เปรียบเทียบแชตบอต AI ศึกประชันเอไอแห่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก
หลัง ChatGPT แชตบอต AI อัจฉริยะที่สามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ เปิดให้ใช้งานฟรีและมีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปใช้งานกว่า 1 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 5 วัน! ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลาย ๆ แห่งที่ต่างก็นั่งไม่ติดและแห่แหนกันงัดกลยุทธ์หมัดเด็ดมาพัฒนาแชตบอต AI เพื่อโชว์ให้เห็นว่าบริษัทของฉันเองก็มีเทคโนโลยีก้าวล้ำไม่แพ้ใคร
บริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาพัฒนาและแข่งขันในสงครามแชตบอต AI ครั้งนี้ก็มีหลัก ๆ 4 เจ้าใหญ่ด้วยกัน ทั้ง ChatGPT จากบริษัท OpenAI ของไมโครซอฟต์, Google Bard AI จาก Google, Ernie Bot จาก Baidu รวมถึง LLaMA จากบริษัท Meta ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ บอกเลยว่าทุกบริษัทล้วนพร้อมใจกันงัดเทคโนโลยีสุดล้ำมาพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของตนเองให้ฉลาดและตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด ดังนั้น วันนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบแชตบอต AI สุดเจ๋งของทั้ง 4 เจ้ามาให้เห็นกันแบบชัด ๆ บอกเลยว่าฟังก์ชันของแต่ละเจ้า เด็ดไม่แพ้กันแน่นอน!
Table of Contents
แชตบอต AI ตัวช่วยใหม่ที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น
ปัจจุบัน Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากการนำ AI ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งภาคธุรกิจ การแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตร การขนส่ง รวมถึงนำมาใช้ในการสื่อสารและสืบค้นข้อมูล ดังเช่น แชตบอต AI ที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้
แล้วยิ่งในวงการธุรกิจและการทำการตลาดออนไลน์ แชตบอต AI ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ผ่อนแรงผู้ประกอบการและทำให้ผลลัพธ์การตลาดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากการที่ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ จากแชตบอต AI เพื่อสร้างแผนการตลาดแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Personalized Marketing) สามารถใช้แชตบอต AI ช่วยคิดหัวข้อหรือปรับปรุงเนื้อหาคอนเทนต์โซเชียลมีเดียออนไลน์ให้ดีขึ้น หรือแม้แต่ป้อนคำสั่งให้แชตบอต AI ช่วยปรับปรุงคอนเทนต์ SEO ของเราให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในสายตา Google ได้ด้วยเช่นกัน
เปรียบเทียบแชตบอต AI จาก 4 บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของโลก
ด้วยแชตบอต AI มีบทบาทสำคัญต่อโลกยุคนี้! วันนี้เราจึงเปรียบเทียบแชตบอต AI จากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง 4 แห่ง ให้ทุกคนรู้จักพร้อมกันว่าแต่ละเจ้ามีที่มาที่ไป หรือจุดเด่นอย่างไร ที่ช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันได้บ้าง
ChatGPT แชตบอต AI ชื่อดังจาก Microsoft
เริ่มกันที่อันแรกอย่าง ChatGPT แชตบอตปัญญาประดิษฐ์รูปแบบหนึ่งของ GPT-3.5 Language Generation Software ที่ออกแบบและพัฒนาภายใต้ OpenAI ตั้งแต่ปี 2015 ปัจจุบันมีซีอีโอชื่อแซม อัลต์แมน (Sam Altman) และยังมีผู้ร่วมลงทุนหลักอย่างบริษัท Microsoft, Reid Hoffman Foundation และ Khosla Ventures โดย ChatGPT มีหลักการทำงานผสมผสานระหว่าง Machine Learning และความคิดเห็นของมนุษย์ที่เรียกว่า Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) ทำให้สามารถประมวลคำตอบที่ถูกต้องแม่นยำและเป็นธรรมชาติเหมือนคุยกับมนุษย์
จุดเด่น
สิ่งที่ทำให้ ChatGPT พิเศษมากกว่าแชตบอต AI เจ้าอื่นก็คือ เราสามารถสนทนาและสอบถามข้อมูลจาก ChatGPT ได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องวิชาการที่ซับซ้อน ไปจนถึงสอบถามปัญหาชีวิตที่อ่อนไหว พร้อมกันนั้น ChatGPT ยังมีความสามารถในการสร้างสรรค์งานเขียน คิดไอเดียใหม่ ๆ รวมถึงใช้ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องได้ และที่สำคัญ ChatGPT ยังมีเครื่องมือช่วยกรองคำถามสุ่มเสี่ยงและเลี่ยงบทสนทนาที่อ่อนไหว ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเจ้าแชตบอตตัวนี้จะถูกใช้ในทางไม่ถูกไม่ควร หรือถูกนำไปใช้หาประโยชน์ส่วนตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ
ข้อจำกัด
แต่ ChatGPT ก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน! เพราะด้วยมีข้อมูลอัปเดตถึงแค่ปี 2021 ทำให้ ChatGPT ไม่สามารถถามเรื่องใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้มากนัก แล้วคำตอบที่ประมวลออกมายังเป็นเฉพาะรูปแบบข้อความ ไม่สามารถตอบกลับมาด้วยภาพ เสียง วิดีโอ หรือสื่อรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ ChatGPT ก็ยังไม่ได้เก่งภาษาไทยมากนัก ดังนั้น หากต้องการใช้งานให้เวิร์กที่สุดแนะนำให้ถามเป็นภาษาอังกฤษไปก่อนก็อาจจะเข้าใจได้มากกว่า
Google Bard AI ปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำจาก Google
หลัง ChatGPT สร้างประวัติศาสตร์เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นเป็นประวัติการณ์ บริษัทแม่ของ Google จึงเปิดตัว AI ในชื่อ The Google Bard AI มาประชันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาเช่นกัน
Google Bard AI สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี LaMDA หรือ Language Model for Dialogue Applications อันเป็นระบบทำความเข้าใจบทสนทนาต่อเนื่องคล้าย ChatGPT ที่ช่วยให้การพูดคุยโต้ตอบมีลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยความต่างอยู่ที่ ChatGPT ดึงฐานข้อมูลถึงแค่ปี 2021 ในขณะที่ Google ใช้ฐานข้อมูลทั้งหมดมาจากเว็บไซต์จนถึงปัจจุบัน โดย Sundar Pichai ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Google ระบุว่าวิธีการนี้จะทำให้คำตอบที่ Bard มอบให้ผู้ใช้งานเป็น “คำตอบที่สดใหม่และมีคุณภาพสูง” มากกว่า
จุดเด่น
เนื่องจาก Bard ใช้โมเดลภาษา LaMDA และใช้ฐานข้อมูลทั้งหมดจากเว็บฯ ทำให้คำตอบที่ได้ สดใหม่และละเอียดมากกว่าการค้นหาทั่วไป นอกจากนี้ Bard ยังสามารถประมวลผลเรื่องยาก ๆ ให้เป็นคำตอบที่เข้าใจง่าย สามารถสร้างคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ผ่านการใช้เครื่องมือแนะนำคำและประโยค สามารถใช้ประเมินงานเขียนเพื่อฟีดแบ็กให้เราปรับปรุงคอนเทนต์ได้ดีขึ้น สามารถใช้ Bard จัดการวางแผนชีวิตเหมือนปฏิทินชิ้นหนึ่ง รวมถึงสามารถนำแชตบอตตัวนี้ไปใช้งานร่วมกับ Google Meet, Google Doc และ G-mail เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้นได้
ข้อจำกัด
อย่างไรก็ดี การที่ Bard ใช้ฐานข้อมูลทั้งหมดจากเว็บไซต์ในยุคปัจจุบันก็อาจเป็นข้อจำกัดเช่นกัน เพราะคำตอบที่นำมาอาจรวมเอาข้อมูลผิดหรืออคติบางอย่างจากมนุษย์มาโดยไม่ตั้งใจ ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ก็ดราม่าอันล่าสุดที่เกิดขึ้นหลัง Bard ตอบคำถามผิดเกี่ยวกับกล้องโทรทัศน์อวกาศของ James Webb ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าเกือบ 20 ปีที่แล้ว ความผิดพลาดครั้งนี้ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัท Alphabet Inc บริษัทแม่ของ Google ร่วงแรงกว่า 100,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
Ernie Bot แชตบอตจากบริษัทจีนยักษ์ใหญ่ Baidu
ไม่ใช่เพียงฝั่งอเมริกา Search Engine ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Baidu ก็เตรียมเปิดตัวแชตบอต AI ภายใต้ชื่อ Ernie Bot ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ และ Wenxin Yiyan ในเวอร์ชันภาษาจีนเช่นกัน โดย Ernie เป็นชื่อย่อมาจาก Enhanced Representation through kNowledge IntEration ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของบริษัทที่ถูกเริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2019 และเปิดตัวใช้งานตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยตอนนี้เปิดให้ใช้งานเพียงบริษัทที่ลงทะเบียน 650 แห่ง และยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานสำหรับคนทั่วไป
จุดเด่น
ทาง Baidu ได้ระบุว่า Ernie Bot เรียนรู้บนชุดข้อมูลมากกว่า 5.5 ล้านแสนชุด และสามารถเข้าใจภาษาจีนได้อย่างลึกซึ้ง จุดเด่นหลัก ๆ ของ Ernie Bot น่าสนใจไม่แพ้แชตบอต AI ตัวอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเขียนวรรณกรรม, การเขียนคำโฆษณาทางธุรกิจ, การทำพีชคณิต, การเรียนรู้วัฒนธรรมจีน รวมถึงสามารถสร้างคอนเทนต์ได้หลาย ๆ รูปแบบ นอกจากนี้ ยังสามารถตอบคำถามในรูปแบบภาพและวิดีโอได้อีกด้วย
ข้อจำกัด
แม้จะเริ่มพัฒนาครั้งแรกในปี 2019 แต่ความสามารถของ Ernie Bot ก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก โดยทาง Robin Li ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งของ Baidu ได้ออกมายอมรับว่าแม้จะสามารถใส่เนื้อหาภาษาอังกฤษ แต่ความสามารถในการเข้าใจภาษาของ Ernie Bot ยังจำกัดอยู่เพียงภาษาจีน ทั้งจีนกลางและจีนภูมิภาคต่าง ๆ เพียงเท่านั้น อย่างไรก็ดี ทาง Baidu ก็เปิดรับความคิดเห็นต่าง ๆ พร้อมนำไปปรับปรุงให้แชตบอตของพวกเขาตอบโจทย์การใช้งานได้ดีขึ้น
LLaMA แชตบอต AI ตัวล่าสุดจาก Meta Facebook
Meta บริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram ได้จัดตั้งทีมและพัฒนาแชตบอต AI ที่มีชื่อว่า LLaMA หรือที่ย่อมาจาก Large Language Model Meta AI โดยทาง Meta ถึงกับอ้างว่าแชตบอตที่พวกเขาพัฒนาเหนือและเจ๋งกว่าโมเดลภาษา GPT-3 ที่ใช้ใน ChatGPT อย่างไม่ต้องสงสัย
จุดเด่น
แชตบอต LLaMA สามารถสร้างข้อความเพื่อสนทนาโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถพูดคุยสอบถามได้ทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อย่างการขอสูตรอาหาร ไปจนถึงเรื่องยาก ๆ อย่างการให้ช่วยสร้างโค้ดสำหรับโปรแกรมเมอร์ โดย LLaMA มีหลายชุดข้อมูลตั้งแต่ 7 พันล้านพารามิเตอร์ จนถึงชุด 6.5 หมื่นล้านพารามิเตอร์ อันเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ยักษ์ที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของแชตบอตสูงขึ้น
ข้อจำกัด
เนื่องจาก LLaMA เป็นแชตบอต AI ตัวใหม่ล่าสุดของบริษัท Meta จึงยังไม่มีแผนจะนำมาใช้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Facebook และ Instagram นอกจากนี้ LLaMA ยังไม่ได้เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ ทำให้อาจจะยังไม่เห็นข้อจำกัดมากนัก แต่หากมีการทดสอบระบบหรือมีรีวิวจากผู้ใช้งานเมื่อไร เราจะรีบมาอัปเดตให้ทุกคนรู้ทันทีแน่นอน
สรุป
เมื่อนำข้อมูลเปรียบเทียบแชตบอต AI ทั้งหมดมากางให้ทุกคนดู จะเห็นเลยว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ล้วนงัดกลยุทธ์หมัดเด็ดมาเพื่อพัฒนาแชตบอต AI ของตนเองให้ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนทั่วไปมากที่สุดจริง ๆ แต่เส้นทางการพัฒนาแชตบอต AI จะเป็นอย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไปเพราะดูเหมือนว่าการประชันกันครั้งนี้จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น
และสำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจจะนำความรู้เรื่องแชตบอต AI มาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองบ้าง อย่ารอช้า รีบปรึกษา Primal ของเราได้เลย เราเป็นดิจิทัลเอเจนซีที่พร้อมอัปเดตทุกเครื่องมือใหม่ ๆ รับรองว่าแผนธุรกิจของคุณจะต้องทันสมัยและก้าวล้ำตามติดแชตบอต AI แต่ละเจ้าแน่นอน
Join the discussion - 0 Comment