Account Executive หรืองาน AE คืออะไร มีหน้าที่อะไรในเอเจนซี?

ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี รูปแบบโฆษณาใหม่ ๆ และจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในยุคสมัยนี้ งานสายการตลาดกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่า “ดิจิทัลเอเจนซี (Digital Agency)” คือสถานที่ทำงานในฝันของใครหลายคนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนจบสาขาการตลาดมาโดยตรง หรือแม้แต่คนที่จบสาขาอื่น ๆ มาก็ตาม

เชื่อว่าหลายคนที่สนใจงานด้านนี้และได้อ่านข้อมูลผ่าน ๆ มาบ้าง คงจะเคยได้ยินชื่อตำแหน่ง “Account Executive หรือ AE” กันอยู่แล้วว่าเป็นตำแหน่งหนึ่งในเอเจนซี โดยวันนี้ เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกกันว่า Account Executive ทำอะไร มีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง

AE กับ Sale ต่างกันอย่างไร

งาน AE คืออะไร?

เป็น Account Executive ทำอะไรบ้าง? นี่อาจเป็นคำถามของผู้ที่สนใจงานเอเจนซี หรือ AE ที่ยังไม่มากประสบการณ์ ต้องบอกก่อนว่าหน้าที่ของ AE นั้นมีความสำคัญต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุด และถือได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทเลยทีเดียว

Account Executive หรืองาน AE คือ ตำแหน่งที่ช่วยประสานงานระหว่างลูกค้าและเอเจนซี เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดแผนงานต่าง ๆ ไปจนถึงงบประมาณของแต่ละงาน โดยหลังจากที่ลูกค้าติดต่อเข้ามา หรือ AE ออกไปหาลูกค้าเพื่อรับโจทย์การทำงานอย่างละเอียด หน้าที่ของ AE ขั้นตอนถัดมาคือการนำสารที่ได้รับจากลูกค้ามาส่งคนในทีม เพื่อผลิตชิ้นงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็นำโจทย์ดังกล่าวมาวางแผนเพื่อจัดการเวลา และบริหารคนทำงาน ตลอดจนกำหนดวันส่งงานเพื่อไปนำเสนอให้ลูกค้าดูอีกครั้ง ซึ่งถ้าหากลูกค้ามีคอมเมนต์สำหรับการปรับแก้เพิ่มเติม AE ก็ต้องเป็นคนประสานงานกับทีมเช่นเดียวกัน

ตำแหน่ง Account Executive จึงเหมาะสำหรับคนที่ชอบทำงานหลากหลาย ไม่จำเจ และชอบพูดคุยกับลูกค้า เพราะในแต่ละวัน AE อาจได้งานที่ไม่ซ้ำกันเลย เนื่องจากลูกค้าแต่ละเจ้าก็มาจากหลายบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้ความรับผิดชอบต่างกันไปด้วย ดังนั้น อีกหนึ่งหน้าที่ของ AE คือต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับลูกค้าแต่ละคนให้ได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากคำว่า AE แล้ว บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า AM ด้วย ซึ่ง AM นั้นย่อมาจาก Account Manager มีหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนกับ AE ทุกประการ แล้วเช่นนั้น AE กับ AM ต่างกันอย่างไรล่ะ? ตอบให้เข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ AM เป็นตำแหน่งที่มีลำดับขั้นสูงกว่า AE กล่าวคือ หากเป็น AE ไปนาน ๆ จนมีประสบการณ์มากพอแล้ว ก็อาจได้รับการพิจารณาเลื่อนขึ้นมาเป็น AM นั่นเอง

 

ทักษะที่จำเป็นต้องมีของคนทำงาน AE คืออะไรบ้าง?

ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill)

ทักษะการสื่อสารถือเป็นหัวใจหลักของตำแหน่ง AE เลยก็ว่าได้ เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปว่าหน้าที่ของ AE คือการพูดคุยกับลูกค้า ดังนั้น การสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน รับสารมาอย่างแม่นยำ เก็บทุกรายละเอียดไม่มีตกหล่น จึงเป็นสิ่งที่ AE ทุกคนต้องทำ เพื่อให้งานออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ทักษะการเจรจา (Negotiation Skill)

หน้าที่ประสานงานระหว่างลูกค้าและบริษัท ทำให้ AE ต้องเป็นตัวกลางสำหรับหลาย ๆ ฝ่าย ดังนั้น ทักษะการเจรจาต่อรองจึงสำคัญ กล่าวคือ ต้องตามงานลูกค้าหรือทีมได้ ไม่ใช่ถ้าขอผัดวันก็ยอมผัดให้ตลอด จนผู้ร่วมงานทำเป็นนิสัย รวมถึงสามารถเจรจาพูดคุยกับลูกค้าที่เลื่อนจ่ายเงินหรือเบี้ยวจ่ายให้ได้อย่างเหมาะสมด้วย

ทักษะการบริการ (Service Mind Skill)

ด้วยความที่ต้องพบลูกค้าเป็นประจำ อีกหนึ่งทักษะที่ AE ต้องมีก็คือการบริการที่ดีเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและรู้สึกดีที่ได้ใช้บริการของเรา เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าจะอยากกลับมาใช้บริการอีกในครั้งต่อ ๆ ไป

ทักษะการทำหลายสิ่งพร้อมกัน (Multitasking Skill)

ศักยภาพของ AE ไม่ควรมีแค่หน้าที่ของ AE เท่านั้น เพราะนอกจากจะต้องติดต่อประสานงานกับทีมต่าง ๆ แล้ว AE จำเป็นต้องรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานของทุกฝ่ายที่ตนเองประสานงานอยู่ด้วย ในกรณีของบางคนที่มีประสบการณ์เป็น AE มาหลายปีแล้ว เรียกได้ว่าพวกเขาสามารถทำหน้าที่แทนฝ่ายนั้น ๆ ได้เลยทีเดียว ถ้าหากว่างานดังกล่าวไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านจนเกินไป ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้งานเสร็จได้อย่างรวดเร็วทันใจลูกค้า

ทักษะการควบคุมอารมณ์ (Emotion Control Skill)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานกับคนเป็นงานที่ยากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาต้องรับมือกับคนหลาย ๆ คน เพราะแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป บางครั้งอาจต้องรับทั้งแรงกดดัน การพูดจา น้ำเสียง อารมณ์ต่าง ๆ ในเวลาเดียวกันเพราะเป็นคนกลาง ดังนั้น AE จึงต้องมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์และข่มใจไม่ให้พูดอะไรที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน โดยให้มองที่เป้าหมายของงานไว้ก่อนอารมณ์เสมอ แล้วงานจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ทักษะการตรงต่อเวลา (Timetable Skill)

ไม่ใช่แค่ AE เท่านั้น แต่การรักษาเวลาเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนัดประชุม นัดคุยงานกับลูกค้า เวลาเซ็นเช็ค ฯลฯ เช่น หากรู้ว่าเส้นทางที่ต้องเดินทางไปหาลูกค้านั้นอยู่ไกลหรือรถติด ก็ควรไปก่อนเวลาเพื่อไม่ให้ผิดเวลานัด อันจะนำมาซึ่งความไม่ประทับใจของลูกค้าที่จะมีต่อเรา

ทักษะการนำเสนอ (Presentation Skill)

ในทุก ๆ เดือน AE จะต้องมีการนำเสนอรายงานความคืบหน้าแก่ลูกค้า หรืออาจเป็นการนำเสนอขายงานก็ได้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมีทักษะในการพูดและนำเสนอเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินงาน และที่สำคัญ เราต้องรู้จริงในสิ่งที่ตนเองกำลังนำเสนอด้วย เพราะบางครั้งลูกค้าก็อาจเกิดคำถาม และเป็นหน้าที่ของ AE ที่จะต้องตอบให้ได้

ทักษะภาษาอังกฤษ (English Skill)

ภาษาอังกฤษกับการทำงานในยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันไม่ได้เลย โดยเฉพาะงาน AE ที่ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่แค่ลูกค้าคนไทย แต่มีชาวต่างชาติด้วย AE จึงต้องมีทักษะภาษาอังกฤษในการพูดคุยโต้ตอบกับลูกค้าได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ทักษะด้านงานเอกสาร (Documentation Skill)

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจเกิดคำถามว่า AE จำเป็นต้องรู้เรื่องงานเอกสารด้วยเหรอ? จริง ๆ แล้ว ทักษะนี้คือสิ่งที่คนเป็น AE ขาดไม่ได้เลยทีเดียว เพราะ AE จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อทำรายงานประจำเดือนหรือประจำปีให้แก่ลูกค้า

ทักษะด้านบุคลิกภาพ (Personality Skill)

AE จำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม พร้อมทั้งใช้คำพูดสุภาพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตัวเองอยู่เสมอ อันจะนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้าในการใช้บริการเรา

 

สรุปแล้ว ตำแหน่ง Account Executive ทำอะไรบ้าง?

  • รับบรีฟจากลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอะไร และทำไมถึงอยากได้สิ่งนั้น โดยเมื่อลูกค้าบรีฟมาแล้ว หากเรามีคำถามหรือต้องการข้อมูลด้านไหนเพิ่มเติมก็ควรสอบถามโดยตรงทันที ส่วนคำถามที่ว่าลูกค้าต้องการอะไรและทำไมถึงอยากได้สิ่งนั้น คือปัญหาที่ AE ต้องช่วยลูกค้าหาวิธีแก้ไขให้มีประสิทธิภาพที่สุด
  • หาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้าให้มากขึ้น การทำการบ้านเกี่ยวกับธุรกิจที่ลูกค้าทำนั้นมีความจำเป็นมาก เพราะเราจะได้เข้าใจว่าลูกค้ากำลังทำอะไรอยู่ กลุ่มเป้าหมายคือใคร อะไรที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกค้าได้ ตลอดจนต้องใช้กลยุทธ์แบบใดจึงจะตอบโจทย์กับประเภทของธุรกิจ
  • กระจายงานที่ได้รับมอบหมายให้ถูกคน ถูกเวลา เนื่องจากหน้าที่ของ AE คือการรับบรีฟ สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นจึงเป็นการกระจายงานต่อให้คนในทีม โดยจะต้องลำดับความสำคัญให้ดี ขั้นแรกอาจสร้างไทม์ไลน์ขึ้นมาก่อน ว่างานใดต้องเสร็จวันไหน สามารถส่งได้เมื่อไหร่ แล้วค่อยมอบหมายงานให้แก่ผู้รับผิดชอบแต่ละคน และ AE ควรแจ้งเดดไลน์ให้ชัดเจน รวมถึงการเผื่อเวลาไว้สำหรับการแก้ไขด้วย
  • อย่าทำแค่คัดลอกคำพูดของลูกค้าแล้วส่งให้ทีม งาน AE คือการเป็นคนกลางระหว่างทีมงานและลูกค้า แต่ถ้าทำแค่คัดลอกคำพูดของลูกค้าแล้วส่งให้ทีมเลย แบบนั้นก็จะดูมักง่ายไปหน่อย สิ่งที่ AE ควรทำคือค้นหาข้อมูลว่าทำไมลูกค้าถึงต้องการแบบนั้น หรือทำไมต้องการแก้ไขให้เป็นแบบนี้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้ แนะนำว่าให้ติดต่อลูกค้าโดยตรง อาจเป็นการโทร. ส่งอีเมล หรือแชตหาก็ได้ตามความเหมาะสม

 

จะสังเกตได้ว่า งาน AE คืองานที่เน้นการใช้ Soft Skills มากกว่า Hard Skills ดังนั้น ไม่ว่าจะจบสาขาไหนมา ทุกคนก็สามารถสมัครเป็น AE ได้ หากมีความสนใจในงานด้านการตลาด มีความรับผิดชอบสูง และมีใจรักในการพูดคุยกับผู้อื่น ก็รับรองว่าเอเจนซีดี ๆ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

สำหรับใครที่สนใจอยากร่วมงานกับ Primal เอเจนซีชั้นนำของไทย ก็สามารถเข้าไปดูตำแหน่งที่ว่างได้เลยที่ สมัครงาน Digital Marketing