วิธีสร้างธุรกิจให้ปังด้วยกลยุทธ์การตลาด 4P (Marketing Mix)
ในการขายของออนไลน์ให้ได้กำไรหรือมีลูกค้าเยอะ ๆ นั้น จำเป็นต้องมีสินค้าและบริการที่ดี เพราะจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจต่อแบรนด์และรู้สึกอยากกลับมาซื้ออีกครั้ง หรือแม้แต่ทำให้เกิดการบอกปากต่อปากซึ่งจะทำให้เรามีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องมีกลยุทธ์ที่ดีในการวิเคราะห์ตลาดเป็นอันดับแรก เพื่อให้ธุรกิจของเราสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หากใครที่เป็นนักการตลาดที่ผ่านการวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้กับแบรนด์มาอย่างชำนาญ คงจะเคยได้ยินเรื่องของ “กลยุทธ์การตลาด 4P” หรือ 4P Marketing Mix อันเป็นปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์สินค้าและบริการในตลาดกันมาบ้างแล้ว วันนี้ เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับกลยุทธ์ดังกล่าวให้มากขึ้นอีกครั้ง!
Table of Contents
กลยุทธ์การตลาด 4P คืออะไร?
ทำธุรกิจมานานแล้วแต่ทำไมแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง? จะทำอย่างไรยอดขายก็ยังไม่ปังเสียที ผู้ประกอบการหลายคนอาจเคยเจอหรือกำลังเจอกับปัญหาเหล่านี้อยู่ เราจึงอยากแนะนำให้ลองคิดทบทวนไปพร้อม ๆ กันกับการอ่านบทความนี้ ว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นมีกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ หากยังไม่มั่นใจ กลยุทธ์การตลาด 4P ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้!
กลยุทธ์การตลาด 4P คือ ส่วนผสมทางการตลาดอันประกอบไปด้วยปัจจัย 4 อย่างที่ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์เพื่อวางแผนการทำธุรกิจของตนเองให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ Product (ผลิตภัณฑ์) Price (ราคา) Place (สถานที่หรือช่องทางการจัดจำหน่าย) และ Promotion (การส่งเสริมการขาย) โดยปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้นักการตลาดสามารถผลักดันสินค้าและบริการของตนเองให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงมีความโดดเด่นเหนือแบรนด์อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย
กลยุทธ์การตลาด 4P มีอะไรบ้าง?
ดังชื่อที่บอกไว้ว่าเป็น “4P” ได้แก่ Product, Price, Place และ Promotion ซึ่งปัจจัยแต่ละอย่างยังมีความหมายและความสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่จะทำงานควบคู่ไปด้วยกันเสมอ ดังนี้
Product
ปัจจัยแรกคือ Product หรือผลิตภัณฑ์อันเปรียบเสมือนหัวใจหลักของธุรกิจ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสินค้าที่จะส่งออกสู่ตลาดเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงสินค้าหรือบริการของธุรกิจทั้งแบบที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น แอปพลิเคชัน เป็นต้น กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ธุรกิจผลิตออกมาเพื่อขายให้ลูกค้านั่นเอง
ปัจจัยที่ควรใช้ในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์
- การตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค (Satisfying needs)
- จุดขายที่โดดเด่น (Unique Selling Point)
- ฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ (Feature)
- คุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Quality)
- กลิ่นอายความเป็นแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ (Branding)
- บรรจุภัณฑ์ (Packaging)
- การรับประกัน (Warranties)
- บริการหลังการขาย (Services)
Price
ปัจจัยที่สองคือ กลยุทธ์ในการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่จะสร้างกำไรให้กับแบรนด์ และเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคมักใช้พิจารณาในการตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ดีหรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้าแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมการซื้อและกำลังซื้อที่แตกต่างกัน เราจึงควรศึกษากลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ดีว่าควรกำหนดราคาอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มยอดขายและกำไรให้กับธุรกิจได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง การตั้งราคาถูกกว่าคู่แข่งในตลาดมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี เพราะอาจทำให้ลูกค้าไม่เชื่อในคุณภาพของสินค้าและเทใจไปซื้อแบรนด์คู่แข่งของเราได้
ปัจจัยที่ควรใช้ในการวิเคราะห์ราคา
- จุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning)
- กลยุทธ์การตั้งราคา (Pricing Strategy)
- รูปแบบการจ่ายเงิน (Payment Form)
- ส่วนลด (Discount)
Place
ถัดมาคือ Place หรือสถานที่และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ธุรกิจสามารถจัดแสดงหรือส่งออกสินค้าและบริการออกไปให้ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด โดยอาจต้องมีการเลือกสรรทำเลที่เหมาะสมด้วย เช่น บริเวณไหนที่มีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ โดยสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงอาจเป็นห้างสรรพสินค้าหรือตลาดที่มีผู้คนเดินจับจ่ายใช้สอยกัน แต่หากเป็นร้านค้าออนไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่ายก็คือเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้เราสามารถขายสินค้าในราคาถูกลงได้ เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่หน้าร้าน ทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงร้านค้าได้อย่างง่ายดาย
ปัจจัยที่ควรใช้ในการวิเคราะห์สถานที่
- ช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Channels)
- ช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ (Audience)
- ช่องทางที่สามารถสนับสนุนลูกค้าได้ (Support)
- ช่องทางที่เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ (Business Size)
Promotion
ปัจจัยสุดท้ายคือ Promotion หรือการส่งเสริมการขายที่จะช่วยสื่อสารและกระจายเสียงของแบรนด์ออกไปให้ถึงใจลูกค้า บางครั้งถูกเรียกว่าการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักธุรกิจมองข้ามไม่ได้ เพราะการที่แบรนด์รู้ว่าควรสื่อสารอย่างไรกับลูกค้ากลุ่มไหน และควรใช้เครื่องมือการสื่อสารแบบใด เช่น ใช้กลยุทธ์ด้านการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) หรือการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น ตลอดจนการทำโฆษณา การประชาสัมพันธ์ลูกค้า คิดค้นโปรโมชันต่าง ๆ ที่น่าสนใจ การบริการก่อนและหลังการขาย ล้วนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การสื่อสารของแบรนด์มีประสิทธิภาพและสามารถส่งเสริมการขายได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจัยที่ควรใช้ในการวิเคราะห์การสื่อสาร
- การเลือกใช้โฆษณาให้เหมาะสมกับแบรนด์
- การโปรโมตผ่าน Affiliate Marketing หรือ Influencer Marketing
- การทำ PR และสร้างแคมเปญทางการตลาด เช่น Offline Event เป็นต้น
- การทำ Peer-to-Peer Review หรือการพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย
- การขายและโปรโมตผ่านเว็บไซต์หรือช่องทางของตนเอง
- การสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ SEO
- การทำ Email Marketing
- การทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การลดราคา ซื้อ 1 แถม 1 เป็นต้น
ความสำคัญของกลยุทธ์การตลาด 4P คืออะไร?
หากถามว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องนำกลยุทธ์การตลาด 4P มาปรับใช้ในการวางแผนและวิเคราะห์ธุรกิจของตนเอง ก็อาจตอบได้ว่าเป็นเรื่องของแนวทางที่ผู้ประกอบการแต่ละคนถนัด แต่ส่วนผสมทางการตลาด 4P นี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเติบโตไปได้อย่างมีแบบแผนและเจาะลึกเข้าไปในใจของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลายมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว กลยุทธ์การตลาด 4P มีความสำคัญต่อการสร้างแผนการตลาด ดังนี้
ช่วยให้รู้จักและเข้าใจสินค้าและบริการของตนเอง
กลยุทธ์การตลาด 4P ไม่ได้เหมาะกับแค่เฉพาะผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับผู้ที่สนใจอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะผลิตสินค้าหรือบริการรูปแบบไหนออกมาสู่ตลาดดี เพราะหากเราอยู่ในช่วงกำลังเริ่มต้น เราจะเห็นว่าในอุตสาหกรรมการตลาดล้วนมีสินค้าและบริการหลากหลายจนผู้บริโภคเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว
ดังนั้น 4P Marketing Mix คือตัวช่วยที่ทำให้เรารู้จักกับสิ่งที่เรากำลังจะผลิตออกมามากขึ้น กล่าวคือ ทำให้รู้และเข้าใจถึงที่มาที่ไปของสินค้าหรือบริการ เพื่อที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ตลอดจนช่วยวิเคราะห์ได้ว่าเราควรผลิตสินค้าหรือบริการแบบใดให้ออกมาแตกต่างและโดดเด่นจากแบรนด์คู่แข่งอื่น ๆ
ช่วยให้รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเองมากขึ้น
นอกจากจะช่วยให้รู้จักตนเองแล้ว กลยุทธ์การตลาด 4P ยังช่วยให้เรารู้จักกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองมากขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น Product, Price, Place หรือ Promotion เมื่อเข้าใจแล้ว เราก็จะรู้ว่าควรผลิตสินค้าออกมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มใด ควรเลือกช่องทางไหนในการจัดจำหน่าย ควรกำหนดระดับราคาให้อยู่สูงหรือต่ำ รวมถึงควรใช้รูปแบบการสื่อสารแบบใดจึงจะเหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านั้นมากที่สุด อาจกล่าวได้สั้น ๆ ว่า 4P Marketing Mix คือหลักที่จะช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเอง ว่าใครกันแน่คือคนที่เราอยากเข้าไปช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ เราจะเข้าหาพวกเขาได้จากที่ไหน และจะสามารถดึงดูดพวกเขาให้มาเป็นลูกค้าของเราได้อย่างไร
ช่วยให้วางแผนกลยุทธ์ได้อย่างรอบคอบ
ที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนผสมทางการตลาด 4P จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างละเอียดและรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพราะในการเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีต้นทุนที่ต้องรับผิดชอบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงิน แรงงาน หรือเวลา ซึ่งยิ่งเรามีกลยุทธ์และการวางแผนที่ดีและรัดกุมมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยให้เราเห็นภาพธุรกิจของตนเองได้ชัดเจนขึ้น ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มทำ 4P Marketing Mix ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมข้อมูลต่าง ๆ มาให้ดีก่อน เช่น ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุ ความชอบส่วนตัว อาชีพ พื้นที่ที่อยู่ เป็นต้น เพราะถ้าหากเราไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เราก็จะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าผู้บริโภคจะมีปฏิกิริยาต่อกลยุทธ์การตลาดแต่ละขั้นตอนอย่างไร
ดังนั้น กลยุทธ์การตลาด 4P คือหลักการที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้ไม่ยาก เพราะปัจจัยหลักทั้ง 4 ส่วนที่ได้กล่าวไปนั้นคือสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นวิเคราะห์เองได้เลยทันที เพื่อส่งเสริมการขายและทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีแบบแผนและชาญฉลาด
Join the discussion - 0 Comment