E-commerce คืออะไร ? คู่มือสำหรับมือใหม่หัดทำธุรกิจออนไลน์

E-commerce คือหนึ่งในช่องทางการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการใด ๆ ก็นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้งสิ้น

แต่สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า E-commerce คืออะไร และมีรูปแบบใดบ้าง ในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ E-commerce พร้อมแจก 8 วิธีเริ่มธุรกิจนี้อย่างละเอียด รับรองว่าอ่านจบปุ๊บ เริ่มธุรกิจได้ทันที

E-Commerce คือการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

E-commerce คืออะไร

E-commerce (Electronic Commerce) หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดีย ผู้ซื้อและผู้ขายทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องพบเจอกัน สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก และดำเนินการขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางนี้จะช่วยลดต้นทุนการจัดการร้านค้า และยังเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย

E-commerce มีรูปแบบใดบ้าง 

การทำ E-commerce แบ่งออกเป็นหลายประเภท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป ได้แก่

  • B2C (Business to Consumer)

ธุรกิจขายสินค้าหรือบริการโดยตรงให้ผู้บริโภค เช่น Amazon, Lazada และ Shopee

  • B2B (Business to Business)

ธุรกิจขายสินค้าหรือบริการให้แก่ธุรกิจอื่น อาทิ เว็บไซต์ขายส่งวัสดุก่อสร้างหรือแพลตฟอร์มจัดการ Supply Chain

  • C2C (Consumer to Consumer)

ผู้บริโภคขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภคด้วยกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น eBay และ Facebook Marketplace

  • C2B (Consumer to Business)

ผู้บริโภคเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่ธุรกิจ เช่น เว็บไซต์ขายภาพถ่ายหรือแพลตฟอร์มรีวิวสินค้า

  • B2G (Business to Government)

ธุรกิจขายสินค้าหรือบริการให้แก่หน่วยงานรัฐบาลโดยมีแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวกลาง เช่น การจัดหาอุปกรณ์สำนักงานให้แก่หน่วยงานราชการ

  • G2B (Government to Business)

รัฐบาลให้บริการหรือดำเนินการกับภาคธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเปิดประมูลโครงการก่อสร้างถนนหรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

  • G2C (Government to Consumer)

รัฐบาลให้บริการแก่ประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเปิดระบบให้ประชาชนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร หรือแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยให้การชำระภาษีสะดวกและรวดเร็วขึ้น

 

ข้อดีและข้อเสียของ E-commerce

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจรูปแบบอื่น ๆ E-commerce มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ผู้ประกอบการควรจะต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้

ข้อดี

  • เข้าถึงลูกค้าทั่วโลก

เข้าถึงผู้ซื้อได้หลากหลายโดยไม่จำกัดพื้นที่ทางกายภาพ

  • ลดต้นทุนการดำเนินการ
    ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ร้านค้า ค่าใช้จ่ายในการจัดการลดลง
  • สะดวกสบายสำหรับลูกค้า
    ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางไปยังหน้าร้าน
  • การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า
    ติดตามพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าได้อย่างละเอียด ซึ่งช่วยให้การวางกลยุทธ์การตลาดแม่นยำขึ้น
  • ช่องทางการชำระเงินหลากหลาย
    รองรับการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น บัตรเครดิต โอนเงินออนไลน์ หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล

ข้อเสีย

  • การแข่งขันสูง
    มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ทำให้ตลาดแข่งขันกันอย่างดุเดือด
  • ปัญหาด้านความปลอดภัย
    ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการชำระเงินอาจเสี่ยงต่อการโจรกรรมได้
  • ประสบการณ์การซื้อที่แตกต่าง
    ลูกค้าไม่สามารถสัมผัสสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ ทำให้บางครั้งอาจเกิดความไม่มั่นใจ
  • การจัดส่งและคืนสินค้า
    บางครั้งการจัดส่งอาจล่าช้าหรือสินค้าอาจเสียหายจากการขนส่ง และการคืนสินค้าอาจเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน

เจาะลึกขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ E-commerce ทำตามได้แบบ Step-by-Step

เพื่อให้ธุรกิจใหม่ของคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลของ Primal มีขั้นตอนการเริ่มธุรกิจที่คุณสามารถนำไปปรับใช้มาฝาก รับรองว่าทำตามได้ไม่ยาก  

  • กำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Define Your Target Audience)

การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ E-Commerce เลยก็ว่าได้ เนื่องจากการเข้าใจลูกค้าอย่างละเอียดจะช่วยให้การตัดสินใจด้านกลยุทธ์แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ แนะนำว่าควรใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Google Analytics หรือ Facebook Audience Insights เพื่อสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแต่การระบุกลุ่มประชากรพื้นฐานอย่าง อายุ เพศ หรือที่อยู่ แต่ควรลงลึกถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ด้วย

  • ความสนใจ (Interests) : ศึกษาว่ากลุ่มเป้าหมายสนใจในเรื่องใด เช่น สินค้าแฟชั่น การออกกำลังกาย หรือการท่องเที่ยว
  • ปัญหาและความต้องการ (Pain Points & Needs) : ค้นหาปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายต้องการแก้ไข และวิธีที่จะนำเสนอสินค้าเพื่อเป็นคำตอบได้
  • พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ : สำรวจว่ากลุ่มเป้าหมายใช้เวลาในแพลตฟอร์มใดมากที่สุด เช่น Instagram, Facebook หรือ Marketplace อื่น ๆ

การเจาะลึกข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ปรับกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารได้อย่างตรงจุด รวมถึงช่วยกำหนดว่าช่องทางการขายใดที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของคุณที่สุด

  • เลือกสินค้าหรือบริการ (Select Your Products or Services)

การเลือกสินค้าที่จะขายใน E-Commerce นั้นไม่ใช่แค่การมองหาสินค้าที่คุณชื่นชอบ แต่ต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้น หลักการ Product-Market Fit จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง 

  • Demand Analysis : ใช้เครื่องมือเช่น Google Trends หรือ Amazon Best Sellers เพื่อตรวจสอบความต้องการของสินค้าในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
  • Gap Analysis : มองหาช่องว่างในตลาดที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม โดยวิเคราะห์ข้อเสนอและข้อจำกัดของคู่แข่ง เพื่อหาจุดแข็งและโอกาสสร้างความแตกต่าง
  • Scalability : พิจารณาความสามารถในการขยายธุรกิจและการเติบโตของสินค้า โดยเลือกสินค้าที่มีโอกาสพัฒนาหรือสร้างรายได้ระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ตามกระแสชั่วคราว
  • สร้างแบรนด์ (Branding)

แบรนด์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลโก้หรือชื่อสินค้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ จึงควรมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ที่มีความจริงแท้ (Authentic) และสอดคล้องกับค่านิยม (Values) ของกลุ่มเป้าหมาย โดยคำนึงถึงองค์ประกอบต่อไปนี้

  • Brand Identity : ควรพัฒนา Tone of Voice และ Visual Style ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยใช้ตัวอักษร สี และภาพที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอบนทุกช่องทาง
  • Brand Story : สร้างเรื่องราวของแบรนด์เพื่อนำเสนอที่มาของธุรกิจ แนวคิดหลัก และคุณค่าที่แบรนด์ต้องการส่งมอบ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงและอารมณ์ร่วมกับลูกค้า
  • Customer-Centric : แสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับลูกค้า ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และการให้บริการที่เหนือความคาดหวัง
  • สร้างเว็บไซต์ (Building Your Website)

เว็บไซต์คือด่านแรกที่ลูกค้าจะเห็นจากธุรกิจของคุณ ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการออกแบบ UX/UI ที่ใช้งานง่ายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ใช้ (User Experience) โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่อไปนี้

  • Mobile-First Design : เนื่องจากกว่าครึ่งของการซื้อขายออนไลน์ในปัจจุบันเกิดขึ้นบนอุปกรณ์มือถือ การออกแบบเว็บไซต์จึงควรให้ความสำคัญกับการใช้งานบนหน้าจอขนาดเล็กเป็นอันดับแรก
  • Site Speed : ใช้เครื่องมือเช่น Google PageSpeed Insights เพื่อตรวจสอบความเร็วของเว็บไซต์และปรับปรุงให้โหลดเร็วที่สุด เนื่องจากความล่าช้าของการโหลดเพียงไม่กี่วินาทีอาจทำให้ลูกค้าออกจากเว็บไซต์ได้
  • SEO Optimisation : พัฒนาเนื้อหาที่มีคำสำคัญ (Keywords) ที่เหมาะสม เพื่อให้เว็บไซต์ติดอันดับในผลการค้นหาบน Google ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือและการเข้าถึงลูกค้าใหม่
  • เลือกช่องทางการขาย (Choosing the Right Sales Channels)

การเลือกช่องทางการขายใน E-Commerce ควรพิจารณาทั้งปัจจัยด้าน การควบคุม และ การเข้าถึง กลุ่มเป้าหมาย โดยอาจเลือกใช้การขายบนเว็บไซต์ของตัวเองร่วมกับ Marketplace เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละช่องทางมีข้อดีดังนี้

  • Owned Channels : การขายผ่านเว็บไซต์ของตัวเองจะช่วยให้คุณควบคุมแบรนด์ การตลาด และข้อมูลลูกค้าได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังสร้างประสบการณ์ที่ปรับแต่งได้เฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
  • Third-Party Marketplaces : การใช้แพลตฟอร์มเช่น Shopee หรือ Lazada ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าจำนวนมากได้ทันที แม้จะต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ค่าคอมมิชชัน
  • ทำการตลาด (Marketing Your Products)

การตลาดสำหรับ E-Commerce ต้องมีกลยุทธ์ที่รอบคอบและวัดผลได้ โดยแนะนำให้ใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • Content Marketing : การสร้างเนื้อหาที่มีประโยชน์ เช่น บทความ วิดีโอแนะนำสินค้า หรือรีวิวสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า
  • Social Media Advertising : ใช้แพลตฟอร์มเช่น Facebook, Instagram หรือ TikTok เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและสร้างการรับรู้แบรนด์ โดยอาจใช้ Lookalike Audiences เพื่อหาลูกค้าใหม่ที่มีพฤติกรรมคล้ายกับลูกค้าปัจจุบัน
  • Email Marketing : ใช้เครื่องมือเช่น Mailchimp หรือ Klaviyo ส่งโปรโมชันและอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าใหม่ไปยังลูกค้าเดิม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวและกระตุ้นการซื้อซ้ำ
  • บริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)

ควรใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการสินค้าคงคลัง เช่น TradeGecko หรือ Zoho Inventory เพื่อช่วยติดตามสต๊อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

  • Real-Time Monitoring : ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของสินค้าแบบทันที ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าหมดหรือค้างสต๊อก
  • Demand Forecasting : วิเคราะห์แนวโน้มการขายในอดีตเพื่อคาดการณ์ความต้องการในอนาคต ช่วยลดความเสี่ยงจากการสั่งสินค้ามากหรือน้อยเกินไป
  • ให้บริการลูกค้า (Customer Service)

การให้บริการลูกค้าที่ดีเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความพึงพอใจและความจงรักภักดีจากลูกค้า นอกจากการบริการที่รวดเร็วแล้ว การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการลูกค้าได้ ดังนี้

  • Live Chat & AI Chatbots : นำระบบ Live Chat หรือ Chat Bot อัจฉริยะมาใช้เพื่อตอบคำถามลูกค้าแบบทันที ช่วยลดเวลารอคอยและเพิ่มความพึงพอใจ
  • Omni-Channel Support : จัดเตรียมช่องทางการบริการที่หลากหลาย เช่น โซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ และอีเมล เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสำหรับลูกค้า

 

E-Commerce คือธุรกิจที่กำลังเติบโตในโลกดิจิทัล

สรุป

แต่ละขั้นตอนที่กล่าวมาเป็นปัจจัยสำคัญที่คุณควรให้ความสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจ E-Commerce แต่อย่าลืมว่าเทคโนโลยีและตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรอัปเดตความรู้และพัฒนาธุรกิจของคุณอย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จในระยะยาว

อยากให้ธุรกิจเติบโต แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไรดี ปรึกษา Primal ได้เลย เราคือเอเจนซีการตลาดชั้นนำของเมืองไทยที่มีประสบการณ์ด้าน E-Commerce SEO สำหรับลูกค้าทั้งแบรนด์เล็กและแบรนด์ใหญ่ เราพร้อมช่วยคุณวางกลยุทธ์การตลาดที่เห็นผลลัพธ์ได้ เพิ่มยอดขาย ทำกำไร จนธุรกิจของคุณเติบโตอย่างยั่งยืน

สนใจเติบโตไปพร้อมกับเรา กรอกรายละเอียดเพื่อให้ทีมกลยุทธ์ของเราติดต่อกลับได้เลยตอนนี้ !