รู้จักการตลาดควอนตัม แนวคิดที่ช่วยให้นักการตลาดเปิดโลกใหม่
เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล ชีวิตประจำวันของเราก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในทุก ๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่การตลาด เพราะจากที่เมื่อก่อนอยากจะซื้ออะไร ก็ต้องออกไปซื้อที่หน้าร้านเท่านั้น แต่สมัยนี้ เรามีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีคอมเมิร์ซ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค ให้สามารถกดสั่งผ่านทางออนไลน์แล้วรอรับของอยู่ที่บ้านได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปไหน ทำให้ช่วงหลังมานี้ การซื้อ-ขายออนไลน์กลายเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 เป็นต้นมา และมีแนวโน้มว่าต่อจากนี้ การตลาดออนไลน์จะยิ่งล้ำหน้าขึ้นไปอีก
ดังนั้น จึงมีแนวคิดทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่จะมาช่วยยกระดับการตลาดให้เหนือขึ้นไปอีกขั้น เรียกว่า “การตลาดควอนตัม“ หรือ “Quantum Marketing” ที่นักการตลาดยุคใหม่ต้องรู้หากไม่อยากตกขบวน !
Table of Contents
การตลาดควอนตัมคืออะไร
Quantum Marketing คือ กรอบการทำงานใหม่ของโลกการตลาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในเชิง Mindset เป็นคำที่ริเริ่มมาจากคุณ Raja Rajamannar ผู้เขียนหนังสือ Quantum Marketing ซึ่งเขาได้ให้คำนิยามไว้ว่า การตลาดควอนตัม คือ ส่วนผสมระหว่าง Marketing 5.0 + Deep Data + IoT + AI + 5G + Blockchain
กล่าวอีกนัยหนึ่งให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า การตลาดควอนตัม คือ การตลาดที่พึ่งพาเทคโนโลยี และส่งผลให้ Customer Journey กระจัดกระจายจนยากที่จะวางระบบแบบเดิมได้อีก เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่สามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เดี๋ยวแวะเข้าไปดูแพลตฟอร์มนี้ที แล้วเดี๋ยวก็ออกไปเข้าแพลตฟอร์มอื่นต่อ ถ้าไม่ถูกใจก็เข้าอันอื่นได้อีกต่อไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่นักการตลาดต้องพร้อมปะติดปะต่อ Data ทั้งหมดของลูกค้า จากนั้น ต้องสามารถนำมาวิเคราะห์ภาพรวมให้เข้าใจจุดมุ่งหมาย แล้วคาดการณ์ออกมาว่าลูกค้าแต่ละรายน่าจะกำลังต้องการอะไรอยู่ ก่อนจะคิดแผนการตลาดให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น ๆ
ดังนั้น การตลาดควอนตัมจึงไม่ใช่เรื่องของเทคนิคเสียทีเดียว แต่เป็นแนวคิด หรือ Mindset ที่มีต่อมุมมองการทำการตลาด ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของ Data เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และเพื่อให้เห็นภาพรวมมากขึ้น มาทำความเข้าใจ 5 กระบวนทัศน์ของการตลาดควอนตัมในส่วนถัดไปกันเลย
5 กระบวนทัศน์ของการตลาดควอนตัม
5 กระบวนทัศน์ของการตลาดควอนตัม เป็นการฉายภาพให้เห็นแต่ละกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทางความคิดของการทำการตลาดที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคที่หนึ่งจนมาถึงยุคที่ห้า ซึ่งก็คือปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พบว่า มนุษย์รู้จักการทำการตลาดมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว คือการโฆษณาขายเข็มในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีนเมื่อเกือบพันปีก่อน และนับตั้งแต่นั้น การตลาดก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเรื่อยมา โดยมีการเกิดขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร โปสเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย
และนี่คือทั้ง 5 กระบวนทัศน์ของการตลาดควอนตัม ที่พัฒนาจากการตลาดยุคแรกเริ่มสู่ปัจจุบัน
กระบวนทัศน์ที่ 1 : การตลาดแบบเน้นตรรกะและเหตุผล
ในช่วงเริ่มแรก การตลาดมีลักษณะสื่อสารแบบตรงไปตรงมา มีเหตุผล และเน้นไปที่ตัวสินค้าเป็นหลัก ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้ออย่างมีเหตุผล หากเราทำสินค้าที่คุณภาพดีที่สุดออกมา ลูกค้าก็ต้องซื้อของเรา ส่งผลให้การตลาดในยุคนี้มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเรียบง่าย โดยเน้นทำสินค้าให้ดีกว่าคู่แข่ง ตัวอย่างประโยคขาย เช่น รถยนต์ดอดจ์ “ขับนุ่มกว่า” หรือเครื่องดูดฝุ่น “ไม่มีอะไรดูดได้ดีเท่าอิเล็กโทรลักซ์” เป็นต้น
กระบวนทัศน์ที่ 2 : การตลาดแบบเน้นอารมณ์
เมื่อนักการตลาดทำการตลาดแบบเน้นตรรกะและเหตุผลไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งก็พบว่า มนุษย์เรามักตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้น การตลาดในยุคที่สองจึงพยายามสอดแทรกอารมณ์ต่าง ๆ เข้าไปในโฆษณา ซึ่งเป็นช่วงที่วิทยุและโทรทัศน์กำลังได้รับความนิยมมาก ส่งผลให้ภาพและเสียงกลายเป็นสื่อใหม่ที่ทรงพลัง สามารถเล่าเรื่องราวได้ถึงอารมณ์มากขึ้น ดังนั้น การตลาดยุคนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลมาสนับสนุน เพราะเน้นเพียงอารมณ์ที่เข้าถึงใจผู้บริโภคเท่านั้น เช่น แบรนด์ Nike ที่ทำโฆษณาเพียงประโยคเดียวคือ “Just do it” หรือโค้ก ที่โฆษณาว่า “ทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้ามีโค้ก”
กระบวนทัศน์ที่ 3 : การตลาดเชิงข้อมูลและสื่อดิจิทัล
ยุคก่อนหน้านี้ การตลาดแบบเน้นอารมณ์อยู่ในจุดสูงสุดทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ กระทั่งถึงจุดพลิกผัน เมื่อมีการเกิดขึ้นของ “อินเทอร์เน็ต” ทำให้นักการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อสร้างการตลาดที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องทำการตลาดคราวละมาก ๆ แต่เมื่อมีข้อมูล นักการตลาดก็สามารถทำการตลาดที่เฉพาะเจาะจงได้อย่างแม่นยำกว่าเดิม และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้การตลาดในยุคนี้เปลี่ยนแปลงการวัดผลของโฆษณาไป กล่าวคือ ไม่ต้องคาดเดากลุ่มเป้าหมายหรือเรตติงโฆษณาอีกแล้ว แต่อาศัยการดูจำนวนข้อมูลของผู้ใช้งานผ่านสื่อออนไลน์แทน ซึ่งช่วยลดการสูญเสียของทรัพยากร ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ได้อย่างมหาศาล
กระบวนทัศน์ที่ 4 : การตลาดแบบออนไลน์ตลอดเวลา
เมื่อมีการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต การตลาดจึงไม่สามารถหยุดทำงานได้ เนื่องจากการมีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างกายตลอด 24 ชั่วโมงทำให้ผู้บริโภคไม่สนใจเรื่องกรอบเวลาในการซื้อสินค้าอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นความท้าทายใหม่ของนักการตลาดที่ต้องพร้อมขายและสแตนด์บายตลอดเวลา ไม่เช่นนั้น ลูกค้าอาจหันไปหาคู่แข่งของเราแทนได้
กระบวนทัศน์ที่ 5 : การตลาดควอนตัม
ในยุคนี้ การตลาดถูก Disrupt อย่างรุนแรงจากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ไหลบ่าเข้ามามากมายจากการพัฒนาสุดขีดของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาด ที่เรียกได้ว่า หากเกิดความผิดพลาดแม้เพียงจุดเดียว ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ ตลอดจนความสำเร็จก็มีแนวโน้มจะหายไปอย่างรวดเร็วตามระยะเวลาความสนใจของผู้บริโภคที่สั้นลงเรื่อย ๆ สิ่งนี้เองคือความหมายของคำว่า “ควอนตัม” กล่าวคือ เป็นผลกระทบที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยแนวคิดแบบเดิม ๆ แต่สามารถเข้าใจผ่านลักษณะที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้
ข้อมูลเกิดขึ้นมากมายไม่สิ้นสุด
การตลาดควอนตัม คือ การทำให้เกิดตัวเซนเซอร์ที่สามารถหยั่งรากลึกลงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ทุกอย่าง ไปจนถึงลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์ดิจิทัล หรือรถที่เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยตัวเซนเซอร์นี้จะเก็บข้อมูลของผู้บริโภคในทุกระดับ เรียกว่าเป็น “ข้อมูลควอนตัม” ที่หากนักการตลาดรู้วิธีนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะสามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
บทบาทของปัญญาประดิษฐ์
สิ่งที่มาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยี คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligent) ซึ่งพักหลังมานี้เริ่มมีบทบาทในการตลาดเป็นอย่างมาก เพราะสามารถอ่านข้อมูลได้เกือบทุกประเภท รวมถึงทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้นจนสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้ AI กลายเป็นเครื่องมือคู่ใจของนักการตลาดที่จะช่วยประหยัดแรงงานและเวลาในการทำงานมากขึ้น
การเกิดขึ้นของเครือข่าย 5G
ในการตลาดยุคใหม่ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ อินเทอร์เน็ตที่ช่วยประสานการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ดิจิทัลที่ต้องเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โฮโลแกรม ไปจนถึง AR/VR เป็นต้น ที่สำคัญ เครือข่าย 5G จะยิ่งพัฒนามากขึ้นไปอีกในเรื่องของประสิทธิภาพและความรวดเร็ว ส่งผลให้นักการตลาดสามารถทำงานระยะไกลแบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถจับสัญญาณเซนเซอร์จากกิจกรรมของผู้บริโภคได้ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแผนการตลาดที่เหมาะสม
ทักษะของนักการตลาดยุคควอนตัม
การจะเป็นนักการตลาดยุคควอนตัมได้นั้น แค่เก่งเรื่องการคิด การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์อาจไม่พออีกต่อไป เพราะเราต้องมีความเข้าใจโลกในบริบทใหม่ ๆ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกวันด้วย โดยทักษะของนักการตลาดควอนตัมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อ ดังนี้
Branding & Communication : สื่อสารอย่างตรงจุดเพื่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
ทักษะแรกนี้ถือว่าสำคัญมาก สำหรับนักการตลาดในยุคควอนตัมที่ทุกอย่างขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โดยเราจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์และทักษะการสื่อสารในระดับที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ตราตรึงใจผู้บริโภคได้
Protect Brand Reputation & Social Management : รักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์จากสื่อโซเชียลฯ
ไม่ว่าที่ผ่านมาเราจะทำได้ดีขนาดไหน แต่ถ้าพลาดครั้งเดียว ก็มีสิทธิ์ถูกชาวเน็ตถล่มจนยับเยินได้ ซึ่งนั่นอาจส่งผลเสียต่อแบรนด์ของเราไปตลอดกาล วิธีที่ดี คือ พยายามปกป้องและรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ไว้ให้ได้ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น เรียนรู้ที่จะใช้กลยุทธ์ Social Listening เพื่อรับฟังเสียงของผู้บริโภคว่าพวกเขาพูดถึงและมีฟีดแบ็กต่อแบรนด์ของเราอย่างไร จะได้รีบป้องกันหรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงที
Finance & Business : เข้าใจพื้นฐานการเงินและโครงสร้างธุรกิจ
สิ่งหนึ่งที่ทุกธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของ “การเงิน” อันเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายเลยว่าธุรกิจของเราจะไปรอดหรือไม่ ดังนั้น นักการตลาดยุคใหม่จึงต้องมีความเข้าใจเรื่องการบริหารเงิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงเรื่องภาษีต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจยืนหยัดอยู่ได้นาน ๆ
Strategy & Sustainable : วางแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
การทำธุรกิจทุกวันนี้ การมองแค่การเติบโตระยะสั้นคงไม่พออีกแล้ว เพราะนับวัน คู่แข่งในตลาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และนั่นหมายความว่าลูกค้าก็จะมีความสนใจและตัวเลือกที่มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากกว่า เช่น การมองหาไอเดียที่จะสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของแบรนด์ (Brand Asset) ในอนาคต หรือทำการตลาดบนแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น เป็นต้น
สรุป
ดังนั้น การตลาดควอนตัม คือ แนวคิดที่ทำให้นักการตลาดรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกที่ไม่เคยย่างก้าวเข้าไปมาก่อน เพราะเมื่อเทียบกับ 4 กระบวนทัศน์แรก ได้แก่ การตลาดแบบเน้นตรรกะและเหตุผล การตลาดแบบเน้นอารมณ์ การตลาดเชิงข้อมูลและสื่อดิจิทัล และการตลาดแบบออนไลน์ตลอดเวลาแล้ว การตลาดควอนตัมถือเป็นยุคที่มีเทคโนโลยีแปลกใหม่และข้อมูลมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงความสนใจของผู้บริโภคก็สั้นลงเป็นอย่างมาก เพราะมีคู่แข่งในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเปลี่ยนกรอบแนวคิดของการทำการตลาดยุคใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง
หากใครรู้สึกว่าการตลาดยุคใหม่นั้นซับซ้อน ไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถติดต่อ Primal Digital Agency เพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และรับแผนการตลาดฟรีได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment