Music Marketing คืออะไร การตลาดผ่านเสียงดนตรีที่ชวนจดจำ
สำหรับหลาย ๆ คน “เสียงเพลง” ถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำอะไร หรือไปที่ไหนก็มีแต่เสียงดนตรี ต่อให้ไม่ได้เปิดฟังเองแต่ก็ได้ยินจากข้างนอกอยู่ดี ซึ่งความมหัศจรรย์ของเสียงดนตรีคือ ความสามารถในการสื่อสารอารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้ฟัง แม้ว่าจะเป็นเพียงเสียงจากเครื่องดนตรีโดยปราศจากคำร้อง ก็ยังสามารถสื่อสารอารมณ์ของเสียงดนตรีเหล่านั้นออกมาได้
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่แบรนด์จำนวนมากนำเสียงดนตรีหรือเสียงเพลงมาใช้ในการทำการตลาด เพื่อส่งเสริมภาพจำของแบรนด์ให้อยู่ในใจของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น กลยุทธ์นี้เรียกว่า “Music Marketing“ ที่เราจะมาอธิบายให้ฟังกันว่าคืออะไร เชื่อว่าต้องคุ้นหูใครหลายคนแน่นอน!
Table of Contents
Music Marketing คืออะไร
“แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร”
“กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกิน MK”
“หิวเมื่อไรก็แวะมา 7-11”
เชื่อว่าตอนที่ทุกคนอ่าน 3 ประโยคด้านบน คงไม่มีใครทนอ่านแบบไม่ใส่ทำนองได้แน่นอน! เพราะเพลงโฆษณาเหล่านี้ล้วนเป็นการตลาดที่โด่งดัง ผ่านหูคนทั้งประเทศ เพียงแค่เริ่มประโยคแรกมา ในใจเราก็พร้อมต่อเนื้อเพลงให้จนจบ แถมยังใส่ทำนองให้แบบจัดเต็มอีกต่างหาก หรือถึงแม้จะไม่มีเนื้อร้อง มีเพียงเสียงดนตรีอันคุนเคยอย่าง “ตือ ดื๊อ ดื่อ ดือ ดื๊อ ดื่อ” เราก็สามารถนึกออกได้ทันทีว่าเป็นเสียงรถไอศกรีมวอลล์ สิ่งนี้เองที่เรียกว่าเป็น Music Marketing
Music Marketing หรือ Music Marketing Strategy คือ กลยุทธ์การตลาดที่นำศิลปะทางดนตรีมาสร้างเป็นบทเพลงโฆษณา หรือแคมเปญต่าง ๆ ที่ใช้ในการโปรโมตสินค้าและบริการ เพื่อช่วยสร้างภาพจำของแบรนด์ให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง ทั้งยังทำให้อยู่ในใจของผู้บริโภคได้นานขึ้น ผ่านการใช้อารมณ์และความรู้สึกมากกว่าเหตุผล
นั่นคือคำตอบที่ว่า ทำไมเราถึงยังจำเพลงข้างต้นได้ดี ทั้ง ๆ ที่เพลงเหล่านี้ถูกปล่อยออกมานานแล้ว เพราะการสร้างแบรนด์ด้วยเสียงเพลงหรือดนตรี ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างภาพจำผ่านทำนองหรือเนื้อร้องที่ติดหูเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกอารมณ์บางอย่างเข้ามาอยู่ในใจและความทรงจำของเราในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย
ความสำคัญของ Music Marketing คืออะไร
กลยุทธ์ Music Marketing ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่ต่างก็ใช้กันมานานแล้ว และยังได้ผลดีเสียด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีและเสียงเพลงล้วนมีอิทธิพลต่อความรู้สึก และสามารถเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟังได้มากกว่าสิ่งอื่นใด โดยความสำคัญหลัก ๆ ของ Music marketing มีดังนี้
ช่วยสร้างตัวตนของแบรนด์
มีบางคนกล่าวไว้ว่า หากเราอยากรู้จักตัวตนของใครสักคนมากขึ้น ให้ดูจากเพลงในเพลย์ลิสต์ของคน ๆ นั้น เช่นเดียวกันกับแบรนด์ที่มีการทำ Music Marketing เพราะถึงแม้ในความเป็นจริง แบรนด์จะไม่ได้มีตัวตนเหมือนกับมนุษย์ แต่เราก็สามารถสร้างตัวตนขึ้นมาผ่านเสียงเพลงที่สามารถสื่ออารมณ์ไปยังผู้บริโภคได้ ทำให้เมื่อผู้บริโภคได้ยินเสียงเพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ก็จะจำได้ทันที แล้วยังมีโอกาสที่จะอยู่ในใจผู้บริโภคไปตลอดอีกด้วย
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Brand Channel ระบุว่า 96% ของแบรนด์ที่ใช้เพลงที่เข้ากับตัวตน จะส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถจดจำแบรนด์ได้มากกว่า รวมถึงการทดลองของ HUI Research ก็พบว่า เพลงที่เข้ากับตัวตนของแบรนด์จะช่วยให้มียอดขายเพิ่มขึ้น 9%
ทำให้ผู้บริโภคเกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)
เนื่องจาก Music Marketing คือกลยุทธ์ที่สามารถสื่ออารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้ฟังได้ ในแง่ของการตลาด เสียงเพลงจึงสามารถเพิ่มโอกาสที่ผู้บริโภคจะกลับมาซื้อซ้ำได้ด้วย โดยจากการศึกษาของ Music Works พบว่า หนึ่งในเหตุผลที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากกลับมาซื้อซ้ำ คือเสียงเพลง 31% ดังนั้น การทำ Music Marketing จึงเปรียบเสมือนการรักษาลูกค้า หรือที่เรียกว่า Retention นั่นเอง
ช่วยเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น
มีนักวิจัยหลายท่านที่ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรีและพฤติกรรมของลูกค้า พบว่า การทำ Music Marketing สามารถช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 38% แต่ต้องเป็นเพลงที่ฟังสบาย ติดหู และไม่สร้างความรำคาญหรือความน่าอึดอัดใจแก่ผู้ฟัง
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำ Music Marketing
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Music Marketing คือกลยุทธ์ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างภาพจำและความแตกต่างแก่แบรนด์เท่านั้น แต่ท่วงทำนอง เนื้อหา และการนำเสนอต่าง ๆ ที่แบรนด์ตั้งใจสื่อสารออกไป ยังสามารถซึมซับเข้าไปอยู่ในความทรงจำของผู้บริโภคได้ ทั้งยังชวนให้หวนนึกถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ที่เคยมีร่วมกับแบรนด์อีกด้วย
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะสนใจทำ Music Marketing กันขึ้นมาบ้างแล้ว ถ้าอย่างนั้น มาดูกันว่าสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญก่อนเริ่มทำกลยุทธ์นี้มีอะไรบ้าง
รู้จักตัวตนของแบรนด์
ไม่ว่าจะเริ่มทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการรู้จักและทำความเข้าใจตัวตนให้ดี แน่นอนว่าการทำ Music Marketing ก็เช่นกัน เพราะการทำความรู้จักแก่นแท้ของตัวเอง จะทำให้เรารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำเพื่อใคร เพื่ออะไร และควรทำอะไรต่อ โดยอาจตั้งคำถามแล้วตอบเองก่อน เช่น จุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์เราคืออะไร แบรนด์มีเป้าหมายอย่างไร อยากให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ออกมาเป็นแบบไหน คู่แข่งในตลาดของเราคือใคร หรือแบรนด์เราเหมาะกับการเล่าเรื่องราวในรูปแบบใด เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เสียงเพลงออกมาได้เหมาะสมกับแบรนด์ และทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย
ทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตนเอง
หลังจากทำความเข้าใจตัวตนของแบรนด์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้คือการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการหาข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มคนเหล่านั้นว่ามีลักษณะและพฤติกรรมอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วนำมาวิเคราห์ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดว่าควรสื่อสารแบบไหนออกไปจึงจะเหมาะสม
กำหนด Mood&Tone ให้ชัดเจน
เมื่อรู้แล้วว่าตัวตนของแบรนด์คืออะไร และกลุ่มเป้าหมายคือใคร ลำดับถัดมาคือการสร้างสรรค์เสียงเพลงที่อยากจะสื่อสารออกไปถึงพวกเขาเหล่านั้น โดยควรพิจารณาว่าเราอยากมีภาพจำอย่างไร Mood&Tone แบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์และลูกค้า หรือสามารถนำ Emotional Marketing เข้ามาผสมผสานได้อย่างไร ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องถามตัวเองก่อนว่า เราอยากให้ลูกค้ามีความรู้สึกร่วมในเชิงไหน เช่น ร่าเริง ผ่อนคลาย หรือกระปรี้กระเปร่า
เลือกช่องทางให้ถูกต้องและเหมาะสม
ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีช่องทางรับสารที่หลากหลายมาก ส่งผลให้แต่ละธุรกิจก็มีตัวเลือกไว้เปรียบเทียบมากเช่นกัน บางคนถึงกับเลือกไม่ถูกเลยทีเดียวว่าจะโปรโมตแบรนด์ตัวเองบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนดี ดังนั้น เราควรพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลให้ดีเสียก่อน ทั้งจากฝั่งธุรกิจของตัวเอง ผู้บริโภค คู่แข่ง ตลาด และแพลตฟอร์มที่จะใช้โดยละเอียด เช่น กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ของเรานิยมใช้แพลตฟอร์มไหน คู่แข่งมีการทำการตลาดอย่างไร หรือแพลตฟอร์มไหนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่า เป็นต้น เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ออกแบบให้สั้น กระชับ แต่ชัดเจน
จากกรณีศึกษาที่ผ่านมา การทำ Music Marketing ที่ประสบความสำเร็จคือการใช้เสียงที่โดดเด่น แตกต่าง แต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญคือเนื้อหาต้องสั้น กระชับ และชัดเจน เช่น เพลงโฆษณาของแลคตาซอย
“แลคตาซอย 5 บาท 125 มิลลิลิตร ปริมาณคับกล่องเต็มที่ ดื่มได้ดื่มดี ดื่มแลคตาซอย ดื่มแลคตาซอย ดื่มแลคตาซอย 5 บาท!”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นท่อนที่อยู่ในใจคนไทยทุกคนมานานแสนนานเลยทีเดียว นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ยืนยันได้ว่า เสียงเพลงระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็สามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ ยิ่งสั้นและกระชับเท่าไรก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น แต่ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าเนื้อหาที่สื่อออกไปนั้นครบ ชัดเจน และตรงประเด็น
สรุป
เพราะเสียงดนตรีเปรียบเสมือนเครื่องมือวิเศษที่มีความสามารถในการขับกล่อมจิตใจมนุษย์ทุกเพศทุกวัย การทำ Music Marketing จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่มีนิสัยชอบฟังเพลงมากขึ้น เพราะหาฟังได้ง่าย เนื่องจากการกำเนิดขึ้นของแอปพลิเคชันฟังเพลงทั้งออนไลน์และออฟไลน์มากมาย เช่น YouTube, Spotify, JOOX, Apple Music เป็นต้น ดังนั้น การสร้างแบรนด์ด้วยเสียงเพลงจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นักการตลาดไม่ควรพลาด เพราะหากโชคดี เพลงที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาก็อาจติดหูผู้บริโภคไปอีกนาน เหมือนอย่างที่เราทุกคนไม่เคยลืมเพลง “แลคตาซอย 5 บาท” นั่นเอง
อยากได้คำปรึกษาและแนวทางการวางแผนทางการตลาด ติดต่อ Primal Digital Agency เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment