Google Tag Manager หรือ GTM เครื่องมือ ฟรี! ที่นักการตลาดออนไลน์ยุคนี้ต้องใช้

ทุกวันนี้ หากคุณทำการตลาดดิจิทัลโดยไม่มีการติดตาม วัดผลใดๆ ก็คงไม่ต่างกับสุภาษิตที่ว่า “ตำน้ำพริก ละลายแม่น้ำ” เพราะที่ทำไปทั้งหมดมันแทบจะสูญเปล่า คุณจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกหรือผิด บทความนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเครื่องมือที่นักการตลาดดิจิทัลต่างใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ Google Tag Manager ซึ่งต้องบอกเลยว่าหากคุณมีเว็บไซต์ เครื่องมือนี้คุณต้องไม่มองข้าม ที่สำคัญคือใช้งานได้ ฟรี!

Google Tag Manager หรือ GTM คืออะไร

ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อนหากเราจะทำการติดตั้งโค้ด ในการติดตามข้อมูลต่างๆ แน่นอนว่าคนเดียวที่ทำได้ก็ต้องเป็น Web Developer เท่านั้น ซึ่งมันค่อนข้างมีความวุ่นวายและซับซ้อน เพราะโดยส่วนใหญ่ธุรกิจต่างๆ ที่มีเว็บไซต์ก็มักจะจ้างให้คนมาทำเว็บไซต์ พอทำเสร็จก็แยกย้ายไม่ได้คุยงานอะไรกันต่อ ทีนี้พอจะใส่โค้ด ต่างๆ ก็ต้องตามหาตัวกันให้ควั่ก แต่สำหรับ Google Tag Manager หรือ GTM คือเครื่องมือที่จะมาเปลี่ยนวิถีแบบเดิมๆ

ให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาดูแลจัดการเรื่องการใส่ โค้ด Tag ต่างๆ สำหรับติดตามข้อมูลด้วยตัวเองได้ โดยคนที่ทำสามารถนำโค้ดไม่ว่าจะเป็นจาก Google Analytics, Google AdWords, Facebook Pixel ฯลฯเข้ามาติดตั้งผ่านตัว GTM ได้ เรียกว่าเป็นเครื่องมือตัวกลางในการติดตั้งโค้ด ต่างๆ นั่นเอง

เครื่องมือ Google Tag Manager

โดย Google Tag Manager ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่คุณควรรู้

  1. Tags = โค้ดที่เราได้มาจากระบบต่างๆ อย่างเช่น Facebook โดยมีจุดประสงค์ในการเก็บข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์สำหรับการนำไปกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการทำโฆษณาต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือเป็นเหมือนรหัสในการบอกระบบว่า ถ้ามีคนเข้ามาในเว็บไซต์เธอต้องส่งข้อมูลให้ฉันนะ ฉันจะเก็บเอาไว้ในเซิร์ฟเวอร์พอวันที่จะเอามาใช้งานก็ค่อยกำหนดกลุ่มเป้าหมายในตอนทำโฆษณาว่า ให้ยิงโฆษณานั้นไปหากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการติด Tag บนเว็บไซต์นะ นั่นจึงส่งผลให้โฆษณามีความแม่นยำมากขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่จะเข้าไปที่เว็บไซต์จะต้องมีความสนใจในสินค้าและบริการนั้นจริงๆ และมีโอกาสจะได้มาเป็นลูกค้าอีกด้วย
  1. Trigger = ตัวกำหนดลักษณะการทำงานของ Tag ต่างๆ ว่าจะให้ทำงานในหน้าไหน เมื่อไหร่ ตอนไหน อย่างไรบ้างบนเว็บไซต์ เช่นคุณกำหนด Trigger ไว้เป็น All Pages ความหมายก็คือ Tag ที่คุณติดไว้ก็จะเก็บข้อมูลในทุกๆ หน้าเว็บไซต์เวลามีคนเข้าชม แต่ถ้าหากคุณกำหนด Trigger แยกเป็นหน้าๆ เช่น Page url = “/service” Tag ที่คุณติดตั้งไว้ก็จะทำการเก็บเฉพาะข้อมูลของคนที่เข้ามาบนหน้า Service เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้คุณสามารถกำหนดเองได้ตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการใช้ข้อมูลของคุณในอนาคตได้เลย โดย Trigger ใน GTM จะมีด้วยกัน 3 อย่างได้แก่

Click = ไว้สำหรับติดตามว่าคนที่เข้ามาบนเว็บไซต์ได้มีการคลิกที่ปุ่มไหน เพื่อไปยังหน้าไหนบ้าง

PageViews = ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์แต่ละหน้า

Form Submission = เก็บข้อมูลของคนที่มีการกรอกในแบบฟอร์มที่คุณทำเอาไว้บนหน้าเว็บไซต์

โดยถ้าหากคุณต้องการได้ข้อมูลที่เป็นจริงและละเอียดที่สุด อาจจะต้องทำการกำหนด Trigger ให้ตรงตามหน้าที่ต้องการทราบข้อมูลจริงๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดเนื่องจากหากคุณกำหนดแบบกว้างๆ เช่นแค่ All Pages อย่างเดียว คุณก็จะเป็นเหมือนกำลังหลอกตัวเองว่า มีคนเข้ามาดูเว็บไซต์เยอะ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเค้าเข้ามาแล้วซื้อสินค้าเราหรือไม่ หากไม่ได้ทำการกำหนดTrigger เอาไว้

การตั้งค่า Trigger ใน Google Tag Manager

  1. Variables = ตัวกำหนดคำสั่งเพื่อให้ Trigger ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนง่ายๆ ก็คือ เมื่อเราติดตั้ง Tag เป็นที่เรียบร้อย พอคนเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรา Trigger จะกำหนดว่าให้ Tag นั้นทำงานที่หน้าไหน เช่น หน้า Thank You หลังจากซื้อสินค้า จ่ายเงินเสร็จ พอลูกค้าทำการจ่ายเงินเรียกร้อยแล้วถูกพาไปยังหน้าดังกล่าว Tag จะยังไม่ได้ทำงานเพราะ Trigger เป็นแค่ตัวกำหนดเฉยๆ ว่า ให้ไปทำงานที่หน้านี้แต่ Tag จะทำงานจริงๆ นั้นอยู่ที่การกำหนด Variable นั่นเอง ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้คำสั่งสำหรับการกำหนด Variable ได้อีกว่าจะให้ทำโดยคำสั่งใดซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ เช่น Click Element, Click Classes, Form Element, Form Classes, Form ID ฯลฯ

เครื่องมือ Google Tag Manager

ถ้าไม่ใช้ GTM จะเกิดอะไรขึ้น

อย่างที่บอกว่า Google Tag Manager เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณทำงานด้านการติด Tag ต่างๆ ได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น แน่นอนนว่าหากคุณไม่ใช้ GTM ในการติด Tag ต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่สิ่งที่คุณจะต้องทำคือจะต้องทำการนำโค้ด Tag ที่ได้มาเข้าไปใส่บนเว็บไซต์ในระบบหลังบ้านเองทีละหน้าๆ ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อนและค่อนข้างใช้เวลา

อยากใช้ GTM มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

Google Tag Manager เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้ฟรี แต่สิ่งที่ต้องมีก่อนเริ่มใช้งาน GTM คือ Gmail จากนั้นหากยังไม่เคยมีบัญชี Google Tag Manager ก็สามารถเข้าไปที่  http://tagmanager.google.com  เพื่อลงทะเบียนและตั้งค่าเริ่มต้นต่างๆ ตามขั้นตอน เพียงเท่านี้คุณก็สามารถใช้งานได้แล้ว

อันที่จริงตามที่เราบอกไปตอนต้นว่า Google Tag Manager หรือ GTM คือเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จะช่วยลดความยุ่งยากในการติดตั้ง Tag ต่างๆ ซึ่งจากเดิมเราจะต้องส่งโค้ดให้กับ Website Developer หรือ Programmer ให้ทำการติดตั้ง Tag นั้นๆ ในระบบหลังบ้านให้ อย่างไรก็ตาม Google Tag Manager ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องของ Tag การติดตามผล การนำข้อมูลมาใช้ การทำโฆษณาต่างๆ อยู่ดี 

การตั้งค่า Google Tag Assistant

นอกจากนี้เมื่อคุณทำการติดตั้ง Tag ต่างๆ เสร็จแล้วคุณยังสามารถตรวจสอบได้ว่า Tag ที่ติดตั้งไปถูกต้องหรือไม่ โดยใช้ส่วนเสริมใน Google Chrome อย่าง Google Tag Assistant ช่วยดู อาทิ คุณมีการใส่ Google Analytics เพื่อวัดผลเข้าไปในเว็บไซต์แล้วหรือยัง หรือดูว่าในหน้า Thank You ได้มีการติดตั้ง Tag ตามที่วางแผนเอาไว้ถูกต้องแล้วหรือไม่ เป็นต้น

ดั้งนั้นหากคุณเป็นมือใหม่มากๆ ในปัจจุบันก็มีบทความมากมายหรือแม้แต่ตัว GTM เองก็มีขั้นตอนและวิธีใช้อธิบายอย่างละเอียดและท้ายที่สุดเราก็สนับสนุนให้นักการตลาดทุกท่านไม่หยุดที่จะเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะมันจะช่วยให้การทำงานของคุณสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้