เทรนด์การตลาด SEO, SEM, Social Media จากผู้เชี่ยวชาญในวงการเอเจนซี่
สิ่งที่เราทุกคนได้เรียนรู้กันอย่างมากในปี 2020 ที่ผ่านมานั่นก็คือ “การเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครทันได้ตั้งตัว แน่นอนว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่เราต่างต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ แม้แนวโน้มการตลาดออนไลน์ 2021 ก็เช่นกันที่แม้ว่าหลายอย่างจากปีก่อนๆ ยังคงสามารถนำมาปรับใช้ได้แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่นักการตลาด หรือเจ้าของธุรกิจต้องรู้เอาไว้
บทความนี้เราได้รวบรวมมุมมองและการอัปเดตเทรนด์การตลาด 2021 จากผู้เชี่ยวชาญของเราซึ่งได้มีโอกาสทำงานกับอุตสาหกรรมและธุรกิจมากมาย มาดูกันว่าพวกเขาจะมีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 ไว้อย่างไรบ้าง
Table of Contents
1. แนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 ในฝั่ง SEO
สิ่งที่ลูกค้าควรให้ความสำคัญในการทำ SEO
โดยคุณ ไพลิน – Team Lead, SEO
ในปี 2021 นี้ Core Web Vitals ซึ่งเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพประสบการณ์ผู้ใช้บนหน้าเว็บหรือ User Experience (UX) ของ Google จะมีบทบาทในการทำ SEO มากขึ้นเนื่องจาก Google จำต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นหลัก โดย Core Web Vitals จะถูกนำมาใช้ในการชี้วัดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 เป็นต้นไป
ปัจจัยย่อยที่นำมาสู่คะแนนของ Core Web Vitals นั้นมีหลายองค์ประกอบ อาทิ ความเร็วหน้าเว็บ (PageSpeed), การตอบสนองกับการใช้บนมือถือ (Mobile-Friendly), ระบบความปลอดภัย (HTTPs) หรือพวกโฆษณาก่อกวนต่างๆ (Intrusive Pop Up) ที่ต้องไม่มีมากจนเกินไป โดยนอกเหนือจากการทำคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ด้วยเหตุนี้เองคนทำ SEO และนักพัฒนาเว็บไซต์จึงต้องหันมาให้ความสำคัญและพิถีพิถันกับการออกแบบ UX ยิ่งกว่าเดิมเพราะหากละเลยอาจส่งผลให้เว็บไซต์มีโอกาสที่จะไม่ติดอันดับ Google กันเลยทีเดียวหาก UX ของเว็บไซต์ไม่ตอบสนองต่อการใช้งานบนมือถือเท่าที่ควรจะเป็น
เทคนิคใหม่ๆ ที่คนทำ SEO และนักพัฒนาควรให้ความสำคัญ
โดยคุณ เชษฐ์ – Technical Director
สิ่งสำคัญที่อย่างแรกซึ่งเป็นเรื่องที่เราย้ำอยู่ตลอดนั่นก็คือ “คุณภาพของคอนเทนต์” โดยองค์ประกอบที่คุณต้องใส่ใจเป็นพิเศษเรียกว่า E-E-A-T Checklist
E = Experience ประสบการณ์ของผู้เขียน
E = Expertise ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เขียน
A = Authoritativeness เป็นเจ้าของบทความหรือเนื้อหานั้นๆ (ไม่ได้คัดลอกจากแหล่งอื่น)
T = Trustworthiness ความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์
เรื่องต่อมาที่มองข้ามไม่ได้นั่นคือ BERT (Bidirectional Encoder Representations from Transformer) ซึ่งก็คือ Google (AI) Algorithm โดยจะเป็นการที่ Google จะสามารถเข้าใจคำพ้องความหมาย (Synonyms) ภาษาของมนุษย์ (Natural Language) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคำค้นหาที่เฉพาะเจาะจง (Exact Match) ดังนั้นคนทำคอนเทนต์ก็สามารถใช้ภาษาที่อ่านรู้เรื่องและเป็นธรรมชาติมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้าน SEO อีกทางหนึ่งด้วย
สิ่งสุดท้ายคือ Core Web Vitals ที่จะประกอบด้วย 3 สิ่งคือ
1. Largest Contentful Paint (Loading)
ความเร็วในการดาวน์โหลดคอนเทนต์บนหน้าเว็บไซต์ (ตัวหนังสือ รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ) โดยเป็นการคำนวณจากไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนหน้านั้นๆ ซึ่งคะแนนที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีจะต้องไม่เกิน 2.5 วินาที
2. First Input Delay (Interactivity)
ระยะเวลาของการตอบสนองระหว่างชุดคำสั่งต่างๆ กับผู้ใช้งานเว็บไซต์ เช่นการกรอกแบบฟอร์มรวมทั้งการคลิกที่ปุ่มต่างๆ คะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ดีจะต้องไม่เกิน 0.1 วินาที
3. Cumulative Layout Shift หรือ CLS (Visual Stability)
คะแนนความเสถียรในการจัดวางเลย์เอาท์เว็บไซต์ เช่นเลย์เอาท์ของแบบฟอร์ม ปุ่มต่างๆ ว่าเวลาเลื่อนหน้าจอเว็บไซต์มีอาการกระตุกหรือไม่อยู่นิ่งหรือไม่ ค่า CLS ที่ดีไม่ควรเกิน 0.1 – 0.25 วินาที
การดำเนินการด้าน SEO ฝั่ง Outreach
โดยคุณ ทราย – Outreach Manager
ปกติแล้ว เรื่องของการทำ Backlink หลายๆ คนจะมุ่งหา Dofollow Link เป็นส่วนสำคัญมากกว่า การได้รับ Nofollow Link เพราะมองว่า Nofollow Link ไม่มีค่าต่อเว็บไซต์ที่ได้รับลิงก์ ซึ่ง Nofollow Link นี้ก็คือลิงก์ที่ทำให้ตัว Search Engine Crawlers (อินเทอร์เน็ตบอท) ไม่สามารถลิงก์เพื่อไปเก็บข้อมูลเว็บไซต์ปลายทางได้ ซึ่งลิงก์ประเภทนี้อาจจะส่งผลต่อการจัดอันดับเว็บไซต์ (Ranking)
แต่ในปี 2021 นี้ Googlebot จะมีการติดตามค่าปลายทางจากลิงก์ประเภท Nofollow บ้างแล้ว ซึ่ง Google เองมองว่าการมีลิงก์ประเภทนี้ยังถือว่าเป็นส่วนประกอบที่ต้องดูควบคู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วยและอาจส่งผลต่อการจัดอันดับบนเว็บไซต์ ถึงแม้การมี Nofollow Link ในตอนนี้ อาจจะไม่ได้มีผลในการจัดอันดับโดยตรง อย่างไรเสียก็แตกต่างจากเมื่อก่อนที่จะไม่มีการติดตามเว็บไซต์ปลายทางเลย
โดยสรุปแล้วในการทำ Backlink ตอนนี้ การได้รับ Nofollow Link บ้างก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร และถ้าเว็บไซต์ของคุณมีลิงก์ทั้งแบบ Dofollow และ Nofollow ที่มาจากเว็บไซต์ใหญ่ๆ เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงและค่าเว็บฯ ที่ดี ก็อาจส่งสัญญาณให้ Google มองว่าเว็บไซต์คุณดูธรรมชาติและทั้งหมดนั้นอาจจะส่งผลให้การจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณดีขึ้นได้อีกด้วย
ปล. นอกเหนือจาก Nofollow Link แล้ว ยังมีลิงก์ที่ถูกใส่คุณลักษณะให้เป็นประเภท Sponsored คือเป็นลิงก์ที่อยู่บทความที่เสียเงินหรือโฆษณาและลิงก์แบบ UGC (User Generated Content) หรือลิงก์ที่ได้รับ สร้างเนื้อหาเองแล้วแปะลิงก์ลงบนคอมเมนต์บนเว็บอื่นๆ คุณลักษณะทั้ง 2 ประเภทนี้ต้องแยกให้ถูกเพื่อให้ Google เข้าใจและสามารถนำข้อมูลมาพิจารณา ซึ่งนี่อาจจะส่งผลในการจัดอันดับเว็บไซต์เช่นกัน
2. แนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 ในฝั่ง SEM
แนวทางทำการตลาดผ่าน Facebook
โดยคุณ จิ๊ปจั๊ป – Ad Operations Specialist
ด้วยความที่ยุคนี้ Influencer มีความสำคัญอย่างมาก เราจึงต้องรู้จักวิธีในการทำ Branded Content ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำตลาดผ่าน Facebook มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อ Influencer สามารถผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและโปร่งใสผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย อาทิ เพจ Facebook ของตัวเองและแบรนด์สามารถนำคอนเทนต์เหล่านั้นมาต่อยอดใช้เป็นโฆษณาเพื่อส่งไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างตรงจุดได้
ทาง Facebook ได้ให้คำนิยามของคำว่า ‘Branded Content’ ว่า “โพสต์ใดก็ตามที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ หรือบริษัทมีเดียต่างๆ (Sponsored) คือคอนเทนต์ที่ถูกโพสต์โดยบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ Blogger หรือ Influencer”
โดยการทำ Branded Content นั้นเหมาะสำหรับแบรนด์ใหม่ๆ ที่ต้องการสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) หรือแบรนด์สินค้าที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำการตลาดออนไลน์ รวมถึงแบรนด์ที่ต้องการนำเสนอสินค้าตัวใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าได้รู้จัก
ซึ่งหากแบรนด์เลือก Influencer ที่มีฐานผู้ติดตามที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสทางการขายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เองการทำ Branded Content จึงเป็นที่นิยมในต่างประเทศและแบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ในไทยก็เริ่มหันมาทำกันบ้างแล้ว นับเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 ที่ถ้ามีโอกาสคุณควรลองสักครั้ง
แนวทางการทำโฆษณา Google
โดยคุณ มิลค์ – Ad Operations Specialist
จากสถิติพบว่าผู้คนจะมีไอเดียในการค้นหาสิ่งที่ต้องการด้วยคำค้นหา (Keyword) ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นคิดเป็นประมาณ 20% ต่อปี อีกทั้งยังมีพฤติกรรมในการใช้คำค้นหาที่สั้นลงในทุกๆ ปี ดังนั้นจึงส่งผลให้คำค้นหาประเภท Exact Match หรือคำที่เฉพาะเจาะจง ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงอย่างที่เคยอีกต่อไป ในการทำโฆษณา Google
โดยหลังจากที่ทาง Google ได้อัปเดตเรื่อง Keyword Matching ก็ได้มีการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า “Close Variants” หรือ ตัวแปรที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากหากเป็นอย่างที่ผ่านมา Exact Match จะเป็นคำค้นหาที่จำเป็นต้องเขียนคำนั้นๆ ลงไปเป๊ะๆ แต่พอมี Close Variants เข้ามา คำค้นหาต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตรงตามที่กำหนดเสมอไป เช่น เรากำหนดให้โฆษณาของเราต้องค้นหาเจอด้วยคำว่า “คอนโดเอกมัย” ก็มีโอกาสที่คนค้นหาด้วยคำว่า “คอนโดฯ เอกมัย จะเห็นโฆษณาของเราได้
เหตุผลเพราะ Google ต้องการช่วยเพิ่มโอกาสให้โฆษณาของคุณสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ค้นหาได้มากขึ้นแม้ว่าจะค้นหาด้วยคำสะกดที่ผิด คำที่มีความหมายพ้องกัน ตัวย่อหรือคำใหม่ๆ ที่มีความหมายเหมือนกันก็ตาม
แม้เรื่องนี้ดูจะเป็นเจตนาที่ดีจากทาง Google แต่ทุกอย่างล้วนมีสองด้านเสมอเพราะแม้ว่าระบบดังกล่าวจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงโฆษณาแต่ก็มีข้อควรระวังอยู่พอสมควร เนื่องจากปัจจุบันระบบของ Google ยังคงมีข้อจำกัดในแง่ของการตีความหมายในภาษาไทยที่อาจจะยังไม่ดีพอหากเทียบกับภาษาอังกฤษ
ดังนั้นการตรวจสอบ Search Terms และ Negative Keywords อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่คนทำ SEM ต้องไม่ละเลยเพราะนั่นอาจจะช่วยพลิกโฉมให้แคมเปญการตลาดของคุณมีประสิทธิภาพสูงสุดได้
3. แนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 ในฝั่ง Social Media
แนวทางทำการตลาดผ่าน Social Media
โดยทีม Account Manager
การศึกษาเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ของคอนเทนต์ (Content Types) สำหรับการทำ Social Media ถือเป็นเรื่องที่นักการตลาดควรหันกลับมาให้ความสำคัญ เพราะในปัจจุบันการทำคอนเทนต์นั้นแทบจะไม่มีกฎตายตัวเหลืออยู่แล้วเนื่องด้วยเทคโนโลยีและการรู้จักพลิกแพลงนำเอาเนื้อหาไปใช้กับมีเดียต่างๆ การทำความเข้าใจว่ารูปแบบคอนเทนต์แต่ละประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยอะไรก็จะช่วยให้คุณสามารถสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากประเภทของคอนเทนต์ที่ต้องทำความเข้าใจแล้ว การวางแผนคอนเทนต์ให้เป็นหมวดหมู่ โดยแต่ละอันจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนไว้สำหรับการโปรโมทแบรนด์ สินค้าหรือบริการที่ต่างกันออกไป เช่น
Branding = สร้างการรับรู้แบรนด์ (Awareness)
Lifestyle/Education = โน้มน้าวให้คนตัดสินใจ (Consideration)
Product/Promotion = ดึงให้คนเข้ามาเป็นลูกค้า (Conversion)
อีกสิ่งที่ในปี 2021 นี้คุณควรตั้งเป้าที่จะจริงจังสักทีนั่นก็คือ “คุณภาพ” ของคอนเทนต์ที่คุณนำเสนอออกไปโดยไม่ใช่แค่ต้องทำเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันคุณจะต้องคอยติดตามผลด้วยว่าคอนเทนต์นั้นมีคุณภาพตามมาตรฐานหรือสูงกว่าไหม ไม่ว่าจะเป็นทั้งวิธีการถ่ายภาพ การตัดต่อวิดีโอ มุมมองการนำเสนอ ภาษาที่ใช้เขียนในแคปชั่น วิธีการเล่าเรื่องต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างดีไม่ได้เลยหากคุณขาดความรู้ในเรื่อง Content Types
และแน่นอนว่านอกเหนือจากการสร้างการรับรู้แบรนด์แล้ว คุณก็ควรจะคำนึงถึงช่องทางการซื้อที่ลูกค้าที่สนใจจะสามารถกดเข้าไปซื้อสินค้าได้ อาจจะเป็นการใส่ลิงก์ในแคปชั่นเพื่อส่งไปยังหน้าแพลตฟอร์ม E-Commerce ต่างๆ หรือจะลิงก์ไปยังช่องทางการติดต่ออื่นๆ เช่น LINE, Inbox Messenger ฯลฯ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้อีกทางหนึ่ง
แนวทางการเลือกใช้ช่องทางการตลาดบนโซเชียลมีเดีย
โดยคุณณัฐ – Senior Social Media Strategist
ข้อเท็จจริงคือสิ่งสำคัญกว่าแรงบันดาลใจ “ความน่าเชื่อถือ” ของเหล่า Influencer จึงเป็นเรื่องที่จะทวีความสำคัญขึ้นอีกมากในปี 2021 โดยแบรนด์จะสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากคอนเทนต์โฆษณาต่างๆ ด้วยการเลือก Influencer ด้วยหลัก Ethos เพื่อเลือกตัวตนและจุดยืนของ Influencer แต่ละคนให้เหมาะสมกับแบรนด์
*Ethos คือหลักพื้นฐานทางด้านความน่าเชื่อถือ เหตุผลที่คนจะเชื่อในสิ่งที่คุณสื่อสาร รวมถึงบุคลิกลักษณะของผู้สื่อสารที่ดึงดูดใจผู้ฟัง
นอกเหนือจากนี้การสนับสนุน Influencer ที่คุณเลือกในระยะยาว (ไม่ใช่ร่วมงานกันครั้งสองครั้ง หรือนานๆ ครั้ง) จะช่วยให้คำพูดของ Influencer คนนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น เทียบง่ายๆ ก็เปรียบเหมือนกับเป็น Brand Ambassador
ส่วนช่องทางการนำเสนอคอนเทนต์จนกระทั่งปี 2021 นี้แล้ววิดีโอก็ยังคงครองแชมป์อยู่เหมือนเดิม ยิ่งจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เกิดกระแสวิดีโอสั้นจนทำให้แพลตฟอร์มอย่าง TikTok โตแบบก้าวกระโดดส่งผลให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้จึงเปิดตัวฟีเจอร์ Reels บน Instagram ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการทำงานบน TikTok อยู่พอสมควร แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับจาก Influencer ต่างประเทศไม่น้อย ส่วนประเทศไทยตอนนี้ใช้งานฟีเจอร์นี้ได้แล้ว และจะเห็นว่าการลงโฆษณา Instagram ยังคงมีกระแสที่ดีเช่นเคย
อัปเดตเทรนด์การตลาดออนไลน์ปี 2021
โดยคุณเบน – Head of Strategy
เนื่องด้วยการถดถอยของศักยภาพการใช้งานคุกกี้ (Cookies หรือไฟล์ที่เว็บไซต์ต่างๆ สร้างขึ้นเมื่อคุณท่องเว็บเหล่านั้นเพื่อบันทึกข้อมูลสำหรับการใช้งานครั้งต่อๆ ไปได้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น) และการใช้ข้อมูลจาก Third Party ซึ่งทำเอาเอเจนซี่หลายแห่งต่างต้องปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ครั้งใหญ่
โดยจะเป็นการผสมผสานการใช้ข้อมูลภายในที่มีและการใช้ Hyper-Personalised Marketing หรือการตลาดที่ใช้คลังข้อมูลแบบเรียลไทม์สำหรับการคาดคะเนความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้มีความแม่นยำและได้มาซึ่งการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค (Consumer Engagement) ที่มากขึ้น
จากอดีตที่เราต่างพึ่งคุกกี้และ Third Party ที่มากจนเกินไป จึงกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับนักวางแผนการตลาดเพราะพวกเขาจะต้องใช้ความพยายามที่มากขึ้นสำหรับการคิดนอกกรอบในการพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลการตลาดดิจิทัลทั้งหมดและต้องหาวิธีในการใช้ข้อมูลเหล่านี้สำหรับทำแคมเปญการตลาดต่างๆ ต่อไป
ดังนั้นจากเรื่องนี้เองก็เสมือนว่าเรากำลังกลับสู่จุดเริ่มต้นโดยการใช้วิธีขั้นพื้นฐานสำหรับเฟ้นหา ทดลองกลยุทธ์ต่าง ๆ สำหรับธุรกิจ แทนที่จะอาศัยเพียงแค่ข้อมูลจาก Third Party อย่างเดียว
ภาพรวมแนวทางการตลาดออนไลน์ปี 2021
โดยคุณมาร์ค – CEO
กลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงเทรนด์การตลาดออนไลน์ในปีที่ผ่านมายังคงสามารถใช้งานได้ในปี 2021 นี้ เพราะยังมีวิธีทางการตลาดหลายอย่างที่ยังคงเป็นถูกพูดถึง อาทิ AI, Chatbots หรือ Blockchain ฯลฯ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าในเอเชียวิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยเป็นผลมาจากการใช้ข้อมูลจาก Third Party จนเคยชินและในภาคธุรกิจเอง ก็ยังไม่ค่อยมีใครใช้วิธีการใหม่เหล่านี้เช่นกัน แต่วิธีการใหม่ต่างๆ นี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในอนาคตแม้ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรก็ตาม
COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อโลกของเราอย่างมาก เห็นได้จาก Digital Transformation ที่กระตุ้นความต้องการประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีต่างๆ ถึงตอนนี้คงหมดเวลาที่เราจะแยกการตลาดออนไลน์กับการตลาดแบบเก่าออกจากกันแล้วและการใช้ Personalize Marketing ก็ถือเป็นแก่นสำคัญสำหรับการทำการตลาดในปี 2021 นี้อีกด้วย
ยิ่งในแถบเอเชียที่เราต้องยอมรับว่ายังคงไล่ตามฝั่งตะวันตกในแง่ของการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะกับแบรนด์ต่างๆ รวมถึงวิธีการจัดการข้อมูลให้ดึงดูดผู้บริโภคได้มากที่สุดเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่นำเสนอมุมมองในฐานะคนทำงานเอเจนซี่ที่ได้มีโอกาสเจอลูกค้าทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและต้องทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณพอจะจับสังเกตได้จะรู้สึกว่าแนวโน้มการตลาดออนไลน์ปี 2021 นั้นแทบไม่ค่อยมีอะไรต่างไปจากเดิมสักเท่าไรในแง่ของรูปแบบการทำคอนเทนต์ไปจนถึงฟีเจอร์ เทคนิค บนแพลตฟอร์มต่างๆ
แต่สิ่งที่ต่างไปคือคุณจะต้องให้ความสำคัญกับทุกๆ เรื่องมากขึ้น ละเอียดมากขึ้นและรู้จักปรับใช้สิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น อาจจะต้องมีการมองหาวิธีการนำเสนอที่ต่างออกไปในแพลตฟอร์มและเครื่องมือเดิมๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า แต่สิ่งที่เราอยากจะให้คุณเชื่อเสมอนั่นก็คือ ทุกๆ ธุรกิจ สินค้าหรือบริการล้วนแล้วแต่มีกลุ่มลูกค้าของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น คุณแค่ต้องตามหาให้เจอ
Join the discussion - 0 Comment