Top Spender คืออะไร การตลาดที่เล่นกับกำลังซื้อของลูกค้า
ปัจจุบัน มีกลยุทธ์การตลาดหลากหลายรูปแบบที่เหล่านักธุรกิจพากันคิดค้นขึ้นมาเพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มรายได้ให้แบรนด์ ซึ่งหากพูดถึงกลยุทธ์ที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “การตลาด Top Spender” ที่มีการนำดารา-ศิลปินดัง ๆ มาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ แล้วจัดแคมเปญหรือกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าจากเหล่าแฟนคลับ
แต่ถ้ามองจากมุมทั่วไปแล้ว แฟนคลับก็เป็นผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งเท่านั้น สงสัยไหมทำไมแบรนด์ถึงเลือกที่จะเจาะกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยการตลาด Top Spender บทความนี้จะมาบอกว่า Top Spender คืออะไร แล้วทำไมจึงใช้ได้ผล ช่วยให้แบรนด์มียอดขายถล่มทลายได้
Table of Contents
Top Spender คืออะไร?
Top Spender คือ กลยุทธ์การตลาดแบบหนึ่งที่มุ่งเจาะกลุ่มไปที่ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยจะนำศิลปินหรือดาราที่เป็นกระแสมาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ แล้วจัดอีเวนต์หรือกิจกรรมส่งเสริมการซื้อ ใครที่มียอดซื้อมากที่สุด หรือเป็น Top Spender ก็จะได้สิทธิพิเศษตามเงื่อนไขที่แบรนด์กำหนด เช่น ได้ถ่ายรูปคู่กับศิลปินแบบ 1-1 ได้ใกล้ชิดกับศิลปินบนเวที ได้ไปเที่ยวต่างประเทศทริปเดียวกับศิลปิน เป็นต้น
เมื่อไม่นานมานี้ คนที่เล่นโซเชียลมีเดียน่าจะเห็น #คุณเขมจิรา จากกิจกรรม “Lotus’s X Park Seo Jun” Meet & Greet in Bangkok โดยกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เหล่าแฟนคลับของ “พัค ซอจุน” ดาราหนุ่มหล่อจากแดนกิมจิ ชอปปิงสินค้าอะไรก็ได้ในห้างสรรพสินค้าโลตัส หากใครที่มียอดซื้อสูงสุด 5 อันดับแรก จะได้ที่นั่ง VVIP แถวหน้าสุดในงานแฟนมีต และได้ถ่ายรูปคู่แบบ 1-1 กับพัค ซอจุนพร้อมลายเซ็นสด ซึ่งคุณเขมจิราที่เป็นกระแสไวรัลก่อนหน้านี้ เป็นหนึ่งใน Top Spender มาแรงของกิจกรรมดังกล่าว ด้วยยอดซื้อกว่า 51 ล้านบาท เรียกได้ว่าสร้างตำนานใหม่ให้วงการ Top Spender จนชาวเน็ตพากันงงไปเป็นแถบ ๆ เลยทีเดียว ว่าต่อไปใครจะล้มสถิตินี้ได้ โดยคุณเขมจิราก็ได้ครองอันดับ 1 อยู่นานจนชาวเน็ตคิดว่าถึงอย่างไรตำแหน่ง Top Spender ก็ล็อกมงไว้ให้คุณเขมจิราแน่นอน จนกระทั่งวันสุดท้ายเกิดเหตุไม่คาดคิด เพราะมีม้ามืดอย่าง “คุณจีณัฐฐา” ตีตื้นขึ้นมาสู้คุณเขมจิราด้วยยอดซื้อที่ไปไกลถึง 78 ล้านบาท ทำเอาชาวเน็ตช็อกแล้วช็อกอีก ว่ากิจกรรมนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน
จากกรณีของคุณเขมจิราและคุณจีณัฐฐาทำให้เราเห็นว่า แม้แฟนคลับจะเป็นเพียงผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง ที่อาจไม่ได้เป็น Customer Loyalty ของแบรนด์เลย แต่ก็มีพลังอำนาจในรูปแบบแฟนคลับที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะต่อให้ไม่ได้อยากจะซื้อสินค้าของแบรนด์ขนาดนั้น แต่ก็จะซื้อเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในการใกล้ชิดกับศิลปินที่ตนเองรัก ไม่ว่าจะซื้อมาขายต่อ ซื้อมาแจก หรือซื้อมาใช้เอง ก็เท่ากับว่าแบรนด์ได้ผลประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะนอกจากจะได้ยอดขายแล้ว ยังได้สร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ในวงกว้างอีกด้วย
ดังนั้น การตลาด Top Spender จึงถือเป็นกลยุทธ์ที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เห็นอย่างนี้แล้วต้องบอกเลยว่า “อย่าดูถูกพลังของแฟนคลับเด็ดขาด”
ทำไมการตลาด Top Spender ถึงได้รับความนิยมในช่วงหลัง?
สาเหตุที่การตลาด Top Spender ได้รับความนิยมในช่วงหลังมานี้ อาจเป็นเพราะกระแสนิยมดาราไอดอลมีเยอะขึ้น โดยเฉพาะฝั่งของไอดอลเกาหลี ขนาดแบรนด์ที่ทำแคมเปญการตลาดร่วมกับไอดอล ที่ไม่ใช่อีเวนต์ Top Spender แฟนคลับยังพร้อมใจแห่กันไปซื้อ แม้ไม่ได้เป็นสาวกแบรนด์นั้น ๆ มาก่อนเลย อย่าง Starbucks X BLACKPINK หรือ Moshi Moshi X NCT DREAM ก็ล้วนสร้างตำนานห้างฯ แตกมาแล้ว ยิ่งพอเป็นกิจกรรม Top Spender ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอีเวนต์ลักษณะนี้จะไม่ใช่ได้แค่สินค้าที่ศิลปินโปรโมต แต่ยังได้ไฮทัชกับศิลปินตัวเป็น ๆ อีกด้วย ถึงจะจ่ายแพงแต่ก็คุ้มกว่าแคมเปญคอลแลบฯ กันแบบธรรมดา ๆ เพราะใคร ๆ ก็อยากจะได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่ตัวเองชอบกันทั้งนั้น
นอกจากนี้ การตลาด Top Spender ยังเจาะกลุ่มเฉพาะลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ในขณะที่กิจกรรมคอลแลบฯ จะเจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่มีกำลังซื้อสอดคล้องกับราคาของสินค้า แต่จะเน้นให้ขายได้ในปริมาณเยอะ ๆ เพื่อสร้างยอดขายของแบรนด์ให้สูงขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับ Top Spender แล้ว นับว่าการแข่งขันของผู้บริโภคภายในกิจกรรมจะสูงกว่ามาก เพราะคนที่มีกำลังซื้อทุกคนต่างก็อยากจะให้ตนเองให้เป็น Top Spender เพื่อให้เป็นกระแสไวรัลแบบคุณเขมจิรา จึงแข่งกันซื้อเยอะ ๆ ใครมียอดซื้อสูงกว่าถือว่าคนนั้นชนะ และจากกรณีศึกษาของกิจกรรม Lotus’s X Park Seo Jun ก็จะเห็นได้ว่า Top Spender 3 อันดับแรกสลับกันขึ้นที่ 1 อยู่เรื่อย ๆ พอคนนี้ขึ้นที อีกคนก็ไปทำยอดซื้อเพิ่มให้ตนเองได้ขึ้นบ้าง จากที่คิดว่าคุณเขมจิราจะได้มง สุดท้ายก็จบที่คุณจีณัฐฐา ซึ่งปิดยอดไป 78 ล้านบาทแบบไม่เปิดโอกาสให้ใครสู้ต่อ
ดังนั้น นอกจากความนิยมของศิลปินและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่ทำให้การตลาด Top Spender ประสบความสำเร็จแล้ว จึงอาจมองได้อีกว่า นี่ไม่ใช่แค่การแข่งขันกันเพื่อให้ได้ใกล้ชิดศิลปินอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อชื่อเสียงและความเป็นหน้าเป็นตาในสังคมให้ตนเองทางอ้อมด้วย
ข้อดีของการตลาด Top Spender คืออะไร?
ได้ยอดขายถล่มทลาย
ประโยชน์ข้อแรกของการทำการตลาด Top Spender คงหนีไม่พ้นเรื่องยอดขายที่ถล่มทลาย จากที่เคยขายอยู่เงียบ ๆ ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีความภักดีต่อแบรนด์และลูกค้าขาจร กลับกลายเป็นว่าสร้างฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ยิ่งศิลปินคนนั้นมีแฟนคลับมากเท่าไร แบรนด์ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ไปด้วยมากเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนสูง แต่ผลลัพธ์ออกมาคุ้มค่ามาก เพราะอย่างเคสโลตัส Top Spender คือ 78 ล้าน แต่ยอดขายโดยรวมทั้งหมดของแบรนด์ก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีของคุณเขมจิรา Top Spender อันดับ 2 อีก 51 ล้าน คุณจันทร์ปภัสร์ Top Spender อันดับ 3 อีก 46 ล้าน และยอดซื้ออีกหลายล้านจากแฟนคลับคนอื่น ๆ กว่าหลายพันชีวิตที่เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันกันซื้อสินค้าจากโลตัสให้ได้มากที่สุด
ส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดีขึ้น
พอแบรนด์มียอดซื้อสูง สิ่งที่ตามมาคือภาพลักษณ์ของแบรนด์ต่อสาธารณะที่จะเปลี่ยนไปด้วย โดยผู้บริโภคจะมองแบรนด์ในทางที่ดีขึ้น น่าเชื่อถือขึ้น เพราะการที่ศิลปินชื่อดังคนหนึ่งจะร่วมงานกับแบรนด์ไหนนั้น หมายความว่าแบรนด์ดังกล่าวจะต้องไว้ใจได้ แม้จะหมดสัญญากับศิลปินไปแล้ว แต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์คือ Digital Footprint ที่จะไม่มีวันหายไป ส่งผลให้กลยุทธ์ Top Spender คือทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างยอดขายจำนวนมากภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และอยากสร้างภาพลักษณ์ที่เชื่อถือได้ในระยะยาว
ได้สร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง
นอกจากจะได้ยอดซื้อจากเหล่าแฟนคลับแล้ว การตลาด Top Spender ยังช่วยให้แบรนด์ได้สร้างการรับรู้ในวงกว้างอีกด้วย เพราะต่อให้ไม่ใช่แฟนคลับที่เข้าร่วมกิจกรรม แต่ก็ต้องได้รับรู้การมีอยู่ของอีเวนต์นี้บ้างเนื่องจากมีศิลปินช่วยโปรโมต ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ กับตอนทำ Influencer Marketing แต่ Top Spender จะยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก โดยยิ่งแบรนด์มียอดซื้อสูงเท่าไร ยิ่งสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ได้มากขึ้นเท่านั้น
เป็นกิจกรรมที่วิน-วินกันทุกฝ่าย
อีกหนึ่งข้อดีของกลยุทธ์ Top Spender คือ เป็นการตลาดแบบวิน-วินกันทุกฝ่าย แบรนด์ได้ยอดขาย ส่วนแฟนคลับก็ได้สิทธิพิเศษที่ตนเองต้องการ และเต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสิทธินั้นด้วยราคานี้เอง ส่วนศิลปินก็มีชื่อเสียงมากขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ แบรนด์ต้องอย่าลืมให้ความสำคัญกับลูกค้าเยอะ ๆ เพราะพวกเขายอมทุ่มทุนจ่ายเงินซื้อสินค้าของเราจำนวนมาก สิ่งที่พวกเขาควรได้รับกลับไปจึงไม่ใช่แค่สิทธิพิเศษและสินค้า แต่เป็นบริการและความเอาใจใส่ใจจากทางแบรนด์ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาคือคนสำคัญด้วย
การตลาด Top Spender กลยุทธ์ยุคใหม่ที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย
และนี่ก็คือการตลาด Top Spender ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว สำหรับแบรนด์ที่มีต้นทุนในการจ้างศิลปิน-ดารามาโปรโมต ก็ไม่ใช่ว่าจะฝากความหวังไว้ที่พรีเซนเตอร์อย่างเดียว แต่ต้องรู้จักออกแบบแคมเปญให้น่าสนใจ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะเข้าร่วมด้วย เพราะถ้าแค่เน้นเอายอดขายอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของผู้บริโภค กระแสจากกลุ่มแฟนคลับอาจเป็นไปในทางลบมากกว่าบวกได้
อยากสร้างแคมเปญการตลาดให้ตรงใจลูกค้า พวกเราช่วยคุณได้ ! Primal Digital Agency เป็นบริษัทการตลาดชั้นนำ มีบริการรับทำ SEO รับทำคอนเทนต์ รับทำ Social Media และอื่น ๆ อีกมากมายที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของการทำธุรกิจ ติดต่อเราได้เลยวันนี้
Join the discussion - 0 Comment