Brand Advocacy คืออะไร วิธีสร้างการรับรู้แบบไม่เสียเงินจ้าง

หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่นิยมมากที่สุดในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้ลงโพสต์บนโซเชียลมีเดียเพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการของแบรนด์ เนื่องจากคนสมัยใหม่ชอบติดตามไลฟ์สไตล์ของคนดังบนโซเชียลฯ พอคนเหล่านั้นรีวิวหรือพูดถึงแบรนด์อะไรก็จะไปซื้อตาม ส่งผลให้การตลาดในลักษณะนี้ใช้ได้ผลมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่แพลตฟอร์มโซเชียลฯ กลายเป็นพื้นที่รีวิวสินค้ามากกว่าจะเป็นช่องทางแชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวันเหมือนเคย ผู้บริโภคหลายคนก็เริ่มจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่อินฟลูเอนเซอร์ออกมารีวิวสินค้าในรูปแบบเดิม ๆ ที่ไม่เนียนเอาเสียเลย เป็นเหตุให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง

เมื่อผู้บริโภคเชื่อคำบอกเล่าของอินฟลูเอนเซอร์น้อยลงเพราะดูออกว่าแบรนด์จ้างมา ในทางกลับกัน พวกเขาจะหันไปเชื่อคอนเทนต์รีวิวจากผู้ใช้จริงที่ไม่ได้ถูกจ้างมากกว่า แบรนด์จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การสร้างและกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อในหมู่ลูกค้าด้วยกันเอง หรือที่เรียกว่า Brand Advocacy

การสร้าง Brand Awareness

Brand Advocacy คืออะไร

สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าธุรกิจของเราประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ไม่ใช่การดูแค่ยอดขายหรือกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจและให้การสนับสนุนของลูกค้าด้วย ดังนั้น การสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และทำให้ผู้บริโภคบอกต่อเกี่ยวกับแบรนด์ของเราแก่กันและกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ และนั่นเป็นที่มาของคำว่า Brand Advocacy

Brand Advocacy คือ การที่มีคนสนับสนุนและเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์เองอย่างเต็มใจ แบรนด์ไม่ต้องเสียเงินจ้าง โดยบุคคลนั้น ๆ จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คนมีชื่อเสียง หรือผู้ใช้งานธรรมดาทั่วไปก็ได้ แค่มีความชื่นชอบ ประทับใจ และเชื่อมั่นในแบรนด์อย่างแท้จริงจนอยากบอกต่อ โดยอาจเป็นการเขียนรีวิวดี ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือจะเป็นการบอกแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ก็ได้เช่นกัน 

หากบอกว่า Brand Advocacy คือหนึ่งในจุดมุ่งหมายสูงสุดของธุรกิจก็คงไม่ผิดนัก เพราะเป็นการที่แบรนด์ถูกลูกค้าพูดถึงและโปรโมตให้แบบไม่ใช่โพสต์โฆษณา ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้พบเห็นได้มากกว่าโพสต์ที่แบรนด์จ้างเขียน ทำให้แบรนด์มีลูกค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้ง Brand Advocacy ยังเป็นเครื่องบ่งบอกว่าลูกค้าคนนั้น ๆ มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) มากแค่ไหนด้วย

 

เทคนิคการสร้าง Brand Advocacy แบบไม่ต้องเสียเงิน

รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเอง

ปกติแล้วเวลาเราจะเริ่มทำธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่ง เราต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเองก่อนว่าเป็นใคร ช่วงอายุเท่าไร มีความชอบหรือไม่ชอบอะไร ตลอดจนมีพฤติกรรมทางการตลาดเป็นอย่างไร แต่หากอยากสร้าง Brand Advocacy ก็ให้ลองมองลงไปให้ลึกกว่านี้อีก กล่าวคือ ควรพิจารณาดูว่าใครที่เหมาะกับคนที่จะมาเป็น Brand Advocacy หรือช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนแบรนด์เราให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง วิธีคือ ลองสังเกตว่าลูกค้าคนไหนที่มีปฏิสัมพันธ์กับเราอยู่บ่อย ๆ เวลาเราสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เวลาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย เวลาเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ เวลาลงสตอรีไอจี เป็นต้น หรืออาจเซิร์ชคีย์เวิร์ดบนโซเชียลฯ ว่ามีใครพูดถึงเราบ้าง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่แบรนด์ของเราได้ สิ่งที่เราต้องทำคือการเอาใจใส่พวกเขาให้ได้มากที่สุด เช่น สนทนาด้วยถ้อยคำเป็นมิตรเวลาลูกค้ามามีปฏิสัมพันธ์ด้วย หรือสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลบางอย่างสำหรับผู้ที่ติดตามมานาน

สร้างโปรโมชันกระตุ้นให้เกิดการบอกต่อ

คงไม่มีลูกค้าคนไหนไม่ชอบโปรโมชัน หรือสินค้าลดราคา เพียงแค่เราทำโปรโมชันบ้างเป็นครั้งคราวก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการบอกต่อในหมู่ผู้บริโภคได้ หรือมีการใช้กลยุทธ์กระตุ้นให้ลูกค้าทำคอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ของเราลงบนโซเชียลมีเดีย เช่น หากเช็กอินที่ร้านจะลดค่าอาหาร 10% หรือมอบส่วนลด 50% หากซื้อในเดือนเกิด เป็นต้น รับรองว่าต้องมีคนไปโพสต์บอกต่อโปรโมชันดี ๆ เหล่านี้แก่กันบนโซเชียลฯ หรือบอกปากต่อปากในหมู่คนสนิทอย่างแน่นอน เพราะโปรโมชันจำกัดเวลา ผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่าถ้าไม่รีบบอกต่อ คนอื่น ๆ อาจจะมาซื้อไม่ทัน ยิ่งสิทธิพิเศษบางอย่างที่มีจำนวนจำกัด ยิ่งจะทำให้เกิดการบอกต่อมากขึ้น

สร้างสรรค์คอนเทนต์ดี ๆ ไม่ยัดเยียดการขายจนเกินไป

บางธุรกิจก็มุ่งแต่จะทำคอนเทนต์ขายของ ยิงแอดแจกโปรโมชันรัว ๆ อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ผล ตรงกันข้าม การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดีด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่ในระยะยาว เพราะหากลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาส่องหน้าโพรไฟล์ของเราแล้วพบว่า เราเอาแต่ยัดเยียดสินค้าและบริการให้ลูกค้าอย่างเดียว ไม่มีคอนเทนต์ให้ความรู้หรือคอนเทนต์สร้างการมีปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ระหว่างผู้บริโภคบ้างเลย กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะรู้สึกอึดอัดได้ หรือไม่ก็อาจสนใจแบรนด์เราแค่ตอนมีส่วนลด ไม่ได้จดจำเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่ง ๆ ดังนั้น แนะนำให้ทำคอนเทนต์ให้ความรู้เพื่อแสดงความเชี่ยวชาญบ้าง จะได้สร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว เพราะเมื่อเรามีฐานกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจแก่แบรนด์เราแล้ว ก็จะก่อให้เกิดการบอกต่อในหมู่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

Brand Advocacy กับ Influencer Marketing

ทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง

เพราะสมัยนี้ธุรกิจไหน ๆ ก็ผันตัวมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ การทำการตลาดอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์และเปิดการมองเห็นได้มากขึ้น แต่ถ้าหากเราทำครั้งหนึ่งแล้วหยุดไป ขาดความต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายก็อาจจะลืมแบรนด์เราแล้วไปจดจำแบรนด์คู่แข่งแทนได้ สิ่งที่เราต้องทำจึงเป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองอยู่ในสายตาของผู้บริโภคเสมอ ไม่ให้ชื่อแบรนด์ของเราหายไปจากตลาด ไม่เช่นนั้น ลูกค้าที่เป็นหรือมีโอกาสจะเป็นคนที่สร้าง Brand Advocacy ให้เรา อาจหายตามไปด้วยได้

ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมมอบบริการที่ดี

อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือคุณภาพของสินค้าและบริการ เพราะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าลูกค้าจะบอกต่อเกี่ยวกับแบรนด์เราอย่างไร หากสินค้าของเรามีคุณภาพและบริการที่ดี ลูกค้าที่มาใช้บริการก็รู้สึกอยากบอกต่อสิ่งดี ๆ แก่ผู้อื่น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะอุดหนุนร้านเราต่อด้วย และที่สำคัญ เราควรทำสินค้าและบริการให้ดีเป็นมาตรฐานของแบรนด์ไปเลย กล่าวคือ ไม่ว่าลูกค้าคนไหน หรือไม่ว่าจะกลับมาซื้ออีกกี่ครั้งก็จะยังได้รับการปฏิบัติและการดูแลที่ดีเหมือนเดิม ยิ่งไปกว่านั้น หากเรามีความใส่ใจลูกค้า จำได้ว่าลูกค้าคนไหนชอบสินค้าแบบใด เหมาะกับอะไรเป็นพิเศษ ก็จะยิ่งทำให้ลูกค้าประทับใจจนอยากบอกต่อมากขึ้นไปอีก

ทำให้โพสต์บนโซเชียลมีเดียเข้าถึงได้ง่าย

การจะสร้างปฏิสัมพันธ์บนโลกโซเชียลฯ ได้นั้น ก่อนอื่น เราต้องทำให้โพสต์ของเราเข้าถึงง่าย ด้วยการทำคอนเทนต์ที่คาดว่าจะกระตุ้นยอดไลก์ แชร์ และคอมเมนต์ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการแชร์ต่อที่มีโอกาสทำให้แบรนด์ของเราเป็นไวรัลได้ในชั่วข้ามคืน หากคอนเทนต์นั้นได้รับความนิยมหรืออิงกับกระแสช่วงนั้น ๆ พอดี ยิ่งถ้าหากแบรนด์ไหนวางภาพลักษณ์ที่จริงใจ ซื่อสัตย์ และเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ยิ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกอยากมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากเท่านั้น เพราะรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้โอกาสในการบอกต่อหรือแชร์ต่อมีมากขึ้น

 

สรุป

ในยุคนี้ แค่เปิด Instagram, TikTok หรือ Twitter เราก็จะเห็นอินฟลูเอนเซอร์ออกมารีวิวสินค้าเต็มไปหมดจนหน้าฟีดมีแต่โฆษณาขายของ ทำให้ผู้บริโภคหลายกลุ่มรู้ทันการตลาดในลักษณะนี้และไม่ยอมตกเป็นเหยื่อการตลาดง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น Brand Advocacy คือสิ่งที่จะช่วยทำให้ลูกค้ากลับมาเชื่อ และยอมตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของเราได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการบอกต่อจากผู้ใช้จริง ไม่ใช่โฆษณา และไม่มีการเสียเงินจ้างให้รีวิวแต่อย่างใด

กำลังมองหาผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาดให้ธุรกิจของคุณอยู่หรือเปล่า Primal Digital Agency ช่วยคุณได้ ! เราเป็นเอเจนซีการตลาดอันดับหนึ่งของไทย มีทีมงานมากประสบการณ์กว่า 150 คนที่พร้อมพาคุณไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดต่อเราได้เลยวันนี้