Content Monetisation คืออะไร วิธีแปลงคอนเทนต์ให้เป็นรายได้
ยุคนี้ แค่เขียนคอนเทนต์ให้คนอ่านอย่างเดียวอาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะเราสามารถแปลงคอนเทนต์ที่เราทำอยู่ทุกวันให้กลายเป็นเงินได้ ! โดยการสร้างรายได้จากคอนเทนต์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทำคอนเทนต์ขายสินค้าของตนเอง หรือโปรโมตสินค้าให้ผู้อื่น ที่ปัจจุบัน เรามักเรียกกันว่าเป็นอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์“ นั่นเอง
เคยสังเกตหรือไม่ว่า ตัวเราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่เคยตกเป็น “ทาสการตลาด” เพราะคอนเทนต์ที่เจอตามโซเชียลมีเดีย และการที่เราไปซื้อสินค้าหรือบริการหลังจากที่ได้เสพคอนเทนต์เหล่านั้น ก็จะกลายเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้สร้างคอนเทนต์โดยอัตโนมัติ เพราะถือว่าผู้สร้างคอนเทนต์ประสบความสำเร็จในการ “ป้ายยา” แก่ผู้พบเห็นนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง คอนเทนต์จึงสำคัญกับโลกการตลาดสมัยใหม่เป็นอย่างมาก ต่อให้เราไม่ได้ทำธุรกิจออนไลน์ ไม่ได้ขายอะไร แต่เราก็สามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เพื่อแปลงให้เป็นรายได้ในอนาคตเช่นกัน วิธีการทำคอนเทนต์ลักษณะนี้เรียกว่า “Content Monetisation” ที่บทความนี้จะมาบอกว่าคืออะไร และจะเริ่มต้นได้อย่างไร
Table of Contents
Content Monetisation คืออะไร
Monetisation เป็นศัพท์ในแวดวงการตลาดออนไลน์ มีความหมายเชิงการตลาดว่า การสร้างแพลตฟอร์ม แล้วใช้แพลตฟอร์มนั้นเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้อีกทีหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Data Monetisation กันมาบ้าง โดย Data Monetisation คือ การใช้ Data มาเพิ่มคุณค่าให้แก่ธุรกิจ จากการเข้าใจข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้งาน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองต่อไป เพื่อให้สามารถทำการตลาดได้อย่างถูกจุด และสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือการนำ Data มาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้แก่ธุรกิจนั่นเอง
ดังนั้น Content Monetisation คือ การสร้างรายได้จากการลงคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มหนึ่ง ๆ ซึ่งอาจจะฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนักในวงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เมื่อเราลงคอนเทนต์ไปแล้วมีผู้ใช้งานมามีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์เรา เราก็จะได้รับเงินทันที โดยอาจเป็นการได้รับจากตัวผู้ใช้คนนั้น ๆ เอง เช่น การทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่มีฟังก์ชันให้ผู้ใช้งานสามารถโดเนตเงินให้แก่ครีเอเตอร์ที่ชอบได้ หรือได้จากบุคคลที่สามที่เป็นผู้ว่าจ้างให้เราช่วยโปรโมตสินค้าผ่านคอนเทนต์ให้ เช่น การทำ Affiliate Marketing การวางผลิตภัณฑ์ประกอบฉาก (Product Placement) หรือโฆษณาแบบ Pay Per Click (PPC) เป็นต้น
เทคนิคการทำ Content Monetisation
สิ่งสำคัญของการสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์ หรือ Content Monetisation คือ เราต้องมี Branding หรือการสร้างภาพลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่รู้จักและเกิดการจดจำเสียก่อน เช่น ถ้าเราเป็นคนที่มีลักษณะดูสนุกสนาน ก็ให้ดึงเอกลักษณ์นั้นออกมา แล้วนำเสนอออกไปให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ต้องตีกรอบตัวเองกับคำว่าจะถูกหรือผิด เพียงแค่ให้อยู่ในขอบเขตของความสร้างสรรค์ ไม่บุลลีหรือทำร้ายใครก็พอ โดยมีเทคนิคเริ่มต้น ดังนี้
ตั้งเป้าหมาย
ก่อนจะเขียนคอนเทนต์ใด ๆ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนให้ใครอ่าน ต้องการอะไรจากการทำคอนเทนต์นี้ ตลอดจนมองไปยังจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากเผยแพร่คอนเทนต์ไปแล้ว เพื่อให้สามารถวางแผนการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด จากนั้นค่อยเริ่มต้นลงมือทำ
เขียนในสิ่งที่เชื่อ
คนอ่านจะรู้สึกคล้อยตามกับสิ่งที่เราเขียนหรือไม่นั้น ส่วนสำคัญมาจากการถ่ายทอดงานเขียนด้วยความเชื่อของผู้เขียนเอง กล่าวคือ ผู้เขียนก็ต้องรู้สึกอินไปกับเนื้อหาที่ตนเองสื่อออกมาเป็นตัวอักษรเช่นกัน เพราะหากเราไม่มีความเชื่อในเรื่องที่เขียนแล้ว คนอ่านก็จะรับรู้ได้ผ่านอารมณ์ของงานเขียนที่สื่อออกมาอย่างชัดเจน แล้วก็จะไม่คล้อยตามไปกับสิ่งที่เราบอก
ภาษาที่ใช้
เนื้อหาของคอนเทนต์จะสามารถดึงดูดคนอ่านได้ก็ต่อเมื่อภาษาที่ใช้ให้ความรู้สึกจรรโลงใจต่อผู้รับสาร ไม่ว่าเราจะใช้ภาษาอะไรก็ตาม แต่จะต้องโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ได้ เช่น คอนเทนต์รีวิวอาหาร อ่านแล้วรู้สึกอยากไปกินตามที่รีวิวหรือไม่ หรือคอนเทนต์โฆษณาคลินิกเสริมความงาม อ่านแล้วรู้สึกอยากไปใช้บริการหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น ภาษาที่ใช้จึงมีความสำคัญมาก ว่าเราจะสามารถเขียนออกมาแล้วโน้มน้าวใจผู้อ่านได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางที หากทำได้มาก รายได้จากการสร้างคอนเทนต์ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนประกอบสำคัญในการทำ Content Monetisation
พาดหัว
ตั้งชื่อเรื่องให้ง่ายที่สุด แต่ดูน่าสนใจเหมือนสไตล์การพาดหัวข่าว ตัวอย่างเช่น การพาดหัวข่าวบันเทิง ที่เมื่ออ่านแล้วทำให้รู้สึกอยากรู้ และอยากตามเข้าไปอ่านต่อทันทีว่ามันเป็นเรื่องอะไร ซึ่งการพาดหัวคอนเทนต์ทุกประเภทควรเป็นไปในลักษณะนี้ เพราะพลังของคอนเทนต์ก็คือการพาดหัว แต่ระวังอย่าให้เป็นข้อความเชิงหลอกลวง เนื่องจากถ้าผู้อ่านเข้าไปดูเนื้อหาแล้วไม่เป็นไปในทางเดียวกับหัวข้อ จะเป็นผลเสียมากกว่า ทั้งต่อภาพลักษณ์ของผู้สร้างคอนเทนต์เอง และต่อ SEO ด้วย
เกริ่นนำ
ในส่วนนี้ เราต้องทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเรากำลังจะบอกอะไรแก่พวกเขา และพวกเขาจะได้อะไรจากคอนเทนต์นี้ หรือเรียกว่าเป็นการเกริ่นให้รู้คร่าว ๆ โดยจะต้องเกริ่นให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดให้ผู้อ่านอ่านต่อให้ได้
ประโยคฮุก
เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ควรอยู่ในช่วงเกริ่นนำ มีคุณสมบัติในการช่วยดึงความสนใจและหยุดคนอ่านไว้กับคอนเทนต์ของเรา โดยควรใช้คำที่สะดุดตา โน้มน้าวใจได้ และทำให้ผู้อ่านรู้ว่าพวกเขาจะพลาดอะไรหากไม่สนใจคอนเทนต์นี้ เช่น คำว่า แจกฟรี หรือ วันนี้วันเดียวเท่านั้น เป็นต้น
เนื้อหา
การเขียนคอนเทนต์เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการจะไม่เหมือนการเขียนบทความลงเว็บไซต์ โดย Content Monetisation ต้องมีความสั้น กระชับกว่า เพราะปัจจุบัน ผู้บริโภคมักไม่สนใจอ่านคอนเทนต์ยาว ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ผ่านไปผ่านมาโดยที่ไม่ได้สนใจสินค้าหรือบริการที่เรากำลังโปรโมตมาก่อน แต่ถ้าเราสามารถทำให้ใจความครบภายในความยาวที่ไม่มากนัก ก็จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้มากกว่า หรือถ้าหากตัดให้สั้นไม่ได้จริง ๆ ก็ควรมีการแบ่งย่อยเนื้อหาออกเป็นช่วง ๆ เพื่อทำให้คนอ่านไม่รู้สึกตาลายจนเกินไป
สรุป
เนื่องจากผู้บริโภคสมัยนี้มักเสพคอนเทนต์ด้วยความรวดเร็ว หากเป็นคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอก็จะเน้นชมวิดีโอสั้น ๆ หรือหากเป็นคอนเทนต์ที่เป็นตัวหนังสือก็จะกวาดสายตาอ่านไว ๆ ดังนั้น เราควรมีการสรุปใจความของเนื้อหาด้วย โดยการสรุปจะช่วยให้เราสามารถรีเช็กตัวเองได้ว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขียนจริง ๆ หรือไม่ และเพิ่มความมั่นใจว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์อะไรกลับไปเมื่ออ่านจบ
รูปภาพประกอบ
ออกแบบรูปภาพหรืออินโฟกราฟิกให้สวยงาม ดึงดูดให้คนอ่านหยุดดูคอนเทนต์ของเราได้ โดยในภาพอาจทำเป็นคำสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับคอนเทนต์ ว่าเนื้อหาบอกถึงเรื่องอะไรเป็นหลัก หรืออาจเป็นคำสำคัญที่ง่ายต่อการจดจำมาไว้อย่างน้อย 3 ข้อ เผื่อคนอ่านคนไหนไม่อยากอ่านตัวหนังสือเยอะ ๆ ก็สามารถอ่านจากภาพได้เลย
สรุป
Content Monetisation คือ อีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้สำหรับคนที่อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือคนที่มีทักษะในการเล่าเรื่องราวผ่านคอนเทนต์อยู่แล้ว เพราะสมัยนี้ การตลาดแทรกอยู่ในทุกเศษเสี้ยวของชีวิตเรา ไม่ว่าจะบน Facebook, Instagram, Twitter, TikTok เราก็ล้วนเห็นคอนเทนต์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นเพื่อการตลาดทั้งนั้น และสิ่งนั้นเองที่เรียกว่า Content Monetisation ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเราเองก็กลายเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยสนับสนุนการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ทำคอนเทนต์เหล่านั้น ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
เมื่อการทำคอนเทนต์มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคถึงเพียงนี้ แล้วธุรกิจจะอยู่โดยปราศจากคอนเทนต์ได้อย่างไร หากกำลังท้อใจ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี ทำคอนเทนต์มาเป็นปี ๆ แล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะถูกมองเห็น ที่ Primal Digital Agency เรามีนักเขียนมากความสามารถที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแบรนด์ของคุณ ติดต่อเราได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment