เข้าใจทักษะ Digital Literacy ความสามารถที่ช่วยให้องค์กรพัฒนา
เมื่อโลกของเราเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว ส่งผลให้ “ความเร็ว” เป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของการทำงาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครที่มีความเร็วมากกว่า ผู้นั้นมักได้เปรียบในวงการธุรกิจเสมอ และความเป็นดิจิทัลนี้ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต ดังนั้น คนทำงานและองค์กรจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมรับกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านชีวิตประจำวันหรือด้านการทำงานก็ตาม
ยิ่งในขณะนี้ เรียกได้ว่าเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนแทบจะทุกมิติตั้งแต่ลืมตาตื่นยันเข้านอนเลยทีเดียว ทำให้การมีทักษะด้านดิจิทัลเพื่อปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformaion และรองรับความหลากหลายของเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งทักษะดังกล่าวก็คือ “ทักษะ Digital Literacy“ ที่กำลังจะอธิบายดังต่อไปนี้นั่นเอง
Table of Contents
ทักษะ Digital Literacy คืออะไร?
สมัยนี้ ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในการทำงานกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากช่วงโรคระบาด ที่สังคมปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุค New Normal แล้ว หลาย ๆ องค์กรก็ปรับตามโดยการให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work From Anywhere) ซึ่งการทำงานในรูปแบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง เพื่อเชื่อมทุกคนที่อยู่ต่างสถานที่เข้าด้วยกัน และเพราะแบบนั้นเอง เราจึงจำเป็นต้องมีทักษะ Digital Literacy เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด
ทักษะ Digital Literacy คือ ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด จัดเป็น Digital Skill ที่จำเป็นต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถงานดิจิทัลในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ ทักษะ Digital Literacy ยังเป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติงาน สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมนำเสนองาน การใช้ Zoom, Google Meet หรือ MS Team เพื่อทำงานหรือประชุมออนไลน์ ตลอดจนการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่เช่นนั้น องค์กรก็จะปรับสภาพตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ทัน และทำให้ล้าหลังกว่าคู่แข่งได้
หากจะพูดถึงสายงานที่ต้องการทักษะด้านดิจิทัลที่เฉพาะทางขึ้นไปอีก ได้แก่ สายงาน Digital Marketing ที่พนักงานจำเป็นต้องมีความเข้าใจและความสามารถในการใช้เครื่องมือพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับการทำงานด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลผู้เข้าชมเว็บไซต์ผ่าน Google Analytics การทำ SEO (Search Engine Optimization) การยิงโฆษณาผ่าน Google Ads รวมถึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือวางกลยุทธ์การตลาดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับสายงาน Digital Marketing เพิ่มเติม : อยากทำงาน DIGITAL MARKETING เตรียมตัวอย่างไร ใช้ทักษะใดบ้าง?
ดังนั้น หากเราอยู่ในยุคดิจิทัลเช่นนี้แต่ไม่มีทักษะด้านดิจิทัลเลย ก็จะส่งผลให้การทำงานมีอุปสรรค ประสานงานยากขึ้น ตลอดจนทำให้งานมีความล่าช้า ไม่ทันใจ สิ่งที่นักธุรกิจควรทำจึงเป็นการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ รวมถึงเตรียมพร้อมพนักงานในองค์กรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้องค์กรของตนเองมีความทันสมัย และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
Digital Skill มีกี่ด้าน?
หากถามว่า Digital Skill มีกี่ด้าน คำตอบอาจจะมีได้หลากหลาย เพราะความเป็นดิจิทัลนั้นสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ Digital Skill ที่จำเป็นแน่ ๆ ณ ขณะนี้ ประกอบไปด้วยทักษะ 10 ด้าน ได้แก่
ทักษะในการใช้งานโซเชียลมีเดีย
สมัยนี้ ใครไม่มีทักษะด้านโซเชียลมีเดียถือว่า ผิด! เพราะโซเชียลฯ กลายเป็นช่องทางการสื่อสารอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยทักษะที่ว่านั้นก็คือ ความสามารถในการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมาย การยิงโฆษณา การทำคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Instagram, Facebook, Twitter, YouTube ฯลฯ เป็นต้น
ทักษะในการแสดงข้อมูลออกมาเป็นภาพ และการออกแบบดิจิทัล
การนำเอาข้อมูลจากระบบต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนมาทำให้เห็นเป็นภาพ เพื่อวิเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแผนการตลาดขององค์กร หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Data Visualization” นั้น จะทำให้เราสามารถนำข้อมูลเชิงลึกในรูปแบบต่าง ๆ มาออกแบบวิธีการทำให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ดีกว่าการที่ต้องมานั่งอ่านข้อมูลแบบยืดยาว
ทักษะในการทำคอนเทนต์
มีทักษะด้านโซเชียลมีเดียแล้ว จะไม่มีทักษะในการทำคอนเทนต์ไม่ได้! เพราะนอกเหนือจากการรู้ว่าหน้าที่ของโซเชียลมีเดีย อินโฟกราฟิก บล็อก วิดีโอ ทำอะไรได้บ้างแล้ว เรายังต้องรู้จักวิธีบริหารจัดการหรือปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ให้มีความเหมาะสมและดูน่าสนใจในสายตาของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอีกด้วย
ทักษะในการวางกลยุทธ์และการวางแผน
การวางแผนไม่ใช่แค่รู้ว่าจะใช้แพลตฟอร์มไหนและอย่างไร แต่เราต้องจัดการแผนนั้น ๆ ได้อย่างมีกลยุทธ์ กล่าวคือ รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ขั้นตอนต่อไปควรทำอย่างไร และเป้าหมายที่แน่ชัดคืออะไร ซึ่งทักษะนี้ถือเป็นตัวชี้วัดเลยทีเดียวว่าแคมเปญของเราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว และที่สำคัญ อย่าลืมคิดแผนสำรองเอาไว้เสมอเผื่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นด้วย
ทักษะในการเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูล
การมีทักษะด้านความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูลนั้นได้กลายมาเป็น Digital Skill ที่จำเป็นต่อการทำงานบนโลกดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในยุคนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) เราจึงต้องรู้จักนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับใครที่มีทักษะนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นคนที่หลาย ๆ องค์กรต้องการตัวเป็นอย่างมาก และยิ่งมีทักษะด้านการตีความข้อมูลแบบแตกฉาน ก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นบุคคลสำคัญขององค์กรเลยทีเดียว
ทักษะในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล
อุปกรณ์ดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยที่ห้าซึ่งทุกคนขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือ ที่มักใช้ในการรับข้อมูลข่าวสารและสื่อสารกันตลอดเวลา รวมถึงคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กที่จำเป็นต่อการทำงาน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว
ทักษะในการทำ SEO
ไม่ว่าธุรกิจไหน ๆ ในปัจจุบันก็ต้องการทำ SEO เพื่อให้เว็บไซต์ของตนเองติดอันดับต้น ๆ บนหน้าแรกของการค้นหากันทั้งนั้น ส่งผลให้ทักษะการทำ SEO เป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าหากใครมีทักษะนี้จะได้เปรียบกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ เลยทีเดียว
ทักษะในการทำ Pay Per Click
Pay Per Click (PPC) คือการทำโฆษณาที่ถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดบนโลกออนไลน์ มีความคล้ายคลึงกับการทำ SEO แต่มีค่าใช้จ่าย โดยจะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทักษะนี้จึงเป็นอีกหนึ่ง Digital Skill ที่จำเป็นต่อองค์กร
ทักษะการทำวิดีโอ
ในบริบทของความเป็นโลกดิจิทัลนั้น การสื่อสารผ่านภาพและเสียงสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในแง่ของการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และวิดีโอก็เป็นหนึ่งในรูปแบบคอนเทนต์ที่ทรงพลังมาก ๆ แห่งยุคเลยก็ว่าได้ ดังนั้น หากเรามีความเข้าใจในการทำคอนเทนต์ การวางเนื้อเรื่องและองค์ประกอบต่าง ๆ ตลอดจนมีทักษะด้านการตัดต่อวิดีโอ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในสายดิจิทัลเป็นอย่างมาก
ทักษะการทำ E-mail Marketing
แม้ว่าสมัยนี้ โซเชียลมีเดียจะขึ้นแท่นช่องทางการสื่อสารยอดนิยมอันดับหนึ่ง แต่การทำแคมเปญโฆษณารูปแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่ นั่นก็คือการทำ E-mail Marketing กล่าวคือ เป็นการเก็บข้อมูลลูกค้าหรือสมาชิกเพื่อส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ผ่านทางอีเมล เช่น การออกสินค้าใหม่ หรือจดหมายข่าว เป็นต้น เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการสร้างความรำคาญ จึงควรส่งแต่พอดีเท่านั้น
สรุป
ดังที่ได้กล่าวไปว่า เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีแนวโน้มว่าในอนาคต โลกการทำงานของเราจะพัฒนาเข้าสู่โลกดิจิทัลไปอีกขั้นและอีกขั้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ทักษะ Digital Literacy จึงเป็นอีกหนึ่ง Digital Skill ที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม แม้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง หากเราไม่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ทำให้ยากที่จะปรับตัวทัน รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานในภาพรวมขององค์กรอีกด้วย
Join the discussion - 0 Comment