เครื่องมือที่นักการตลาดต้องรู้ Google Data Studio คืออะไร?
การวางกลยุทธ์ในการทำ Digital Marketing นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การคิดค้นแคมเปญใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หรือมีช่องทางการทำการตลาดที่หลากหลายเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ “ข้อมูล (Data)” ที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในการวางแผนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ และข้อมูลเหล่านั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่มีแบบแผน ตรวจสอบได้ เพื่อการวิเคราะห์ผลลัพธ์ให้ออกมาตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่ากระแสตอบรับในการทำธุรกิจของเราเป็นอย่างไร โดยเครื่องมือที่ตอบโจทย์นักการตลาดมากที่สุดคือ Google Analytics หรือเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลลัพธ์ทางธุรกิจ แสดงผลในรูปแบบแผนภูมิและไดอะแกรม หากแต่เราก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นมานำเสนอ คือการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า “Google Data Studio” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Google Analytics ที่วันนี้เราจะมาอธิบายให้ฟังกันว่า Google Data Studio คืออะไร
Table of Contents
Google Data Studio คืออะไร?
Google Data Studio คือ เครื่องมือฟรีที่แสดงผลข้อมูลในรูปแบบของรูปภาพ (Data Visualization) เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจมากขึ้น ผ่านการดึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อมาสร้าง Dashboard ให้รวมอยู่ด้วยกันในที่เดียว ตั้งแต่ข้อมูลเว็บไซต์ ข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Twitter หรือข้อมูลจาก Google เอง เช่น Google Ads, YouTube, Google Analytics, Google Search Console เป็นต้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราเห็นภาพรวมของผลลัพธ์ธุรกิจเพื่อนำไปต่อยอดในการวางแผนการตลาดขั้นต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าการแสดงข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้งานบน Dashboard ได้ รวมถึงสามารถเลือกรูปแบบการประมวลผลรายงานได้เองด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ธีมสีของ Dashboard
- รูปแบบการนำเสนอ เช่น กราฟแท่ง พายชาร์ต 2 มิติ หรือ 3 มิติ
- การตั้งค่า Customized เพื่อเลือกแสดงผลลัพธ์แบบเจาะจง
Google Data Studio มีประโยชน์อย่างไร?
- สามารถเชื่อมต่อกับ Live Data ได้ ทั้งยังสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ถึง 220 ราย
- สามารถตั้งค่าได้แบบเฉพาะเจาะจงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ไม่จำเป็นต้องดึงข้อมูลหลังบ้านออกมาแสดงทั้งหมด
- สามารถตั้งค่ารูปแบบการนำเสนอข้อมูลได้อย่างละเอียด โดยจะมีฟังก์ชันการกรอง (Filter) ในการเลือกหัวข้อการนำเสนอที่สำคัญมาให้
- Data Studio เป็นเครื่องมือฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
- ช่วยปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ช่วยให้นักการตลาดสามารถทำ SEO ได้ถูกจุด เมื่อทราบผลลัพธ์จากการรายงานของ Data Studio ว่าจุดไหนของเว็บไซต์ที่จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไปให้ดีกว่าเดิม
- ทำให้เรารู้ว่าตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ของธุรกิจเราในตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
- สามารถดูข้อมูลจากหลาย ๆ แพลตฟอร์มได้ในที่เดียว ไม่ต้องคอยสลับเบราว์เซอร์ไปมา เพราะ Google Data Studio จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมทั้งหมด
- สามารถนำไปใช้ในการช่วยตัดสินใจด้านต่าง ๆ ทางธุรกิจได้ เพราะข้อมูลที่แสดงบน Google Data Studio ทำให้เรารู้ได้จากการวิเคราะห์ว่าเราควรทำอะไรต่อกับธุรกิจของเรา
ข้อดีของการใช้งาน Google Data Studio มีอะไรบ้าง?
นอกจาก Google Data Studio จะมีประโยชน์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การที่เรานำ Google Data Studio มาใช้ในการทำ Report ยังช่วยทำให้ชีวิตการทำธุรกิจของเราดีขึ้นอีกด้วย ดังนี้
- เป็นรายงานที่อ่านง่าย ไม่ใช่ข้อมูลที่มีตัวเลขเยอะเกินไปจนทำให้งง แต่เป็นรูปภาพที่แม้แต่นักการตลาดมือใหม่ก็สามารถเข้าใจและนำมาวิเคราะห์ได้เลย
- ข้อมูลไม่เยอะจนเกินไป เพราะบางรายงานก็แสดงผลข้อมูลต่าง ๆ เต็มไปหมดจนไม่รู้ว่าต้องดูส่วนไหนบ้าง อะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ แต่ Google Data Studio สามารถเลือกข้อมูลส่วนที่สำคัญ ๆ มาให้เราอ่านได้เลย
- เข้าถึงได้ง่าย โดยเราสามารถแชร์ Report ให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้พัฒนาธุรกิจต่อไป
- อัปเดตข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว การทำ Digital Marketing ในยุคนี้ต้องอาศัยความไวเสมอ หากเราใช้ Google Data Studio ในการรวบรวมข้อมูล เครื่องมือก็จะสามารถประมวลผลให้เราได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องให้คนอื่นช่วยกรอกข้อมูลให้อีกซึ่งจะทำให้ล่าช้า
Google Data Studio มีฟีเจอร์อะไรบ้าง?
Google Data Studio มี 3 ฟีเจอร์หลัก ๆ ดังนี้
1. Live Data Connection
Data Studio นั้นเชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูล หรือ Data Source มากกว่า 200 แหล่ง ซึ่งจะมี Live Data Source ที่ไม่ได้จำกัดการดูข้อมูลย้อนหลัง ในกรณีที่เราต้องการกลับไปย้อนดูข้อมูลในอดีต และที่สำคัญ ผู้ใช้งานยังสามารถเลือก Data ได้จากหลากหลายแหล่ง (Multiple Sources) เพื่อนำมาประมวลผล วิเคราะห์ และนำเสนอผ่านหน้า Dashboard ของเราเอง โดยเราสามารถออกแบบหน้า Dashboard ในแบบที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเทมเพลตหรือสี เพื่อการนำเสนอที่เป็นแบบ Personalization เช่น หากเราต้องการนำเสนอหน้า Dashboard ให้แก่ลูกค้า เราก็สามารถเลือกธีมสีแบรนด์ของลูกค้าได้
2. Full Customization Controls
หน้า Dashboard ของ Google Data Studio นั้นไม่ได้จำกัดการรายงานข้อมูลไว้แค่เพียง 1 หน้า แต่ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มจำนวนหน้าอีกได้ตามต้องการ นอกจากนี้ การออกแบบ Layout ยังใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อน และสามารถปรับขนาดรายงานได้ ทำให้เลือกวางกราฟต่าง ๆ ได้มากกว่า 1 กราฟในหน้าเดียว
อย่างไรก็ตาม Google Data Studio มีฟีเจอร์นี้เพื่อการทำ Pacing Report หรือรายงานที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายในขณะนี้อยู่จุดไหน และเราอยู่จุดไหน อีกกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะประสบความสำเร็จ หรือแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายที่เราวางไว้นั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ๆ
3. Dynamic Controls
Google Data Studio ฟีเจอร์นี้สามารถเลือกวันที่ และ Dimension ที่เราต้องการได้ง่าย รวมถึงสามารถนำข้อมูลในแต่ละคอนเทนต์มาวาง หรือนำออกไปได้โดยไม่ทำให้หน้า Dashboard แต่ละหน้ามีการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแบ่งเป็นฟีเจอร์ย่อย ๆ ได้อีก 3 ฟีเจอร์ ได้แก่
-
Drill Down Hierarchy
ในส่วนนี้จะเป็นหน้ารายละเอียดจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เราสามารถเข้าถึง Data จากบาง Source เพื่อนำมาประมวลผลได้ และเมื่อเราคลิกไปยัง Data จาก Source ดังกล่าว ฟีเจอร์นี้ก็จะแสดงรายละเอียดของแหล่งข้อมูลเหล่านั้นลึกลงไปอีกขั้น ช่วยให้รายงานของเรามีความละเอียดมากขึ้น และเจาะจงไปยังส่วนสำคัญ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อนั้น เราก็จะสามารถระบุข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่จำเป็นต่อการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจได้
-
Optional Metrics
ด้วยเพราะ Metrics ต่าง ๆ บน Google Analytics มีจำนวนมาก และในบางครั้งเราก็ไม่ได้ต้องการให้เครื่องมือแสดงข้อมูลทั้งหมดรวมถึงส่วนที่ไม่จำเป็นออกมา ดังนั้น ฟีเจอร์นี้จะช่วยเรื่องการตั้งค่าเพื่อให้เราเลือกดูเฉพาะ Metrics ที่ต้องการ ช่วยให้ประหยัดเวลาและโฟกัสเนื้อหาเฉพาะจุดที่สำคัญ ๆ ได้มากขึ้น
-
Custom Bookmarks
ฟังก์ชันนี้สามารถตั้งค่าการรายงาน และกำหนดตัวกรองของผู้ใช้งานใน URL ของรายงานได้โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเริ่มต้น เพื่อปรับแต่งข้อมูลที่ต้องการนำเสนอให้มีความหลากหลาย แต่ยังสามารถกลับไปใช้การตั้งค่าแบบเดิมได้ในอนาคต ซึ่งข้อดีก็คือ หากเราต้องการดาวน์โหลดข้อมูลเก่า แต่หน้ารายงานมีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว Custom Bookmarks ก็จะเปรียบเสมือนหน้าหลักหน้าแรกที่เรายังสามารถกลับมาได้ใหม่เสมอ
นอกจากนี้ เมื่อเราเริ่มเปิดใช้งานลิงก์ของ Bookmark แล้ว การตั้งค่าตัวกรองของผู้ใช้งานจะถูกเพิ่มเข้าไปใน URL ของรายงานอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถย้อนกลับไปที่การตั้งค่าเดิมได้โดยที่ไม่ต้องกดดูประวัติหรือตั้งค่าใหม่
สรุป
ตอนนี้เราก็ได้รู้กันเบื้องต้นแล้วว่า Google Data Studio คืออะไร ดังนั้น หากนักการตลาดคนใดที่รู้สึกว่า Data Studio เป็นเรื่องใหญ่และทำให้เสียเวลาในการทำอย่างอื่นไปมาก ก็ลองหันมาใช้เครื่องมือนี้ดู เพราะ Google Data Studio มีประโยชน์ช่วยให้เราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ด้วยการแสดงผลลัพธ์ของรายงานในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทั้งยังสามารถแบ่งปันรายงานเหล่านั้นให้แก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล หรือแม้กระทั่งแบ่งปันแก่ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจการทำการตลาดของธุรกิจเราได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
Join the discussion - 0 Comment