การจะเขียนบทความให้ออกมาดีได้นั้นถือว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาแนะนำถึงวิธีการเขียนบล็อกที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างสรรค์บทความ SEO ของคุณให้ออกมามีคุณภาพ จนมีโอกาสติดแรงก์บน Google!
Table of Contents
เตรียมตัวก่อนเขียนบล็อก
หัวข้อที่ดีคือการเริ่มต้นที่ดีที่สุด
สิ่งแรกที่คุณจำเป็นต้องรู้ในการเขียนบล็อกก็คือ “หัวข้อ” ของสิ่งที่คุณอยากจะเขียน ในโลกใบนี้เต็มไปด้วยความรู้และเรื่องราวมากมายที่คุณสามารถหยิบมาใช้เป็นหัวข้อได้ แต่ถ้าคุณยังคิดไม่ออกและสงสัยว่าคุณควรเขียนบล็อกอะไรดี เราขอแนะนำว่าให้คุณเลือกหัวข้อที่คุณมีความถนัดหรือสนใจในด้านนั้น ๆ ก่อนเป็นอันดับแรก แต่สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ คุณจำเป็นต้องดูด้วยว่า บทความที่คุณเขียนจะต้องเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือสินค้าของคุณด้วย ซึ่งในส่วนนี้คุณสามารถนำสิ่งที่คุณชื่นชอบหรือสนใจมาประยุกต์ใช้ได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณเป็นสายมู และชื่นชอบเรื่องดวงและมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่คุณทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ คุณอาจลองคิดถึงเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงทั้งสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน บางทีคุณจะอาจจะได้คำตอบว่า คุณอยากจะเขียนบล็อกเกี่ยวกับสีมงคลของคนที่เกิดวันต่าง ๆ โดยในส่วนนี้คุณอาจเชื่อมยี่ห้อและรุ่นของรถยนต์ที่มีสีเหล่านั้นเข้าไป หรือ ถ้าหากธุรกิจของคุณมีบริการทำสีรถยนต์ด้วย คุณก็สามารถสอดแทรกบริการเหล่านี้เข้าไปในบทความได้ด้วยเช่นกัน
วางโครงสร้างของบทความ
เมื่อคุณได้หัวข้อมาแล้ว แต่คุณยังไม่เห็นภาพและไม่แน่ใจว่าควรเขียนไปในทิศทางไหน สิ่งที่คุณควรทำในขั้นตอนต่อไปก็คือ การหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด และนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นมาแยกเป็นหัวข้อย่อย ๆ คราวนี้คุณก็จะสามารถวาดโครงสร้างบทความที่ต้องการจะเล่าได้แล้ว แต่ถ้าหากหัวข้อที่คุณสนใจมีข้อมูลที่หามาไม่มากนัก และคุณยังไม่เห็นโครงสร้างของบทความที่ชัดเจนมากพอ ขอแนะนำว่าให้คุณเก็บหัวข้อนั้น ๆ เอาไว้ก่อน แล้วย้อนกลับไปในขั้นตอนแรกของการเขียนบล็อก ซึ่งก็คือการหาหัวข้อใหม่
สำหรับโครงสร้างของบทความที่ดีนั้น ควรจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ การเกริ่นนำ เนื้อหา และสรุป ซึ่งปริมาณของข้อมูลต่าง ๆ ที่คุณจะใส่ลงไปนั้น จะต้องอยู่ในส่วนของเนื้อหา โดยคุณอาจจะแยกออกมาเป็นอีกหลายหัวข้อย่อยก็ได้ แต่คุณต้องมั่นใจว่าทุกหัวข้อย่อยจะมีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อใหญ่และมีความสอดคล้องกันทั้งบทความ เพื่อให้เนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสิ่งนี้จะส่งผลให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินไปกับบทความของคุณ
ลงมือเขียนบล็อก
เขียนเลย!
เมื่อคุณมีหัวข้อที่ชัดเจนและมีโครงสร้างของบทความที่ดีแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือเขียนบล็อกได้เลย ซึ่งในการเขียนบล็อกนั้น คุณควรที่จะยึดตามโครงสร้างที่คุณกำหนดเอาไว้ แต่ทั้งนี้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้นิดหน่อย แต่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดสำคัญ ๆ ทั้งหมด โดยสิ่งที่คุณควรจำเอาไว้ให้ขึ้นใจก็คือ การรักษาทิศทางของบทความให้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้คนอ่านไม่รู้สึกสงสัยว่าสรุปแล้ว คุณต้องการที่จะสื่อถึงเรื่องอะไรกันแน่
จุดที่ยากที่สุดของการเขียนบล็อกนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนให้เสร็จหรือการใส่ข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วน แต่เป็นการที่คุณจะต้องเขียนออกมาให้ผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังบอกเล่า อีกทั้งคุณยังคงต้องรักษาเอกลักษณ์ในการเขียนเอาไว้ ไม่ควรซ้ำกับผู้เขียนคนอื่น ซึ่งถ้าหากคุณทำได้แล้ว บทความของคุณก็จะดูมีความน่าเชื่อถือ และหากผู้อ่านชื่นชอบในสำนวน การเล่าเรื่องของคุณ พวกเขาก็จะติดตามคุณต่อไปเรื่อย ๆ แน่นอน
ข้ามการพิสูจน์อักษรไม่ได้!
หนึ่งในวิธีการเขียนบล็อกที่มักจะถูกละเลยก็คือ กระบวนการพิสูจน์อักษร หลายครั้งคุณอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้นั้นไม่สำคัญและเป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่ไม่ใช่เลย เพราะการที่คุณจะสร้างสรรค์บล็อกที่ดีออกมาได้นั้น นอกจากเนื้อหาจะต้องละเอียดและถูกต้องแล้ว การสะกดคำต่าง ๆ รวมถึงการเลือกใช้บริบทของประโยค หรือแม้แต่การจัดเรียงรูปประโยคก็มีความสำคัญเช่นกัน และเราขอแนะนำว่า คุณไม่ควรจะพิสูจน์อักษรด้วยตัวเอง เพราะการมีคนอื่นมาช่วยดูช่วยอ่าน จะทำให้คุณได้รับมุมมองใหม่ ๆ อีกทั้งพวกเขาอาจจะแนะนำรูปประโยคที่ดี กระชับและเข้าใจง่ายกว่าได้อีกด้วย รวมไปถึงการสะกดคำต่าง ๆ ยิ่งในภาษาไทยที่มีคำที่มักจะสะกดผิดเต็มไปหมด การมีผู้พิสูจน์อักษรมาช่วยดูก็จะสามารถตรวจสอบให้เกิดความถูกต้องได้มากที่สุด
อย่าลืมองค์ประกอบที่สำคัญ
การเขียนบล็อกนั้นมีความยุ่งยากกว่าการเขียนบทความในสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ตรงที่ คุณจะต้องเลือกหัวข้อที่สามารถดึงดูดใจคนอ่านได้ อีกทั้งคุณยังต้องใส่ใจในรายละเอียดอื่น ๆ ถ้าหากคุณเขียนบล็อก SEO ไม่ว่าจะเป็นการเขียน Meta Title, Meta Description, Alt Text, Internal/External Link รวมไปถึง Heading และ Sub-Headings เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ Search Engines จะพิจารณาว่าบทความของคุณควรจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ของผลการค้นหานั่นเอง
อย่าลืมกดแชร์
ทุกวันนี้มีบล็อกเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการเขียนบล็อกก็คือคุณต้องอย่าลืมที่จะแชร์หรือโปรโมตบล็อกของคุณด้วย ยิ่งบล็อกของคุณมีคนเข้ามาอ่านเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะทั้งต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของคุณในฐานะนักเขียนบทความเอง หรือแม้แต่โอกาสที่บล็อกจะได้ขึ้นแรงก์สูง ๆ ในผลการค้นหาก็ตาม
สรุป
ในการเขียนบล็อกนั้น แม้จะดูเหมือนง่ายแต่สิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญก็คือรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ คุณจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเขียนของตัวเองอยู่เสมอ อีกทั้งควรหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เท่าทันข่าวสารและกระแสสังคมต่าง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีไอเดีย และสามารถนำมาต่อยอดในการเขียนบล็อกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด!
Join the discussion - 0 Comment