รู้จัก Infographic คืออะไร มีกี่รูปแบบ พร้อมเทคนิคดึงความสนใจลูกค้า
ในโลกที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ทำให้การทำคอนเทนต์รูปแบบตัวหนังสือที่ต้องใช้เวลาและสมาธิในการอ่าน ไม่สามารถดึงดูดให้ลูกค้าสนใจเนื้อหาได้ทันที สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับการทำธุรกิจออนไลน์อย่างมาก เพราะนอกจากลูกค้าจะไม่อยากมีส่วนร่วมในคอนเทนต์นั้น ๆ แล้ว พวกเขาอาจหันไปหาคู่แข่งที่นำเสนอคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายและตรงไปตรงมามากกว่าด้วย
ด้วยเหตุนี้การทำคอนเทนต์ “อินโฟกราฟิก (Infographic)” ที่นำเสนอด้วยรูปภาพหรือแผนภูมิ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหล่านักการตลาดออนไลน์เลือกใช้ เพราะสามารถช่วยดึงดูดสายตาผู้ที่เห็นคอนเทนต์ได้มากกว่า โดยมีผลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า มนุษย์สามารถจดจำรูปภาพที่เห็นครั้งแรกได้ถึง 80% ทำให้อินโฟกราฟิกเพิ่มโอกาสในการดึงดูดผู้บริโภคได้มากกว่าคอนเทนต์รูปแบบอื่น ๆ
วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนไปรู้จักว่าอินโฟกราฟิก (Infographic) ว่าคืออะไรและมีกี่รูปแบบ เผื่อนักการตลาดท่านใดอ่านแล้วจะได้ไอเดียนำไปปรับใช้ กับการทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ปังได้มากกว่าเดิม!
Table of Contents
ทำความรู้จักอินโฟกราฟฟิก (Infographic)
อินโฟกราฟิก (Infographic) คือการนำคำว่า “Information” ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว กับคำว่า “Graphic” ที่หมายถึงการแสดงผลในรูปแบบภาพ มารวมกัน
หากจะให้คำนิยามสั้น ๆ อินโฟกราฟิกก็จะหมายถึง การนำข้อมูลเข้าใจยากมาย่อยให้กระชับและเข้าใจง่ายในรูปแบบของภาพ เพื่อให้ภาพเป็นตัวกลางสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย การนำอินโฟกราฟิกมาใช้จะช่วยดึงกลุ่มเป้าหมายให้มีส่วนร่วมหรือสนใจในธุรกิจออนไลน์ของเราได้มากขึ้น โดยการสร้างอินโฟกราฟิกออกมาสักชิ้นจะเป็นการนำเสนอในรูปแบบภาพ แผนภูมิ กราฟ หรือแม้แต่ภาพเคลื่อนไหวก็ได้ ตามความเหมาะสม เพียงแค่คำนึงถึงความน่าสนใจและเอื้อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจคอนเทนต์ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพียงเท่านี้ก็นับเป็นการออกแบบอินโฟกราฟิกที่ดีแล้ว
ประเภทของ Infographic ที่นักการตลาดต้องรู้!
นอกจากดีไซน์ การเลือกประเภทของ Infographic ให้เหมาะสมกับคอนเทนต์ก็จะสามารถช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจและอยากมีส่วมร่วมได้ไม่แพ้กัน วันนี้เราเลยขอรวบรวม 7 ประเภทของอินโฟกราฟิกมาฝากนักการตลาด ดังนี้!
1. รูปแบบทามไลน์ (Timeline Infographics)
อินโฟกราฟิกรูปแบบทามไลน์จะเน้นการนำเสนอข้อมูลตามลำดับเวลา เหมาะสำหรับแสดงขั้นตอนต่าง ๆ หรือเล่าประวัติความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยอาจสร้างโครงเรื่องด้วยหัวข้อต่าง ๆ และใช้เส้นแทนระยะเวลาร่วมด้วย โดยอินโฟกราฟิกประเภทนี้อาจมีข้อมูลที่ต้องนำเสนอเยอะ ดังนั้นถ้าต้องการนำมาทำคอนเทนต์ทางการตลาด ก็ควรเลือกใช้ฟอนต์ขนาดต่างกันเพื่อแยกข้อมูลให้ชัดเจน รวมถึงใช้คู่สีเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
2. รูปแบบเนื้อหาข้อมูล (Informational Infographics)
อินโฟกราฟิกรูปแบบนี้สามารถนำเสนอเนื้อหาประเภทใดก็ได้ แต่โดยส่วนมากมักสื่อสารเป็นภาพรวม หรือสรุปเรื่องไว้ในภาพเดียว โดยเน้นที่ความกระชับของข้อมูล การจัดวางรูปภาพและตัวหนังสือให้น่าดึงดูด โดยแบรนด์มักใช้อินโฟกราฟิกประเภทนี้นำเสนอสินค้า เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดเยอะ เพียงแค่ดึงดูดผู้คนให้อ่านได้ก็เพียงพอแล้ว
3. รูปแบบเปรียบเทียบข้อมูล (Comparison Infographics)
อินโฟกราฟิกรูปแบบนี้คือการนำชุดข้อมูลสองอันมาเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อดี ข้อเสีย หรือคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยนักการตลาดสามารถใช้อินโฟกราฟิกในรูปแบบนี้ในการทำคอนเทนต์สำหรับเปรียบเทียบสินค้าหรือบริการ หรือเทียบให้เห็นว่าสินค้าของแบรนด์มีประสิทธิภาพดีกว่าอย่างไร ก็จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
4. รูปแบบลิสต์รายการ (List Infographics)
การนำเสนอข้อมูลเป็นลิสต์รายการก็เป็นอินโฟกราฟิกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ โดยทางแบรนด์อาจนำเสนอคุณสมบัติของสินค้าหรือนำเสนอสินค้าทั้งหมดที่แบรนด์มี ซึ่งในแต่ละลิสต์ไม่ควรมีตัวหนังสือยาวมากนัก พร้อมกันนั้นควรวิเคราะห์ด้วยว่าลิสต์รายการไหนที่สามารถรวมเป็นประเด็นเดียวกันได้ ก็จะช่วยลดความซับซ้อนของข้อมูลให้กับผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
5. รูปแบบแผนที่ (Map Infographics)
อินโฟกราฟิกรูปแบบแผนที่ เหมาะกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง โดยแบรนด์สามารถสร้างคอนเทนต์เพื่อแจ้งข้อมูลให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้ามีจำหน่ายที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายใดบ้าง หรือร้านค้านั้น ๆ อยู่ในพื้นที่ใด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่าควรไปซื้อได้ที่ไหน ถึงจะใกล้และสะดวกมากที่สุด ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
6. รูปแบบที่ผู้อ่านสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ (Interactive Infographics)
หากต้องการให้ลูกค้าใช้เวลากับคอนเทนต์ของแบรนด์มากขึ้น รูปแบบที่ผู้อ่านสามารถปฏิสัมพันธ์ได้ (Interactive Infographics) ก็ตอบโจทย์วัตถุประสงค์เช่นกัน โดยแบรนด์สามารถนำเสนอในรูปแบบที่ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งการนำเสนอข้อมูลได้ด้วยตนเอง เช่น กดปรับจำนวนและขนาดของกราฟเพื่อดูผลลัพธ์ข้อมูล กดอินโฟกราฟิกเพื่อดูคุณสมบัติเพิ่มเติมของสินค้า กดเพื่อดูยอดขาย เป็นต้น
7. รูปแบบข้อมูลเชิงสถิติ (Statistical Infographics)
การนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติเป็นหนึ่งในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่ได้รับความนิยมใช้งานมากที่สุดประเภทหนึ่ง โดยเน้นการนำข้อมูลต่าง ๆ มาออกแบบเป็นภาพนิ่งที่สวยงามเข้าใจง่าย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเห็นตัวเลขยุบยับแล้วต้องเบือนหน้าหนี
สำหรับการทำการตลาดออนไลน์ อินโฟกราฟิกรูปแบบนี้ยังมีประโยชน์ต่อการทำคอนเทนต์ที่ต้องการแสดงข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น แสดงสถิติการเติบโตของสินค้า ก็จะสามารถแสดงความน่าเชื่อของแบรนด์ได้อีกทางหนึ่ง
สร้าง Infographic อย่างไร ให้ดึงดูดใจลูกค้าตั้งแต่แวบแรก!
เพื่อเป็นไกด์ไลน์สำหรับนักการตลาดที่อยากใช้อินโฟกราฟิกทำคอนเทนต์ นอกจาก ประเภทของ Infographic แล้ว วันนี้เรายังได้รวบรวมหลักการทำอินโฟกราฟิกง่าย ๆ ที่การันตี Engagement จากผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้จริง มาฝากกันด้วย!
กำหนดภาพรวมให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
การกำหนดภาพรวม (Theme) ถือเป็นหลักสำคัญของการออกแบบอินโฟกราฟิกที่ดีทางหนึ่ง โดยแบรนด์ควรวางแผนก่อนว่าต้องการนำเสนอภาพรวมอย่างไร จากนั้นจึงค่อยมากำหนดองค์ประกอบย่อยอื่น ๆ เช่น ธีมสี ลักษณะไอคอน การเลือกรูปภาพ หรือแม้แต่ระดับของภาษา เพราะเมื่อภาพรวมสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมดแล้ว ก็จะทำให้อินโฟกราฟิกมีเอกภาพ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แบรนด์ได้ด้วย
ข้อมูลสั้น กระชับ เข้าใจง่าย
ทำอินโฟกราฟิกย่อยข้อมูลทั้งที ถ้าจะทำให้ดีก็ควรทำให้สั้น กระชับ และเข้าใจง่ายมากที่สุด โดยแบรนด์อาจวางแผนก่อนว่าจะนำข้อมูลส่วนไหนมาใช้บ้าง จากนั้นจึงวิเคราะห์และกลั่นกรองเฉพาะเนื้อหาสำคัญ และเมื่อได้เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารแล้ว ก็แปลข้อมูลเหล่านั้นเป็นไอคอนหรือรูปภาพ เพื่อให้สามารถ่ายทอดได้อย่างกระชับและมีประสิทธิภาพสูงสุด
เลือกฟอนต์ให้เหมาะสม
ฟอนต์เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของอินโฟกราฟิก เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจหัวข้อและประเด็นต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้นแล้ว รูปแบบฟอนต์ที่เหมาะสมยังช่วยดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายได้ไม่แพ้กัน โดยแบรนด์ควรเลือกฟอนต์ที่มีรูปแบบและขนาดเหมาะสม เลือกสีตาม CI ของแบรนด์ นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงเรื่องการวางตำแหน่ง โดยควรวางฟอนต์ให้อยู่ในตำแหน่งที่อ่านง่ายและสะดุดตา ไล่เรียงลงมาตามความเหมาะสม
คำโฆษณาพาดหัวดึงดูดสายตาผู้อ่าน
สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในอินโฟกราฟิกก็คือ ‘คำโฆษณาพาดหัว’ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งแรก ๆ ที่กลุ่มลูกค้าจะตัดสินใจหยุดดูอินโฟกราฟิกของแบรนด์หรือไม่ โดยแนะนำว่าหากต้องการให้น่าสนใจ ก็ควรทำให้คำโฆษณาสอดคล้องไปกับภาพหรือไอคอน อาจใช้คำที่กำลังเป็นเทรนด์หรือไวรัลอยู่ในขณะนั้นเพื่อให้เข้าถึงผู้อ่าน หรือแม้แต่ทำให้คล้องจอง มีลูกเล่น ก็จะช่วยให้ผู้อ่านสะดุดตาจนอยากใช้เวลากับคอนเทนต์อินโฟกราฟิกของแบรนด์มากขึ้นได้
รูปสวย ไอคอนสื่อสาร
อย่างที่กล่าวไปว่ามนุษย์มีแนวโน้มจดจำข้อมูลจากภาพได้มากกว่าตัวอักษร ดังนั้นการจะทำอินโฟกราฟิกให้ดี การใช้รูปสวย ๆ หรือไอคอนที่สื่อสารเข้าใจง่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยแบรนด์สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมว่าจะใช้ภาพอย่างไร เพียงจัดวางให้เหมาะสมและสอดคล้องไปกับองค์ประกอบอื่น ๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้อินโฟกราฟิกของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้นแล้ว
สรุป
ตอนนี้หลาย ๆ แบรนด์ก็เริ่มนำอินโฟกราฟิกมาใช้ทำคอนเทนต์การตลาดกันมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่ารูปภาพสื่อสารและช่วยให้ผลลัพธ์การตลาดดีขึ้นได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การตลาดทางโซเชียลมีเดียไม่ได้มีเพียงอินโฟกราฟิกเท่านั้น ถ้าผู้ประกอบการท่านใดสนใจกลยุทธ์อื่น ๆ เพิ่มเติมก็สามารถติดต่อ Primal Digital Agency เรายินดีวางแผนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ พร้อมแล้วก็ปรึกษาเราได้เลยวันนี้!
Join the discussion - 0 Comment