Copywriting คืออะไร? เขียนอย่างไรให้น่าสนใจจนลูกค้าต้องซื้อ!
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่คำว่า “Copywriting” ได้ถือกำเนิดขึ้นในวงการการตลาด แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังมีคำถามให้ได้ยินกันอยู่เนือง ๆ ว่า Copywriting คืออะไร ทำอย่างไร ซึ่งขอบอกเลยว่ากลยุทธ์นี้สำคัญมากสำหรับการขายของในยุคปัจจุบัน เพราะเป็นการเขียนโฆษณาเพื่อให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ลูกค้าอ่านแล้วรู้สึกว่าอยากตัดสินใจซื้อในทันที แม้อาจจะเป็นเรื่องจริงที่ว่าคนเราทุกคนมีทักษะการเขียน Copywriting ในแบบของตนเองอยู่ในตัว แต่บทความนี้จะช่วยมาบอกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าหลักการเขียนคำโฆษณาที่ดีและดึงดูดลูกค้านั้นทำอย่างไร
แต่ก่อนอื่น เรามาเข้าใจความหมายของ Copywriting กันก่อนดีกว่า
Table of Contents
Copywriting คืออะไร?
ในการทำการตลาดออนไลน์ เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อให้ได้ ซึ่งการเขียน Copywriting ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้มาสนใจแบรนด์ของเรา และเกิดการซื้อ-ขายได้ในท้ายที่สุด แต่เคยไหม? เวลาจะลงขายสินค้าหรือบริการทีไรก็เกิดปัญหาคิดคำไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี หรือเขียนอย่างไรก็ยังขายไม่ได้ นั่นอาจเป็นเพราะเรายังไม่มีเทคนิคการเขียน Copywriting ที่ดีนัก
Copywriting คือ การเขียนคำโฆษณาที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อเรียกความสนใจจากกลุ่มลูกค้า สามารถปรากฏได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ ใบปลิว อีเมล บิลบอร์ด แผ่นพับ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Instagram Facebook หรือแม้แต่ในโทรทัศน์เองก็ตาม โดยมักจะมีเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงประเด็น และสร้างการจดจำในหมู่ผู้พบเห็นได้ ตัวอย่าง Copywriting ที่คุ้นหู ได้แก่
- หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-11
- การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า
- คิดจะพัก คิดถึง “คิทแคท”
- “ธนาคารกรุงเทพ” เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน
จะเห็นได้ว่า เพียงแค่วลีสั้น ๆ เหล่านี้ก็สามารถทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้ง่าย ๆ ในระยะยาว ดังนั้น หากธุรกิจใดมีการเขียน Copywriting ได้แบบปัง ๆ ก็จะสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เกิดการกระทำบางอย่างกับแบรนด์เราได้ ไม่ว่าจะเป็นการคลิกลิงก์ การเข้ามาดูรายละเอียดสินค้าและบริการ หรือการตัดสินใจซื้อก็ตาม จึงเรียกได้ว่า Copywriting คือองค์ประกอบสำคัญในการทำการตลาดที่ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ควรมองข้าม
Copywriting กับ Content SEO ต่างกันอย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้แต่ในวงการ SEO ก็ยังมีความสับสนพอสมควรระหว่างงานเขียนสองรูปแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทั้ง Copywriting และ Content SEO ก็มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า Copywriting คือ การเขียนโฆษณาสั้น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างต่อแบรนด์ของเราเมื่ออ่านจบ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่ามีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนจากกลุ่มเป้าหมายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์นั่นเอง
ส่วน Content SEO นั้นเป็นเทคนิคด้านการตลาด โดยจะมีความยาวกว่า Copywriting เสมอ ส่วนมากมักอยู่ในรูปแบบของบล็อกบนเว็บไซต์ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อทำให้เว็บไซต์ของตนเองขึ้นไปอยู่บนอันดับแรก ๆ ของหน้าการค้นหาด้วยการใช้ “คีย์เวิร์ด” ที่ผู้ใช้งานมักค้นหามาใส่ลงไปในบทความของตนเอง เพื่อที่เวลามีคนค้นหาคีย์เวิร์ดนั้น ๆ จะได้เจอบทความของเราเป็นบทความแรก ๆ เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่เว็บไซต์ แต่จุดประสงค์โดยร่วมของ Content SEO ที่มีเหมือนกับ Copywriting ก็คือการโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เกิดความรู้สึกสนใจในตัวแบรนด์
แต่ถ้าหากถามว่าระหว่างงานเขียนทั้งสองแบบนี้ ควรเลือกทำแบบไหนดี? ก็อาจตอบได้ว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายหลักของแต่ละธุรกิจ หากต้องการสร้างการจดจำ ทำยอดให้ธุรกิจเติบโตเร็ว การเขียน Copywriting ก็จะตอบโจทย์ได้ดี แต่ถ้าหากต้องการให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้างก็แน่นอนว่าต้องทำ SEO
อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำทั้ง Copywriting และ SEO ไปพร้อม ๆ กันได้ เพื่อผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น!
เทคนิคการเขียน Copywriting ให้น่าสนใจ
สำหรับใครที่ยังประสบปัญหาที่ได้กล่าวไปในตอนต้น หรือไม่มั่นใจว่าจะเขียน Copywriting ให้ดึงดูดผู้อ่านได้อย่างไร ขอตอบว่า สิ่งสำคัญในการเขียนให้ได้อย่างมืออาชีพคือการฝึกฝน และหมั่นพัฒนาทักษะการเขียนของตนเองตลอดเวลา รวมถึงรู้จักอัปเดตข้อมูลข่าวสาร ความเป็นไปในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ ส่วนจะเริ่มต้นเขียนอย่างไรนั้น เทคนิคหลัก ๆ ที่ควรรู้มีดังนี้
งัดประโยชน์หรือจุดแข็งของสินค้าหรือบริการออกมาเขียน
ในการเขียนอธิบายสินค้าหรือบริการของตนเองในหลาย ๆ ครั้ง เราก็มักจะเขียนคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เพื่อบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง แต่บางคนอาจจะลืมคิดไปว่าสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกสนใจและเกิดแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเราอยู่ที่การบอกให้พวกเขารู้ว่าประโยชน์ของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ คืออะไร และจะช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ได้อย่างไร หรือพวกเขาจะได้อะไรจากการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว อาจกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นการมุ่งเน้นไปที่เหตุผลที่ควรซื้อ มากกว่าเป็นการบรรยายคุณสมบัติแบบธรรมดา ๆ นั่นเอง
ขยายประโยชน์เหล่านั้นให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น
สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อเราบอกประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้ได้ทราบแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดมาคือการขยายประโยชน์เหล่านั้นให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสินค้าหรือบริการของเราเป็นสิ่งที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ เช่น การอธิบายถึงข้อดีหรือจุดเด่นว่าแบรนด์เราจะช่วยให้ชีวิตของลูกค้าดีขึ้น และสะดวกขึ้นได้อย่างไรบ้าง
มีรีวิวประกอบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
ผู้บริโภคส่วนมากมักให้ความสนใจกับข้อมูลที่เป็นสถิติและการรับรองจากลูกค้าคนอื่น ๆ หรือที่เรียกว่า “รีวิว” เพื่อประกอบการตัดสินใจเสมอ เพราะถึงแม้จะได้อ่านข้อความ Copywriting จากเราแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเชื่อสิ่งที่เราบอกอยู่ฝ่ายเดียว เพราะไม่ว่าแบรนด์ไหน ๆ ก็ต้องนำเสนอข้อดีของตนเองกันเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่จะมาช่วยยืนยันได้ว่าแบรนด์ของเราดีจริง ๆ ก็คือรีวิวจากลูกค้าที่เคยอุดหนุนเรามาก่อน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าใหม่ ๆ เกิดความเชื่อมั่นในตัวเราและรู้สึกอยากซื้อสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น
บอกสิ่งที่ผู้บริโภคจะพลาดหากมองข้ามแบรนด์ของเรา
อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรบอกผู้บริโภคให้ได้ทราบคือ พวกเขาจะพลาดอะไรไปหากมองข้ามแบรนด์เรา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ารีบตัดสินใจยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง เช่น โปรโมชันที่หนึ่งปีมีครั้งเดียว หากไม่รีบซื้อตอนนี้จะต้องรอไปอีกเป็นปี เป็นต้น
สรุปผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุด
หลังจากบอกให้ผู้อ่านได้รู้ว่าพวกเขาจะพลาดอะไรแล้ว ขั้นต่อมาคือการโน้มน้าวว่าแบรนด์เราจะช่วยให้พวกเขาไม่ต้องพบเจอกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อีกต่อไปได้อย่างไร ด้วยการเขียนสรุปผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดออกมาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเหตุใดเราจึงต้องกระตุ้นให้ทุกคนซื้อสินค้าหรือบริการ โดยไม่ลืมแสดงถึงความหวังดีที่เราไม่อยากให้ลูกค้าต้องประสบพบเจอกับปัญหาเหล่านั้น จึงเสนอสิ่งดี ๆ จากแบรนด์ให้เป็นหนทางแก้ไข เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่เราจะได้โอกาสบอกถึงคุณค่าของแบรนด์ และดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านให้มาเป็นลูกค้าได้ในที่สุด
ปิดท้ายด้วย Call to Action (CTA)
Call to Action หรือ CTA คือการเปลี่ยนให้คนอ่านเข้าสู่กระบวนการคลิกหรือมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น สมัครสมาชิก ลงทะเบียน นำผู้ชมมายังเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่งซื้อสินค้า โดยหากเราไม่ได้เขียน CTA เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคดำเนินการหรือทำอะไรต่อในตอนท้ายของ Copywriting สิ่งที่เราเขียนมาตั้งแต่ต้นก็อาจจะเปล่าประโยชน์ เพราะต่อให้ข้อความน่าสนใจขนาดไหน แต่ถ้าไม่มีบอกขั้นตอนต่อไปที่ชัดเจนว่าจะติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ไหน หรือคุยกับทางแบรนด์ได้อย่างไร ลูกค้าก็อาจหมดความสนใจแล้วหันไปหาแบรนด์คู่แข่งแทนได้ โดยหลักการเขียน CTA คือการทำให้กระชับ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา และไม่ควรเป็นข้อความซับซ้อนที่ทำให้ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจนาน
สรุป
อย่างไรก็ตาม เทคนิคเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเขียน Copywriting เท่านั้น ซึ่งหากใครที่กำลังฝึกฝนการเขียนโฆษณาเพื่อโปรโมตแบรนด์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็สามารถหยิบยกวิธีข้างต้นไปปรับใช้ได้ แต่ก่อนจะเขียนทุกครั้งต้องอย่าลืมวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองมาเสียก่อน เพื่อให้ภาษาที่ใช้เขียนมีความเหมาะสมและโดนใจกลุ่มคนเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด เพราะการเขียน Copywriting คือการเข้าใจสินค้าและบริการของตนเองเป็นอย่างดีก่อนจะนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับรู้ในวงกว้างนั่นเอง
Join the discussion - 0 Comment