Podcast คืออะไร รู้จักวิธีทำการตลาดแบบใหม่ ไม่น่าเบื่อ
เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางหลักที่ใช้ในการทำการตลาด โลกของเราก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า “คอนเทนต์” ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เราเลื่อนผ่านบนโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นคอนเทนต์ไปเสียหมด ยิ่งนับวัน คนทำคอนเทนต์ก็ยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นเรื่อย ๆ จนออกมาเป็นคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ทั้งคอนเทนต์แบบบล็อกยาว ๆ โพสต์สั้น ๆ อินโฟกราฟิก วิดีโอ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้การโปรโมตแบรนด์ของเราออกมาในรูปแบบใด แบรนด์ของเราเหมาะสมกับอะไร และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร
นอกจากรูปแบบคอนเทนต์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจุบันยังมีคอนเทนต์แบบที่ไม่ใช้ภาพ ไม่ใช้ตัวหนังสือ ไม่ต้องพึ่งพาอินโฟกราฟิก เพราะใช้แค่เสียงเท่านั้น และเราเรียกสิ่งนั้นว่า “Podcast (พอดแคสต์)”
ในขณะที่เกือบทุกแบรนด์ในท้องตลาดกำลังแข่งขันกันทำคอนเทนต์รูปแบบเดิม ๆ จะดีกว่าหรือไม่หากเราหันมาใช้คอนเทนต์ใหม่ ๆ ในการทำการตลาดบ้าง ซึ่ง Podcast คือหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้แค่เสียง ไม่ต้องอ่านข้อความหรือดูคลิปยาว ๆ และที่สำคัญคือ สามารถเปิดฟังเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ ให้อารมณ์เหมือนกับการฟังเพลงที่สามารถฟังได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าตอนนั้นจะทำอะไรอยู่ก็ตาม
ก่อนจะไปเรียนรู้วิธีทำ Podcast เรามาทำความรู้จักกันให้มากขึ้นก่อนว่า Podcast คืออะไร
Table of Contents
Podcast คืออะไร
เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเคยได้ยินคำว่า Podcast ผ่านหูกันมาบ้าง บางคนก็อาจจะเคยฟัง บางคนก็อาจจะไม่เคยเลย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบัน Podcast ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นคอนเทนต์ที่สามารถเสพได้สะดวก เปิดฟังได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมานั่งอ่านข้อความยาว ๆ หรือเปิดคลิปดูจนจบ
Podcast มาจากการผสมกันระหว่างคำว่า iPod กับ Broadcasting เนื่องจาก Podcast ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในยุคเดียวกันกับที่บริษัท Apple คิดค้น iPod ขึ้นมา และ Apple ก็เป็นบริษัทแรกที่สนับสนุน Podcast โดยในปี 2005 Apple ได้ปล่อย iTunes เวอร์ชัน 4.9 ที่มีช่อง Podcast ฟรีกว่า 3,000 ช่องให้เลือกฟัง ส่งผลให้ Podcast แพร่หลายอย่างรวดเร็วนับแต่นั้นมา
Podcast คือ ไฟล์เสียงออดิโอดิจิทัลที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยจะมีผู้ดำเนินรายการมาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ อาจเป็นการให้สัมภาษณ์ แชร์ประสบการณ์ หรือให้ความรู้ก็ได้ มีลักษณะคล้ายกับการจัดรายการวิทยุ ซึ่งผู้ฟังสามารถเลือกช่องที่มีคอนเทนต์แบบที่ตนเองชอบได้ แต่ละช่องจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นตอน ๆ ให้ผู้ฟังสามารถเปิดฟังได้สั้น ๆ ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบของคนสมัยใหม่
จากผลสำรวจพฤติกรรมการฟัง Podcast พบว่า คนส่วนมากมักเปิด Podcast ฟังเวลาอยู่บ้าน ออกกำลังกาย ขณะทำงาน และระหว่างการเดินทาง ด้วยความสะดวกเช่นนี้ ทำให้คอนเทนต์ประเภท Podcast ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และคงจะเป็นการดีหากหลาย ๆ แบรนด์หันมาทำการตลาดด้วยการทำ Podcast บ้าง เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างกว่าเดิม อีกทั้งยังดูทันสมัย ไม่ตกยุค
ข้อดีของการทำการตลาดด้วย Podcast คืออะไร
- สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้แบบเฉพาะเจาะจง เพราะแต่ละช่องก็จะมีหมวดหมู่ของคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ฟังสามารถเลือกฟังได้ตามหมวดหมู่ที่ตนเองสนใจ ฉะนั้น คนที่เข้ามาฟัง Podcast ของเรา จึงหมายความว่าพวกเขาสนใจช่องทางนั้นจริง ๆ
- การทำ Podcast มีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องลงทุนไปกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์มากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น เพราะขณะนี้ การทำการตลาดด้วย Podcast ยังมีการแข่งขันที่ไม่สูงนัก
- เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนเริ่มหันมาฟัง Podcast กันเยอะขึ้น ด้วยจุดขายของแพลตฟอร์มที่สามารถเปิดฟังได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องหยุดอ่านข้อความหรือดูภาพ
- จากสถิติของรายการ GetTalks พบว่า กลุ่มผู้ฟัง Podcast เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 21-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพราะอยู่ในวัยทำงาน รวมถึงอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนมาก
ทำ Podcast เตรียมอะไรบ้าง
การจะเริ่มทำ Podcast นั้นไม่ยากเลย เพราะเราไม่จำเป็นต้องมีทักษะการเขียนเพื่อดึงดูดให้คนมาอ่าน หรือทักษะการทำกราฟิกสวย ๆ ให้คนหยุดดู หรือแม้แต่ทักษะการตัดต่อวิดีโอให้คลิปดูน่าสนใจ เพราะแค่มีทักษะการพูดให้น่าฟัง มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดจริง ๆ ก็พอ
ในการทำ Podcast มีสิ่งที่ต้องเตรียม ดังนี้
- หัวข้อที่อยากพูด – ควรเป็นเรื่องใหม่ ๆ ไม่น่าเบื่อ จำเจ เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาฟังเยอะ ๆ จากนั้นให้แบ่งหัวข้อดังกล่าวออกเป็นตอน ๆ ประมาณ 10 ตอนหรือมากกว่านั้น
- อุปกรณ์อัดเสียง – บางคนอาจจะคิดว่าแค่มีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็สามารถบันทึกเสียงได้แล้ว แต่ความจริงที่หลายคนชอบมองข้าม คือ อุปกรณ์อัดเสียงนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำคอนเทนต์ประเภทเสียง เพราะอุปกรณ์ดี ๆ จะช่วยให้น้ำเสียงเราดังฟังชัด น่าฟังขึ้น แล้วยังมีตัวช่วยลดเสียงรบกวนรอบข้าง ไม่ให้เสียงเหล่านั้นเข้ามาแทรกขณะที่เรากำลังบันทึกเสียงอยู่ด้วย ดังนั้น หากอยากทำ Podcast ให้ดูเป็นมืออาชีพ อุปกรณ์อัดเสียงจึงถือเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้
- รูปหน้าปกรายการ Podcast – ถึงจะไม่ต้องทำอินโฟกราฟิกคอนเทนต์ แต่ก็ต้องมีรูปหน้าปกรายการที่สวยงาม สามารถดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาฟังได้ และที่สำคัญ รูปต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับมู้ดแอนด์โทนของแบรนด์ และคอนเทนต์ของเราด้วย
- ช่องทางการเผยแพร่ – เมื่อทำไฟล์เสียงเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเราสามารถเลือกเฉพาะแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับแบรนด์ของเราได้ ด้วยการดูว่ากลุ่มเป้าหมายของเราส่วนมากมักใช้แพลตฟอร์มใดเป็นหลัก โดยแพลตฟอร์ม Podcast ที่ได้รับความนิยมจะประกอบไปด้วย SoundCloud, Spotify, Anchor, Apple Podcasts, YouTube เป็นต้น
เทคนิคการทำ Podcast ให้น่าฟัง
รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญในการทำการตลาด ไม่ว่าจะใช้กลยุทธ์ใดก็ตาม คือ การรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ดีเสียก่อน ว่าเป็นใคร อายุเท่าไร ชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร กับการทำ Podcast ก็เช่นกัน เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะจัดรายการให้ใครฟัง อย่าพยายามหว่านแหด้วยการพูดหัวข้อที่เอาใจทุกคนบนโลก หรือเน้นประเด็นกว้าง ๆ ที่คาดว่าน่าจะถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย แต่ให้เลือกเรื่องที่เฉพาะเจาะจง และสามารถนำเสนอแบรนด์ของเราออกมาให้ผู้ฟังรับรู้ได้ การทำเช่นนี้ นอกจากจะได้กลุ่มผู้ฟังที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นลูกค้าของเราจริง ๆ แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความเชี่ยวชาญที่เรามีในสิ่งที่พูดด้วย เพราะถ้าหากเราเป็นแบรนด์เครื่องสำอาง แต่ถ้าจะไปพูดประเด็นกว้าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเครื่องสำอางเลย ก็จะดูไม่น่าเชื่อถือ
เขียนสคริปต์ของหัวข้อที่จะเล่า
หลังเตรียมหัวข้อเรียบร้อยแล้วว่าจะพูดเรื่องอะไร สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับถัดมาคือ การเขียนสคริปต์ เพื่อป้องกันการพลาดขณะอัดรายการ ยิ่งสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญด้านการพูดแบบด้นสดเท่าไรนัก ยิ่งควรเขียนเป็นเอาต์ไลน์ให้ตัวเอง ว่ากำลังจะเล่าถึงอะไร แบ่งออกเป็นพาร์ตใดบ้าง และแต่ละพาร์ตจะพูดถึงสิ่งใดให้เพียงพอกับเวลาในแต่ละ EP
อย่างไรก็ตาม เราสามารถพูดนอกสคริปต์ได้เช่นกัน หากตอนที่อัดรายการอยู่แล้วเกิดไอเดียดี ๆ ขึ้นมา เช่น การแทรกข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพิ่งนึกขึ้นได้พอดี หรือใส่อารมณ์ขันลงไปในน้ำเสียงเพื่อไม่ให้รายการดูน่าเบื่อเกินไป เป็นต้น
ตัดต่อคลิปเสียงให้ดูน่าสนใจ
การตัดต่อคลิปเสียงนั้นไม่ได้ยากและซับซ้อนเท่าการตัดต่อวิดีโอ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีทักษะแบบนักตัดต่อวิดีโอมืออาชีพก็ทำได้ แอปพลิเคชันที่แนะนำคือ Anchor เพราะใช้งานง่าย เหมาะสำหรับมือใหม่ สามารถใส่เพลง ใส่ซาวนด์สนุก ๆ แทรกให้ดูน่าสนใจ หรือจะ Import เสียงที่เราชอบมาใส่ก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีฟีเจอร์ให้เราสามารถอัดเสียงพร้อมเพื่อนได้ด้วย
หา Co-Host มาจัดรายการด้วยกัน
เพื่อไม่ให้รายการดูจำเจเกินไป อาจต้องมี Co-Host หรือแขกรับเชิญมาพูดในรายการของเราบ้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ Podcast ดูลื่นไหลและเป็นธรรมชาติเหมือนพูดคุยกับเพื่อนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เรามีผู้ฟังใหม่ ๆ ที่เป็นฐานผู้ฟังเดิมของ Co-Host คนนั้น ๆ ด้วย
คอยวัดผลอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญประการสุดท้าย คือ การคอยวัดผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอ ว่าคอนเทนต์ที่เราลงไปนั้นมีผลตอบรับอย่างไร คนฟังมากน้อยแค่ไหน หัวข้อแบบใดที่มักจะมีคนฟังมาก หรือหัวข้อไหนที่คนไม่ค่อยชอบฟัง แล้วนำมาปรับใช้กับการวางแผนทำ Podcast ให้ดียิ่งขึ้นในครั้งถัดไป
ทั้งนี้ สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำ Podcast แรก ๆ อาจจะยังไม่มีคนฟังมากนักเป็นเรื่องปกติ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ขอเพียงแค่อย่าท้อ และคอยวัดผลเป็นประจำ หากมีจำนวนผู้ฟังเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะเป็นจำนวนที่ยังไม่ถล่มทลาย แต่ก็ถือเป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีได้
สรุป
ปัจจุบัน ยังมีแบรนด์จำนวนไม่มากนักที่หันมาทำการตลาดด้วย Podcast ซึ่งหากเราเริ่มวันนี้ เราก็จะได้เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่โปรโมตธุรกิจผ่านช่องทางดังกล่าว สำหรับใครที่มีทักษะด้านการพูด หรือสนใจคอนเทนต์ลักษณะนี้อยู่แล้ว แนะนำให้ทำเลยตอนนี้ เพราะ Podcast ใช้ต้นทุนไม่สูงมาก ทั้งยังสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้แบบเฉพาะเจาะจงด้วย แต่อย่าลืมว่า Podcast ไม่เหมาะกับคอนเทนต์แคมเปญที่มีระยะเวลาจำกัด เพราะผู้ฟังหลาย ๆ คนก็ชอบมาเปิดฟังย้อนหลังมากกว่าเปิดฟังแบบเรียลไทม์ แนะนำให้ทำคอนเทนต์ที่สามารถเปิดฟังได้เรื่อย ๆ แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วจะดีกว่า
หากยังไม่มั่นใจว่าธุรกิจของคุณเหมาะกับการทำการตลาดแบบไหน ติดต่อ Primal Digital Agency บริษัทรับทำการตลาดชั้นนำของไทยได้เลยวันนี้ ให้เราได้ช่วยคุณในทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ เพื่อผลลัพธ์และความสำเร็จที่แม้แต่คุณเองยังคาดไม่ถึง !
Join the discussion - 0 Comment