Micro Influencer คือใคร? แบรนด์ปังได้แบบไม่ต้องใช้เงินเยอะ
ในยุคที่โซเชียลมีเดีย (Social Media) กลายเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค การทำการตลาดด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง! เพราะนอกจากอินฟลูเอนเซอร์จะสามารถรีวิวสินค้า และช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงจูงใจลูกค้าได้ดีมากกว่าการที่แบรนด์ทำโฆษณาด้วยตนเองแล้ว หากใช้อินฟลูฯ ที่ผู้ติดตามมีคุณภาพมากพอ ยังจะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้ดีอีกด้วย ทำให้แบรนด์มีโอกาสสร้างยอดขายและเติบโตได้อีกวิธีหนึ่ง!
โดยอินฟลูเอนเซอร์ คือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้อื่น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามจำนวนผู้ติดตาม ดังนี้
- Nano Influencer มีผู้ติดตาม 5,000 – 10,000 คน
- Micro Influencer มีผู้ติดตาม 10,000 – 50,000 คน
- Mid-Tier Influencer มีผู้ติดตาม 50,000 – 100,000 คน
- Macro Influencer มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน
- Mega Influencer มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คน
ทั้งนี้ Micro Influencer เป็นอินฟลูเอนเซอร์อีกหนึ่งประเภทที่โดดเด่นและน่าสนใจ เนื่องจากแม้จะมีจำนวนผู้ติดตามไม่เยอะ แต่อินฟลูฯ ประเภทนี้กลับเรียกความสนใจจากผู้บริโภคและเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ได้อย่างคาดไม่ถึง!
Micro Influencer คืออะไร? แล้วนักการตลาดจะใช้อินฟลูฯ ประเภทนี้เพิ่มผลลัพธ์ทางการตลาดได้อย่างไรบ้าง เรารวบรวมทุกเรื่องควรรู้มาฝากกันในบทความนี้!
Table of Contents
ทำความรู้จัก Micro Influencer คือใคร?
ผลสำรวจจาก HubSpot ยืนยันว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials มักซื้อสินค้าตามรีวิวของอินฟลูเอนเซอร์ โดยเฉพาะ Micro-Influencer มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
Micro Influencer คือ ผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ระหว่าง 10,000 – 50,000 คน มักเป็นบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยว อาหาร สุขภาพ หรือความสวยความงาม มักจะทำคอนเทนต์ในหัวข้อที่ตนเองสนใจเป็นประจำ ทำให้ผู้ติดตามส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สนใจคอนเทนต์ประเภทเดียวกันโดยเฉพาะ
Micro Influencer ต่างจากประเภทอื่นอย่างไร?
การทำ Micro Influencer ต่างจากอินฟลูฯ ประเภทอื่นตรงที่มีจำนวนผู้ติดตามน้อยกว่า แต่กลับมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ติดตามมากกว่า เนื่องจากผู้ติดตามของ Micro Influencer มักเป็นผู้ที่สนใจในคอนเทนต์ที่อินฟลูฯ กลุ่มนี้นำเสนอ จึงมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ไว้วางใจมากกว่าอินฟลูฯ ประเภทอื่น
นอกจากนี้ ด้วยความที่ Micro Influencer มีผู้ติดตามจำนวนไม่เยอะ ทำให้ไม่มีตัวตนชัดเจนมากนัก จึงเข้ากับสินค้าและแบรนด์ได้ง่าย พร้อมกันนั้น ผู้ติดตามยังรู้สึกว่าอินฟลูฯ ประเภทนี้อยู่ในระดับเดียวกัน ทำให้รู้สึกเชื่อถือและไว้ใจ หากอินฟลูฯ คนนั้น ๆ มีการรีวิวสินค้าที่ตนเองกำลังสนใจอยู่
ทำไม Micro Influencer ถึงมาแรงมากกว่าประเภทอื่น?
การทำ Micro Influencer ได้รับความนิยมมากกว่าประเภทอื่น เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ
1. เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด
Micro Influencer มักเป็นกลุ่มอินฟลูฯ ที่แชร์คอนเทนต์ในเรื่องที่ตนเองมีความสนใจ จึงทำให้ผู้ติดตามมักจะเป็น Niche Market หรือกลุ่มตลาดที่มีความสนใจเรื่องนั้นโดยเฉพาะ ดังนั้น หากใช้ Micro Influencer ช่วยรีวิวสินค้าก็จะสามารถเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำกว่า และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในหัวข้อนั้นจริง ๆ ได้มากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น แบรนด์ก็ควรเลือก Micro Influencer ที่มีไลฟ์สไตล์เหมาะกับสินค้าของแบรนด์ด้วย ก็จะช่วยสร้างผลลัพธ์การตลาดให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. น่าเชื่อถือและจริงใจมากกว่าในมุมของผู้บริโภค
จากพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบัน ที่มักเลือกซื้อสินค้าจากรีวิวของผู้บริโภคด้วยกันเองหรือจากเหล่าอินฟลูฯ ที่พวกเขาติดตามอยู่ ทำให้การเลือกใช้ Micro Influencer ในการโปรโมตสินค้า สามารถช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความจริงใจในสายตาผู้บริโภคได้มากกว่า
นอกจากนี้ เหล่า Micro Influencer ยังไม่ใช่คนดังหรือเซเลป แต่คือคนจริง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ติดตาม ดังนั้น การรีวิวของอินฟลูฯ กลุ่มนี้ จึงช่วยเพิ่มน้ำหนักและการันตีคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ผู้บริโภควางใจได้มากกว่า Influencer ประเภทอื่น
3. งบประมาณจับต้องได้
โดยทั่วไป อินฟลูฯ จะได้ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม ดังนั้น Micro Influencer ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายในการจ้างงานน้อยกว่าอินฟลูฯ ประเภทอื่น ๆ
อีกทั้ง ค่าจ้างของ Micro Influencer ที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่แทนที่จะนำเงินไปจ้างเซเลปคนดัง (ที่อาจมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ พ่วงตามมา ตามข้อกำหนดส่วนตัว เช่น ค่าธรรมเนียมการรับรอง ค่าธรรมเนียมปรากฏตัว) แบรนด์อาจนำเงินจำนวนนี้ไปจ้าง Micro Influencer ได้หลายสิบคน ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้นในราคาที่เอื้อมถึง แถมยังทำให้งบประมาณไม่บานปลาย ทั้งยังมอบผลลัพธ์ทั้ง Brand Awareness หรือ Engagement ได้ตามที่แบรนด์ต้องการด้วย
4. Engagement ดีเมื่อเทียบกับอินฟลูฯ ประเภทอื่น
เนื่องจาก Micro Influencer มักใกล้ชิดกับผู้ติดตามและมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ผู้ติดตามส่วนใหญ่มักอยากมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์ของเหล่าอินฟลูฯ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การกดถูกใจ การแสดงความคิดเห็น การกดแชร์ ฯลฯ ดังนั้น การทำ Micro Influencer จึงเป็นการเพิ่มโอกาสของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะนำไปสู่การที่พวกเขาอยากจะเป็นลูกค้า จนทำให้เกิดยอดขายตามมาได้
เลือกใช้ Micro Influencer อย่างไรให้แคมเปญปัง?
แม้ Micro Influencer จะน่าสนใจ ทว่า อินฟลูฯ กลุ่มนี้ก็มีจำนวนมากมายจนเลือกแทบไม่ถูก แล้วนักการตลาดจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเลือกอินฟลูฯ แบบไหนถึงจะใช่ที่สุดสำหรับการทำแคมเปญของเรา?
เรามีเทคนิคเลือก Micro Influencer ที่ใช่มาฝาก ดังนี้!
1. เลือกอินฟลูฯ ที่ฐานผู้ติดตามตรงกับกลุ่มเป้าหมายแบรนด์
การเลือกใช้อินฟลูฯ ที่มีฐานผู้ติดตามตรงกับกลุ่มเป้าหมายแบรนด์ เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยให้ผลลัพธ์การตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของการที่แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการเพิ่มยอดขาย พร้อมกันนั้น คอนเทนต์ที่อินฟลูฯ รีวิวอาจไปกระตุ้นกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน เพิ่มโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์ได้อีกทางหนึ่ง เพราะหากผู้ติดตามไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ต่อให้โปรโมตดีแค่ไหน ก็มีโอกาสน้อยที่จะได้ลูกค้ากลับมาจากการทำโปรโมตนั้น ๆ
ทั้งนี้ แบรนด์อาจเริ่มจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองได้ตั้งเอาไว้เสียก่อน ทั้งข้อมูลประชากรศาสตร์ พฤติกรรม และความสนใจ จากนั้น คัดเลือกอินฟลูฯ ที่ผู้ติดตามมีข้อมูลหรือความสนใจร่วมกัน เพียงเท่านี้ก็นับว่าเป็นอินฟลูฯ ที่มีศักยภาพในการโปรโมตแล้ว
2. เลือกอินฟลูฯ ที่มีคาแรกเตอร์เหมาะสมกับแบรนด์
คาแรกเตอร์ของอินฟลูเอนเซอร์ ถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ สำหรับกลยุทธ์ Influencer Marketing เลยก็ว่าได้ โดยควรเลือกอินฟลูฯ ที่มีคาแรกเตอร์เข้ากับสินค้าหรือบริการ รวมถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งในแง่ของการทำคอนเทนต์ ภาษา และวิธีการสื่อสาร ยิ่งหากเลือกคาแรกเตอร์ได้อย่างเหมาะสม ก็จะยิ่งส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกของแบรนด์และสินค้าได้ดีขึ้น
3. เลือกรูปแบบคอนเทนต์ที่เรียก Engagement ได้มากที่สุด
การทำแคมเปญอินฟลูฯ ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่เลือกอินฟลูฯ แล้วก็จบ แต่รูปแบบคอนเทนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยแบรนด์ควรศึกษาข้อมูลดูก่อนว่า คอนเทนต์รูปแบบใดที่จะได้ Engagement มากกว่าประเภทอื่น ๆ เช่น การทำวิดีโอ Reels ใน Instagram อาจได้ผลลัพธ์มากกว่าคอนเทนต์รูปภาพธรรมดา หรือคอนเทนต์ที่เล่นกับกระแสไวรัลมักมีผู้ติดตามเข้ามามีส่วนร่วมเยอะ เป็นต้น จากนั้นก็มอบหมายให้อินฟลูฯ ทำคอนเทนต์รูปแบบดังกล่าว ก็จะช่วยให้แคมเปญประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
4. เลือกอินฟลูฯ ให้อยู่ในงบประมาณ
แบรนด์ควรเลือก Micro Influencer โดยพิจารณาจากปัจจัยเรื่องงบประมาณด้วย! โดยก่อนการจ้างงาน แบรนด์ควรขอเรตราคาการทำแคมเปญของอินฟลูฯ ที่สนใจ เพื่อพิจารณาดูว่าเรตราคาค่าจ้างอยู่ในงบประมาณที่วางไว้หรือไม่ หรือมีค่าใช้จ่ายแฝงใด ๆ เพิ่มเติมที่แบรนด์จำเป็นต้องจ่ายอีก พร้อมกันนั้น ยังควรเปรียบเทียบราคาจากหลาย ๆ คน จะได้เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างตอบโจทย์และคุ้มค่ากับงบประมาณได้มากที่สุด
5. เลือกแพลตฟอร์มการโปรโมตที่มีผู้ติดตามเยอะที่สุด
โดยทั่วไป Micro Influencer มักมีโซเชียลมีเดียของตัวเองแทบทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็อาจมีจำนวนผู้ติดตามมากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้น แบรนด์จึงควรศึกษาว่าอินฟลูฯ ที่สนใจมีผู้ติดตามเยอะในแพลตฟอร์มไหน จากนั้นมอบหมายให้ทำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก็จะช่วยให้คอนเทนต์โปรโมตเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในจำนวนที่มากขึ้นได้
6. เลือกอินฟลูฯ ภาพลักษณ์ดี ไม่มีข่าวเสียหาย
นอกจากปัจจัยข้างต้น การตรวจสอบประวัติและชื่อเสียงอินฟลูฯ ก็สำคัญไม่แพ้กันด้วย! เนื่องจากตอนนี้ ผู้บริโภคไม่ได้ดูแค่คอนเทนต์อย่างเดียวแล้ว แต่ยังมีแนวโน้มว่าจะไม่ให้ความสนใจกับอินฟลูฯ ที่มีข่าวเสียหายหรือแนวคิดไม่ตรงกัน ดังนั้น แบรนด์จึงควรเลือกเฉพาะบุคคลที่ภาพลักษณ์ดีและส่งเสริมแบรนด์ ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในมุมของผู้บริโภคได้มากขึ้น
อยากทำ Micro Influencer ต้องเริ่มอย่างไร?
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ก่อนการทำ Micro Influencer แบรนด์ต้องตั้งวัตถุประสงค์ทางการตลาดให้ชัดเจนก่อน เช่น ต้องการเพิ่มการรับรู้ (Brand Awareness) เพิ่มยอดขาย ต้องการยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) ฯลฯ เพราะเมื่อวัตถุประสงค์แน่ชัด แบรนด์ก็จะตัดสินใจได้ถูกว่าจะเลือกทำคอนเทนต์แบบไหน หรือเลือกอินฟลูฯ คนใด เพื่อให้แคมเปญประสบความสำเร็จสูงสุด
2. เจาะจง KPI ที่ต้องการ
การทำ Micro Influencer ให้สำเร็จ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการวัดผลลัพธ์ด้วยตัวชี้วัดหรือ KPI โดยแบรนด์ควรกำหนดควบคู่ไปกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การตลาดในข้อแรก ก็จะช่วยให้เห็นภาพความสำเร็จของแคมเปญได้ดีขึ้น
3. กำหนดข้อแลกเปลี่ยนกับ Micro-Influencer ให้ชัดเจน
เมื่อตั้งเป้าหมายและกำหนด KPI เรียบร้อย แบรนด์ควรตกลงค่าจ้างและเงื่อนไขการลงงานต่าง ๆ กับอินฟลูฯ ให้ชัดเจน โดยค่าจ้างในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทางแบรนด์อาจมอบสิ่งของเป็นการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็น มอบผลิตภัณฑ์ให้ใช้ฟรี ค่าคอมมิชชัน คำเชิญเข้ากิจกรรมพิเศษก่อนใคร ฯลฯ หรือตามแต่การตกลงที่คุ้มค่าจากทั้งสองฝ่าย
4. เลือกอินฟลูฯ และบรีฟงาน
เมื่อคัดเลือกอินฟลูฯ ตามเงื่อนไขที่ต้องการ สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการบรีฟงานให้ละเอียดและชัดเจนที่สุด แนะนำให้แบรนด์บรีฟทั้งไอเดีย วันส่งงาน วันเผยแพร่ผลงาน วัตถุประสงค์การทำงาน ช่องทางที่เผยแพร่งาน แคปชัน ฯลฯ โดยแนะนำให้ทำเป็นเอกสาร หรือมีหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการตกหล่น
5. วัดผลลัพธ์
สุดท้าย ต้องไม่ลืมวัดผลลัพธ์ตาม KPI ที่ตั้งไว้ โดยอาจให้อินฟลูฯ เป็นผู้ส่งข้อมูลการมีส่วนร่วมของคอนเทนต์ในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 7 วัน, 15 วัน, 30 วัน เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาและต่อยอดในแคมเปญต่อไป
สรุป
Micro Influencer คือวิธีสื่อสารไปยังผู้บริโภคที่มีพลังอย่างมากในยุคนี้ อย่างไรก็ดี หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้อินฟลูฯ เหล่านี้โปรโมตสินค้าและแบรนด์อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด Primal Digital Agency ของเรายินดีช่วยเหลือ เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียที่พร้อมเลือกอินฟลูฯ และหา KOLS ที่ใช่ เพื่อให้เหมาะสมกับแคมเปญการตลาดของคุณ ถ้าสนใจก็กรอกรายละเอียดเพื่อปรึกษาเราตอนนี้เลย!
Join the discussion - 0 Comment