กลยุทธ์ Gamification ที่หยิบการเล่นเกมมาช่วยเพิ่มยอดขาย

แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ผลกระทบจากการต้องกักตัวและเว้นระยะห่างในสังคม (Social Distancing) ก็ทำให้พฤติกรรมของผู้คนยุคนี้เปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย โดยผลสำรวจเผยว่า การที่ผู้คนต้องแยกตัวออกจากสังคมและครอบครัว ทำให้พวกเขามีอารมณ์โดดเดี่ยว เบื่อง่าย และที่สำคัญถูกจูงใจด้วยความตื่นเต้นและท้าทายได้ง่ายมากกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้เอง แบรนด์จึงจำเป็นต้องปรับแผนการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายแบรนด์ใช้แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี คือการหยิบเอา “การเล่นเกม” มาปรับใช้กับธุรกิจ จนเกิดเป็นกลยุทธ์ “Gamification Marketing” หรือการออกแบบกิจกรรมทางการตลาดให้คล้ายกับการเล่นเกม เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้

กลยุทธ์ Gamification Marketing จะสร้างความสนุกให้ผู้บริโภคและสร้างยอดขายให้แบรนด์ได้อย่างไร เรามาทำความรู้จักกับกลยุทธ์ที่น่าสนใจนี้ไปพร้อมกัน!

 

ทำความรู้จัก Gamification Marketing คืออะไร?

นอกจากจะเป็นช่องทางหนีโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว การเล่นเกมยังสามารถช่วยกระตุ้นฮอร์โมนอะดรีนาลิน ทำให้รู้สึกสนุกตื่นเต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจำนวนมากเสพติดความรู้สึกนี้ และพร้อมที่กระโจนไปร่วมสนุกกับการเล่นเกมได้ทุกเมื่อ ทำให้หลาย ๆ แบรนด์หยิบยกองค์ประกอบการเล่นเกมมาประยุกต์ใช้ทำการตลาด เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ถ้าจะให้นิยามง่าย ๆ Gamification Marketing คือ การออกแบบกิจกรรมทางการตลาดให้มีลักษณะคล้ายกับการเล่นเกม โดยอาจมีการให้คะแนน จัดอันดับ รวมถึงอาจเดิมพันด้วยการให้ของรางวัลสำหรับผู้ชนะ ซึ่งการใช้องค์ประกอบของเกมมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดนี้ จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย และอยากจะเอาชนะ โดยตัวอย่างการใช้ Gamification Marketing ก็อย่างเช่น การทำกงล้อหมุนลุ้นรับรางวัล การเล่นเกมเกี่ยวกับแบรนด์เพื่อสะสมเหรียญแล้วนำเหรียญที่สะสมได้ไปเป็นส่วนลดหรือแลกเป็นสินค้า หรือแม้แต่การเล่นเกมชิงรางวัลง่าย ๆ ทายเลข/ชื่อ ในช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อแลกรับคูปองส่วนลด เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบัน Gamification กับการตลาด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคเกิดความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) มีความเชื่อมต่อและผูกพันกับแบรนด์ ส่งเสริมยอดขาย หรือแม้แต่การสร้างการรับรู้ (Awareness) ก็ได้เช่นกัน


gamification คือ

ทำไม Gamification Marketing ถึงตอบโจทย์การทำธุรกิจออนไลน์ในยุคนี้!

แม้ดูเหมือนเป็นการเล่นเกมธรรมดา ๆ  แต่แท้จริงแล้วกลยุทธ์ Gamification Marketing สามารถสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์ และประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในยุคแห่งโลกดิจิทัลได้มากกว่าที่คิด แต่อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ เรารวบรวม 5 เหตุผลสำคัญมาให้แล้ว!

1.   ผู้คนผูกพันกับเกมมาตั้งแต่เด็ก

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกมเป็นภาพแทนความสนุกและความบันเทิงที่ผู้คนหาได้ตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ เกมถูกใช้เป็นทั้งของรางวัล เครื่องมือฆ่าเวลา หรือแม้แต่กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ว่าใครก็รู้สึกผูกพันกับเกม และมองสิ่งนี้เป็นความสุขและความสนุกอยู่เสมอ

แล้วยิ่งในยุคแห่งโลกดิจิทัล เกมสามารถเข้าถึงได้ง่ายแม้แต่ในหน้าจอมือถือ ดังนั้น การทำการตลาดโดยใช้ Gamification Marketing จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคและได้ผลดีกับแบรนด์อย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นช่องทางที่ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายและสะดวกแล้ว ความสนุกของเกมยังสร้างความรู้สึกเชิงบวก ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากทำกิจกรรมซื้อ-ขายกับแบรนด์ต่อไปได้ด้วย

2.   มนุษย์เสพติดการเอาชนะ

อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ Gamification Marketing ได้ผลอย่างมากก็คือ การตัดสินแพ้ชนะที่มีอยู่ในเกม! เนื่องจากตามหลักจิตวิทยา มนุษย์มักมีสัญชาตญาณชอบเอาชนะอยู่แล้ว แล้วหากใช้รางวัลหรือการลงโทษก็จะสามารถช่วยกระตุ้นให้พวกเขาทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การใช้กลยุทธ์นี้ควบคู่ไปกับการให้ของรางวัล จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายสนใจแบรนด์และสินค้ามากขึ้นไปโดยปริยาย

3.   ความสนุกดึงดูดผู้บริโภคได้มากกว่า

แน่นอนว่าในยุคแห่งเทคโนโลยี ผู้บริโภคเสพติดความรวดเร็วและไม่ได้มีสมาธิจดจ่อกับอะไรได้นาน ดังนั้นถ้าแบรนด์มัวแต่ทำคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลล้วน ๆ โดยไม่มีกิมมิคหรือความสนุกสนานผสมอยู่เลย ก็อาจทำให้พวกเขาเบือนหน้าหนีหรือแม้แต่หันไปหาคอนเทนต์ของแบรนด์คู่แข่งที่น่าสนใจมากกว่า

ด้วยเหตุนี้เอง การนำกลยุทธ์ Gamification Marketing มาปรับใช้จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้แบบสุด ๆ เพราะนอกจากจะดึงดูดให้พวกเขารับสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสารผ่านเกมได้แล้ว หากแบรนด์สามารถนำเสนอเกมให้มีกิมมิคน่าสนใจ ก็จะช่วยดึงให้ลูกค้าอยู่กับคอยเทนต์ของแบรนด์ได้นานขึ้น จนนำไปสู่การสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาวได้

4.   ปฏิสัมพันธ์ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการซื้อ-ขาย

เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี ทำให้ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าหลายคนหันมาทำธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น สิ่งนี้แม้จะช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ก็อาจทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าที่เคยเกิดขึ้นตอนซื้อหน้าร้าน ขาดหายตามไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ Gamification Marketing จึงเป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในยุคนี้อย่างมาก! เพราะการใช้เกมเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์การตลาดจะช่วยให้ลูกค้าอยากใช้เวลากับแบรนด์ สามารถรับรู้ข่าวสารของแบรนด์แบบไม่ถูกยัดเยียดและเต็มใจ และหากแบรนด์หลอมรวมเกมและคอนเทนต์ได้ลงตัวมากพอจนลูกค้าประทับใจ พวกเขาก็อาจอยากส่งต่อคอนเทนต์นั้น ๆ ไปยังลูกค้ารายอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้น นี่จึงเป็นเบื้องหลังความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ Gamification Marketing ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคแห่งโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อยากทำ Gamification Marketing ต้องเริ่มอย่างไร?

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองใช้กลยุทธ์ Gamification Marketing มัดใจลูกค้าบ้าง เรารวบรวมหลักการง่าย ๆ มาให้แล้ว ดังนี้

1.   วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

เช่นเดียวกับกลยุทธ์อื่น ๆ ก่อนจะสร้างคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็ควรต้องวิเคราะห์ให้เห็นก่อนว่าพวกเขาเป็นใคร มีข้อมูลประชากรศาสตร์อย่างไร พฤติกรรมการมีส่วนร่วมเป็นแบบไหนและสนใจอะไรเป็นพิเศษบ้าง เพื่อที่จะได้ออกแบบเกมหรือกิจกรรมโดยใช้กลยุทธ์ Gamification Marketing ได้เหมาะสมและตอบโจทย์ความสนใจพวกเขาได้อย่างสูงสุด

2.   วางแผนระบบการเล่นเกม

เมื่อรู้แล้วว่าเราจะทำแคมเปญเพื่อคนกลุ่มไหน ต่อไปก็คือขั้นตอนการวางแผนระบบการเล่นเกม โดยแบรนด์ควรคิดวางแผนอย่างรัดกุมว่าควรสร้างสรรค์เกมให้ออกมาอย่างไร มีกติกาการเล่นเป็นแบบไหน เกณฑ์การตัดสินอะไรที่ช่วยให้ผู้เล่นได้รับรางงัล โดยควรวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้มีความสับสน ไม่อย่างนั้นแล้ว หากกลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าเกมที่ออกแบบมาไม่ยุติธรรมกับพวกเขา หรือไม่สามารถให้สิทธิประโยชน์ได้ตามที่อ้างไว้ พวกเขาก็อาจไม่ประทับใจจนไม่เกิดประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์ได้

3.   ออกแบบให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวางระบบการเล่นเกมแล้ว แบรนด์ยังควรออกแบบเกมโดยยึดหลักให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ด้วย โดยสิ่งนี้จะกระตุ้นความสนุกสนาน การแข่นขัน และที่สำคัญยังช่วยให้กลุ่มเป้าหมายอยากชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันจนสามารถเพิ่มยอดการมีส่วนร่วมได้อีกด้วย 

4.   ตั้งเป้าหมายการทำแคมเปญ

และเมื่อใช้กลยุทธ์ Gamification Marketing มากับปรับใช้กับคอนเทนต์การตลาดเรียบร้อย อย่าลืมตั้งเป้าหมายแคมเปญด้วยว่าแบรนด์ทำแคมเปญนั้นไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อเพิ่มยอดการมีส่วนร่วม เพิ่มยอดขาย ฯลฯ เพราะเมื่อตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจน หลังแคมเปญเสร็จสิ้นจะได้สามารถวัดผล และนำไปปรับใช้กับแคมเปญต่อ ๆ ไปให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นมากกว่าเดิม

gamification กับการตลาด

สรุป

หากจะบอกว่า กลยุทธ์ Gamification Marketing นั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่หลาย ๆ คนคิดก็คงไม่ผิดนัก และหากแบรนด์ไหนต้องการหยิบกลยุทธ์นี้ไปใช้จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำสเกลให้ใหญ่โต เพียงนำมาปรับให้เหมาะกับธุรกิจของตนเองก็พอแล้ว โดนสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในช่องทางใดก็ได้ เช่น ผ่านคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดีย การสะสมแต้มแบบ E-Stamp หรือแม้แต่ในแอปพลิเคชัน เพียงแต่อย่าลืมใส่องค์ประกอบของความสนุกเข้าไปด้วย เท่านี้ก็สามารถกระตุ้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมได้แล้ว

แต่กลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจไม่ได้มีเพียงแค่นี้เท่านั้น หากผู้ประกอบการคนไหนสนใจนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาปรับใช้ในธุรกิจก็สามารถติดต่อ Primal Digital Agency ของเราได้เลย เราพร้อมอัปเดตเทรนด์การตลาดและวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณมากที่สุด ถ้าพร้อมแล้วก็ปรึกษาเราได้เลยตอนนี้!