Personalized Marketing คืออะไร? รู้จักกลยุทธ์ที่มาแรงแห่งปี
ถึงจะบอกว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่กำลังมาแรงแห่งปี แต่ต้องบอกก่อนว่า Personalized Marketing หรือการทำการตลาดเฉพาะกลุ่มนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเทคนิคที่มีมานานแล้ว และด้วยประสิทธิภาพของมันก็ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยเทรนด์การตลาดนี้มาในรูปแบบของการที่ผู้ประกอบการสามารถจดจำความชอบเฉพาะของกลุ่มเป้าหมายหรือพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าได้ เช่น หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีประสบการณ์ไปซื้อข้าวที่ร้านอาหารแถวบ้าน แล้วเจ้าของร้านจำได้ว่าเมนูที่เราชอบสั่งบ่อย ๆ คืออะไร นั่นอาจทำให้เรารู้สึกพิเศษ และอยากจะอุดหนุนร้านดังกล่าวบ่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ Personalized Marketing หรือการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าด้วยการใช้ข้อมูลเข้ามามีความสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การตลาด
Table of Contents
Personalized Marketing คืออะไร?
ในยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลเป็นตัวเชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าด้วยกันเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของทุกธุรกิจที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำมาทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเทคนิค Personalized Marketing กล่าวคือ การขายสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้ารายบุคคลอย่างเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาและวิเคราะห์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
Personalized Marketing คือ การทำการตลาดเฉพาะกลุ่มที่นักการตลาดจะใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในการทำความเข้าใจพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค และสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ เพื่อให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ที่มาอุดหนุนได้แบบคนรู้ใจ นอกจากนี้ นักการตลาดยังสามารถนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวมาใช้พัฒนาสินค้าและบริการ หรือการนำเสนอคอนเทนต์และโฆษณาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย เรียกได้ว่า Personalized Marketing คือการทำการตลาดที่ช่วยทั้งสร้างการรับรู้แบรนด์ และช่วยให้นักการตลาดสามารถอ่านใจลูกค้าได้แบบเฉพาะบุคคล ทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากอยู่กับแบรนด์ต่อไปเรื่อย ๆ ในระยะยาว
ประโยชน์ของการทำ Personalized Marketing คืออะไร?
มีผลการวิจัยระบุว่า 63% ของผู้บริโภครู้สึกไม่พึงพอใจกับการทำการตลาดแบบเดิม ๆ ที่มักนำเสนอสินค้าหรือบริการด้วยการยิงข้อความโฆษณาซ้ำหลายครั้ง จนก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายและรำคาญ เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือการปรับเปลี่ยนการตลาดให้เป็นแบบเฉพาะบุคคล โดยจากผลการสำรวจของ Epsilon ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคจำนวน 1,000 ราย อายุระหว่าง 18-64 ปี พบว่า 80% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะอุดหนุนแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์ Personalized Marketing แล้วยังพบอีกว่าพวกเขายินดีที่จะมอบข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้แบรนด์นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์การทำการตลาดเฉพาะกลุ่มสามารถสร้างผลดีให้แก่แบรนด์ได้ในระยะยาว เนื่องจากข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์นั้นเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้เราสามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบตรงจุด ยิ่งไปกว่านั้น Personalized Marketing ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีก ดังนี้
- ลดโอกาสที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์อื่น ๆ
- รักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าประจำให้มีความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อแบรนด์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้ในระยะยาว
- สร้างยอดขายได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า
- สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาเพื่อคาดการณ์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในอนาคตได้
- สามารถมอบประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าประทับใจให้แก่ลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
- สามารถเชื่อมโยงแพลตฟอร์มในการทำการตลาดออนไลน์ได้หลากหลายช่องทาง เช่น โซเชียลมีเดีย หรือ Email Marketing
- ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ อันนำมาซึ่งความโดดเด่นของแบรนด์เราที่เหนือกว่าแบรนด์คู่แข่ง
เริ่มทำ Personalized Marketing อย่างไรดี?
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วเราจะเริ่มทำ Personalized Marketing ได้อย่างไร? ในหัวข้อนี้เราจะมาบอกถึงขั้นตอนการทำการตลาดเฉพาะกลุ่มที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากกว่าเดิม!
เก็บข้อมูลลูกค้า
หัวใจสำคัญของการทำการตลาดแบบ Personalized Marketing คือการที่ธุรกิจมีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลเชิงพฤติกรรม ไปจนถึงข้อมูลภาพใหญ่ ๆ หรือที่เรียกว่า Big Data ก็ตาม โดยเราสามารถเก็บข้อมูลได้จากหลากหลายช่องทาง เช่น การออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่ใส่อัลกอริทึมสำหรับเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานลงไป หรือการเลือกใช้เครื่องมือทางการตลาดต่าง ๆ ในการช่วยเก็บข้อมูล ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์คุณภาพเว็บไซต์, Facebook, Instagram, LINE, เว็บไซต์ E-Commerce, Email Marketing Tools หรือ HubSpot เป็นต้น
จัดทำ Personalized Persona
หลังจากที่รวบรวมข้อมูลของลูกค้ามาได้แล้ว ให้จัดทำเป็น Persona แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกค้าแต่ละราย โดยสามารถสรุปเป็นข้อมูลทัศนคติ ความคิด ความชอบ พฤติกรรมการซื้อ ตลอดจนแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การทำ Personalized Persona นั้นต้องมีการเจาะลึกรายละเอียดและใช้ข้อมูลจำนวนมาก ส่งผลให้ในบางครั้งอาจต้องใช้เวลามากขึ้นตามไปด้วย แต่แนะนำว่าให้อดทนสักนิด เพราะวิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เหมาะสม
อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำการตลาดก็คือ การสร้างคอนเทนต์ โดยเราจะต้องออกแบบและผลิตคอนเทนต์ โฆษณา รวมถึงโปรโมชันต่าง ๆ สำหรับลูกค้าที่อยู่ใน Persona ของเรา ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้รวบรวมมานั้นเองที่จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถทำคอนเทนต์ได้ตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ อย่าลืมใส่ข้อความที่เป็น Call to Action (CTA) เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกอยากอุดหนุนแบรนด์ของเรามากกว่าเดิมลงไปด้วย
ทดสอบและวัดผล
ขั้นตอนสุดท้ายของการตลาดแบบ Personalized Marketing ที่ไม่ต่างจากการตลาดแบบอื่น ๆ เลยก็คือ การทดสอบและวัดผล ผ่านการทดลองนำคอนเทนต์และแผนการตลาดที่คิดค้นขึ้นมาไปใช้ และเก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนากลยุทธ์การทำการตลาดต่อไป รวมถึงวิเคราะห์หาแนวทางที่ใช่และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับแบรนด์ด้วย
ข้อควรระวังของการตลาดแบบ Personalized marketing คืออะไร?
การตลาดแบบ Personalized Marketing คือการอาศัยข้อมูลจากตัวลูกค้า แต่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะยินยอมให้แบรนด์เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้น เพราะเราก็ต้องยอมรับว่ามีบางกลุ่มธุรกิจที่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตนในทางที่ไม่ดีอยู่จริง ดังนั้น การเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาแผนการตลาด กับการรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกค้าจึงมีเส้นบาง ๆ กั้นอยู่
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ ก่อนที่จะเก็บข้อมูลใด ๆ ของลูกค้าไปใช้นั้น ก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสด้วยการสอบถามความยินยอมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าก่อน โดยการทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างความสบายใจแก่ลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง แล้วยังทำให้ลูกค้ามองว่าแบรนด์มีความน่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพอีกด้วย
สรุป
จะเห็นได้ว่า การตลาดแบบ Personalized Marketing คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เหมาะกับโลกการตลาดดิจิทัลในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากอะไร ๆ ในสมัยนี้ก็ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลไปเสียหมด เราจึงควรใช้โอกาสในการหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจของตนเอง กล่าวคือ รวบรวมข้อมูลของลูกค้ามาปรับใช้ในการพัฒนาสินค้า บริการ โฆษณา คอนเทนต์ หรือโปรโมชันต่าง ๆ ฯลฯ เพื่อเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการทำการตลาดแบบหว่านแห เพราะการทำเช่นนั้น เราเองก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ากลุ่มคนที่จะเห็นคอนเทนต์ของเราคือกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจริงหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น หากรู้จักการทำ CRM ควบคู่กันไปด้วย ก็จะยิ่งส่งเสริมให้การตลาดแบบ Personalized มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
Join the discussion - 0 Comment