อยากทำงาน Digital Marketing เตรียมตัวอย่างไร ใช้ทักษะใดบ้าง

ในยุคสมัยที่ทุกสิ่งขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) เช่นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอาชีพที่กำลังมาแรงที่สุดคือ นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) เห็นได้จากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สายงาน Digital Marketing มีความต้องการพนักงานเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เครื่องมือการตลาด เทคโนโลยี ตลอดจนเทร็นด์ต่าง ๆ ในสังคม ต่างก็แข่งขันกันเพื่อหางาน Digital Marketing บางคนมีทักษะด้านการตลาดอยู่แล้วก็อาจจะฟังดูไม่ยากนัก แต่อีกหลาย ๆ คนที่เพิ่งจบใหม่หรือยังไม่มีประสบการณ์ใด ๆ และมีความสนใจในงานด้านนี้ ก็อาจยังมีคำถามว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลสำหรับคนที่อยากทำงาน Digital Marketing เอาไว้ให้แล้ว !

หางาน Digital Marketing เด็กจบใหม่

หางาน Digital Marketing ต้องเตรียมตัวอย่างไร

เตรียมทักษะที่จำเป็นให้พร้อม

ไม่ใช่แค่การหางาน Digital Marketing เท่านั้น แต่ไม่ว่าเราจะหางานใด ๆ สิ่งแรกที่ทุกคนต้องมีก็คือทักษะที่จำเป็นสำหรับสายงานที่ตนเองอยากทำเสมอ ซึ่งในส่วนของงาน Marketing ก็มีหลายทักษะทีเดียวที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสมัครงาน Digital Marketing ตำแหน่งใด แต่หากพูดถึงทักษะรวม ๆ แล้ว ก็สามารถแบ่งออกเป็นข้อหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้ หากใครกำลังหางาน Digital Marketing อยู่ แนะนำว่าให้ลองเช็กตัวเองก่อนเลยว่ามีทักษะเหล่านี้หรือไม่

  • ทักษะการใช้โซเชียลมีเดีย – เพราะการตลาดดิจิทัลมีความเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, Instagram, Twitter, TikTok หรือ LINE ส่งผลให้การเข้ามาทำงานในวงการนี้จึงต้องอาศัยทักษะการใช้งานโซเชียลมีเดียด้วย แต่เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนน่าจะมีทักษะนี้กันอยู่แล้ว เนื่องจากเดี๋ยวนี้ไม่ว่าใครก็ต้องมีบัญชีโซเชียลฯ กันอย่างน้อยคนละ 1 แอ็กเคานต์กันทั้งนั้น
  • มีความคิดสร้างสรรค์ – การจะเป็นนักการตลาดได้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่เกี่ยวว่าจะทำตำแหน่งเกี่ยวกับการออกแบบหรือไม่ เพราะเราต้องสามารถคิดนอกกรอบ เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย แล้วนำมาทำงานในส่วนที่เรารับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วง
  • ทักษะการสื่อสาร – การอยู่ในแวดวงการตลาดนั้นจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับผู้คนตลอดเวลา ก่อนจะเข้ามาทำงาน Digital Marketing ให้ถามตัวเองก่อนเลยว่าชอบลักษณะการทำงานเป็นทีม หรือชอบสื่อสารกับผู้อื่นหรือไม่ โดยเฉพาะหากเข้ามาสมัครในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ทักษะด้านสังคมอย่างการสื่อสารและการต่อรองจะยิ่งจำเป็นมาก
  • มีความเข้าใจเกี่ยวกับ Search Engine – อาจจะไม่ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานในระดับหนึ่ง เช่น รู้ว่า Search Engine มีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร
  • รู้จักการยิงโฆษณา – เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องเคยเห็น Ads ที่อยู่ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่แค่เคยเห็นไม่พอ หากอยากทำงาน Digital Marketing เราต้องเข้าใจด้วยว่าทำไมเราจึงเห็นโฆษณาเหล่านั้น หรือแม้แต่ระบบเบื้องหลังของการยิงโฆษณาเป็นอย่างไร
  • ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ – เพราะการตลาดมีเรื่องราวใหม่ ๆ ให้เราได้ติดตามและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อะไรที่วันนี้เราคาดไม่ถึงว่าจะมี พรุ่งนี้อาจจะมีก็ได้ ดังนั้น การจะเป็นนักการตลาดที่ดีได้ต้องเปิดใจเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และคอยอัปเดตเทร็นด์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์เสมอ
  • ทักษะการวิเคราะห์ – ในยุคการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) เราต้องรู้จักนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์และนำไปวางแผนการตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ
  • ใช้อีเมลให้เป็น – แม้จะเป็นเครื่องมือเก่า แต่สมัยนี้ก็ยังใช้อีเมลทำการตลาดอยู่ หรือที่เรียกว่าการตลาดอีเมล (Email Marketing) เราจึงต้องมีทักษะการใช้อีเมลอยู่พอสมควร และจะดีมากหากทำความเข้าใจมาด้วยว่าการตลาดอีเมลทำอย่างไรและมีความสำคัญอย่างไร

เลือกสายงานที่สนใจ

สายงาน Digital marketing สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่ Generalist และ Specialist ดังนี้

สายงานประเภท Generalist

Generalist คือคนที่สามารถทำหลาย ๆ อย่างได้ดี มีความรู้แบบกว้าง ๆ ไม่ได้เชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเช่น

  • Account Manager (AM) หรือ Account Executive (AE) ซึ่งนอกจากจะต้องใช้ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์และการนำเสนองานกับลูกค้าแล้ว ยังต้องมีความรู้พื้นฐานที่เป็น Hard Skills ของ Digital Marketing ด้วย
  • Project Manager (PM) ที่ถึงจะเน้นเรื่อง Soft Skills คล้าย ๆ กับตำแหน่ง AM และ AE แต่ก็ต้องรู้จักภาษาโปรแกรมเป็นอย่างดี เช่น มีความรู้เรื่อง Domain หรือ Hosting รวมถึงระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ เป็นต้น
  • Sales – ตำแหน่งนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะมีอยู่ในองค์กรทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่บริษัท Digital Marketing เท่านั้น โดยลักษณะจะคล้าย ๆ กับ AM และ AE คือมีการประสานงานกับลูกค้าอยู่เป็นประจำ คนที่สมัครงานตำแหน่งนี้จึงต้องมีทักษะการสื่อสารเป็นอย่างดี และที่สำคัญคือเป็นตำแหน่งที่ต้องทำยอด ทำให้ต้องมีทักษะการขายด้วย
  • Media Planner – ตำแหน่งนี้ต้องมีทักษะความรู้ด้านการใช้สื่อต่าง ๆ บนโลกออนไลน์และคอยอัปเดตเทร็นด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้วางแผนการใช้สื่อแต่ละช่องทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • Digital Marketing Manager – เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ต้อง “เป็นเป็ด” ของจริง เพราะต้องดูภาพรวมของงาน Digital Marketing ทั้งหมด ตลอดจนต้องคอยประสานงานกับแต่ละฝ่ายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า Generalist คือสายงานที่เก่งรอบด้านมาก ๆ โดยทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องมีจะเน้น Soft Skills เป็นหลัก แต่หากมี Hard Skills ด้วยก็จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงได้เปรียบกว่าคนอื่น ๆ ในตำแหน่งเดียวกันด้วย

สายงานประเภท Specialist

ในขณะที่ Generalist คือคนที่มีทักษะความรู้แบบกว้าง ๆ แต่ Specialist คือคนที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งไปเลย เช่น

  • Content Writer – ถือเป็นงานที่กำลังได้รับความนิยมมากในสมัยนี้ เพราะไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ที่ทำการตลาดออนไลน์ก็ต้องมีการสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาให้ตนเองได้เป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้บริโภค เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ทุกแบรนด์ขาดไม่ได้เลยทีเดียว ส่วนทักษะที่ควรมีก็ต้องเป็นคนที่สามารถเขียนและเรียบเรียงเนื้อหาออกมาให้ได้น่าสนใจและมีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้อ่าน
  • Graphic Designer – เป็นอีกตำแหน่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ Content Writer นั่นคือ Graphic Designer เพราะนอกจากทุกแบรนด์จะต้องทำคอนเทนต์แล้ว ยังต้องแข่งขันเรื่องกราฟิกกันด้วย ยิ่งแบรนด์ไหนทำได้ดีก็ยิ่งมีโอกาสที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้มาก ดังนั้น คนเป็นกราฟิกดิไซเนอร์จึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทักษะการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น Photoshop, Illustrator, Adobe After Effects, Premiere Pro เป็นต้น
  • SEO Specialist – ตำแหน่งนี้ต้องมีความรู้เรื่องการทำ SEO เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะ On-Page SEO หรือ Off-Page SEO ก็ตาม รวมถึงมีทักษะการทำ Keyword Research เพื่อหาคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาส่งต่อให้ Content Writer นำไปเขียนบทความ SEO ด้วย
  • Developer – นักพัฒนาเว็บไซต์ให้มีศักยภาพ ต้องมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญด้านการเขียนโคด โดยส่วนมากคนที่จะทำงานตำแหน่งนี้ได้จะเป็นคนที่เรียนจบเฉพาะทางมา เช่น สาขาไอที สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • Outreach Specialist – ในการทำ SEO ให้มีประสิทธิภาพ จะต้องอาศัยการทำ Backlink จากภายนอกเว็บไซต์ด้วย กล่าวคือ เป็นการติดต่อเว็บไซต์อื่น ๆ ให้สร้าง Backlink โยงกลับมาหาเว็บไซต์เราเพื่อให้เราได้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยผู้ที่รับหน้าที่หาเว็บไซต์ที่เหมาะสมแก่การทำ Backlink จะเป็น Outreach Specialist ดังนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Backlink แล้ว ยังต้องมีทักษะการสื่อสารด้วย
  • Ad Operations Specialist – ตำแหน่งนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องการยิงโฆษณาบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ โดยจะต้องรู้ว่าควรตั้งค่าอย่างไรให้โฆษณามีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเรื่องงบประมาณในการโฆษณาด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สายงานของ Specialist จะต่างจาก Generalist ตรงที่เน้น Hard Skills มากกว่า Soft Skills แต่อย่างไรก็ตาม สายงานทั้งสองประเภทอาจมีตำแหน่งอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก หรือไม่ก็เป็นตำแหน่งเดียวกันแต่คนละชื่อ หน้าที่ก็อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับบริษัทนั้น ๆ ว่ามีรูปแบบองค์กรเป็นอย่างไร

เลือกบริษัทที่อยากทำ

เป้าหมายการทำงานของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของเราว่าต้องการพัฒนาตนเองในเรื่องใด และบริษัทแบบไหนที่เข้าไปแล้วชีวิตการทำงานของเราจะก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งพอพูดถึงงาน Digital Marketing แล้ว หลายคนอาจนึกถึงการทำงานในเอเจนซีโฆษณาอย่างเดียว แต่ความจริง ในสายงาน Digital Marketing นั้นสามารถแบ่งรูปแบบองค์กรออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

บริษัท In-House Marketing

In-House Marketing คือ การที่เราเข้าไปเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดให้องค์กรธุรกิจทั่วไปที่มีสินค้าหรือบริการเป็นของตนเอง โดยหน้าที่ของพนักงานฝ่ายการตลาดก็คือการดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตลาดของแบรนด์ ซึ่งอาจจะแบ่งไปตามตำแหน่งย่อย ๆ ในทีม เช่น Content Writer, Graphic Designer, Marketing Manager, Social Media Admin เป็นต้น ส่วนฝ่าย Sales ส่วนมากจะแยกออกเป็นอีกทีมหนึ่งไปเลย

ข้อดีของการทำ In-House Marketing
  • ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งแบบเชิงลึก เพราะเราทำงานให้กับบริษัทเดียว เช่น หากเราเป็นฝ่ายการตลาดให้กับบริษัทนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ เราก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์โดยละเอียด ไม่ใช่แค่ความรู้ด้าน Digital Marketing เพียงอย่างเดียว
  • ได้ทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ โดยเฉพาะหากเราไปเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดให้กับธุรกิจที่ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากจนมีจำนวนพนักงานเยอะ ก็มีโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ถือเป็นทักษะและประสบการณ์ที่จะช่วยให้เราเติบโตในสายงานได้มากขึ้น เพราะถึงเราจะเชี่ยวชาญด้านการตลาด แต่เราก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของทีมอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี การเป็นพนักงาน In-House Marketing ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากหากในอนาคตเราต้องการเอาประสบการณ์ที่มีไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็อาจจะทำได้ยาก เช่น หากเราอยู่ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มาตลอด แต่วันหนึ่งอยากจะเปลี่ยนไปทำงานสายอีคอมเมิร์ซ ก็อาจทำให้ไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีได้อย่างเต็มที่

บริษัท Digital Agency

Digital Agency คือ องค์กรที่ให้บริการคำปรึกษาและวางแผนการตลาดแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ เช่น “Primal” เองก็ถือเป็น Digital Agency เช่นเดียวกัน ซึ่งการทำงานในเอเจนซีถือว่าเป็นหนึ่งในงานยอดนิยมที่เด็กจบใหม่ยุคนี้มองหาเป็นอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว เพราะมี Career Path ที่ดี มีโอกาสเติบโตได้สูง ทั้งยังช่วยให้เราได้รับประสบการณ์ด้านการตลาดแบบเต็ม ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม เพราะเอเจนซีคือองค์กรที่ให้บริการด้านการตลาด และทุกคนที่เข้ามาทำงานในเอเจนซีก็เพื่อ “ทำการตลาด” ให้ลูกค้าแต่ละรายนั่นเอง

ข้อดีของการทำงาน Digital Agency
  • ได้ทักษะและประสบการณ์ที่หลากหลาย ข้อนี้จะตรงข้ามกับการทำ In-House เพราะ Digital Agency ไม่ได้โฟกัสแค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น แต่เราจะมีลูกค้าที่เป็นธุรกิจหลากหลายประเภท ยิ่งเอเจนซีใหญ่ ๆ ก็จะยิ่งได้เรียนรู้อะไรใหม่ตลอดเวลา สำหรับคนที่รักความท้าทายและไม่ชอบทำงานแบบจำเจ การทำงาน Digital Marketing ในเอเจนซีถือว่าตอบโจทย์มาก
  • ได้ร่วมงานกับคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจริง ๆ อย่างที่บอกไปว่า Digital Agency คือบริษัทที่ให้บริการด้านการตลาด ดังนั้น การจะคัดเลือกคนเข้ามาทำงานจึงต้องเลือกจากคนที่มีความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดีสำหรับสาย Specialist ส่วนสาย Generalist ก็ควรมีทักษะที่เหมาะกับตำแหน่งที่ตนเองสมัคร และมีใจพร้อมที่จะเรียนรู้งานด้านนี้อย่างเต็มเปี่ยม รับรองว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ ที่สามารถมอบประสบการณ์การทำงานที่ยอดเยี่ยมแก่เราได้อย่างแน่นอน

อยากทำงาน Digital Marketing ต้องเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง

การตลาดบนโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบัน การทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียมีความสำคัญมากทุกแพลตฟอร์ม ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้น ๆ โฟกัสกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ถึงจะมีแพลตฟอร์มที่ธุรกิจใช้เป็นหลัก เราก็ควรเรียนรู้การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย เพราะการใช้แค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งอาจทำให้เราล้าหลังคู่แข่งได้ สมัยนี้ การอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้ได้มากที่สุดถือเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องทำให้ได้ และการจะเรียนรู้เกี่ยวกับการตลาดบนโซเชียลฯ ได้นั้น เราต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้เรารู้วิธีโปรโมตแบรนด์ที่เหมาะสม รู้ว่าผู้ชมต้องการจะเห็นอะไร แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนการตลาดให้ผลลัพธ์เป็นไปตามที่ธุรกิจมุ่งหวัง

วิธีใช้เครื่องมือทางการตลาด

ในการทำการตลาดออนไลน์ เรามีเครื่องมือ (MarTech) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น เครื่องมือสำหรับ Facebook Ads, Google Ads รวมถึงโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้สมัครตำแหน่งที่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้โดยตรง แต่การรู้ไว้ก็ถือเป็นภาษีที่ดีกว่า เพราะจะทำให้เราดูมีทักษะที่เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ ได้

ความรู้ด้านการตลาดพื้นฐาน

การตลาดไม่ใช่เรื่องยากและเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ดังนั้น ก่อนจะสมัครงาน Digital Marketing ก็ควรหาความรู้การตลาดขั้นพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจแบบคร่าว ๆ ก่อน บางบริษัทอาจจะไม่ได้ต้องการคนที่เก่งที่สุด แต่ต้องการคนที่มีความกระตือรือร้นและพร้อมจะเรียนรู้มากที่สุด การที่เราไม่เคยทำงาน Digital Marketing มาก่อน แต่แสดงให้บริษัทเห็นว่าเราได้ศึกษาหาข้อมูลมาก่อนจะมาสัมภาษณ์ จะทำให้เราดูมีแพสชันและสร้างความประทับใจแก่บริษัทมากขึ้น โดยปัจจุบัน มีคอร์สเรียนการตลาดออนไลน์ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนได้ เมื่อเรียนจบจะมีใบประกาศนียบัตรให้ ซึ่งสามารถนำไปเป็นเครื่องการันตีว่าเราได้ผ่านการเรียนคอร์สออนไลน์กับสถาบันนั้น ๆ มาแล้วได้

วิธีการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้น่าสนใจ

ทุกคนที่กำลังหางาน Digital Marketing สามารถเรียนรู้เรื่องนี้ด้วยตนเองได้ ไม่ว่าจะสมัครเข้ามาในตำแหน่ง Content Writer หรือ Graphic Designer หรือไม่ก็ตาม เพราะ Content Marketing คือหัวใจสำคัญของการตลาด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมาก ๆ ในอนาคต ซึ่งเราอาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานประเภทนี้โดยที่ไม่ได้แพลนมาก่อนก็ได้ ดังนั้น เราควรจะรู้ว่าคอนเทนต์รูปแบบใดที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ตลอดจนรู้ว่าคอนเทนต์แบบใดที่ควรหลีกเลี่ยง

เทร็นด์การตลาดในช่วงนั้น ๆ

เพราะเทร็นด์ในสังคมของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน หรือบางทีอาจจะนับเป็นหน่วยชั่วโมงด้วยซ้ำ ตอนนี้เป็นเรื่องนี้ อีกแป๊บก็เป็นเรื่องใหม่ ฉะนั้น ถ้าอยากหางาน Digital marketing เราจึงจำเป็นต้องอัปเดตเทร็นด์ต่าง ๆ อยู่เสมอ รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและโฆษณาด้วย โดยส่วนนี้เราสามารถไปกดติดตามในเพจต่าง ๆ ที่ให้ความรู้ด้านการตลาดบน Facebook หรือ X (Twitter) ได้ เพราะงานสายนี้ต้องตามให้ทันกระแสสังคมที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ด้วยความที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการโปรโมต ส่งผลให้ใครเร็วกว่า คนนั้นก็ได้เปรียบกว่า เพราะผู้ใช้งานมักจะให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่ถูกเผยแพร่เป็นที่แรกเสมอ

การทำ SEO

มาถึงส่วนที่สำคัญมาก ๆ นั่นก็คือการทำ SEO ที่นักการตลาดทุกคนจะไม่รู้จักไม่ได้ โดยการทำ SEO หรือ Search Engine Optimisation คือการปรับแต่งเว็บไซต์ให้ตรงตามเกณฑ์ของ Google เพื่อดันให้เว็บไซต์ขึ้นไปอยู่อันดับแรก ๆ บนหน้าผลการค้นหา อันจะช่วยให้เว็บไซต์ของเราถูกมองเห็น มีความน่าเชื่อถือ และเพิ่มโอกาสที่ผู้ใช้งานจะคลิกเข้ามามากขึ้น เพราะเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ข้างบนคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ทุกธุรกิจจึงต้องแข่งขันกันทำ SEO อย่างหนักหน่วง และเรื่อง SEO ก็กลายเป็นสิ่งที่นักการตลาดทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม

 

สรุป

ดังนั้น การทำงานในสาย Digital Marketing แม้เป็นเด็กจบใหม่ หรือไม่ได้จบตรงสายก็สามารถทำได้ เพียงแค่มีความรู้ความเข้าใจในด้านการตลาดพื้นฐาน และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่ก่อนอื่น เราต้องรู้จักตนเองให้ดีพอว่ามีความถนัดในด้านใดบ้าง และศึกษาเรื่องนั้น ๆ ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะเตรียมตัวเพื่อหางาน Digital Marketing เพราะองค์กรที่รับสมัครงานจะไม่ปล่อยให้บุคคลที่มีความสามารถอย่างแท้จริงหลุดมือไปอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม Primal Digital Agency ของเราเองก็กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจอยากทำงาน Digital Marketing อยู่เช่นกัน โดยสามารถเข้าไปดูตำแหน่งงานว่างได้ที่ สมัครงาน Digital Marketing ได้เลย!