4E Marketing คืออะไร? กลยุทธ์มัดใจลูกค้าสำหรับธุรกิจยุคดิจิทัล
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ บวกกับผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมายให้เลือกซื้อ การที่ธุรกิจสมัยใหม่จะอยู่รอดและเติบโตได้ โดยใช้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบเก่าอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ! เพราะนอกจากกลยุทธ์รูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหากยังไม่เลือกนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาปรับใช้ ธุรกิจก็อาจติดกับดักความสำเร็จในอดีตจนไม่อาจเติบโตได้ในระยะยาว!
ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์ 4E Marketing จึงถือกำเนิดขึ้น! โดยถือเป็นกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า นี่ยังเป็นการต่อยอดจากหลักการ 4P และ 4C ที่นักการตลาดรู้จักกันเป็นอย่างดี เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลมากที่สุดด้วย
กลยุทธ์ 4E Marketing คืออะไร? แล้วนักการตลาดจะสามารถใช้กลยุทธ์นี้เอาชนะใจลูกค้าอย่างไรได้บ้าง มาหาคำตอบพร้อมกันในบทความนี้!
Table of Contents
ทบทวนความจำหลักการตลาด 4P คืออะไร?
เชื่อว่านักการตลาดหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับกลยุทธ์การตลาดพื้นฐาน 4P Marketing Mix หรือหลักการ 4P กันเป็นอย่างดี โดยหากจะให้อธิบายง่าย ๆ 4P ก็คือหลักการพื้นฐานที่นักการตลาดมักใช้เพื่อวางแผนหรือทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะออกแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าและสร้างยอดขายให้ได้มากที่สุด
โดยหลักการนี้มี 4 องค์ประกอบหลัก ประกอบไปด้วย
- Product – สินค้าหรือผลิตภัณฑ์
- Price – ราคา
- Place – ช่องทางจัดจำหน่าย
- Promotion – วิธีการส่งเสริมการขาย
อย่างไรก็ดี เมื่อโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปตามโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้น หลักการ 4P ข้างต้นจึงถูกพัฒนาและต่อยอดใหม่จนกลายเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า 4E Marketing เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น! ซึ่งแม้จะเป็นการต่อยอดจากของเดิม แต่กลยุทธ์ 4E Marketing ก็มีรายละเอียดทางการตลาดแตกต่างจาก 4P อยู่พอสมควร
ทำความรู้จักกลยุทธ์ 4E Marketing คืออะไร?
4E Marketing คือหลักการตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างประสบการณ์ (Experience) ที่ดีให้แก่ลูกค้า แทนที่จะมุ่งขายสินค้าเพียงอย่างเดียว หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือเปลี่ยนมุมมองจาก “การขาย” ไปเป็น “การสร้างความประทับใจ”
4E Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่ต่อยอดและพัฒนามาจากหลักการ 4P อีกที ซึ่งเหตุผลที่เกิดการพัฒนาเป็นกลยุทธ์นี้ก็เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุค ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจซื้อจากตัว “สินค้าและบริการ” เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ประสบการณ์และความประทับใจก็มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น 4E Marketing จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้นักการตลาดสามารถออกแบบกลยุทธ์ได้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ ทั้งออกแบบการสื่อสาร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบประสบการณ์ ฯลฯ เพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อขายที่ดี จนทำให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดี (Brand Loyalty) กับแบรนด์ได้ในระยะยาว
หลักการตลาด 4E แต่ละ E จะประกอบไปด้วย
- Experience การสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
- Exchange การสร้างคุณค่าให้ธุรกิจและความคุ้มค่าให้แก่ผู้บริโภค
- Everywhere การทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายที่สุด
- Evangelism การเปลี่ยนผู้บริโภคทั่วไปให้เป็นลูกค้าขาประจำ
กลยุทธ์ 4E Marketing: จาก 4P สู่ 4E มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?
หลังจากรู้จักกลยุทธ์ 4E Marketing กันคร่าว ๆ ต่อมาเราอยากพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปเจาะรายละเอียดของแต่ละตัวอักษรว่า 4E Marketing ต่อยอดจาก 4P อย่างไรบ้าง?
1. Experience: การสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
สำหรับ E ตัวแรก “Experience” หรือประสบการณ์ที่ดีที่ลูกค้าควรจะได้รับ เนื่องจากในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ผู้บริโภคยุคปัจจุบันจะไม่ได้คาดหวังแค่ “สินค้า” หรือ “บริการ” (Product) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ “ประสบการณ์” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคไม่แพ้กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีในระหว่างการซื้อ หรือแม้กระทั่งหลังการตัดสินใจซื้อไปแล้ว
ตัวอย่างการปรับใช้: หากเป็นแบรนด์เครื่องสำอางและสกินแคร์ “Experience” หรือประสบการณ์ที่ดีจะไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าคุณภาพดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้สัมผัสทุกอย่างหากตัดสินใจเลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจจิง ความสวยงามของหน้าเว็บไซต์ การตอบคำถามของแอดมิน วิธีจ่ายเงิน ไปจนถึงการดูแลลูกค้าหลังการขาย
2. Exchange: การสร้างความคุ้มค่าในมุมของผู้บริโภค
ผู้บริโภคยุคใหม่ ไม่ได้ตัดสินใจซื้อโดยใช้ปัจจัยด้านราคา (Price) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ “ความคุ้มค่า” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายด้วย ดังนั้น แบรนด์จึงควรออกแบบกลยุทธ์ที่เน้นสร้างการรับรู้ด้านคุณค่าหรือเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการแทนการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพียงอย่างเดียว ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการปรับใช้: แบรนด์อาหารญี่ปุ่น สามารถสร้างความคุ้มค่าให้ลูกค้าผ่านการนำเสนอว่าวัตถุดิบของทางร้านสดใหม่และนำเข้าโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังปรุงรสด้วยเชฟญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ยาวนานหลายปี ก็จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าและไม่เอาเรื่องราคามาเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจเลือกซื้อ
3. Everywhere การทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายและสะดวก
หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ไม่ได้ออกมาช็อปปิงแค่ช่องทางออฟไลน์ (Place) อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น แบรนด์จึงควรต้องสร้างช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการออกมาให้มากและหลากหลายที่สุด ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะยิ่งลูกค้าสะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการเรามากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสปิดการขายได้มากเท่านั้น
ตัวอย่างการปรับใช้: ธุรกิจร้านแฟชั่นและเครื่องประดับที่นอกจากจะมีหน้าร้านออฟไลน์ ยังสร้างหน้าร้านออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, X (Twitter) และ TikTok
4. Evangelism การเปลี่ยนผู้บริโภคทั่วไปให้เป็นลูกค้าขาประจำ
การใช้โปรโมชัน (Promotion) ลดแลกแจกแถม เป็นกลยุทธ์เรียกลูกค้าขาจรได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่การจะสร้างให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว การทำให้เกิดลูกค้าประจำสำคัญกว่า ดังนั้น E สุดท้ายในข้อนี้จึงเน้นที่ Evangelism หรือการเปลี่ยนคนทั่วไปให้กลายเป็นลูกค้าประจำ ทั้งในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการ ผสมผสานไปกับการส่งมอบคุณค่าที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจในระดับสูงสุด เพราะหากลูกค้าเกิดความภักดีต่อแบรนด์ขึ้นมาเมื่อไร ก็จะทำให้เกิดการบอกต่อจนเป็นการขยายฐานลูกค้าต่อไปในระยะยาวได้
ตัวอย่างการปรับใช้: การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอาจทำได้หลายวิธี เช่น การจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เปิดโอกาสให้แบรนด์และลูกค้าได้ทำกิจกรรมร่วมกัน การส่งของขวัญหรือข้อความไปหาลูกค้าในช่วงเวลาหรือโอกาสพิเศษ ฯลฯ
กลยุทธ์ 4E Marketing เหมาะกับใคร?
กลยุทธ์ 4E Marketing เหมาะกับนักการตลาดและธุรกิจทุกขนาดและทุกรูปแบบ เนื่องจากนี่ไม่ใช่กลยุทธ์ใหม่แกะกล่องแต่อย่างใด แต่เป็นกลยุทธ์ที่ต่อยอดมาจากหลักการ 4P ที่นักการตลาดรู้จักกันเป็นอย่างดี ดังนั้น นักการตลาดจึงสามารถใช้หลักการนี้ยกระดับการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้ ช่วยให้แผนการตลาดมีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมด้วย
ตัวอย่างการนำกลยุทธ์ 4E Marketing ไปใช้จริงของแบรนด์ดัง
Airbnb:
- Experience: Airbnb มอบประสบการณ์การพักผ่อนที่ไม่เหมือนใคร เช่น ที่พักที่มีเอกลักษณ์ มีกิจกรรมพิเศษภายในท้องถิ่น สร้างบรรรยากาศที่มีการเชื่อมต่อกับเจ้าของบ้าน ทำให้รู้สึกเป็นประสบการณ์เช่าพักที่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน
- Exchange: Airbnb เสนอที่พักหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ทำให้ผู้เช่ารู้สึกคุ่มค่ากับเงินที่จ่ายไป
- Everywhere: ลูกค้าสามารถเข้าถึง Airbnb ได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดีย
- Evangelism: Airbnb สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการใช้โปรแกรมสมาชิกและรีวิว เพื่อรับส่วนลด ทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่นและอยากจะใช้บริการต่อไปเรื่อย ๆ
Netflix:
- Experience: Netflix สร้างประสบการณ์การดูสื่อบันเทิงแบบใหม่ในรูปแบบสตรีมมิ่ง แทนที่จะเป็นวิดีโอหรือในโรงภาพยนตร์แบบดั้งเดิม
- Exchange: Netflix เน้นนำเสนอคอนเทนต์หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ผู้สมัครรู้สึกถึงความคุ้มค่าในการเลือกเสพคอนเทนต์
- Everywhere: Netflix เข้าถึงลูกค้าผ่านอุปกรณ์หลากหลาย เช่น สมาร์ตทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ
- Evangelism: Netflix สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แข็งแรง ผ่านการสร้างระบบแนะนำเพื่อนและโปรแกรมสำหรับครอบครัว อีกทั้งยังมีการโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด เพื่อให้ผู้สมัครรู้สึกถึงความคุ้นชินและอยากจะเป็นลูกค้าต่อไป
Starbucks
- Experience: Starbucks นำเสนอประสบการณ์ดื่มกาแฟที่ไม่ใช่แค่รสชาติความอร่อย แต่ยังมีบรรรยากาศของความอบอุ่น ผ่อนคลาย และบริการพิเศษเช่นเขียนชื่อลูกค้าบนแก้ว
- Exchange: Starbucks เน้นนำเสนอราคาและบริการให้สอดคล้องกัน โดยลูกค้าจะรับรู้ถึงความคุ้มค่าจากการดื่มกาแฟที่ได้มาตรฐาน พร้อมบริการที่ใส่ใจลูกค้า
- Everywhere: Starbucks มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก และในประเทศไทยก็กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัด ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีช่องทางออนไลน์ และบริการเดลิเวอรี่
- Evangelism: Starbucks ให้ความสำคัญกับการอบรมพนักงาน เน้นการบริการด้วยรอยยิ้ม และมีกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
สรุป
จะเห็นได้ว่า 4E Marketing คือหลักการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเติบโตได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่อยากพิชิตใจลูกค้าด้วย 4E Marketing Primal Digital Agency ของเรายินดีให้ความช่วยเหลือ! เราคือเอเจนซีการตลาดออนไลน์ของประเทศไทย ที่พร้อมออกแบบแผนการตลาดที่ใช่สำหรับคุณ หากอยากพิสูจน์ผลลัพธ์ก็กรอกรายละเอียดเพื่อปรึกษาเราตอนนี้!
Join the discussion - 0 Comment