รวมลิสต์ 10 Google Algorithm ที่นักการตลาดต้องรู้จัก

ในโลกของการตลาดดิจิทัล หากอยากจะขึ้นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ก็ต้องทำให้เว็บไซต์ของตนเองปรากฏอยู่บนอันดับต้น ๆ ในหน้าแรกของ Google ให้ได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ความเข้าใจในกลไกการทำงานของ Google ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก Google Algorithm มีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่า เว็บไซต์ใดควรปรากฏหรือไม่ควรปรากฏในหน้าผลการค้นหา และควรอยู่ในอันดับใดบ้าง ดังนั้น หากเราเข้าใจกฎเกณฑ์ของ Algorithm เหล่านี้ ก็จะช่วยให้สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จัก 10 Google Algorithm ชื่อดัง พร้อมบอกหน้าที่ของแต่ละตัวว่า อันไหนให้ความสำคัญกับด้านใดบ้าง หากเข้าใจและนำไปปฏิบัติตาม รับรองว่าความฝันในการได้อยู่หน้าแรกของ Google ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน !

Google Algorithm มีหน้าที่ในการคัดกรองเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ

10 Google Algorithm ฉบับอัปเดต นักการตลาดไม่รู้ไม่ได้ !

1. Google Panda (2011)

Google Panda เปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหาที่ปรากฏในหน้า SERP และลงโทษเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาคุณภาพต่ำ ซ้ำซ้อน หรือไม่มีคุณค่าต่อผู้ใช้

สำหรับนักการตลาด การทำความเข้าใจ Panda Algorithm มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพสูง มีความเป็นเอกลักษณ์ และให้คุณค่าแก่ผู้อ่าน ตลอดจนการเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อผลักดันให้เว็บไซต์ได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นในหน้าแรกของ Google

2. Google Penguin (2012)

Google Penguin เปิดตัวในปี 2012 โดยมีเป้าหมายในการกำจัดลิงก์ที่ผิดธรรมชาติและไม่มีคุณภาพ โดย Algorithm นี้จะช่วยให้ Google สามารถระบุและลงโทษเว็บไซต์ที่ใช้เทคนิคการสร้างลิงก์แบบสแปมเพื่อเพิ่มอันดับในผลการค้นหาได้

ดังนั้น นักการตลาดควรให้ความสำคัญกับการสร้างลิงก์ที่เป็นธรรมชาติและมีคุณภาพ แทนที่จะพยายามหลอกระบบด้วยการซื้อลิงก์หรือใช้เทคนิคที่ผิดจริยธรรม ซึ่งหลาย ๆ เว็บไซต์พบว่า วิธีการที่ Google Algorithm ชอบ จะเป็นการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าและน่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้เว็บไซต์ดี ๆ ส่งลิงก์กลับมาหาเราเอง

3. Google Pirate (2012)

Pirate เป็น Google Algorithm ที่เปิดตัวในปี 2012 โดยมีจุดประสงค์หลักในการตรวจจับเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ โดยการลดอันดับของเว็บไซต์เหล่านี้ในผลการค้นหาของ Google ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างสรรค์เนื้อหาภายใต้การเคารพทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนเผยแพร่ทุกครั้ง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์ของตนไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และมีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างเหมาะสมเมื่อใช้เนื้อหาจากแหล่งอื่น

นอกจากนี้ หากธุรกิจของคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถใช้เครื่องมือ Google’s Copyright Removal Tool เพื่อรายงานเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของคุณได้ ซึ่งการดำเนินการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในสายตาของ Google อีกด้วย

4. Google Hummingbird (2013) 

Google Hummingbird เปิดตัวในปี 2013 ซึ่งถือเป็นปีแห่งการปรับปรุงครั้งใหญ่ของระบบค้นหาของ Google โดยมุ่งเน้นที่การเข้าใจถึงความตั้งใจ (Intent) และบริบทของคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหา แทนที่จะพิจารณาเฉพาะคีย์เวิร์ดแบบเฉพาะเจาะจง ช่วยให้ Google Algorithm สามารถตอบสนองต่อคำถามที่ซับซ้อนและการค้นหาด้วยเสียงได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ Hummingbird ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง มากกว่าแค่การยัดคีย์เวิร์ดลงไปในเนื้อหาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เช่น หากคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้ค้นหาเยอะ ได้แก่คำว่า “SEO คืออะไร” แต่การจะใส่ประโยคคำถามลงไปตลอดทั้งเนื้อหาก็อาจจะดูแปลก ในกรณีนี้ จึงสามารถใช้คีย์เวิร์ด “SEO คือ” เฉย ๆ แทนได้ เนื่องจากเป็นคำที่สื่อถึงความตั้งใจค้นหาและบริบทแบบเดียวกัน

5. Google Pigeon (2014)

Pigeon เป็น Google Algorithm ที่เปิดตัวเมื่อปี 2014 ซึ่งได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านวิธีการที่ Google ประมวลผลและแสดงผลการค้นหาแบบท้องถิ่น (Local Search Results) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความแม่นยำและความเกี่ยวข้องของผลการค้นหาท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับนักการตลาดที่ต้องการประสบความสำเร็จในการทำ Local SEO สามารถทำได้โดยการปรับปรุงข้อมูลธุรกิจใน Google My Business ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ รวมถึงการปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานบนมือถือ เนื่องจากการค้นหาตามท้องถิ่นมักเกิดขึ้นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่

การแสดงผลในหน้าค้นหา จัดอันดับโดย Google Algorithm

6. Google Mobilegeddon (2015)

Mobilegeddon หรือบางครั้งก็รู้จักกันในชื่อ Mobile-Friendly Algorithm เปิดตัวในปี 2015 มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์มือถือ โดย Google Algorithm นี้จะให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ที่ปรับเลย์เอาต์ให้เหมาะสมกับการใช้งานบนมือถือร่วมกับเดสก์ท็อป

ดังนั้น เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับบนหน้าแรก นักการตลาดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์มือถือ (Responsive Design) มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ดีไม่ว่าจะเข้าชมจากอุปกรณ์ใดก็ตาม นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงความเร็วในการโหลดหน้าเว็บฯ บนมือถือ และการจัดวางเนื้อหาให้อ่านง่ายบนหน้าจอขนาดเล็กด้วย

7. Google RankBrain (2015)

Google RankBrain เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เปิดตัวในปี 2015 มีหน้าที่ช่วยประมวลผลคีย์เวิร์ด โดยเฉพาะคำที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งจะทำให้ Google เข้าใจความหมายและบริบทของคีย์เวิร์ดได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถแสดงผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องได้แม้ในกรณีที่ผู้ใช้เซิร์ชคีย์เวิร์ดที่ไม่ตรงตัว

สิ่งที่นักการตลาดต้องทำเพื่อให้ตอบโจทย์ RankBrain คือ การสร้างเนื้อหาที่ครอบคลุมและให้ข้อมูลเชิงลึก แทนที่จะเน้นเพียงการใช้คีย์เวิร์ดเดิมซ้ำ ๆ ให้ลองผสมคีย์เวิร์ดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันลงในเนื้อหาด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดอันดับบนหน้าแรก

8. Google Possum (2016)

Google Possum เปิดตัวในปี 2016 มุ่งเน้นที่การปรับปรุงผลการค้นหาแบบท้องถิ่น (Local Search Results) โดยทำให้ผลการค้นหามีความหลากหลายมากขึ้นสำหรับธุรกิจที่อยู่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ค้นหาก็มีผลต่อผลลัพธ์ที่แสดงมากขึ้นด้วย กล่าวคือ ธุรกิจที่อยู่นอกขอบเขตเมืองก็มีโอกาสปรากฏในผลการค้นหาสำหรับเมืองนั้น ๆ มากขึ้น อีกทั้ง Google Algorithm ก็จะเริ่มแยกแยะระหว่างการจัดอันดับออร์แกนิกและการจัดอันดับท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย

สิ่งที่นักการตลาดต้องทำ คือ การปรับปรุงข้อมูล Google My Business ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ พร้อมสร้างเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นบนเว็บไซต์ ส่งเสริมการรีวิวจากลูกค้าในท้องถิ่น ตลอดจนการสร้างลิงก์จากเว็บไซต์ท้องถิ่นที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ควรใช้ Schema Markup เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของตนเองเพิ่มเติมแก่ Google ด้วย

9. Google Medic Update (2018)

Google Medic Update เปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2018 โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มความสำคัญของหลัก E-A-T ที่ Google ประกาศใช้เมื่อปี 2015 ซึ่งประกอบไปด้วย Expertise (ประสบการณ์), Authoritativeness (ความเป็นเจ้าของ) และ Trustworthiness (ความน่าเชื่อถือ) โดยเฉพาะในส่วนของตัว T ซึ่งเป็นความน่าเชื่อถือของเนื้อหามากขึ้น นอกจากนี้ Google ยังพยายามเชื่อมโยงเนื้อหาที่มีให้ตรงกับความตั้งใจในการค้นหาของผู้ใช้งานให้มากยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน E-A-T มีตัว E (Experience หรือประสบการณ์ผู้เขียน) เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งตัว กลายเป็น E-E-A-T ซึ่ง Google Medic Update ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์นี้ โดยนักการตลาดสามารถปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาได้ด้วยการใช้ผู้เขียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับหัวข้อนั้น ๆ พร้อมแสดงข้อมูลประวัติหรือคุณสมบัติของผู้เขียนอย่างชัดเจนเพื่อแสดงความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ การอ้างอิงแหล่งข้อมูลและการรับรองความถูกต้องของเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ก็สามารถเพิ่มโอกาสในการติดแรงก์ได้เช่นกัน

10. Google BERT (2019)

BERT (Bidirectional Encoder Representations from Transformers) เปิดตัวในปี 2019 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาความสามารถด้านการเข้าใจภาษาของ Google Algorithm ช่วยให้เข้าใจบริบทและความหมายของคำต่าง ๆ ในประโยคได้ดียิ่งขึ้น โดยพิจารณาจากเนื้อหาโดยรวมในหน้านั้น ๆ

ดังนั้น ในปีนี้ นักเขียนสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นธรรมชาติ และมุ่งเน้นการให้คุณค่าแก่ผู้อ่านได้เลย แทนที่จะพยายามเขียนเพื่อเอาใจเครื่องมือค้นหาเหมือนปีก่อน ๆ และที่สำคัญ ควรใช้ภาษาที่ชัดเจน ตรงประเด็น และตอบคำถามที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมายอยากรู้ได้อย่างครบถ้วน

 

และนี่ก็คือ 10 Google Algorithm ที่นัก SEO ทุกคนควรทำความรู้จัก เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์เครื่องมือเหล่านี้ อันจะส่งผลให้มีโอกาสในการติดอันดับบนหน้าแรกของ Google สูงขึ้น สำหรับใครที่ยังไม่เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล หรือเทคนิคการทำ SEO ที่ Primal Digital Agency เรามีบริการรับจ้างทำ SEO โดยทีมงานมากประสบการณ์กว่า 150 คน ให้ธุรกิจคุณก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่วางไว้ ติดต่อเราได้เลยวันนี้